เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : อหังการ์กวีของนายผี

๐ ทุขลูกแลจะคือใครคำ- นวณหมายจดจำ

ก็จักมิได้โดยดี

มาตรแม้น บมิมีกวี คือเพื่อนนายผี

มาผูกเป็นกาพยกลอนกล

สำหรับขับขานทานทน ท่าวฟ้าดินดล

อันดรธานดูที ฯ

ฉบังสามบทนี้จากเรื่อง “เราชะนะแล้วแม่จ๋า” แต่งโดย “นายผี” หรืออัศนี พลจันทร มหากวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

อ่านกาพย์ฉบังสามบทนี้กลับไปกลับมาจนคล่อง จำขึ้นใจ จะรู้สึกได้ถึงสุนทรียรสไพเราะของกวีนิพนธ์อันลึกซึ้งยิ่ง

กาพย์ฉบังนี้มีสามวรรค วรรคแรกหกคำ วรรคสองสี่คำ วรรคสามหกคำ ในที่นี้วลีร่วมอนุโลมรวมถือเป็นหนึ่งคำได้ ไม่ใช่ถือบรรทัดเถรกำหนดหกคำตายตัวตายไป

อย่างวรรคแรก คำ “จะคือ” ถือเป็น “วลีร่วม” อนุโลมเป็นคำเดียวกันได้ แม้จะมีสองพยางค์ คือ “จะ” คำหนึ่ง และ “คือ” คำหนึ่ง เป็นสองพยางค์ก็ตาม หากในที่นี้เป็น “วลีร่วม” ที่อนุโลมเข้าเป็นคำเดียวกันได้

เพราะฉะนั้น ต้องอ่านวรรคนี้เป็นจังหวะดังนี้คือ

“ทุขลูก-แลจะคือ-ใครคำ” โดยแบ่งคำเป็นสามช่วง ช่วงละสองคำ รวมหกคำหรือหกจังหวะเท่ากัน

บทสอง วรรคแรกกับวรรคสามก็เช่นกัน คือมี “วลีร่วม” เป็นสามพยางค์อยู่วรรคแรก คือคำว่า “บมิมี” กับวรรคสามมีสี่พยางค์ คือคำว่า “เป็นกาพยะ” (อ่านว่าเป็นกาบ-พะยะ) ทั้งสองวรรคนี้ อนุโลมอยู่ในจังหวะสองคำเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องอ่านดังนี้

มาตรแม้น-บมิมี-กวี คือเพื่อนนายผี

มาผูก-เป็นกาพยะ-กลอนกล

จัหวะของคำในแต่ละวรรคกวีนี้แหละสำคัญนัก ถือเป็นบันไดขั้นต้นของรูปแบบงานศิลปะทุกชนิดก็ว่าได้ เพียงเรียกต่างกันไปเท่านั้น เช่นในจิตรกรรมอาจเรียกว่า การจัดองค์ประกอบ เป็นต้น ในประติมากรรมและสถาปัตย์อาจเรียกเป็นทรวดทรง ในดนตรีและนาฏกรรมย่อมมีจังหวะกำกับชัดเจนเป็นหลักอยู่แล้ว

ฉบังบทสามข้างต้นนั้นจังหวะคำชัดเจนลงตัว อ่านเป็นจังหวะแต่ละคำได้พอดีคือ

สำหรับ-ขับขาน-ทานทน ท่าว-ฟ้า-ดิน-ดล

อันดะ-ระธาน-ดูที ฯ

นอกจากจังหวะคำอันพิสดารดังอนุโลมไว้ในวรรคกวีของกาพย์ฉบังสามบทนี้แล้ว สนุทรียรสของกาพย์ทั้งสามบทนี้ยังให้รู้สึกได้ถึงความไพเราะของ “เสียง” คำที่รวมแล้วก็คือ “ท่วงทำนอง” ของเสียงอักษรนั่นเอง

เช่นวรรคแรก

ทุขลูกแลจะคือใครคำ- นวณหมดจดจำ

ก็จักมิได้โดยดี

เสน่ห์เสียงของวรรคนี้คือ ใช้เสียงสามัญเป็นหลักโดยมีเสียงตรีโทเอกเป็นบริบทช่วยเน้นเสียงสามัญให้ปรากฏสำเนียงหรือคัดเสียงสามัญให้เด่นขึ้น

ลองอ่านซ้ำ

ทุข- ลูก -แล – จะ คือ ใคร คำ

ตรี- โท -สามัญ เอก สามัญ สามัญ สามัญ

อ่านและสังเกตเสียงคำแต่ละวรรคตามจังหวะของทุกวรรคดังกล่าวดูจะรู้สึกได้ถึงรสไพเราะของ ทั้งจังหวะจะโคนและท่วงทำนองของเสียงอักษรครบครัน

จังหวะเปรียบเสมือนขั้นบันได ส่วนท่วงทำนองนั้นเหมือนแม่บันไดที่ยึดลูกบันไดทุกขั้นไว้

ฉบังสามบทนี้ นอกจากสมบูรณ์ด้วยรูปแบบที่เป็นชั้นเชิงกวีไพเราะแล้วยังมีความเป็นเลิศในเนื้อหาอีกด้วย คือโดดเด่นด้วยถ้อยคำและสำนวน

ถ้อยคำ คือ คำกวี

สำนวน คือ โวหารกวี

วรรคแรกของฉบังบทนี้ทั้งวรรคถือเป็นโวหารกวีอันแยบคายยิ่ง อ่านผ่านๆ ก็ยากจะเข้าใจด้วยคำไม่เชื่อมความ ต้องอ่านสองวรรคที่กวีทิ้งคำว่า “คำ” ซึ่งฉีกแยกมาจากคำเต็มคือ “คำนวณ” นั้นเอง เป็นอุบายให้ต้องอ่านเชื่อมสองวรรคไปด้วยกันจึงจะจับความได้ว่า

ทุกข์ของลูกนั้นจะมีผู้ใด “คือใคร” มาคำนวณจดจำได้หมด ซึ่งจบความชัดเจนด้วยวรรคสามต่อกันคือ “ก็จักมิได้โดยดี”

รวมความว่า ไม่มีใครจะมาจดจำเรื่องราวอันเป็นความทุกข์ของลูกได้เลย

บทที่สองถัดไปนี้แหละเป็น “อหังการ์กวี” ของ “นายผี” โดยแท้

มาตรแม้นบมิมีกวี คือเพื่อนนายผี

มาผูกเป็นกาพยกลอนกล

วรรคแรกนี้เป็นโวหารกวีที่ไพเราะทั้งคำและความ

ไพเราะคำคืออักษร ม. ที่เล่นล้อกันระหว่างคำ “มาตรแม้น” กับ “บมิมี” การใช้ “บ” ในความหมายว่า “ไม่” นี้ถือเป็นคำครูของกวีโบราณ โดยเฉพาะวรรคนี้คำ “บ.” หรืออักษร “บ.” เป็นพยัญชนะที่เป็นฐานเสียงเดียวกับ “ม.” ด้วยกันจึงเข้าชุดฟังรื่นหูได้เลย

คือ “มาตรแม้นบมิมี” ลงท้ายด้วย “กวี” ทำให้เน้นความหมายเด่นชัดดีนัก โดยเฉพาะคำขยายวรรคต่อไป “คือเพื่อนนายผี” ตรงนี้อย่าตีความคำว่า “เพื่อน” เป็นเพื่อนตรงตัวดายไป หากตรงนี้เป็นสำนวนหรือโวหารโดยหมายถึง “นายผี”

นี่แหละที่เป็นเสมือน “เพื่อน” อัน “มาผูกเป็นกาพยกลอนกล”

รวมความแล้วแปลว่า ถ้าไม่มีกวีคือนายผีที่มาแต่งเรื่อง “เราชะนะแล้วแม่จ๋า” เพื่อบรรยายถึง “ทุขลูก” คือความทุกข์ของเหล่ากรรมกรที่ตกเป็นทาสทุนสามานย์อยู่นี้ก็ยังจะมีใครหรือมาแต่งกวีดั่งนี้ได้ ท้าทายไว้ด้วยว่า กาพย์แห่งชัยชนะอันเป็นดั่งมหากาพย์เรื่องนี้แหละที่

สำหรับขับขานทานทน ท่าวฟ้าดินดล

อันดรธานดูที

สามวรรคนี้ลึกซึ้งนัก ทั้งคำ เสียงคำ พร้อมจังหวะจะโคนที่ลงตัวพอดี ท้าทายไว้ด้วยว่า ตราบเท่าฟ้าดินสลาย มหากาพย์แห่งชัยชนะนี้ก็จักยังคงอยู่

ดูทีฤๅว่าจะจริงไหม

นี้คือนัยยะท้าทายของฉบังสามบทอันเป็นใจความสำคัญของมหากาพย์แห่งชัยชนะเรื่องนี้

คำว่าทุกข์ที่เขียนเป็น “ทุข” และอันตรธานเขียนเป็น “อันดรธาน” นี้ กวีจงใจใช้ทุขเพื่อเล่นเสียงในบางที่ที่ต้องการให้เป็นเสียงเบา คือลหุคู่กันคือ “ทุ-ขะ”

ส่วน “อันดรธาน” นั้นต้องการเล่นเสียงรับเสียงอักษร “ด.” กับ “ท.” จากวรรคต้น เช่น “ทานทน” “ท่าวฟ้าดินดล” ต่อด้วย “อันดรธานดูที” ได้ลงตัวพอดี

อันตร กับ อันดร นั้นเป็นคำเดียวกันดังเรามาใช้ในคำ “นิรันดร” คือ นะระ+อันดร นั่นเอง

มหากาพย์แห่งชัยชนะเรื่อง “เราชะนะแล้วแม่จ๋า” ของ “นายผี” คือวรรณกรรมเอกที่สมบูรณ์พร้อมทั้งคำกวี โวหารกวี จิตวิญญาณกวี และเด่นสุดคือ

อหังการ์กวี