คำ ผกา : คิดผิด

คำ ผกา

ก่อนที่วาระของรัฐบาล คสช. อันเป็นรัฐบาลที่มาโดยหนทางพิเศษนี้จะจบลงเมื่อมีการเลือกตั้ง (ฉันยังคงดื้อดึงที่จะเชื่อว่ายังจะมีการเลือกตั้งอยู่) โครงการที่กำลังจะกลายเป็นมรดก หรือ legacy ของสังคมไทยอันเกิดจากรัฐบาลนี้คือโครงการประชารัฐ และยังสืบทอดไปเป็นชื่อของพรรคการเมืองคือพรรคพลังประชารัฐอีกด้วย

และในบรรดาโครงการประชารัฐทั้งหมด นโยบายสำคัญอันหนึ่งที่ฉันคิดว่าจะสร้างความสับสนงุนงงให้กับสังคมไทยไปอีกยาวนานคือนโยบาย “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือที่เรียกกันเป็นภาษาปากว่า “บัตรคนจน”

แนวคิดของ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” คือการคัดกรองผู้มีรายได้ในระดับเส้นความยากจน และการคัดกรองนี้ทำบนอำนาจของราชการ จากนั้นมีการเติมเงินลงไปในบัตร ทั้งเป็นค่าใช้จ่ายต่อเดือน ค่าเดินทาง ฯลฯ เบ็ดเสร็จจะได้กันประมาณ 500 บาทต่อคนต่อเดือน

น่าสนใจไปกว่านั้นอีกก็คือ การซื้อสินค้าด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต้องนำไปซื้อในร้านค้าที่เข้าโครงการ มีเครื่องรูดการ์ด และอื่นๆ ที่ส่งผลสองอย่างคือ

1. เพิ่มอำนาจรัฐราชการ

2. เพิ่มรายได้ให้ภาคธุรกิจที่เข้ามาร่วมมือเป็นพาร์ตเนอร์กับรัฐบาล บางคนถึงกับบอกว่า เป็นการถ่ายเงินงบประมาณใส่กระเป๋าตังค์เจ้าสัวไม่กี่ราย

เราจะยังไม่บอกว่า วิธีการนี้ช่วยให้คนพ้นจากความลำบากยากจนได้จริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คำว่า “สวัสดิการแห่งรัฐ” ที่มาในรูปนี้จะทำให้สังคมไทยยิ่งไม่เข้าใจคำว่า “รัฐสวัสดิการ” มากขึ้นไปอีก

นโยบายเติมเงินให้คนจนในรูปบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี้ เข้ามาในสังคมไทยในจังหวะที่ “รัฐสวัสดิการ” กำลังเป็นนโยบายที่ถูกตั้งคำถามอย่างหนักในโลกปัจจุบันอยู่พอดี

การบอกว่านโยบายรัฐสวัสดิการถูกท้าทายนั้น ถูกท้าทายด้วยแนวคิดที่เหนือชั้นกว่าไปอีกคือ นโยบายว่าด้วย Universal Basic Income หรือ UBI ซึ่งขอแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า “การมอบรายได้ขั้นต่ำแก่ประชาชนทุกคนถ้วนหน้า”

UBI ต่างจากรัฐสวัสดิการอย่างไร? รัฐสวัสดิการตั้งอยู่บนแนวคิดสังคมนิยม นั่นคือ มองเรื่องการเก็บภาษีคนจนมาเกลี่ยเป็นสวัสดิการแก่คนมีรายได้น้อย ซึ่งถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงตลาดเสรี

เราจะมาตั้งต้นทำความเข้าใจเรื่องนี้ง่ายๆ แบบนี้

UBI เชื่อว่า รัฐควรจ่ายเงินเดือนให้พลเมืองทุกคนไปเลยในอัตราที่ทำให้ทุกคนมีรายได้พ้นขีดความยากจน เช่น ในสหรัฐอเมริกา คำนวณตัวเลขออกมาที่คนละ 1,000 เหรียญดอลลาร์ (เร็วๆ นี้มีนักการเมืองสหรัฐหาเสียงเรื่องแจกเงินเดือนทุกคนขั้นต่ำเดือนละ 1,000 เหรียญแล้ว) ถ้าหากทำได้จะเพิ่มจีดีพีได้สูงถึงร้อยละ 12 ต่อเนื่อง 8 ปี

UBI บอกว่า แจกเงินเดือนทุกคนไปเลย แต่รัฐสวัสดิการที่ทำๆ กันมาคือ ให้เงินเดือนเฉพาะคนตกงาน เมื่อหางานได้แล้วก็ไม่มีเงินเดือนอีกต่อไป

แบบไหนดีกว่า?

ฝ่ายที่สนับสนุน UBI บอกว่า รัฐสวัสดิการทำให้คนขี้เกียจ

เช่น ถ้าคุณตกงาน หรือทำให้ตัวเองยากจนในขีดที่จะได้รับความช่วยเหลือ หรือได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ผลที่เกิดขึ้นคือ คนไม่มีแรงผลักให้เพิ่มศักยภาพของตนเองในการหารายได้เพิ่ม เพราะเงินสวัสดิการจากรัฐนั้นมักจะจ่ายด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ต้องไปฝึกอาชีพตามที่กำหนด และเงื่อนไขอื่นๆ เช่น การสมัครงานตามจำนวนที่กำหนด หรือต้องรับทำงานที่ตนเองไม่ถนัดหรืองานที่ได้ค่าจ้างอย่างไม่เป็นธรรม

แม้แต่เมื่อหางานทำได้แล้ว รายได้จากงานที่ทำอาจสูงจนไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ แต่กลับกลายเป็นว่า พวกเขาเมื่อมีงานทำ ต้องจ่ายภาษี ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ต้องจ่ายค่าเดินทางไปทำงาน หักลบกลบหนี้เงินที่ได้จากการทำงาน น้อยกว่าเงินเดือนที่ได้รับจากรัฐในฐานะคนตกงาน

ดังนั้น รัฐสวัสดิการรูปแบบนี้ อาจทำให้ตัวเลขคนตกงานลดลง แต่ไม่ได้เพิ่มศักยภาพของทรัพยากมนุษย์ ทั้งยังกักขังมนุษย์ไว้กับงานและรายได้อันไม่เหมาะสม

กลุ่มคนที่สนับสนุน UBI จึงมองว่า การช่วยเหลือแบบรัฐสวัสดิการไม่กระตุ้นตลาดและเศรษฐกิจ

หนักกว่านั้นคือ มันไม่เป็นบันไดในการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจของคน เท่ากับขังคนไว้กับความยากจน ท้อแท้ ไม่รู้จะทำงานหนักไปทำไม

เพราะทำแล้วก็จนเหมือนเดิม พูดง่ายๆ ว่าราคาของความช่วยเหลือแบบนี้คือ การบ่มเพาะพฤติกรรมอยู่ไปวันๆ ทำงานไปวันๆ ขาด passion ในชีวิต ไว้กับพลเมืองของสังคมนั้นๆ

ทีนี้คำถามคลาสสิคต่อนโยบาย UBI คือ โห.. สมมุติว่าเราคำนวณออกมาแล้ว คนไทยต้องมีรายได้ต่อหัวต่อคนเดือนละ 15,000 บาทจึงจะไม่เป็นคนจน แล้วรัฐก็จัดการโอนเงินเดือนเข้าบัญชีธนาคารพลเมืองไทยทุกคน คนละ 15,000 บาทโดยไร้เงื่อนไข ทำแบบนี้จะทำให้คนขี้เกียจ นอนอยู่บ้าน ไม่ทำงาน หรือเอาเงินไปกินเหล้า เล่นยา เล่นการพนัน หรือเปล่า

เรื่องนี้ธนาคารโลกศึกษาไว้ในปี 2013 ว่า เมื่อให้เงินเดือนไปกับผู้มีรายได้น้อยแล้วพวกเขาจะเอาไปใช้กับเหล้า หรืออบายมุขหรือไม่

คำตอบคือ “ไม่”

เมื่อมีรายได้ที่มากพอที่ทำให้คนจนไม่ต้องกังวล สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พวกเขามีความกล้าพอที่จะลงทุนหรือทำกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์มากขึ้น ทั้งนี้เพราะพวกเขาสามารถแบกรับความเสี่ยงได้มากขึ้นนั่นเอง

เรื่องนี้อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ สำหรับคนไทยคือ เวลาที่พูดว่า “เงินต่อเงิน” นั่นคือคำถามที่ว่า ทำไมคนรวยยิ่งรวยขึ้น คนรวยยิ่งรวยขึ้นเพราะกล้าลงทุนในเรื่องที่คนมีเงินน้อยกว่าไม่กล้าลงทุน อาจจะไปซื้อที่ดินที่ดูเหมือนไม่มีอนาคตแต่มีเงินเย็นๆ นอนอยู่ก็ไม่เดือดร้อน ไม่รีบขาย

จนวันหนึ่งที่ดินแปลงนั้นกลายเป็นทองคำขึ้นมา พวกเขาก็ฟันกำไรไปโดยไม่เหนื่อยแรง

UBI ก็เป็นเช่นนี้ ทำให้คนมี “เงินเย็น” จนเกิดความกล้าหาญที่ทำในสิ่งที่มันท้าทายกว่าเดิม สร้างสรรค์กว่าเดิม และเพิ่มกำไรในชีวิตได้มากขึ้น

พูดอย่างสั้นคือ เงินที่มากพอทำให้คนมีอิสรภาพ

ในประเทศแคนาดาเคยทำวิจัยเรื่องนี้ในทศวรรษที่ 1970 ผลการทดลองพบว่า การให้เงินเดือนคนเปล่าๆ ไม่ได้ทำให้คนหันมานอนอยู่กับบ้านเฉยๆ คนยังคงไปทำงานเหมือนเดิม

และมีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ลาออกจากงานมาอยู่บ้าน และจำนวนมากในร้อยละ 1 ที่ออกมาจากงานก็เพื่อจะมาอยู่บ้านเลี้ยงลูก

นั่นแปลว่า เงินจำนวนนี้ก็ไม่สูญเปล่าเพราะทำให้มีแม่ที่จะได้ใช้เวลาในการดูแล ลูกอย่างใกล้ชิด อันแปลว่าจะมีเด็กเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ (หวังว่า) ส่วนชั่วโมงการทำงานลดลงร้อยละ 10 ส่วนที่ลด ถูกนำไปใช้กับการศึกษาหาความรู้ หรือเพิ่มโอกาสในการหางานใหม่ที่ดีกว่าเดิม

ฟังดูดี แต่เราจะเอาเงินมาจากไหน

คนที่เชียร์เรื่อง UBI บอกว่า แต่ละประเทศมีเงื่อนไขไม่เหมือนกันในการบริหารงบฯ เพื่อทำ UBI และในการลงรายละเอียด ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาจากฐานข้อมูลทางการเงิน และประชากรศาสตร์ เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ก็น่าจะเป็นองค์ความรู้ที่มีบทบาทในการทำเรื่องนี้ เช่น บางประเทศที่ความเหลื่อมล้ำของภาคการเงินกับภาคการผลิตสูง ก็อาจจะจัดเก็บภาษีจากภาคการเงิน เก็บภาษีคาร์บอน เก็บภาษีหุ่นยนต์ ภาษีมลพิษ ฯลฯ

บางประเทศอาจโยกเงินจากงบฯ ความมั่นคง งบฯ กองทัพ บางประเทศอาจลดขนาดของหน่วยงานราชการที่เทอะทะลง

ทั้งนี้ แต่ละประเทศย่อมมีหนทางจะไปสู่ UBI ไม่เหมือนกัน

นิยามความมั่นคงของประเทศต้องเปลี่ยนถ่ายมาที่ความมั่นคงของทรัพยากรมนุษย์ในแง่ของคุณภาพชีวิต สติปัญญา ทุนในการแสวงหาโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจแก่ตนเองและครอบครัว

ผลสุดท้าย เมื่อทรัพยากรมนุษย์ของประเททศนั้นๆ สังคมนั้น มันดีขึ้น สังคมนั้น ประเทศนั้นก็ย่อมมั่นคง มั่งคั่งขึ้นมาด้วย

UBI ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อหรือไม่?

เพราะพอคนมีเงินเดือนพื้นฐานเท่ากันถ้วนหน้า ของก็แพงขึ้นๆ จนเราทุกคนยากจนเท่าเดิมหรือเปล่า?

แต่เราอย่าลืมว่า UBI เป็นการ “ย้าย” เงินที่กระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เช่น จากคนรวยร้อยละ 1 ของประเทศ หรือจากงบประมาณของกระทรวงบางกระทรวงที่มากเกินความจำเป็น ไม่ใช่การพิมพ์ธนบัตร หรือเสกเงินขึ้นมาจากอากาศ

ดังนั้น เงินจะไม่เฟ้อ เพราะเงินมีเท่าเดิม แค่ถูกกระจายไปในวงกว้างมากขึ้นเท่านั้น และนักเศรษฐศาสตร์ก็ย่อมรู้ว่าเงินร้อยบาทสองร้อยบาทที่เพิ่มขึ้นในกระเป๋าเงินคนจนนั้นมีผลต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าเงินที่เพิ่มขึ้นในกระเป๋าเจ้าสัวหรือนายทุนใหญ่

กลับมาที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เจาะลงไปดูแนวคิดแล้ว มันคือลูกครึ่งของรัฐสวัสดิการและการแจกเงินเดือนฟรี แต่เป็นลูกครึ่งที่รวมเอาด้าน “เสีย” ของทั้งสองระบบมาไว้ด้วยกัน และหลายครั้งที่เทคโนแครตของรัฐบาลหยิบยืมบางคีย์เวิร์ดของ UBI มาสนับสนุนการแจกเงินนี้อย่างผิดฝาผิดตัว

นั่นคือ มันไม่เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าที่เอื้อให้คนเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานใดๆ เพื่อเป็นทุนของชีวิตในการหลุดจากความยากจน

แถมยังเป็นการ “แจกเงิน” เฉพาะคนมีรายได้น้อย ที่สุดท้าย เมื่อรายได้เขามากขึ้น เขาจะเสียสิทธินี้ไป หนักกว่านั้นเป็นการแจกเงินที่ทำให้ภาคราชการใหญ่โตขึ้น มีอำนาจมากขึ้น ควบคุมพลเมืองได้มากขึ้นผ่านบัตรนี้

แถมยังอ้างความเป็นบุญเป็นคุณต่อไปได้อีก และเงินที่แจกก็กะล่อยกะหลิบจนไม่พอที่จะเอามาเริ่มต้นทำอะไรกับชีวิตได้

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเห็นคำว่า “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” สิ่งแรกที่เราต้องเตือนตัวเองคือ สิ่งนี้ไม่ใช่สวัสดิการ สิ่งนี้ไม่เข้าข่าย UBI สิ่งนี้เป็นแค่ความคิดสั้นอยากผันเงินรัฐจากภาษีประชาชนเข้ากระเป๋าเจ้าสัวให้สมประโยชน์กันแล้วคิดตื้นๆ ว่าชาวบ้านจะเห็นแก่เงินห้าร้อยเงินพันแล้วเห็นเป็นบุญเป็นคุณ

งานนี้ก็ไม่รู้ใครหลอกใครจริงๆ