แพทย์ พิจิตร : ศรีธนญชัยกับปฏิกิริยา กรณี Sophist vs. Philosopher

อาจารย์ชัยอนันต์กับอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ได้บุกเบิกการสอนวิชา “ความคิดทางการเมืองไทย” ขึ้นที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อราวทศวรรษ พ.ศ.2520 และต่อมาก็ได้กลายเป็นวิชาในระดับปริญญาเอกด้วย

ที่สำคัญคือ ท่านทั้งสองได้ผลิตตำรา “ความคิดทางการเมืองไทย” และที่สำคัญขึ้นไปอีกคือ ก่อนที่จะพิมพ์เป็นตำราออกมา ท่านทั้งสองได้ส่งให้อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ่าน และท่านอาจารย์นิธิก็ได้เขียนตอบมาโดยจั่วหัวเรื่องว่า “ปฏิกิริยา”

ซึ่งในตอนก่อน ได้กล่าวถึงข้อวิจารณ์แบบนักประวัติศาสตร์ของอาจารย์นิธิที่มีต่อการศึกษาความคิดทางการเมืองในแบบรัฐศาสตร์และปรัชญาการเมืองของอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติ

 

ประเด็นคราวที่แล้วคือ อาจารย์นิธิไม่เห็นด้วยกับการใช้กรอบคิดเรื่องการขัดกันระหว่าง “ขนบจารีตประเพณีและธรรมชาติ” มาตีความวิเคราะห์ความคิดทางการเมืองในเรื่องศรีธนญชัยและศรีปราชญ์ ซึ่งกรอบคิดดังกล่าวปรากฏชัดในการศึกษาความคิดทางการเมืองกรีกโบราณภายใต้คำว่า “Nomos และ Physis”

ซึ่งผมได้ขยายความไปบ้างแล้วว่ามันคืออะไร คราวนี้จะขยายความต่อ

และเมื่อขยายความจบแล้ว ก็จะมาพิจารณาว่า ตกลงแล้ว กรอบคิดดังกล่าวนี้มันใช้ได้หรือไม่ได้อย่างไรในการวิเคราะห์ตีความความคิดทางการเมืองในศรีธนญชัย

และในการทำความเข้าใจกรอบคิดเรื่อง “Nomos-Physis” จำเป็นต้องเข้าใจความขัดแย้งแตกต่างระหว่างฟิลโลโซเฟอร์ (ผู้รักในความรู้-philosopher) และโซฟิสต์ (ผู้รู้-sophist) ที่เกิดขึ้นในบริบทศตวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาลในนครรัฐเอเธนส์

 

(ต่อจากคราวที่แล้ว) จะว่าไปแล้ว ในขณะที่พวกโซฟิสต์เห็นฝูงชนที่สนใจอยากประสบความสำเร็จเป็นเป้าหมายที่พวกเขาจะมุ่งเข้าหาเพื่อเสนอขายวิชาความรู้

ในทำนองกลับกัน พวกฟิลโลโซเฟอร์กลับเห็นสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเป้าหมายที่พวกเขาจะเข้ากระชากหน้ากากของพวกโซฟิสต์ต่อหน้าฝูงชน

ในขณะเดียวกัน พวกฟิลโลโซเฟอร์ก็จะแทรกตัวเข้าไปโดยกล่าวว่า พวกเขานั้นต้องการเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับสิ่งดีๆ ไม่ต่างจากคนอื่นๆ และอยากจะตั้งคำถามกับผู้รู้หรือพ่อค้าวิชาที่กำลังอวดอ้างสรรพคุณความสามารถของตนเองอยู่

พวกฟิลโลโซเฟอร์จะกล่าวว่า ตนนั้นไม่รู้อะไร ถ้าจะรู้อะไรที่แน่นอนสักอย่างก็คงจะรู้อย่างที่ Socrates รู้ นั่นคือ “ข้าพเจ้ารู้ว่า ข้าพเจ้าไม่รู้อะไร”

และด้วยเหตุที่ข้าพเจ้ารู้ตัวดีว่าข้าพเจ้าไม่รู้อะไร ข้าพเจ้าจึงใคร่อยากรู้อยากพบเห็นความรู้ที่แท้จริงจากผู้รู้ และด้วยข้าพเจ้าต้องการที่จะรู้หรือรักที่จะรู้ ข้าพเจ้าจึงสมควรเรียกตัวเองหรือถูกเรียกจากคนอื่นๆ ว่าเป็นเพียง “ผู้รักปรารถนาในความรู้—ฟิลโลโซเฟอร์—philosopher” มากกว่าที่จะเป็นหรือจะเรียกตัวเองหรือถูกคนอื่นๆ เรียกข้าพเจ้าว่า “ผู้รู้หรือผู้ที่มีความรู้อยู่กับตัวแล้วเฉกเช่นอาจารย์—โซฟิสต์—-sophist”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เราสามารถอธิบายพวกฟิลโลโซเฟอร์ในฐานะกลุ่มหรือการรวมตัวกันของคนที่มีความคิดความเชื่อร่วมกันในสังคมเอเธนส์คือ การแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบทวนกระแสค่านิยมสังคมและปรากฏการณ์ของพวกโซฟิสต์

และทุกครั้งที่พวกโซฟิสต์ได้ยินได้พบพวกฟิลโลโซเฟอร์ที่เปี่ยมไปด้วยทักษะในการใช้ภาษาและตรรกะรวมทั้งวิภาษวิธีที่ไม่ด้อยกว่าหรือบางทีเหนือกว่าพวกโซฟิสต์เองด้วยซ้ำ แต่กระนั้นคนเหล่านั้นก็ยังคงถ่อมตัวเรียกตัวเองว่าเป็นเพียงผู้ปรารถนาความรู้เท่านั้น

พวกโซฟิสต์จึงรู้สึกถึงสภาวะของการประชดประชันและเยาะเย้ยถากถางอย่างลึกๆ (irony) ไปในตัวจากการใช้คำว่า “ฟิลโลโซเฟอร์” ของคนเหล่านั้นเพื่อเปรียบเทียบกับพวกโซฟิสต์

 

แม้ว่าจะยังไม่มีนักวิชาการตะวันตกท่านใดได้ทำการศึกษาหรือพิจารณา “ฟิลโลโซเฟอร์” ในมิติของปรากฏการณ์ทางสังคมในลักษณะเดียวกันกับที่ G.B. Kerferd ได้ทำการศึกษาพวกโซฟิสต์ในฐานะขบวนการหรือกลุ่มทางสังคมอย่างที่ Kerferd เรียกว่า “the Sophistic movement”

แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า การกำเนิดฟิลโลโซเฟอร์ขึ้นในลักษณะปฏิกิริยาและการทวนกระแสสังคมและการท้าทายปรากฏการณ์ของพวกโซฟิสต์นั้นถือเป็นขบวนการและกลุ่มพลังทางสังคมหนึ่งของเอเธนส์ด้วย

และที่สำคัญอิทธิพลและผลกระทบของขบวนการที่ข้าพเจ้าขอเรียกว่า “the philosophic movement” นั้นได้แผ่กระจายและมีขอบเขตกว้างขวางมากยิ่งทั้งในมิติของสถานที่และกาลเวลา และมีลักษณะของความเป็นอุดมการณ์ทางสังคมการเมืองที่โดดเด่นและเฉพาะตัวในลักษณะของการท้าทาย วิพากษ์วิจารณ์และทวนกระแสสังคม

ดังที่ต่อมามักจะปรากฏออกมาในลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า “วิถีแห่งปัญญาชน” หรือ “ลักษณะของความเป็นปัญญาชน”

เพราะลักษณะสำคัญของปัญญาชนที่พบเห็นได้ก็คือ การวิพากษ์สังคม การทวนกระแสสังคม ไม่ว่าสังคมนั้นจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ หรือในรูปลักษณะเศรษฐกิจการเมืองแบบใด ผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็นปัญญาชนในที่นั้นๆ ก็คือผู้วิพากษ์สังคมของตัวเขาเองและอาจจะรวมถึงสังคมโลกโดยรวมด้วยก็ได้

สาเหตุสำคัญที่ “ปัญญาชน” เหล่านั้นเป็นเช่นนั้น

ประการแรก ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นมรดกตกทอดจาก “ปรากฏการณ์ฟิลโลโซเฟอร์” ในสังคมเอเธนส์ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาล ถ้าประวัติศาสตร์และงานเขียนของพวกฟิลโลโซเฟอร์ได้ตกทอดมายังสังคมและผู้คนในสังคมต่างๆ เหล่านั้น ถือได้ว่า “อุดมการณ์แบบฟิลโลโซเฟอร์” ได้มีอิทธิพลสำคัญแบบข้ามชาติข้ามเวลาและสถานที่ในการสร้างสมาชิกหรือคนประเภทเดียวกันขึ้นมา

ประการที่สอง ถ้ากลุ่มปัญญาชนในยุคหลังๆ ปรากฏการณ์ในเอเธนส์ครั้งนั้น มิได้มีประสบการณ์รับรู้เรื่องราวหรือรับการส่งทอดวิธีคิดไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ก็กล่าวได้ว่า ลักษณะของการแสดงออกแบบปฏิกิริยาทวนกระแสสังคมนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างจะเป็นสากลและเกิดขึ้นโดยตัวของมันได้เอง ในทุกสถานที่และทุกกาลเวลา

คำถามสำหรับคำตอบประการที่สองของข้าพเจ้านี้คือ การเกิดขึ้นเองของ “ปัญญาชน” ของสังคมนั้นเกิดขึ้นในทุกบริบททุกเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือเกิดขึ้นเฉพาะภายใต้เงื่อนไขบริบททางสังคมเศรษฐกิจการเมืองหนึ่งๆ เท่านั้น

ซึ่งคำถามที่ว่านี้ก็เป็นสิ่งที่นักวิชาการอย่าง G.E.R. Lloyd พยายามทำการศึกษาเปรียบเทียบศาสตร์และองค์ความรู้ของสังคมจีนและกรีกโบราณอย่างจริงจังโดยศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างกำเนิดและลักษณะขององค์ความรู้กับเงื่อนไขของบริบททางสังคมเศรษฐกิจและการเมือง

 

มันไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดถ้า “ปรากฏการณ์ฟิลโลโซเฟอร์” จะมีอิทธิพลมหาศาลต่อประชาคมโลกโดยรวม

ดังที่ I.F. Stone เองก็ได้กล่าวไว้ในตอนต้นของงานเขียนเกี่ยวกับการพิพากษา Socrates ของชาวเอเธนส์ว่า “ยกเว้นกรณีของพระเยซูแล้ว ไม่มีการพิจารณาคดีใดๆ ที่จะมีอิทธิพลในการสร้างความรู้สึก ตลอดจนจินตนาการให้กับชาวตะวันตกได้เท่ากับการพิพากษาคดีของ Socrates”

และก็คงไม่เป็นสิ่งที่เกินเลยไป ถ้าจะกล่าวว่า “philosophy-philosopher” มีอิทธิพลในเชิงอุดมการณ์ไม่น้อยไปกว่าศาสนา

เพียงแต่ลักษณะของความจำกัดและลักษณะที่ต้องอาศัยบุคคลที่มีทักษะความสามารถในระดับหนึ่งทำให้อุดมการณ์ที่เกิดจาก “ปรากฏการณ์ฟิลโลโซเฟอร์” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจำกัดตัวอยู่ในกลุ่มคนในวงแคบๆ ของสังคม ซึ่งต่างจากศาสนาที่สามารถโอบอุ้มสมาชิกได้มากกว่า

เพราะพื้นฐานสำคัญของความคิดแบบพวกฟิลโลโซเฟอร์นั้นคือ การไม่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะเข้าถึงความรู้ที่แท้จริงได้ และมีเฉพาะคนกลุ่มน้อยที่มีธรรมชาติบางอย่างเท่านั้นถึงจะเข้าถึงความรู้ที่แท้จริงได้

ขณะเดียวกันก็มองว่าโลกหรือสังคมที่เป็นอยู่เป็นสิ่งที่ถูกอิทธิพลกำหนดโดยคนส่วนใหญ่ (nomos) ของสังคม อันเป็นสิ่งที่สวนทางกับความสมบูรณ์แบบที่แท้จริงที่ “ฟิลโลโซเฟอร์เท่านั้น” ที่เป็นผู้มีอภิสิทธิ์ที่จะเข้าถึงและนำทางสังคมไปสู่ความสมบูรณ์หรือบอกกับสังคมถึงความเป็นไปไม่ได้ที่จะไปถึงจุดสมบูรณ์ดังกล่าว (ในกรณีที่สังคมหรือกระแสสังคมเชื่อว่า สังคมกำลังจะก้าวไปสู่ความสมบูรณ์แบบที่รอคอยอยู่ไม่ไกลนัก!)

ขณะเดียวกัน เราสามารถพิจารณาได้ว่า แนวคิดหรือวิธีคิดของพวกโซฟิสต์นั้นสอดคล้องกับบริบทสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยมากกว่าแนวคิดของพวกฟิลโลโซเฟอร์

อาจเป็นได้ว่า ปรากฏการณ์ของพวกโซฟิสต์เกิดจากบริบทประชาธิปไตยเอเธนส์ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีความสัมพันธ์ในลักษณะของการสนับสนุนบริบทดังกล่าวมากกว่าที่พวกโซฟิสต์จะเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดประชาธิปไตยขึ้น

ในขณะที่พวกฟิลโลโซเฟอร์ถือกำเนิดขึ้นมาในลักษณะที่เป็นปฏิกิริยาต่อสังคมโดยรวมขณะนั้นซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยโดยตรงและรวมทั้งเป็นปฏิกิริยาต่อผลพวงของสังคมดังกล่าวนั่นคือ ปรากฏการณ์ของพวกโซฟิสต์ เนื่องด้วยข้อจำกัดในเรื่องเนื้อที่ของบทความ สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนจะทิ้งไว้ให้ผู้อ่านได้ขบคิดและประเมินต่อไปด้วยตัวของท่านเองก็คือ

คำถามสองคำถามที่ว่า “ระหว่างฟิลโลโซเฟอร์กับโซฟิสต์ในบริบทสังคมเอเธนส์ กลุ่มใดที่เป็นพวกหัวก้าวหน้า และกลุ่มใดที่เป็นพวกอนุรักษนิยม และถ้าในบริบทสังคมปัจจุบัน ปรัชญากระแสหลักกับโพสต์โมเดิร์น กลุ่มใดคือกลุ่มก้าวหน้าและกลุ่มใดคือกลุ่มอนุรักษนิยม?”

และคราวต่อไป ผู้เขียนก็จักได้พิจารณาการนำเอากรอบแนวคิด “nomos-physis” ที่อาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติใช้วิเคราะห์เรื่องศรีธนญชัย ที่อาจารย์นิธิไม่แน่ใจว่า จะเป็นการศึกษาที่ถูกต้องหรือไม่?