เปิดใจ ‘ทูตยูเครน’ ความท้าทายใหม่ กับอดีตแสนโหดร้ายที่ประชาคมโลกไม่ควรนิ่งเฉย!

คุยกับทูต อันดรีย์ เบชตา ยูเครนกับความท้าทายใหม่ (1)

ชนวนความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจระเบิดเป็นสงครามเต็มรูปแบบในวันใดวันหนึ่ง ด้วยเหตุที่สองชาติมีปัญหาระหองระแหงกันมาช้านาน เริ่มจากวิกฤตการณ์ไครเมีย ต่อด้วยโศกนาฏกรรมสายการบินมาเลเซีย เที่ยวบิน MH17 และมาสู่ทะเลอาซอฟ (Sea of Azov) ล่าสุด

นายอันดรีย์ เบชตา (H.E. Mr. Andrii Beshta) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐยูเครนประจำประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามลำดับ

“วันนี้ ผู้คนทั่วโลกต่างพากันเฉลิมฉลองวันหยุดในโอกาสเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ พร้อมกับส่งความปรารถนาดีและมอบของขวัญให้แก่สมาชิกในครอบครัวและเพื่อนๆ กันอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินในบรรยากาศอันรื่นเริง แต่ไม่ใช่เวลาในการเฉลิมฉลองสำหรับชาวยูเครนนับล้านคน”

“เมื่อวานนี้ วันก่อน และวันก่อนหน้านั้น หลายครอบครัวต้องประสบกับความเศร้าโศกเนื่องจากสูญเสียบุคคลที่รักจากการโจมตีของรัสเซีย แม้ว่าสงครามครั้งนี้จะไม่ได้อยู่ในหัวข้อข่าวรายวันอีกต่อไปทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก แต่จำนวนผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นทุกๆ วัน”

“นับตั้งแต่รัสเซียเข้ามารุกรานในปี ค.ศ.2014 จนถึงวันนี้มีชาวยูเครนเสียชีวิตมากกว่า 10,000 คน รวมทั้งผู้หญิงและเด็กได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรปของศตวรรษที่ 21”

คาบสมุทรไครเมีย ดินแดนที่รัสเซียถูกนานาชาติประณามว่าใช้กำลังทหารเข้าผนวกเอาเป็นของตนในปี ค.ศ.2014 ปัจจุบันทางการยูเครนเรียกไครเมียว่า “ดินแดนไครเมียที่ถูกยึดครองชั่วคราว” และไม่เรียกพื้นที่บริเวณจุดผ่านแดนว่า “พรมแดน” แต่เรียกว่า “จุดควบคุมการเข้า-ออก” แสดงถึงการยืนยันความเป็นเจ้าของคาบสมุทรไครเมียอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

“ผมพูดได้ว่า มอสโกทำให้ลูกหลานของเราเป็นเด็กกำพร้า ชาวยูเครนผู้รักชาติหลายคนถูกทรมานในคุก และมากกว่า 70 คนถูกจับกุมคุมขังอย่างผิดกฎหมายในรัสเซียหรือเขตยึดครองไครเมียด้วยข้อหาทางการเมือง เกษตรกรชาวไครเมียชื่อ Volodymyr Balukh ถูกจับกุมและถูกตัดสินจำคุก 5 ปีเพียงชักธงชาติยูเครนในบ้านส่วนตัวของเขา และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวยูเครน โอเล็ก เซนต์ซอฟ (Oleg Sentsov) ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำที่อยู่ห่างไกลทางภาคเหนือของรัสเซียเป็นเวลาถึง 20 ปีในข้อหาที่ไม่เป็นความจริง”

ซึ่งทำให้ Margaret Atwood นักเขียนอาวุโส รวมถึงศิลปิน นักข่าว และคนดังในวงการบันเทิงฮอลลีวู้ด ไม่ว่าจะเป็น Patrick Stewart , Tom Hanks, Rita Wilson และอีกมากมายได้พร้อมใจกันเรียกร้องให้ปล่อยตัวโอเล็ก เซนต์ซอฟ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลรัสเซียที่นำไครเมียเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ

ส่งผลให้โอเล็ก เซนต์ซอฟ ถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลา 20 ปีในข้อหาก่อการร้าย

“ตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 พลเมืองกว่า 1.5 ล้านคนในยูเครนกลายเป็นบุคคลที่ต้องพลัดถิ่นเนื่องจากพวกเขาต้องหนีออกจากไครเมีย และดอนบัสส์ (Donbass) ของยูเครน ที่ถูกรัสเซียยึดครอง และปัจจุบันก็ยังไม่สามารถกลับบ้านได้”

สำหรับเด็กๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านตามแนวหน้าของการสู้รบระหว่างกองกำลังของยูเครนและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซีย ต้องเผชิญกับสภาพบอบช้ำทางจิตใจอย่างมาก และบางรายส่งผลต่อร่างกาย แม้จะมีอาสาสมัครที่พยายามเข้ามาให้ความช่วยเหลือก็ตาม

“จะเห็นได้ว่ารัสเซียเพิ่มจำนวนโศกนาฏกรรมของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ชาวยูเครนต้องเผชิญกับความเศร้าโศก ความทุกข์ทรมาน การทำลายล้าง และความตายนับพัน” ท่านทูตอันดรีย์ เบชตา กล่าว

“นี่คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เกือบห้าปีแล้วสำหรับชาวยูเครน ตั้งแต่รัสเซียเริ่มต้นการรุกรานในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2014 ภายใต้ข้ออ้างของการลงประชามติที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจัดขึ้นภายใต้กระบอกปืนของทหารรัสเซีย”

“มอสโกปล้นคาบสมุทรไครเมียของยูเครน การยึดครองดินแดนของรัสเซียนั้นเป็นการผนวกโดยใช้กำลังบีบบังคับเอาดินแดนของประเทศในยุโรปเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ปี ค.ศ.1945”

“รัสเซียได้ละเมิดข้อผูกพันและพันธกรณีที่มีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งรวมถึงกฎบัตรสหประชาชาติ (United Nations Charter) บรรณสารสุดท้ายเฮลซิงกิ (Helsinki Final Act) และสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือระหว่างยูเครนและรัสเซีย (Treaty of Friendship and Cooperation between Ukraine and Russia)”

“ยิ่งกว่านั้น มอสโกได้ทำลายพันธกรณีอย่างชัดเจนภายใต้บันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ (Budapest Memorandum) ที่ลงนามในปี ค.ศ.1994 เพื่อเคารพเขตแดนที่มีอยู่ของยูเครน (existing borders of Ukraine) และละเว้นจากการคุกคามหรือการใช้กำลังกับความสมบูรณ์ของดินแดนหรือความเป็นอิสระทางการเมืองของยูเครน”

“เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ.2014 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ มีมติในบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน (Territorial Integrity of Ukraine) ซึ่งยืนยันความสมบูรณ์ของดินแดนของประเทศยูเครนภายในขอบเขตซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยตัดสินว่าการลงประชามติที่เสแสร้งนั้นไร้เหตุผลและไม่สามารถเป็นพื้นฐานสำหรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสถานะของไครเมียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน”

“ทั้งนี้ ยูเครนขอแสดงความชื่นชมอย่างยิ่งว่า ราชอาณาจักรไทยเป็นหนึ่งใน 100 รัฐชาติที่ลงมติเห็นชอบในการลงมติครั้งประวัติศาสตร์โดยยึดตามบรรทัดฐานและหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศและไม่ยอมรับการผนวกไครเมียของรัสเซีย”

นับตั้งแต่ไครเมียถูกผนวกเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย ไครเมียเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นฐานที่มั่นที่เข้มแข็งของรัสเซีย ซึ่งเป็นการยากที่สหรัฐและยุโรปจะยอมรับว่าไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

“หลังจากที่รัสเซียเข้ายึดครองไครเมียแล้วก็ดำเนินการเสริมกำลังทหารในคาบสมุทรไครเมียโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลำเลียงระบบอาวุธขนาดใหญ่ รวมถึงเครื่องบินที่สามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ กระสุนและบุคลากรทางทหาร สิ่งนี้นำไปสู่การขยายพื้นที่การใช้งานของเรือรบรัสเซียและเครื่องบินทหารในภูมิภาคทะเลดำและไกลออกไปในลุ่มน้ำเมดิเตอร์เรเนียนทั้งหมด ดังนั้น กิจกรรมดังกล่าวมีผลกระทบในด้านความปลอดภัยที่ไม่เพียงเฉพาะในพื้นที่ทะเลดำ แต่ยังครอบคลุมทั่วทั้งยุโรปใต้รวมถึงในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางด้วย”

“แต่การยึดครองไครเมีย เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น ต่อด้วยการรุกรานของกองทัพรัสเซียในปี ค.ศ.2014 ที่ดอนบัสส์ ทางภาคตะวันออกของยูเครนซึ่งมีพรมแดนติดกับรัสเซีย ด้วยกองกำลังนับพัน รวมทั้งการจัดหาอาวุธหนักกว่า 1,000 รายการ (รถถัง รถหุ้มเกราะ ระบบปืนใหญ่) กระสุน ทรัพยากรทางการเงิน และทหารรับจ้าง มีการจัดตั้งกองทัพที่แข็งแกร่งประมาณ 40,000 คน รวมทั้งทหารรัสเซียอีกหลายพันคนในดอนบัสส์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงิน การจัดตั้ง และควบคุมโดยรัสเซีย”

“ส่วนการลงนามระหว่างยูเครนและรัสเซีย (รวมทั้งองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป หรือ OSCE ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ย) ในข้อตกลงมินส์ก (The Minsk agreements) ปี ค.ศ.2014 และ ค.ศ.2015 จนถึงขณะนี้ ยังคงเป็นทางเลือกเดียวในการแก้ไขความขัดแย้ง มีขั้นตอนมากมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ รวมถึงการหยุดยิง การแลกเปลี่ยนตัวประกันและบุคคลที่ถูกจับกุมอย่างผิดกฎหมาย การถอนกำลังทหารรัสเซียและอุปกรณ์ทางทหารออกจากอาณาเขตของประเทศยูเครน”

“ยูเครนมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการดำเนินการตามข้อตกลงมินส์ก เพราะเราต้องการความสงบสุขมากกว่าใครๆ เนื่องจากตกอยู่ภายใต้การโจมตีทุกวันในสี่ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการลงนามกันในข้อตกลงดังกล่าว ทหาร พลเรือน และพี่น้องร่วมชาติต้องเสียชีวิตเพื่อปกป้องประเทศ และรัสเซียยังคงละเมิดข้อตกลงมินส์กอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถแม้แต่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติข้อแรกในการหยุดยิง”

กรณีมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 17 (MH17) ซึ่งถูกยิงตกระหว่างเดินทางจากกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ มุ่งหน้าสู่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ขณะบินอยู่เหนือน่านฟ้าทางตะวันออกของยูเครนเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.2014

ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือ 298 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวดัตช์ เสียชีวิตทั้งหมด โดยที่ผ่านมาทางการรัสเซียได้ปฏิเสธมาตลอดว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุเครื่องบินตกดังกล่าว พร้อมกับกล่าวโทษรัฐบาลยูเครนว่าเป็นฝ่ายที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ ท่านทูตยูเครนกล่าวว่า

“ตรงกันข้าม หลังจากสี่ปีของการทำงานอย่างรอบคอบพิถีพิถันโดยคณะกรรมการสอบสวนคดีอาญานานาชาติ ที่นำโดยเนเธอร์แลนด์ ในนามทีมสอบสวนร่วม หรือเจไอที (Joint Investigation Team : JIT) กับออสเตรเลีย มาเลเซีย เบลเยียม และยูเครน ระบุเป็นครั้งแรกเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ขีปนาวุธที่ยิงเครื่องบินตกนั้น มาจากกองพันขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานที่ 53 ที่ประจำการอยู่ในเมืองคูร์สก์ (Kursk) ของรัสเซีย ประมาณ 100 ก.ม. จากชายแดนยูเครน”

“ระบบขีปนาวุธซึ่งใช้ในการยิงเครื่องบินพลเรือนนี้ได้ถูกลำเลียงไปยังภูมิภาคโดเนตส์กของยูเครนซึ่งถูกควบคุมโดยกลุ่มติดอาวุธที่ผิดกฎหมายของรัสเซีย และถูกนำกลับไปยังรัสเซียในวันรุ่งขึ้น โดยผ่านเขตแดนที่ไม่มีการควบคุมทั้งโดยยูเครนและรัสเซีย ซึ่งจากข้อสรุปนี้ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์และออสเตรเลียถือว่ารัสเซียต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมนี้ และกำลังดำเนินการตามกฎหมายอย่างเป็นทางการ”

ทะเลอะซอฟ (Sea of Azov) กลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งล่าสุดระหว่างรัสเซียกับยูเครน หลังทหารรัสเซียได้ใช้กำลังยึดเรือของยูเครน 3 ลำ โดยอ้างว่าเรือเหล่านี้ล่วงล้ำน่านน้ำอาณาเขตของรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย ทั้งที่ตามข้อตกลงในปี ค.ศ.2003 ยูเครนสามารถเดินเรือผ่านช่องแคบเคิร์ช (Kerch strait) สู่ทะเลอะซอฟได้อย่างเสรีในฟากฝั่งของตน ส่วนเรือทหารสามารถแล่นผ่านได้โดยแจ้งให้อีกฝ่ายทราบ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการพล็อตเส้นประแบ่งเขตกันอย่างชัดเจน

แต่หลังจากที่รัสเซียผนวกดินแดนไครเมียมาจากยูเครนในปี ค.ศ.2014 สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป ทะเลอะซอฟได้กลายเป็นกรณีพิพาทครั้งใหม่ หลายเดือนที่ผ่านมา รัสเซียได้ตรวจตราเรือทุกลำที่แล่นออกหรือมุ่งหน้าสู่ท่าเรือยูเครน ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ยูเครนเป็นอย่างมาก เพราะการกระทำนี้ถือเป็นการควบคุมช่องแคบนี้ไว้แต่เพียงผู้เดียว ท่ามกลางความเคลือบแคลงจากนานาชาติว่ารัสเซียอาจมีแผนการใหญ่แอบแฝงอยู่

“ผมคิดว่า เครมลินไม่มีความตั้งใจที่จะยุติ ราวกับว่าการก่ออาชญากรรมในแหลมไครเมียและดอนบัสส์นั้นยังไม่เพียงพอ เพราะรัสเซียพุ่งเป้าไปที่การยึดครองน่านน้ำทะเลอะซอฟระหว่างยูเครนและรัสเซีย เพราะในปี ค.ศ.2017 รัสเซียได้ก่อสร้างสะพานความยาว 19 กิโลเมตรอย่างผิดกฎหมาย คร่อมช่องแคบเคิร์ชเพื่อเชื่อมระหว่างไครเมียกับดินแดนแผ่นดินใหญ่ของรัสเซียซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะเป็นช่องทางเดินเรือที่เชื่อมระหว่างทะเลดำกับทะเลอะซอฟ”

“นอกจากนี้ มอสโกยังเพิ่มความเข้มแข็งทางทหารในน่านน้ำทะเลอะซอฟ โดยข้ออ้างเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อป้องกันสะพานและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มเรือคอยลาดตระเวนทั้งในเขตช่องแคบเคิร์ชและทะเลอะซอฟ แน่นอนว่าเรือสินค้าของยูเครนก็ได้รับผลกระทบจากสะพานนี้ด้วย เพราะโครงสร้างของสะพานเป็นอุปสรรคต่อการลอดผ่านของเรือบางชนิด”

มีกฎการเขียนระดับโลกอันหนึ่งคือ “ปืนของเชคอฟ” (Chekhov”s gun) นั่นคือองค์ประกอบต่างๆ ที่ถูกใส่เข้ามาในเรื่องเล่า ต้องถูกใช้ เพราะการเขียนอะไรลงไปแล้วไม่ได้ใช้ ไม่มีประโยชน์ มันคือความรุงรังอย่างไร้ประโยชน์ และสิ่งอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องถูกกำจัดออกไป

“ปืนของเชคอฟ คือการกำจัดทุกสิ่งที่ไม่สำคัญกับเรื่องออกไป ถ้าในบทแรกมีปืนแขวนอยู่บนผนัง ในบทที่สองหรือสามต้องมีการลั่นไก ถ้าไม่มีการลั่นไก มันก็ไม่ควรจะถูกแขวนไว้ตั้งแต่แรก”

“ปืนนี้ก็ได้ถูกใช้ยิงเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ.2018 เมื่อเรือของเรา 3 ลำถูกยึดโดยหน่วยพิทักษ์ชายแดนของรัสเซียและกองทัพเรือรัสเซียจากการเข้าสู่ท่าเรือของเราในทะเลอะซอฟ ผ่านช่องแคบเคิร์ช และต่อมาถูกโจมตีด้วยอาวุธร้ายแรงในน่านน้ำเปิด เรือของเราใช้เส้นทางเดินเรือที่ประกันเสรีภาพในการเดินเรือโดยกฎหมายทางทะเลระหว่างประเทศ”

“นี่ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นของผม แต่เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งจนถึงขณะนี้รัสเซียยังคงยึดเรือของเราไว้ทั้ง 3 ลำ จับกุมลูกเรือยูเครน 24 คน เหตุปะทะครั้งนี้ยังทำให้ลูกเรือของเราได้รับบาดเจ็บ 3 คน”

“เป็นอีกครั้งที่ประชาคมระหว่างประเทศไม่สามารถนิ่งเฉยในการกระทำอันก้าวร้าวนี้ โดยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการสนับสนุนการบูรณาการดินแดนของยูเครนและประณามการรุกรานของสหพันธรัฐรัสเซีย และเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมานี้ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติว่าด้วยปัญหาทางทหารของแหลมไครเมียและเมืองเซวาสโทพอล (ยูเครน) เช่นเดียวกับบางส่วนของทะเลดำและทะเลแห่งอะซอฟ”