โรงพักสามแยก…โรงพักที่หายไป (จบ)

ตอน 1 2

หอจดหมายเหตุแห่งชาติบอกชัดเจนว่า ปี พ.ศ.2433 โรงพักพลตระเวน ของกรมพระนครบาล สมัยรัชกาลที่ 5 อันมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เป็นผู้ว่าราชการกรม รวมแล้ว 64 โรงพัก

บางส่วนได้รับพระราชทานที่ดินสร้างโรงพัก บางส่วนอาศัยศาลาวัดที่ไม่ได้ใช้การ

โรงพักสามแยก ประกอบด้วยโรงพักที่ 16 สามแยกเจริญกรุง โรงพักที่ 17 ป้อมปิดปัจจนึก โรงพักที่ 27 วัดสัมพันธวงศ์ และโรงพักที่ 28 วัดปทุมคงคา

ปี พ.ศ.2437 ก่อสร้างโรงพักสามแยกในรูปแบบเรือนไม่ถาวร พอถึงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2438 ได้มีการจัดทำบัญชีที่ดินโรงพักสามแยกเป็น “ที่ดินหลวง”

ปี พ.ศ.2442 กรมโยธา กระทรวงโยธาธิการ สร้างโรงพักสามแยกหลังใหม่ส่งมอบให้กรมกองตระเวนพระนครบาลใช้เป็นที่ทำการปฏิบัติราชการตลอดมา

 

วันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้กำลังทหารยึดอำนาจจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม คนรุ่นผมยังเป็นเด็กวัยรุ่นอายุแค่ 20 ปี ไม่รับรู้และไม่เข้าใจเบื้องลึกหรือเงื่อนงำของการเมืองแม้แต่น้อย คิดว่าคนของรัฐบาลเป็นพวกเดียวกันไม่ว่าจะเป็นเหล่าไหน ทหารหรือพลเรือน

ส่วนตัวไม่ได้มีจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองอะไรมากมาย หวังเพียงว่าเรียนจบแล้วจะเป็นนายตำรวจที่ดีคนหนึ่งเท่านั้น

ค่อนข้างมึนเล็กน้อยในคืนนั้น เมื่อได้รับแจกอาวุธปืนพร้อมกับคำชี้แจงจาก พ.ต.อ.สล้าง เริ่มรุจน์ (พล.ต.ท.) ผกก.รร.นรต. ว่า เพื่อป้องกันมิให้ใครมายึดโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผมคิดว่าท่านคงดื่มย้อมใจก่อนตัดสินใจ “สู้” และมาสั่งรวมพล นรต.

ผมไม่ตื่นเต้นอะไรมากนัก คิดแต่เพียงว่าทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาก็แล้วกัน ท่านว่าอย่างไรเราก็ทำอย่างนั้น ในฐานะนักเรียนนายร้อยตำรวจผู้มีระเบียบวินัยเคร่งครัด

เริ่มมารู้ตัวว่าตำรวจดูราวกับเป็นตัวร้ายสำคัญในบ้านเมืองก็เมื่อเขาปลดรูป พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อ.ตร. ออกจากห้องประชุมใหญ่ของโรงเรียน ผู้สั่งปลดคือ พล.ต.ต.ขุนพิชัยมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะปฏิวัติให้รักษาการแทนอธิบดีกรมตำรวจ

วีรกรรมปลดรูปอธิบดีเผ่าจึงเป็นงานชิ้นแรกและชิ้นเดียวของ พล.ต.ต.ขุนพิชัยมนตรี ในตำแหน่งสำคัญยิ่งนี้ เพราะว่ารักษาการเพียงวันเดียวก็ถูกถอดโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติก็เข้าครองตำแหน่ง อ.ตร. (อันตราย) นี้ด้วยตัวเอง

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก ประกาศคณะปฏิวัติและกฎหมายพิเศษอื่นๆ รวมทั้งความรวดเร็วและเฉียบขาดตามคำกล่าวที่ว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว” เข้าจัดการกับปัญหาของบ้านเมือง

หนึ่งในนั้นก็คือ สั่งย้ายที่ตั้งโรงพักสามแยก จากที่เดิมไปอยู่รวมกับ “โรงพักป้อมปราบ” ที่ถนนพลับพลาไชย เขตป้อมปราบ โรงพักสามแยกจึงหายไปแต่บัดนั้นต่อมาโรงพักได้เปลี่ยนชื่อและสถานะเป็น “สถานีตำรวจนครบาล” คำว่าโรงพักป้อมปราบกับโรงพักสามแยกเปลี่ยนเป็น สน.พลับพลาไชย 1 กับ สน.พลับพลาไชย 2 ตามลำดับ

สิ่งที่ไม่เปลี่ยนก็คือขวัญและกำลังใจอันทรุดโทรมของข้าราชการตำรวจและครอบครัว สถานที่ทำงานที่แออัดยัดเยียด ที่พักไม่พอเพียงและขาดสุขลักษณะอย่างยิ่ง

ที่ทำงานของตำรวจ สน.พลับพลาไชย 2 อยู่ห่างไกลพื้นที่รับผิดชอบ เป็นเหตุให้กิจวัตรบางอย่าง เช่น การสวดมนต์ เคารพธงชาติ ปล่อยแถว สับเปลี่ยนเวรยาม กระทำกันนอกเขตท้องที่

ที่สำคัญก็คือประชาชนสับสน และพากันเข้าใจผิดว่าตำรวจ สน.พลับพลาไชย 2 ไม่ทำงาน หรือทั้งสอง สน. เกี่ยงกันทำงาน

กรณีโรงพักสามแยกหายไป ไม่เพียงแต่ตำรวจเท่านั้นที่พูดไม่ออก ชาวบ้านและสื่อมวลชนต่างก็ปิดปากเงียบสนิท ทั้งที่เห็นกันชัดเจนว่าเป็นกรณีที่วิปริต พิกล พิการ และหยาบด้านอย่างยิ่ง เพราะทุบโรงพักของหลวงทิ้งเพื่อสร้างธนาคารพาณิชย์

คงมิใช่เป็นการบังเอิญที่ธนาคารเอเชีย มี นายทองดุลย์ ธนะรัชต์ เป็นผู้จัดการใหญ่ มี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นประธานกรรมการ ขณะเดียวกันก็เป็นอธิบดีกรมตำรวจด้วย

อย่างไรก็ตาม การยึดที่ดินของหลวงครั้งนี้ ก็เช่นเดียวกับการบังอาจโค่นไม้ใหญ่ “ของหลวง” ในป่าลึกโดยไม่ขออนุญาต โดยไม่มีตราแผ่นดิน หรือตราครุฑ หรือพระปรมาภิไธยของพระเจ้าอยู่หัว จึงมีเจ็บป่วยล้มตายกันก่อนจนกว่าจะตระหนักรู้

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อถึงแก่กรรมก็ถูก “กวีกำแพง” รจนาโปรไฟล์ไว้ที่กำแพงวัดเบญจมบพิตรฯ อย่างคมคาย… “ชื่อเหมือนปลา หน้าเหมือนเหี้ย เมียนับร้อย” สูญเสียความเป็นวีรบุรุษ ถูกแฉพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่นกว่า 2,800 ล้านบาท ซึ่งติดตามยึดคืนรัฐได้เพียง 600 ล้านบาท

ธนาคารเอเชียซึ่งมีคนระดับนายกรัฐมนตรี (ดร.ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ก่อตั้ง มีบุคคลในวงการผู้มีชื่อเสียงและมีอำนาจ (รวมทั้งจอมพลสฤษดิ์) เป็นผู้บริหาร ในที่สุดก็สลายหายไป กลายเป็นธนาคารยูไนเต็ด โอเว่อร์ซี (UOB) ของสิงคโปร์จนถึงวันนี้

วันที่ผมขอให้ พล.ต.ต.ภุชงค์ จุณณวัตต์ พาผมไปดูบริเวณที่ดินของโรงพักสามแยกเดิมนั้น ผมได้เห็นอาคารครึ่งวงกลม UOB ตั้งตระหง่านแทนที่โรงพักสามแยก แต่บรรยากาศภายในอาคารช่างเงียบเหงาวังเวงอย่างไม่น่าเชื่อ

ที่ว่างหน้าธนาคาร UOB สร้างศาลเจ้าแบบจีนเคียงข้างแบบไทย แต่ไม่เรียกแขกหรือเรียกลูกค้าเลย

ถัดไปตรงปลายสามเหลี่ยมของสามแยกมีตู้ยามขนาดจิ๋วของตำรวจ (ซึ่งไม่มีตำรวจอยู่ประจำ) หน้าตู้ยามมีป้ายบอกทิศทางไปสถานที่สำคัญต่างๆ ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ สะเปะสะปะกว่า 10 ป้าย ทำให้บริเวณนั้นเหมือนกับเป็นกองขยะ

 

“ธนาคารเอเชียยกอาคารให้กรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2507 ตามสัญญาฉบับที่ 6/2507” พล.ต.ต.ภุชงค์ อ่านบันทึกให้ผมจดไว้ เพราะสัญญาเหล่านี้ได้มาด้วยวิธีการของนักสืบ ไม่มีสำเนาเป็นหลักฐานอย่างจดหมายเหตุ

“สัญญาเช่าฉบับที่ 26/2507 ทำเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2507” วันเดียวกับที่ยกอาคารให้กรมธนารักษ์ “สัญญาเช่า 25 ปี ตั้งแต่มกราคม 2503 หมดสัญญา 31 ธันวาคม 2527”

ปลายเดือนกันยายน 2555 พล.ต.ต.ภุชงค์ รวมเรื่องพร้อมเอกสารหลักฐานส่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ด้วยเห็นว่าเป็นนักพัฒนา อาคารและที่ดินตรงนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและตำรวจนครบาลผู้เป็นเจ้าของมาแต่ดั้งเดิม

แต่เรื่องกลับเงียบหายไปจน พล.ต.ต.ภุชงค์ รู้สึกแปลกแปร่ง

หลังจากนั้นไม่นานก็พบว่า UOB ได้ทำสัญญาเช่าลงวันที่ 30 ตุลาคม 2558 เป็นที่จอดรถรวดเดียว 12 ปีย้อนหลังไปแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 แทนที่จะทำสัญญาครั้งละ 3 ปี ตามแบบฉบับของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปโดยไม่ต้องจดทะเบียน

พล.ต.ต.ภุชงค์ จุณณวัตต์ รู้สึกแปลกแปร่งมากยิ่งขึ้นจึงรวมเรื่องมาให้ผมเล่าให้ฟังอีกต่อ