บทวิเคราะห์ : ไทย-อาเซียน กับนัยสำคัญของ “อาร์เซป”

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กับผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ ยามนี้ตกอยู่ในภาวะคล้ายๆ กันคือคำนึงถึงอนาคตเศรษฐกิจการค้าโลกแล้วก็ออกอาการตาลอยๆ ไร้จุดหมาย ไร้ทิศทาง

เพราะโลกในขวบปีที่ผ่านมาเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการค้าหนักหนาสาหัสเหลือเกิน

ที่สำคัญก็คือ จนถึงสิ้นปี เงื่อนปมการค้าระหว่างสองยักษ์เศรษฐกิจโลกที่บานทะโรคกลายเป็นสงครามการค้า ยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติลงได้ ตรงไหนและอย่างไร

สร้างแรงเหวี่ยงฉุดดึงภาวะเศรษฐกิจโลกให้ลงลึกไปในทางลบมากขึ้นทุกที

ในเวลาเดียวกัน สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังหลายต่อหลายคนแสดงความกังวลออกมาก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากำลังวนมาใกล้ครบรอบ “ขาลง” อีกครั้งหนึ่งแล้ว ก็กลับส่งสัญญาณส่อเค้าความเป็นจริงให้เห็นตั้งแต่ปลายปี

ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า อย่างเร็วกลางปีหน้า อย่างช้าก็เป็นปีถัดไป สหรัฐอเมริกาที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเดียวในโลกในเวลานี้ที่ขยายตัวได้แข็งแกร่ง จะตกอยู่ในภาวะถดถอย

บรรยากาศทางเศรษฐกิจของโลกจึงตกอยู่ในสภาพมองไม่เห็นข่าวดี มีแต่ข่าวร้าย การค้าทั่วโลกหดตัวลง ดอกเบี้ยแพงขึ้น ค่าเงินผันผวนหนัก และยกเว้นจากดอลลาร์แล้วแนวโน้มของสกุลอื่นก็เป็นไปในทางลบทั้งหมด

 

โลกเคยตั้งความหวังเอาไว้กับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือทีพีพี แต่ก็กลายเป็นหมัน

หลังจากทรัมป์ตัดสหรัฐอเมริกาออกจากการรวมกลุ่มดังกล่าว พลังของทีพีพีเลยอ่อนยวบ

ถึงแม้ส่วนที่เหลือ 11 ชาติจะเดินหน้าลงนามในความตกลงต่อไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลายเป็นความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก หรือซีพีทีพีพี ไปก็ตามที

นั่นทำให้ความพยายามในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีในระดับภูมิภาคของอาเซียน ร่วมกับประเทศคู่เจรจา ที่เรียกกันเป็นทางการว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซป ซึ่งเคยเป็นความตกลงที่ได้รับความสนใจรองลงมาจากทีพีพี มีนัยสำคัญขึ้นมาโดยพลัน

ในบทบรรณาธิการส่งท้ายปีของ “อีสต์เอเชีย ฟอรั่ม” ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นความสำคัญของอาร์เซปไว้ว่า “เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการส่งเสริมระบบการค้าของโลกบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์” ภายใต้การกำกับขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) และจะ “เป็นเขตการค้าเสรีที่ทำสถิติโลก” ทั้งในเชิงอาณาบริเวณ และในเชิงผลผลิต

นั่นคือ อาร์เซปจะเป็นเขตการค้าเสรีที่กว้างขวางครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด และยังเป็นเขตที่มีผลผลิตในแง่ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ที่สูงที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรรวม 3,600 ล้านคน และมีจีดีพีรวมสูงถึง 25 ล้านล้านดอลลาร์ ใหญ่กว่าขนาดและจีดีพีของสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำไป

“อาร์เซป” ถ้าเป็นไปได้จริง จะเป็นครั้งแรกสุดที่รวมเอาประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจสำคัญอย่างจีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เข้ามาอยู่ด้วยกัน โดยอาศัยข้อกำหนดกฎเกณฑ์ของดับเบิลยูทีโอที่ส่งเสริมการค้าเสรีพหุภาคีเป็นพื้นฐานสำคัญ

ตามการคำนวณของอีสต์เอเชีย ฟอรั่ม อาร์เซปจะทำให้รายได้ที่แท้จริงของโลกเพิ่มขึ้น (จากที่ไม่มีความตกลงนี้) สูงถึงปีละ 286,000 ล้านดอลลาร์ คิดสัดส่วนเป็น 0.2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีรวมของทั้งโลก มากกว่าการเพิ่มขึ้นจากการรวมตัวกันเป็นซีพีทีพีพีเกือบ 2 เท่าตัว

ประเทศต่างๆ ย่อมต้องยอมลงทุนลดภาษีนำเข้าและอื่นๆ ภายใต้ความตกลงนี้ แต่ผลประโยชน์ที่ได้ตอบแทนมาก็มหาศาล ประเมินกันว่าเหมือนๆ กับการลงทุนราว 7.2 ล้านล้านดอลลาร์ ที่ให้ผลตอบแทนกลับมาในระดับ 4 เปอร์เซ็นต์ต่อปีทุกปีนั่นแหละ เหตุผลหลักมาจากการที่เชื่อกันว่า อาร์เซปจะทำให้การค้าโลกขยายตัวสูงขึ้นราว 1.9 เปอร์เซ็นต์จากระดับที่เป็นอยู่ในเวลานี้

อาร์เซปจึงกลายเป็นความหวังที่จะฉุดลากเศรษฐกิจโลกให้รุดหน้าไปด้วยโดยปริยายครับ

 

ปัญหาคือการเจรจาต่อรองเพื่อทำความตกลงเรื่องนี้ไม่ใช่ง่ายๆ แนวคิดเรื่องอาร์เซปนั้นพัฒนาขึ้นมาในฐานะบริบทหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เริ่มหารือกันมาตั้งแต่ 6 ปีก่อน ถึงปี 2018 สามารถบรรลุถึง “ร่างสุดท้าย” ได้เพียง 4 หมวด จากทั้งหมด 21 หมวด ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเจรจาที่สิงคโปร์เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

นั่นทำให้การทำให้อาร์เซปกลายเป็นความจริงขึ้นมา ตกอยู่กับไทยในฐานะประธานอาเซียนในปี 2019 นี้

ว่าจะมีพลังและบารมีมากพอที่จะขับเคลื่อนความตกลงที่ว่านี้ให้ใกล้ความเป็นจริงมากยิ่งขึ้นได้หรือไม่ครับ