เลือกตั้งครั้งนี้จะโมฆะได้หรือไม่? อะไรคือ “ทฤษฎีสมคบคิด”? สนทนา “เจษฏ์ โทณะวณิก”

ประเด็นที่หลายคนถกเถียงกันมาก นั่นคือกรอบเวลา 150 วัน อันจะส่งผลถึงหลายๆ เรื่อง ตกลงแล้วทางออกของปัญหานี้คืออะไร?

อ.เจษฏ์อธิบายว่า ในรัฐธรรมนูญเขียนว่าให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ซึ่งคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เขียนไว้เหมือนกัน

แต่ฉบับนั้นกำหนดเวลา 90 วัน

บริบทที่ต้องทำความเข้าใจคือ หนึ่ง รัฐธรรมนูญปี 2550 สมัยของ คมช.ไม่ได้เป็นรัฐบาลเสียเอง เพราะฉะนั้น คมช.ไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง

ภาพที่เกิดขึ้นจึงเป็นภาพของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ คุยกับ กกต. สอง คมช.เข้ามาอยู่ไม่นานและไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ คือ ไม่ได้วางความได้เปรียบของตัวเองไว้ในรัฐธรรมนูญเลย ดังนั้น จึงไม่มีใครยกขึ้นมาพูดได้ว่า การดำเนินการเลือกตั้งในที่นี้แปลว่าอะไร แปลว่าหย่อนบัตร? หรือแปลว่าประกาศผลการเลือกตั้ง? ทำให้ไม่มีใครพูดถึง

แต่ ณ เวลานี้เป็นประเด็น เพราะว่ามันมีการสร้างความได้เปรียบเยอะแยะเต็มไปหมด คนก็เกรงว่าท่านจะสร้างความได้เปรียบอะไรอีกหรือไม่

และนี่ถือว่าเป็นประเด็นทางการเมืองที่เชื่อมต่อกับประเด็นทางกฎหมาย

คำถามต่อมาคือ กรอบ 150 วันที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ มีอะไรเข้ามาอธิบายรองรับหรือไม่

เราไปดูใน พ.ร.บ.ประกอบ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในมาตรา 171 เขียนไว้ว่า ให้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาภายใน 90 วันหลังจากที่กฎหมาย ส.ส. กฎหมาย ส.ว. มีผลแล้วให้จัดการเลือกตั้งไม่ให้เกินไปกว่า 150 วัน นับจากวันที่กฎหมาย 2 ฉบับนี้มีผล ถ้าถือว่านี่คือคำอธิบาย ก็แปลว่า 150 วันหมายถึง “วันหย่อนบัตร”

“ถ้าเราไปดู กรธ.ตอนยกร่างว่ามีความมุ่งหมายว่าอย่างไร ซึ่งเคยได้คุยกับ กกต.แล้วด้วยว่าคือ “วันหย่อนบัตร” แต่ประเด็นปัญหามันอยู่ที่ว่า ตกลงแล้วใครจะเป็นคนที่จะตีความรัฐธรรมนูญ คำตอบก็คือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ถ้าศาลชี้ว่า 150 วันคือวันหย่อนบัตร จะสามารถคลี่คลายสภาวการณ์หลายอย่างได้ 1.ในทางกฎหมายถือว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานเพราะว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่เคยมีกรณีแบบนี้ พอเกิดขึ้นแล้ว ต่อไปถ้ามีเหตุการณ์คล้ายๆ กันก็ชี้ได้ว่าหมายถึงวันหย่อนบัตร 2.เมื่อมีการกำหนดเช่นนี้ ท่านก็รู้แล้วว่า 150 วันที่ยาวไปได้ถึง 9 พฤษภาคม ก็จะผ่อนปรนสถานการณ์ได้ 3.เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับไปก็จะผูกพันกับทุกองค์กรจะได้จบกันไม่ต้องเถียงกัน ใครจะเห็นเหมือนเห็นต่างก็จะจบ รัฐบาลเองก็ไม่ต้องมานั่งอธิบาย กกต.ก็ไม่ต้องมาแบกรับสภาวะนี้ 4.ประชาชนก็ไม่ต้องสับสนงงงวย ทุกอย่างลงตัว คลี่คลายสภาวะทางการเมืองได้ ความชัดเจนทางกฎหมายก็เกิด”

อ.เจษฏ์กล่าว

“เลือกตั้งโมฆะ”มีช่องโอกาส เกิดขึ้นได้หรือไม่?

มีความเป็นไปได้ แต่ต่ำ เนื่องจากว่า สมมุติกรอบ 150 วันที่ท่านเข้าใจว่าเป็นวันหย่อนบัตร ปรากฏว่าหลังจากวันที่ 9 พฤษภาคม มีการประกาศผล แล้วมีคนไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ผมว่าเป็นไปได้ต่ำมากที่ศาลจะชี้ว่า 150 วันคือการรวมวันประกาศผล ผมเชื่อว่าศาลจะเห็นว่าเป็นวันหย่อนบัตรเพราะเป็น “วันที่ปลอดภัยที่สุด” การที่จะเป็นโมฆะเป็นไปได้ยาก ถ้าจะเกิดก็มีช่องอยู่นิดนึง ถ้าศาลเกิดคิดอะไรขึ้นมาหรือว่ามีเหตุอะไรที่จะทำให้เป็นโมฆะ แบบว่าเกิดเป็นประโยชน์อะไรบางอย่างขึ้นมา แล้วไปเลือกตั้งกันใหม่ ให้ คสช.ได้อยู่ต่ออีก ผมก็ไม่รู้ว่าจะมีหมากแบบนี้หรือไม่?

ถ้าเราเชื่อว่ามี “ทฤษฎีสมคบคิด” มันก็แปลได้ว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ตรงนี้ แต่ผมไม่ได้พูดว่ามันจะเป็น แต่ไม่ควรละทิ้งความเป็นไปได้

อย่างในอดีตที่ผ่านมา แค่หันคูหาไปด้านหนึ่งก็โมฆะแล้ว เป็นข้ออ้างนำมาสู่การรัฐประหารปี 2549 แล้วตอนนั้นมีการบอยคอต มีเรื่องราวหลายอย่างต่อเนื่องกันมา ผมเลยคิดว่า ถ้าจะทำหรือจัดวางหรือใครคิดไปถึงขั้นนั้น

ผมเชื่อว่าความเป็นไปได้พอมีแต่ต่ำ เพราะว่าในรัฐธรรมนูญมีการจัดวางให้มีการเดินต่อได้พอสมควรอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นจะต้องทำกันขนาดนี้

 

การเลือกตั้งให้เร็วที่สุด = ปลอดภัยที่สุด?

ที่หลายคนมองกันไว้แล้วสามารถอธิบายได้มีเหตุผลเหมาะสม

คือ วันที่ 10 มีนาคม 2562 ไม่ได้เนิ่นช้าเกินไป

เพราะหากลากยาวไปถึงปลายมีนาคม อีกสักพักชนสงกรานต์ มันจะกระทบกับอะไรหลายๆ อย่าง

หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ช่วงพระราชพิธีอีก

ผมจึงเชื่อว่าขยับได้ไม่มาก

 

มองข้ามช็อตหากหลังเลือกตั้ง “บิ๊กตู่” กลับมา จะเจอความท้าทายอะไรบ้าง?

รัฐบาลหน้าก็คงลำบากแน่ มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะอยู่ได้ไม่นาน รัฐบาลหน้าไม่มีทั้งมาตรา 44 ในสภาก็มีฝ่ายค้าน เจอนักการเมือง การอภิปราย เปิดโปงข้อมูลต่างๆ สู่สาธารณชน

เจอตั้งกระทู้สดสอบถามในสภา

ถ้าเกิดท่านไม่มา ซึ่งท่านเองก็เคยไปว่านักการเมืองไว้ รัฐมนตรีไม่ยอมมาตอบคำถามอะไรอย่างนี้ ก็จะเข้าตัวหมด

ท้ายที่สุดถ้าท่านไม่ได้เสียงข้างมากในสภาล่าง โดยแค่ไปเอา 250 ส.ว.มาโหวตตอนเป็นนายกฯ ผมเชื่อว่าไม่มีกฎหมายฉบับไหนที่ท่านจะผ่านได้อย่างง่ายดาย

แค่วาระแรกรับหลักการฝ่ายค้านยกมือท่วมท้น กฎหมายท่านก็ตก ยิ่งมาถึงกฎหมายสำคัญอย่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ถ้าไม่ผ่านสภา ถ้าเป็นบ้านอื่นเมืองอื่นเขาจะลาออกกัน

แต่ผมไม่แน่ใจว่าบ้านเราจะลาออกหรือเปล่า?

ก็อาจจะมีการต่อว่านักการเมืองเล่นแร่แปรธาตุทำให้บ้านเมืองเกิดปัญหา อาจจะออกมาในรูปแบบนี้

ก่อนปิดท้ายว่า ผมเคยให้สัมภาษณ์หลายที่ แลกเปลี่ยนพูดคุยการเมือง หลายคนเกรงว่าจะเกิดการปฏิวัติรัฐประหารได้ในอนาคต ถ้าหากว่ารัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็น พล.อ.ประยุทธ์บริหารแล้วไปต่อไม่ได้ หรือเกิดปัญหาแบบที่จอมพลถนอมเคยเจอ ก็ปฏิวัติตัวเองเลย อะไรก็เกิดขึ้นได้ หรือไม่แน่ท่านอาจจะรวมเสียงได้ โดยที่ “พรรคตระกูลเพื่อ” ทั้งหลายไปเป็นฝ่ายค้าน เลยได้เสียงเกิน 250 มาหน่อย ก็อาจจะอยู่ได้ในสภาล่าง เหนื่อยหน่อย แต่ไม่ตาย ไม่สิ้นสภาพการเป็นรัฐบาล อายุอาจจะไม่สั้นก็ได้

แต่อยู่ลำบากแน่นอน!