บทวิเคราะห์ : โลกส่งท้ายปี 2561 เผชิญจุดหักเหเสี่ยงอันตราย

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“บ๊อบ เบอร์วิน” รวบรวมหลักฐานใหม่ๆ ในปรากฏการณ์โลกร้อนปี 2561 มาเผยแพร่ในเว็บไซต์อินไซด์ไคลเมต นิวส์ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้ว่า โลกเราวันนี้กำลังเผชิญกับความเสี่ยงและอยู่ห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อจะเดินไปทางไหน

ทางหายนะหรือวกกลับมาสู่เส้นทางธรรมชาติ

“อินไซด์ไคลเมต” เป็นเว็บไซต์ไม่แสวงหากำไร มีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทในสหรัฐให้ทุนอุดหนุนเพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องของโลกร้อน อย่างเช่น กูเกิล

เว็บไซต์นี้ได้รับการยกย่องและได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศของนักข่าวอเมริกันมาแล้ว

“เบอร์วิน” บอกว่า มีหลักฐานหลายชิ้นพิสูจน์ได้ว่า ประเทศต่างๆ ยังคงเผาถ่านหินนับล้านตันทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลอยสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มอีก 4.7 เปอร์เซ็นต์

เป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เซ็นสัญญาร่วมกันลดภาวะโลกร้อน ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2558

ตลอดทั้งปี 2561 ชาวโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มถึง 2%

สํานักงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งสหรัฐ เปรียบเทียบสภาพภูมิอากาศในช่วงฤดูใบไม้ผลิของแต่ละปีพบว่า ในปี 2560 อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเป็นผลจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น 1.6% นับตั้งแต่ปี 2533

นั่นหมายถึงว่า มีหลายประเทศไม่ได้ทำตามข้อตกลง “ปารีส”

หลายประเทศบิดพลิ้วข้อสัญญาจะปิดโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหิน ไม่ได้ลงทุนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงๆ จังๆ

ช่องว่างระหว่างข้อตกลงปารีสกับความเป็นจริงในการใช้พลังงานฟอสซิลจึงถ่างห่างกันมาก

ฉะนั้น อุณหภูมิบนพื้นผิวโลกพุ่งสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกประหลาด

ถ้าคิดจะลดอุณหภูมิโลกให้ได้ตามเป้าหมายภายใน 12 ปีนี้ ทุกประเทศต้องร่วมมือกันควบคุมการปล่อยก๊าซพิษลงครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ปล่อยในปัจจุบัน และต้องทำต่อเนื่องเพื่อให้ชาวโลกหยุดการปล่อยก๊าซพิษอย่างสิ้นเชิงภายในปี 2593

เป้าหมาย “ลดโลกร้อน” เป็นการบีบบังคับให้ทุกประเทศต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างอย่างขนานใหญ่ในการใช้พลังงาน การเกษตร ระบบป่าไม้

ทุกประเทศต้องปลุกให้ประชาชนคิดใหม่ทำใหม่ทั้งในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การทำธุรกิจ

แต่ถ้าเราปล่อยให้โลกร้อนขึ้นไปถึง 2 ํc ชาวโลกเจอมหันตภัยชนิดที่ไม่เคยประสบพบพานมาก่อน

อากาศจะร้อนอย่างสุดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตร

ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 4 นิ้วมีผลกับประชากรริมชายฝั่งราว 10 ล้านคน

ภายในปี 2643 คนอเมริกันจะเสียชีวิตปีละ 9,300 คนด้วยโรคเกี่ยวเนื่องกับภาวะโลกร้อน

คลื่นความร้อน ภัยแล้ง พายุคลั่ง เกิดขึ้นในทั่วโลกถี่บ่อยยิ่งขึ้น

มีผลต่อการผลิตพลังงาน โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้ภาคเกษตรกรรม การขนส่ง การผลิต การค้าปลีกและระบบสุขอนามัย ได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง

ระบบนิเวศของโลกตกอยู่ในความเสี่ยง ป่าไม้เจอไฟป่าเผาลามกินพื้นที่กว้าง เชื้อโรคและศัตรูพืชแพร่ระบาดมากขึ้น

เมื่อความหลากหลายทางชีวภาพได้รับผลกระทบแผ่กว้างขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรจะได้รับผลกระทบตามมาด้วย

พืชสัตว์ที่เป็นวงจรของระบบนิเวศช่วยแพร่ขยายพันธุ์ เช่น ผึ้ง ค้างคาว จะสูญพันธุ์หรือมีปริมาณลดลง

กองทุนสัตว์ป่าแห่งโลก เปิดผลศึกษาเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาพบว่า ตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมาสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังทั่วโลกมีจำนวนลดลง

ถิ่นที่อยู่ของสัตว์เหล่านี้เฉลี่ย 60% ถูกบุกรุกทำลาย

สาเหตุมาจากชาวโลกรุมขย้ำล่ากินเป็นอาหารเนื่องจากการขยายตัวของประชากรและภัยจากภาวะโลกร้อน

 

ศูนย์วิจัยร่วมคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปมีข้อสรุปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า แนวโน้มภาวะโลกร้อนทำให้พืชสัตว์สูญพันธุ์มากขึ้นเป็น 10 เท่าตัว

นักวิทยาศาสตร์ระบุ ปลาและสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ในทะเลเคลื่อนย้ายฝูงไปยังทะเลที่มีอุณหภูมิเย็นกว่า

ส่วนชายฝั่งเศรษฐกิจทั่วโลกเจอกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงกัดเซาะ

ถ้าโลกร้อนขึ้น 2 ํc พืชและสัตว์จะสูญพันธุ์มากขึ้นเป็น 2 หรือ 3 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับ 1.5 ํc

ทุกประเทศเจอวิกฤตด้านความมั่นคงทางอาหาร

ตลอดปี 2561 มีรายงานทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลต่อระบบนิเวศน์ของขั้วโลกเหนือ

ธารน้ำแข็งละลายมากขึ้นและเร็วขึ้น มีผลต่อชุมชนที่อยู่อาศัยในแถบหนาวเย็น

กระบวนการทางเคมีของมหาสมุทรส่งผลต่อชีวิตสัตว์น้ำ ยังมีผลต่อสภาวะภูมิอากาศของโลกเป็นผลสืบเนื่องจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว

ก๊าซพิษทำปฏิกิริยาทางเคมีกับน้ำทะเลทำให้ค่าความเป็นกรดด่างในมหาสมุทรเปลี่ยนค่ามีความเป็นกรดสูง ส่งผลต่อแนวปะการัง สาหร่าย แพลงตอน หอย และสัตว์ใต้ทะเล กระทบต่อห่วงโซ่อาหาร

เมื่อปริมาณสัตว์น้ำในทะเลลดลง กระทบต่อการประมง และสุดท้ายไม่มีโปรตีนจากทะเลมากเพียงพอต่อความต้องการ

 

เมื่อหันมาดูสถิติสภาวะภูมิอากาศทั่วโลก พบว่า เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2560 ปริมาณฝนที่ตกในประเทศเปรู เพิ่มสูงถึง 1.5 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติเก่าๆ

ในแถบยุโรป สภาวะภูมิอากาศวิกฤตแปรปรวนตลอดช่วง 5 ปีนั้น นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อน

พายุเฮอร์ริเคนและระบบภูมิอากาศวิปริตทั่วทั้งโลก มีความถี่บ่อยขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อนเป็นตัวเร่ง

ผู้เขียนสรุปทิ้งท้ายว่า ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากมายเหล่านี้ บอกให้รู้ว่า มนุษย์ไม่สามารถทำตัวแปลกแยกออกจากสิ่งแวดล้อม ทุกสรรพสิ่งล้วนแล้วเกี่ยวพันเชื่อมโยงอย่างแนบแน่น