เพ็ญสุภา สุขคตะ : เมื่อพระนางสิริมหามายา ทรงสวมผ้าซิ่นตีนจก

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ใครที่เคยเดินทางไปเยี่ยมชมวัดป่าแดด ตำบลทัพผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ย่อมรู้สึกประทับใจไม่รู้ลืมมาแล้วกับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่โดดเด่นภาพหนึ่ง อยู่ในช่องด้านทิศเหนือภายในพระวิหารของวัด

เป็นภาพของพระพุทธมารดา คือพระนางสิริมหามายา ยืนเหนี่ยวกิ่งไม้สาละ กำลังใกล้ประสูติพระราชโอรสเจ้าชายสิทธัตถะ

ด้านซ้ายมีหมอตำแยทำคลอดนั่งประคองอุทรให้พระนาง

ส่วนด้านขวาเป็นเหล่าพระสนม พระพี่เลี้ยงยืนให้กำลังใจในการเบ่งพระกุมาร

ซึ่งตามพุทธประวัติแล้ว “มหาบุรุษ” ต้องออกมาทาง “สีข้าง” ไม่ใช่ช่องคลอดปกติ

ข้อสำคัญคือ ภูษาที่พระพุทธมารดาทรงสวมนั้น มีลักษณะเป็น “ผ้าซิ่นตีนจก” อัตลักษณ์ผ้าทอล้านนาอันทรงเสน่ห์ที่ชาวแม่แจ่มภาคภูมิใจ

 

เมืองแจ๋ม ประตูสู่มะละแหม่ง

“แม่แจ่ม” เดิมไม่มีไม้เอก เขียนว่า “แม่แจม” (เป็นชื่อแม่น้ำสายหนึ่ง) หรือ “เมืองแจม” (แต่ชาวล้านนาออกเสียงวรรณยุกต์ของตัวอักษรกลาง จ.จาน เป็นเสียงจัตวา กลายเป็น “เมืองแจ๋ม”) เหตุที่เรียกชื่อนี้ เพราะคำว่า “แจม” ในภาษาลัวะพื้นถิ่นหมายถึง “มีน้อย” หรือ “อัตคัดขาดแคลน”

ต่อมาภายหลังมีผู้เห็นว่า “แจม” เป็นคำที่อัปมงคล จึงเปลี่ยนรูปวรรณยุกต์ใหม่ด้วยการเติมไม้เอก ความหมายจึงพลิกกลายเป็น “แจ่มบรรเจิดเริดจรัส” แต่คนในพื้นที่ยังคงออกเสียงว่า “แจ๋ม” อยู่เช่นเดิม

เมืองแจ๋มตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว 115 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่ามกลางหุบเขาล้อมรอบ อาบมนต์ขลังด้วยนาข้าวขั้นบันไดเขียวขจี มีน้ำแม่แจ่มหรือน้ำแจ๋มไหลผ่ากลางเมือง

ส่วนวัดป่าแดดที่มีภาพจิตรกรรมพระนางสิริมหามายาเหนี่ยวกิ่งไม้นี้ ในอดีตเคยมีชื่อว่า “วัดใหม่เมืองแจ๋ม” บริเวณที่สร้างวัดเป็นทุ่งนาชื่อ ทุ่งป่าแง

พระยาเขื่อนแก้ว เจ้าเมืองปกครองแม่แจ่มในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ขอซื้อที่จากเจ้าของนา แล้วไปนิมนต์ “ครูบาขุณณา” จากวัดอุโบสถ อำเภอสันป่าตอง มาเป็นประธานสงฆ์ในการก่อสร้างวัด เมื่อปี พ.ศ.2428 โดยได้รับงบฯ สนับสนุนจากคหบดีที่ทำสัมปทานป่าไม้ชาวอังกฤษ

ในเมื่อผู้อุปถัมภ์วัดเป็นบริษัทของชาวตะวันตก ดังนั้น “สล่า” หรือ “ช่างแต้ม” จึงมีทั้งชาว “ไทโยน” พื้นถิ่นในมืองแจ๋มนั้นกับ “ลูกจ้างชาวไทใหญ่สัญชาติพม่า” ที่เป็นคนในบังคับของ “เฮดแมน” ฝรั่ง ผสมผสานกันช่วยสร้างสรรค์งานศิลปกรรม

ด้วยทำเลที่ตั้งของเมืองแจ๋มอยู่กึ่งกลางระหว่างแม่ปิงกับน้ำสาละวินพอดี โดยมี “น้ำแม่แจ๋ม” เป็นตัวเชื่อมแม่น้ำสองสาย ปลายน้ำไหลลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้พบแม่ปิงที่สบแจ่มเมืองฮอด ทำให้บริษัทสัมปทานป่าไม้จึงเลือกบริเวณเมืองแจ๋มเป็นจุด “พักครึ่งทาง” ของขบวนคาราวานพ่อค้าวัวต่างที่เดินทางมาจากมะละแหม่ง

ประจักษ์พยานของสถานภาพแห่งการเป็นที่พักครึ่งทางระหว่างปิง-สาละวิน ก็คือชุมชนใจกลางเมืองแจ๋มถูกเรียกว่า บ้าน “ช่างเคิ่ง” (มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณวัดช่างเคิ่ง) เพี้ยนมาจากสำเนียงพื้นถิ่นว่า “ชั่งเกิ่ง” หมายถึง “กึ่งกลาง” ถ้าเปรียบลำน้ำแจ่มเป็นเสมือน “คาน” ช่างเคิ่งก็คือ “คันชั่ง” ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างชุมชนต่างๆ อันเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การแวะพักแรมครึ่งทางสำหรับพ่อค้าวัวต่างม้าต่าง มาทุกยุคทุกสมัย

เมืองแจ๋ม จึงเป็นประตูด่านแรกในการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ทันสมัย ก่อนจะผ่องถ่ายไปขายต่อยังตัวเวียงเชียงใหม่ ทำให้ชาวแม่แจ่มมีโอกาสได้เลือกสีฝุ่น และอุปกรณ์สำหรับเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง รวมทั้งเส้นด้าย ฝ้าย ไหม ลูกปัด อัญมณี คุณภาพดีก่อนเมืองอื่น

ด้วยเหตุนี้เมืองแจ๋มจึงถูกกำหนดให้เป็นย่านชุมชนที่มีหน้าที่ “ทอผ้าซิ่นตีนจก” ชั้นดีส่งถวายเจ้านายในเวียงเชียงใหม่

ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม

ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี นักท่องเที่ยวแนวอินดี้มักเล็งปฏิทินไว้ล่วงหน้าเลยว่า ในอำเภอแม่แจ่ม วัดไหนจะมีพิธีทอดผ้า “จุลกฐิน” กันวันไหนบ้าง เพราะหากมัวแต่ชักช้ารับรองว่าโฮมสเตย์ไม่ว่างให้จองแน่

ผู้คนหลั่งไหลไปดูอะไรกันล่ะหรือในช่วง “จุลกฐินแม่แจ่ม”

แน่นอนว่าภาพที่ทุกคนจะได้ยลก็คือ สตรีทั้งหมู่บ้านทุกวัยทุกอาชีพต่างพร้อมใจกันนุ่ง “ผ้าซิ่นตีนจก” มาร่วมขบวนฟ้อนจากทุ่งนาสู่วัด จนละลานตานั่นเอง

คำว่า “ผ้าซิ่น” หรือชาวล้านนานิยมเรียกว่า “ซิ่น” เฉยๆ นั้น หมายถึงผ้าถุง หรือผ้านุ่งในภาษาไทยกลาง พูดถึงคำว่า “ซิ่น” แล้ว ดิฉันรู้สึกสงสัยอยู่นาน ทำไมคำว่า “ซิ่น” ไม่เขียน “สิ้น” ตามความนิยมของภาษาล้านนาที่มักใช้อักษรสูงวรรณยุกต์โทมากกว่าอักษรต่ำวรรณยุกต์เอก

เช่น ไม่ชอบเขียน ม่าย แต่ใช้ หม้าย, วัดเชียงมั่น นิยมเขียน วัดเชียงหมั้น, เมี่ยง ก็เขียน เหมี้ยง

มีนักเขียนบางคนแอบบอกดิฉันว่า หากเขียน “สิ้น” ความหมายจะไม่ดี หมายถึงสูญเสีย จึงเลี่ยงไปใช้ ซิ่น แม้จะไม่ใช่หลักไวยากรณ์ที่นิยมในภาษาล้านนาเท่าใดนัก

ส่วนคำว่า “ตีนจก” หมายถึงส่วนที่ประดับท่อนล่างสุดนั้น ใช้กรรมวิธี “จกเส้นด้ายพิเศษให้เกิดลายนูนกว่าผ้าพื้นปกติ” อันเป็นเทคนิคที่ซับซ้อนและยากยิ่ง

ช่วงกลางของผ้าซิ่น พื้นหลังสีเหลืองและมีเส้นสีแดงขีดตามขวางเป็นตาๆ คล้ายเส้นตาราง ทำให้มีศัพท์เฉพาะเรียกลายผ้าซิ่นลักษณะนี้ว่า “ซิ่นต๋า” หรือบ้างก็เรียก “ซิ่นก่าน”

เมื่อเหลียวไปมองภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปพระนางสิริมหามายาเหนี่ยวกิ่งไม้ ท่อนบนเปลือย (ตามธรรมชาติของแม่ญิงล้านนาในอิริยาบถสบายๆ และห้องหับส่วนตัว) กับการสวมภูษาภรณ์นั้น พบว่าช่างแต้มได้นำรูปแบบผ้าซิ่นตีนจกที่เป็นอัตลักษณ์ของแม่แจ่มมาใส่ให้กับพระพุทธมารดาอย่างน่าทึ่ง

คือท่อนบนหรือตัวซิ่นเป็นลายขวางแบบซิ่นก่าน (ซิ่นต๋า) และตีนซิ่นตกแต่งลาย “กรวยเชิง” กับลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแบบเรขาคณิต แต่ในที่นี้ภาพจิตรกรรมค่อนข้างลบเลือนไปมากทำให้เห็นไม่ชัดเท่าใดนัก มีเพียงพื้นดำๆ

ถือเป็นจุดขายที่ช่วยเพิ่ม “คุณค่า” และ “มูลค่า” ของผ้าซิ่นตีนจกให้แก่ชาวแม่แจ่มเป็นอย่างดี แม้ว่าโดยรวมแล้ว จิตรกรรมฝาผนังทั้งสองฟากของวัดป่าแดดประกอบด้วยเนื้อหาเรื่องราวมากมาย นอกเหนือจากพุทธประวัติแล้ว ยังมีเรื่องเวสสันดรชาดก วิธูรบัณฑิต นิทานพื้นบ้านย่าปู่จี่ (จันทรคราส) และเรื่องไตรภูมิ

แต่จุดเด่นที่สร้างชื่อเสียงให้วัดป่าแดดเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากที่สุด หนีไม่พ้นภาพพุทธประวัติตอนพระนางสิริมหามายายืนเหนี่ยวกิ่งไม้ ด้วยการใส่รายละเอียดให้พระนางนุ่งผ้าซิ่นตีนจกนี่แหละ

 

คู่สีแดง-น้ำเงิน อัตลักษณ์ไทใหญ่

การจัดองค์ประกอบของจิตรกรรมฝาผนังวัดป่าแดด ช่างแต้มชาวไทใหญ่เน้นการเปิด space ด้วยพื้นที่สีขาว และการใช้สีไม่มากนัก จึงดูโปร่งตามีความงดงามแบบท้องถิ่นแตกต่างจากจิตรกรรมที่อื่นซึ่งเบียดแน่น ใช้วิธีเขียนภาพลงในกรอบช่องสี่เหลียม ที่มีลายเชิงห้อยลงมาเป็นรูปสามเหลี่ยมหัวคว่ำ (กรวยเชิง) ในด้านล่างของภาพ และมีอักษรธัมม์ล้านนาเขียนกำกับเนื้อเรื่องในแต่ละตอน

ฉากภูมิทัศน์ประเภทพื้นดิน ทิวเขา ต้นไม้ และท้องฟ้า ใช้ฝีแปรงเน้นลายเส้นคดโค้ง คล้ายลอนลูกคลื่น ไม่ใช่ “กรอบสินเทา” รูปสามเหลี่ยมแบบฟันปลาแข็งๆ

อัตลักษณ์ที่ชัดเจนของจิตรกรรมกลุ่มไทใหญ่อีกประการที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ คือการใช้คู่สีหลักที่ตรงข้ามกันให้โดดเด่นเพียงแค่สองสี ได้แก่ แดง (หรือส้ม) กับน้ำเงิน (หรือฟ้า) และทิ้งพื้นหลังเป็นปูนขาวไม่ระบายทึบเต็มพื้นที่ ผิดกับจิตรกรรมล้านนาสกุลช่างหลวงที่ใช้สล่าชาวไทโยน เช่น วัดภูมินทร์ เมืองน่าน หรือวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ ที่ใช้สีหลากหลายมากกว่าสองสีหลัก

เหตุผลของการที่สล่าไทใหญ่เลือกใช้คู่สีหลักเพียงแค่สองสีนี้เท่านั้น ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดนัก ว่าเป็นเพราะอะไร เกิดจากจริตรสนิยมของสล่าเองที่มองว่านี่คือคู่สีที่งดงามที่สุดแล้ว หรือเกิดจากข้อจำกัด คือสีอื่นๆ อาจหายาก หรืออาจยังไม่ได้พัฒนาคุณภาพการใช้งานให้เท่าเทียมสองสีนี้ หรือราคาแพงเกินไป?

คนที่ชื่นชอบภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งแนวคลาสสิคผสมพื้นบ้าน ขอเชิญชวนให้ไปชมที่วัดป่าแดด แม้เนื้อหาจะเขียนเรื่องราวในพุทธศาสนา แต่สิ่งที่สล่าตั้งใจสื่อกลับสอดแทรกภาพวิถีชีวิตของคนพื้นถิ่นในรอบเกือบสองศตวรรษที่ผ่านมา

โดยเฉพาะการแต่งกาย ที่ชาวแม่แจ่มยังสามารถดำรงไว้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสังคมล้านนาในพื้นที่อื่นๆ

แต่ไม่ใช่เมืองแจ๋ม!