แพทย์ พิจิตร : ความคิดทางการเมืองของชัยอนันต์ “ศรีธนญชัยกับ Sophist”

อาจารย์ชัยอนันต์กับอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ได้บุกเบิกการสอนวิชา “ความคิดทางการเมืองไทย” ขึ้นที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อราวทศวรรษ พ.ศ.2520 และต่อมาก็ได้กลายเป็นวิชาในระดับปริญญาเอกด้วย

ที่สำคัญคือ ท่านทั้งสองได้ผลิตตำรา “ความคิดทางการเมืองไทย” และที่สำคัญขึ้นไปอีกคือ ก่อนที่จะพิมพ์เป็นตำราออกมา ท่านทั้งสองได้ส่งให้อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ่าน และท่านอาจารย์นิธิก็ได้เขียนตอบมาโดยจั่วหัวเรื่องว่า “ปฏิกิริยา”

ซึ่งในตอนก่อน ได้กล่าวถึงข้อวิจารณ์แบบนักประวัติศาสตร์ของอาจารย์นิธิที่มีต่อการศึกษาความคิดทางการเมืองในแบบรัฐศาสตร์และปรัชญาการเมืองของอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติ

ประเด็นคราวที่แล้วคือ อาจารย์นิธิไม่เห็นด้วยกับการใช้กรอบคิดเรื่องการขัดกันระหว่าง “ขนบจารีตประเพณีและธรรมชาติ” มาตีความวิเคราะห์ความคิดทางการเมืองในเรื่องศรีธนญชัยและศรีปราชญ์

ซึ่งกรอบคิดดังกล่าวปรากฏชัดในการศึกษาความคิดทางการเมืองกรีกโบราณภายใต้คำว่า “Nomos และ Physis” ซึ่งผมได้ขยายความไปบ้างแล้วว่ามันคืออะไร

คราวนี้จะขยายความต่อ และเมื่อขยายความจบแล้ว ก็จะมาพิจารณาว่า ตกลงแล้ว กรอบคิดดังกล่าวนี้มันใช้ได้หรือไม่ได้อย่างไรในการวิเคราะห์ตีความความคิดทางการเมืองในศรีธนญชัย

 

ในการทำความเข้าใจกรอบคิดเรื่อง “Nomos-Physis” จำเป็นต้องเข้าใจความขัดแย้งแตกต่างระหว่างฟิลโลโซเฟอร์ (ผู้รักในความรู้-philosopher) และโซฟิสต์ (ผู้รู้-sophist) ที่เกิดขึ้นในบริบทศตวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาลในนครรัฐเอธนส์

เพลโตในฐานะที่เป็นผู้นำคนสำคัญของฟิลโลโซเฟอร์ได้เขียนบทสนทนาสามเส้าที่ชื่อว่า Sophist, Statesman และ Philosopher (pseudo-Plato) โดยในแต่ละบทสนทนาเป็นการถกเถียงเพื่อหาความหมายและนิยามของประเด็นปัญหาที่เป็นชื่อบทสนทนาแต่ละบท

จะเห็นได้ว่า วิธีการและการใช้เหตุผลโต้แย้งของทั้งสองกลุ่มนั้นมีความคล้ายคลึงกันมาก

ดูได้จากบทสนทนาของเพลโตที่ชื่อ Euthydemus ที่ชี้ให้เห็นถึงวิธีการของโซฟิสต์ ในการใช้ตรรกะหรือวิธีการไดอะเล็กติกในการพิสูจน์โต้แย้ง

ดังนั้น ความแตกต่างระหว่างโซฟิสต์และฟิลโลโซเฟอร์ ไม่น่าจะอยู่ที่วิธีการและรูปแบบเท่ากับเป้าหมาย

ในขณะเดียวกันเป้าหมายนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถปรากฏในเห็นในเชิงประจักษ์ได้ และเป้าหมายเป็นสิ่งที่สามารถอยู่ได้ทั้งในกระบวนการและจุดสุดท้าย

ดังนั้น การแบ่งแยกฟิลโลโซเฟอร์ออกจากโซฟิสต์จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับคนทั่วไป

และรวมทั้งในหมู่คนที่อ้างตัวว่าเป็นฟิลโลโซเฟอร์เองก็ตาม

แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่สามารถใช้เป็นเกณฑ์ได้ก็คือ ฟิลโลโซเฟอร์จะไม่เก็บเงินจากการสนทนาแลกเปลี่ยนกับคนที่สนใจใฝ่รู้ และก็ไม่ได้หวังเกียรติยศหรืออำนาจใดๆ เท่ากับการที่จะสร้างสรรค์พัฒนาคนที่มีความเชื่อและต้องการที่จะไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

นั่นคือ การเข้าถึงปัญญาความรู้

 

อย่างไรก็ตาม ทัศนะของคนทั่วไปที่มีต่อฟิลโลโซเฟอร์คือ คนที่พูดอะไรไม่รู้เรื่อง ไร้สาระ และชอบวุ่นวายในสิ่งที่ไม่มีแก่นสารและไม่มีคุณค่าใดๆ คนที่พูดเก่งในศาล ทำประเด็นที่อ่อนให้แข็งได้

หรือเมื่อโสกราติสกล่าวในเชิงปรัชญาใน Phaedo ว่า ชีวิตคนเรานั้นเมื่อเกิดมาก็นับว่าเข้าสู่ความตายไปครึ่งหนึ่ง คนทั่วไปก็คิดว่า เมื่อฟิลโลโซเฟอร์คิดว่าตนตายไปครึ่งหนึ่งแล้ว ดังนั้น ฟิลโลโซเฟอร์ก็สมควรตายเสีย เป็นต้น

โสกราติสและผู้ที่เรียกตัวเองว่าฟิลโลโซเฟอร์ โดยทั่วไปนั้น มักจะถูกมองว่าเป็นพวกที่มีทัศนคติในแง่ลบต่อชาวบ้านหรือมหาชนส่วนใหญ่ที่มักจะหลงเชื่อในสิ่งต่างๆ ได้ง่าย และมักจะยึดติดกับกามสุขมากกว่าจะคิดหาความหมายที่แท้จริงของชีวิตและแนวทางการอยู่ร่วมกันในสังคมที่สร้างสรรค์ชีวิตที่ดีมีคุณค่า

ดังที่ในเวลาต่อมา พวกฝ่ายนิยมประชาธิปไตยได้พยายามสร้างภาพในลักษณะนี้ให้กับโสกราติสว่าเป็น “ผู้ที่เกลียดประชาชน” ในปี 390 ก่อนคริสตกาล อันเป็นเวลาเก้าปีหลังจากการตายของโสกราติส

นอกจากนี้ คนทั่วไปในเอเธนส์ยังมองโสกราติสและคนประเภทเดียวกันกับเขาว่า เป็นพวกประหลาด พิลึก ติดยึดชอบคิดอะไรฟุ้ง โดยไม่สนใจกิจกรรมทางสังคมที่คนทั่วไปเขากระทำกัน

เป็นพลเมืองเอเธนส์ที่แปลกแยกจากชาวเอเธนส์ทั่วไป เพราะปกติพลเมืองเอเธนส์จะให้ความสำคัญกับชีวิตและบทบาททางสังคมและการเมือง

หรืออย่างที่นักวิชาการบางคนชี้ว่า โสกราติสนั้นเป็นพวกเย่อหยิ่ง มีอคติทางชนชั้น และโอ่ทระนง

 

ฟิลโลโซเฟอร์แตกต่างจากโซฟิสต์ก็ตรงประเด็นที่ว่านี้เอง นั่นคือ วิถีชิวิตที่มิได้มุ่งสู่ชีวิตที่ดีตามกระแสของคนทั่วไปรวมทั้งพวกโซฟิสต์ด้วยที่เชื่อว่า ชีวิตที่มั่งคั่ง มีชื่อเสียง มีอำนาจ คือชีวิตที่ดี ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ได้กล่าวมาแล้วถึงการไม่เรียกเงินทองจากผู้ที่สนใจใคร่รู้ในความรู้ที่ฟิลโลโซเฟอร์มี

ขณะเดียวกันถ้าพิจารณาถึงกระบวนการ วิธีการหรือทักษะที่เป็นเอกลักษณ์ของการเป็นฟิลโลโซเฟอร์ ก็คงต้องกล่าวว่า ทักษะสำคัญประการหนึ่งคือ ความสามารถและความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาและตรรกะเหตุผล

ทักษะประการที่สองคือ ความรู้รอบตัวทั่วๆ ไป

และทักษะประการที่สามคือ ความสามารถในการใช้วิธีการที่เรียกว่าวิภาษวิธีหรือการสนทนาแบบปุจฉา-วิสัชนา

ซึ่งในกระบวนการวิภาษวิธีนี้ประกอบด้วยวิธีการสำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นคือการหักล้างข้อสมมุติฐานเบื้องต้นของคู่สนทนา

การที่ฟิลโลโซเฟอร์ไม่เก็บเงินจากการสนทนาแลกเปลี่ยนกับคนที่สนใจใฝ่รู้ และก็ไม่ได้หวังเกียรติยศหรืออำนาจใดๆ เท่ากับการที่จะสร้างสรรค์พัฒนาคนที่มีความเชื่อและต้องการที่จะไปสู่เป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการเข้าถึงปัญญาความรู้

แต่จะว่าไปแล้ว เกณฑ์ดังกล่าวก็อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ชัดเจนที่สุดได้เช่นกัน เพราะกระบวนการหรือพฤติกรรมภายนอกของโซฟิสต์และฟิลโลโซเฟอร์นั้นมีความคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นทักษะการใช้ภาษาและตรรกะเหตุผล ความรู้รอบตัวทั่วๆ ไป วิภาษวิธี

ความแตกต่างที่สำคัญคือ เจตนาหรือจิตสำนึกภายใน ซึ่งบ่งบอกได้ยาก โดยเฉพาะในสังคมที่ทั้งคนประเภทที่เป็นโซฟิสต์และฟิลโลโซเฟอร์ต่างดำรงชีวิตอยู่ด้วยค่าจ้างแรงงาน ภายใต้ฉายาของครูบาอาจารย์อย่างในสังคมปัจจุบัน!

สำหรับประเด็นวิวาทะสำคัญนั้น กล่าวได้เช่นกันว่า พวกฟิลโลโซเฟอร์เองเข้าร่วมในการวิวาทะในประเด็นธรรมชาติกับสิ่งที่เป็นขนบประเพณีกฎระเบียบที่เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากการมาอยู่รวมกันในสังคมของมนุษย์ (phusis-nomos debate) ด้วย

แต่พวกฟิลโลโซเฟอร์มุ่งหาความจริงหรือกฎที่อยู่เหนือแค่กฎที่มนุษย์สร้างขึ้น พวกเขาต้องการเข้าถึงความจริงแท้ของสรรพสิ่งโดยเฉพาะประเด็นความรู้ที่แท้จริง และความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับคุณค่าต่างๆ เช่น ความดี ความยุติธรรม เป็นต้น

ธรรมชาติสำหรับพวกฟิลโลโซเฟอร์คือ สภาวะอันสมบูรณ์แบบที่สุดของสิ่งนั้นๆ หรืออีกนัยหนึ่งธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ คือสิ่งที่เป็นสภาวะที่ดีที่สุดของสิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องแบบอันสมบูรณ์ของเพลโต หรือแนวคิดเรื่องเป้าหมายสูงสุด (telos) ของอริสโตเติล

ทั้งสองแนวคิดต่างกล่าวได้ว่าจัดอยู่ในแนวความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติที่อยู่ในวิธีคิดแบบเดียวกัน

นั่นคือ ธรรมชาติคือสิ่งที่สมบูรณ์แบบและดีที่สุด

 

อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นๆ ว่า คำอธิบายเกี่ยวกับการที่นักคิดกรีกโบราณให้จุดสุดท้ายของสรรพสิ่งมาชะงักอยู่แค่สภาพอันสมบูรณ์เต็มที่ ไม่เลยไปถึงความเสื่อมสลายของมันนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะถ้าพิจารณาในแง่ที่สัมพันธ์กับบริบททางการเมืองและสังคมของกลุ่มฟิลโลโซเฟอร์

การให้ความหมายว่าในนัยที่ว่าธรรมชาตินั้นสัมพันธ์กับสภาวะที่สมบูรณ์แบบที่สุดของสรรพสิ่งต่างๆ นั้นย่อมบ่งบอกถึงความเชื่อในการมีอยู่จริงของความดี

ความสมบูรณ์แบบที่แน่นอนตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลง และแน่นอนว่าความสมบูรณ์แบบหรือธรรมชาตินั้นจะต้องมีเอกลักษณ์หรือมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น การพิจารณาความหมายของธรรมชาติในนัยนี้โดยโยงเข้ากับนัยของความมีหนึ่งเดียวและความเที่ยงแท้แน่นอนนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ท้าทายแนวคิดเรื่องเหตุผล “สองแง่มุม” (two-fold arguments, dissoi logoi) และความเชื่อของพวกโซฟิสต์ในเรื่องของการนำเสนอแง่มุมที่ต่างกัน

นั่นคือ “logos” หรือ “เหตุผล” ในการอธิบายสรรพสิ่งต่างๆ ย่อมมีมากกว่าหนึ่งเหตุผลในตัวมันเอง

และศรีธนญชัยก็เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในเรื่องของการใช้เหตุผลสองแง่สองมุมมิใช่หรือ?