เศรษฐกิจ / สัญญาณร้าย หนี้ครัวเรือนสูง…ดอกเบี้ยขาขึ้น ชำแหละไส้ในล้วนคนฐานรากก่อหนี้บาน กระทบชิ่งเศรษฐกิจซวนเซ?

เศรษฐกิจ

สัญญาณร้าย หนี้ครัวเรือนสูง…ดอกเบี้ยขาขึ้น

ชำแหละไส้ในล้วนคนฐานรากก่อหนี้บาน

กระทบชิ่งเศรษฐกิจซวนเซ?

 

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมามีทิศทางที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ระบุว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในขณะนี้ที่ขยายตัวประมาณ 4% ใกล้เคียงระดับการขยายตัวตามศักยภาพของเศรษฐกิจไทย

จึงตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในที่สุด เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกรอบ 7 ปี และปรับขึ้นหลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.50% ต่อปีมานาน 3 ปีกว่า เป็น 1.75% ต่อปี หรือปรับขึ้นอีก 0.25%

เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามว่าผลดีของเศรษฐกิจกระจายไปอย่างทั่วถึงหรือยัง

เนื่องจากหากพิจารณารายได้หรือค่าจ้างแรงงานยังค่อนข้างทรงตัว

ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้กำลังซื้ออาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก

และยังได้ยินเสียงบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดีอยู่กลายๆ

ขณะที่แบงก์ชาติรีบออกมาระบุข้อกังวลของผู้ที่มีภาระหนี้สินว่า แม้ดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้นมา แต่จะไม่มีผลให้ภาระหนี้หรือภาระการผ่อนชำระเพิ่มขึ้น

เพราะแม้ธนาคารพาณิชย์จะปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงขึ้น แต่สินเชื่อส่วนใหญ่ของครัวเรือนเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยคงที่ เช่น สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยคงที่ในช่วง 3 ปีแรก สินเชื่อบัตรเครดิตมีอัตราเพดานดอกเบี้ย 18% สินเชื่อบุคคลอัตราเพดานดอกเบี้ย 28%

ซึ่งไม่ได้คิดแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว

 

สําหรับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะลดลงเล็กน้อยแต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่อื่นๆ ที่ระดับรายได้ใกล้เคียงกับไทย ซึ่งหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีทิศทางที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่มูลค่า 12.34 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 77.5% ต่อจีดีพี ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2561 จากที่เคยสูงสุดในช่วงปลายปี 2558 ที่ 80.8% แต่การปรับลดลงนี้เป็นการปรับลดลงเชิงเทคนิค เหตุจากการที่จีดีพีขยายตัวเร็วกว่าการก่อหนี้ เมื่อเปรียบเทียบเป็นสัดส่วน

ล่าสุด รายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. มีมุมมองว่าแนวโน้มหนี้สินครัวเรือนไตรมาสที่ 3 ปี 2561 จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต สินเชื่อที่อยู่อาศัย และรถยนต์ ที่ตลาดกลับมาคึกคักหลังมาตรการรถยนต์คันแรกหมดลง ซึ่งทำให้เกิดความกังวลต่อสถานภาพครัวเรือนไทย แม้ว่า สศช.จะยืนยันว่าหนี้สินครัวเรือนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้น ไม่น่ากังวล เพียงแต่ต้องเฝ้าระวัง

เพราะการก่อหนี้กว่า 70% เป็นการกู้เพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวร ก่อให้เกิดการสะสมสินทรัพย์เพิ่มขึ้น และภาครัฐเองมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนทั้งในระบบและนอกระบบอย่างต่อเนื่อง

มั่นใจว่าหนี้ครัวเรือนจะไม่เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างแน่นอน

 

หากพิจารณาหนี้สินรายครัวเรือน โดยธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างพบว่า จำนวนหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย มีมูลค่า 316,000 บาทต่อครัวเรือน ในปี 2561 สูงสุดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจในปี 2552 หรือรอบกว่า 9 ปี สัดส่วนเป็นหนี้ในระบบ 64.7% และหนี้นอกระบบ 35.3%

และพบว่าปีนี้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 5.8% เทียบกับการสำรวจหนี้ครัวเรือนปี 2560 ที่มีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 299,000 บาทต่อครัวเรือน

หากดูโครงสร้างหนี้ครัวเรือนแล้วยังไม่กังวล เนื่องจากเป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในการซื้อสินทรัพย์ การลงทุนเครื่องจักร ซื้อวัตถุดิบเป็นหลัก

ส่วนสถานการณ์การผ่อนชำระต่อเดือน พบว่า ครัวเรือนสามารถผ่อนชำระสูงขึ้นเฉลี่ย 15,900 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน เพิ่มขึ้น 3.15% จาก 15,400 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ในปี 2560 ที่ผ่านมา

 

ด้านยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรืออีไอซี ให้ความเห็นว่า ระดับหนี้ต่อจีดีพีที่ 77-78% ของไทย น่ากังวลหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ โดยใช้การคำนวณ ภาระหนี้ทั้งหมดต่อรายได้สุทธิ หรือ ดีเอสอาร์ หากเงินเดือนสูง ค่าดีเอสอาร์ก็จะถูกปรับเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งสัดส่วนคร่าวๆ ที่ใช้ประมาณ 40%

นอกจากนี้ ยรรยงระบุว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลของอีไอซี โดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วงปี 2558-2560 ที่ผ่านมา สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ทั้งปียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ครัวเรือนทั้งปีเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้เพิ่มขึ้น 12% จากระดับ 83% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 95% ในปี 2560 ซึ่งสวนทางกับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ที่มีทิศทางลดลงในช่วงเวลาเดียวกัน

อีไอซียังพบว่า การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ทั้งปีของครัวเรือนโดยเฉลี่ย มาจากทั้งรายได้เฉลี่ยที่ลดลง และมูลค่าหนี้โดยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น โดยมูลค่าของหนี้ครัวเรือนในปี 2560 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 เกือบ 13% อีกทั้งรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนที่มีหนี้สินจากที่เคยมีการเติบโตที่ระดับ 5% ในปี 2558 กลับติดลบ 1% ในปี 2560

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการเติบโตของจำนวนหนี้ในแต่ละกลุ่มรายได้ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่มีหนี้ครัวเรือนเติบโตมากที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นความเสี่ยงการชำระหนี้ตามมาได้ในที่สุด

 

อีกมุมมองจากกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ปัจจุบันที่ระดับ 77-78% ต่อจีดีพี ไม่ได้สะท้อนภาระหนี้ของครัวเรือนทั้งหมด เพราะนำตัวเลขหลายตัวเข้ามาคำนวณในจีดีพีซึ่งเป็นการนำคนที่มีรายได้สูงและคนที่ไม่มีหนี้เข้ามาคำนวณด้วย ขณะที่หากพิจารณาหนี้ครัวเรือนต่อค่าจ้างแรงงาน จากการนำข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติมาคำนวณ โดยมูลค่าหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 12.34 ล้านล้านบาท ขณะที่หากคำนวณมูลค่าค่าจ้างแรงงาน จากกำลังแรงงานราว 37.6 ล้านคน ที่มีรายได้ 1.67 แสนบาทต่อปี รายได้จากค่าจ้างแรงงานต่อปีจะอยู่ที่ 6.23 ล้านล้านบาท

และหากเปรียบเทียบรายได้จากค่าจ้างแรงงานต่อปีกับหนี้ครัวเรือนปัจจุบันจะพบว่าหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงถึง 200% ของค่าจ้างแรงงานแต่ละปี ถือเป็นระดับหนี้ที่อยู่ในระดับสูงมาก หากต้นทุนการเงินของการก่อหนี้เพิ่มขึ้นจะเป็นความเสี่ยงของกลุ่มแรงงานมากขึ้น ทั้งนี้ มูลค่าหนี้ที่ปรากฏอยู่ในระบบเท่านั้นยังไม่รวมหนี้นอกระบบซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีเป็นมูลค่ามาก ไม่น้อยไปกว่าหนี้ในระบบ ซึ่งสะท้อนปัญหาของครัวเรือนและแรงงานที่มีการก่อหนี้สูง

นอกจากนี้ ครัวเรือนยังเสี่ยง กรณีตกงาน เจ็บป่วย หย่าร้าง ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงอยู่แล้ว จะทำให้ฐานะการเงินที่มีอยู่พลิกผัน และจะติดวงจรกลายเป็นหนี้เสียแก้ไขได้ยาก เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิตอลมากขึ้น

ซึ่งกำลังซื้อของครัวเรือนถือเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ

  หากฐานรากผุกร่อนไป ในที่สุดเศรษฐกิจก็จะทรุดอีก