โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง /กระบี่ เบียนนาเล่

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

กระบี่ เบียนนาเล่

 

ตื่นเต้นจนเนื้อเต้นที่ได้ไปดูงาน Krabi Biannale 2018 ก่อนไปก็ได้รับสูจิบัตรเล่มพอเหมาะซึ่งมีข้อมูลที่ดีมาก มีแผนที่จุดต่างๆ พร้อมรายละเอียดชิ้นงานแต่ละชิ้น ประวัติย่อศิลปินแต่ละคนที่มาจากทั่วโลก

ถือเป็นโอกาสดีเสียนี่กระไรที่ได้ดูงานศิลปะใหม่ๆ พร้อมกับได้เที่ยวชมความงดงามของทะเลกระบี่ไปด้วย

มีคำถามอยู่ในใจว่าเขาจัดงานนี้เพื่ออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร

คิดเอาเองว่าคงได้โชว์งานศิลปะไปพร้อมๆ กับผลักดันการท่องเที่ยวในแนวใหม่ ซึ่งน่าจะได้ผลในระดับหนึ่ง

เพราะทราบว่ามีเพื่อนๆ พากันไปดูงานนี้ในเวลาต่างๆ กัน เพราะจัดยาวนานถึง 4 เดือน

ความน่าตื่นเต้นที่เกิดจากการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ที่ดูหนักแน่น เมื่อไปถึงงานเบียนนาเล่จริงๆ บรรยากาศจริงๆ ดูเบาบาง

มีคำถามว่างานนี้เหมาะกับคนทั่วไปหรือเหมาะกับเฉพาะคนในแวดวงศิลปะ

 

นึกเห็นภาพคนในแวดวงศิลปะตื่นเต้นที่ได้สร้างสรรค์งานศิลปะในสถานที่แปลกใหม่ที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจจากทะเล ท้องน้ำ เกาะแก่ง ชายหาด ถ้ำ สถานที่อันสวยงามซึ่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของงานนี้เรียกว่า Wonderland สำหรับผู้สร้างสรรค์งานแล้ว คงจะเต็มอิ่ม สมหวัง

กลับมาที่คนดูซึ่งหวังความตื่นเต้นจากการชมชิ้นงานศิลปะในบรรยากาศใหม่ๆ เช่นกัน ถามว่า สมหวังไหม เกิดความรู้สึกลังเลที่จะตอบ

ชิ้นงานแต่ละชิ้นมีความน่าทึ่งในตัวของมันเอง ไม่ว่าจะเป็นเรือข้ามฟากสีสันสดใสเจิดจ้าของยุรี เกนสาคู ต้นไม้กลับหัวของศิลปินไต้หวันริมหาด ประติมากรรมสมัยใหม่ของกมล ทัศนาญชลี ห้องหรูในกระต๊อบที่เขาขนาบน้ำของศิลปินจีน เสาไม้ที่โดนแทะจนเกิดเป็นชิ้นงานประติมากรรมของศิลปินญี่ปุ่น

ขณะที่ชมงานนั้น แปลกที่เรารู้สึกเหงาเงียบ เกิดจากการที่เราต้องการคนพูดคุยให้ลึกซึ้ง หรือเจ้าของบ้านที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นก็ไม่รู้ได้ รู้แต่ว่าความรู้สึกเต็มอิ่มสมบูรณ์ไม่ได้เกิดขึ้น

มันขาดอะไรไปหนอ

 

ความไม่คุ้นเคยกับงานศิลปะ หรือการแสดงศิลปะในลักษณะนี้ อาจจะทำให้ต้องการคนจูงมือสักหน่อยละกระมัง เช่นว่าไปถึงก็จะเจอศูนย์ที่มีห้องบรรยายแนวคิดของงาน ที่มาของงาน เสร็จแล้วก็มีรถไฟฟ้าพาไปชมงานรอบเมืองกระบี่ เสร็จแล้ววันรุ่งขึ้นก็นัดกันที่อ่าวนางแล้วพาไปชมชิ้นงานต่างๆ พร้อมศิลปินบรรยายและเกิดการแลกเปลี่ยนทัศนะกัน

จริงสินะ มันน่าจะเป็น guided tour อย่างยิ่งจริงเชียว คิดเล่นๆ ว่ามีทัวร์สัก 5 วันไปชมจุดต่างๆ ก็คงจะได้รับรสศิลปะอย่างเต็มอิ่มตามที่คิดฝัน

มันคงไม่ได้อยู่ในแผนของการจัดงานหรอก เพราะต่างชาติเขาก็คงคิดว่าการชมงานต้องชมกันตามอิสระ แต่สำหรับฝ่ายบริหารงานที่เป็นคนไทย ขอฝากข้อคิดว่า ถ้าหากจะปลูกฝังเรื่องศิลปะกันก็คงต้องเปรียบผู้ชมไทยเหมือนเด็กที่เริ่มหัดเดินเตาะแตะ และต้องจูงกันไปก่อน

ที่สังเกตเห็นอีกอย่างก็คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติแวะมาชมชิ้นงานกันบางตา ในขณะที่ถนนคนเดินซึ่งเป็นของคุ้นเคยแน่นขนัดไปด้วยนักท่องเที่ยว

 

วันสุดท้ายที่อยู่กระบี่ ได้แวะไปที่ “ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมอันดามันหอศิลป์กระบี่” ที่เกือบไม่ได้แวะหากเวลาไม่เหลือ เนื่องจากเพื่อนที่ไปมาก่อนบอกแค่สั้นๆ ว่า “ไปแวะที่นี่สิ มีภาพเขียนของถวัลย์ด้วยนะ” เดินไปถึงก็เห็นชื่อสถานที่ยาวมาก เมื่อเข้าไปดูข้างในจึงเข้าใจได้ว่าที่นี่เป็นทั้งศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน และหอศิลป์

ส่วนที่เป็นศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมอันดามันมีงานแสดงถาวรเป็นเรื่องของลูกปัดที่พบที่คลองท่อมซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ซึ่งทำได้อย่างหนักแน่นตื่นใจ ส่วนที่เป็นหอศิลป์ก็มีทั้งชิ้นงานของศิลปินระดับชาติและศิลปินอาเซียนที่มีอยู่ที่นี่แห่งเดียว อย่างเช่นงานของถวัลย์ ดัชนี ประหยัด พงษ์ดำ เป็นต้น

ใช้เวลาเดินชมถึงครึ่งวันด้วยความรู้สึกเต็มอิ่มและชื่นชม นอกจากตัวผลงานเองแล้วยังได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่และผู้บริหารที่กระตือรือร้นนำชมและบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของที่นี่และของงาน Krabi Biannale 2018

ได้ทราบว่ากระบี่เป็นหนึ่งใน 3 จังหวัดของประเทศไทยที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นเมืองแห่งศิลปะนอกเหนือจากเชียงรายและโคราช และการที่กระบี่ได้เป็นสถานที่จัดงานของเบียนนาเล่ครั้งแรกน่าจะเป็นเพราะความพึงพอใจของศิลปินและกรรมการจัดงานบวกกับความพร้อมของหน่วยงานจังหวัด

กระบี่นั้นแม้ไม่ได้มีศิลปินใหญ่เหมือนเชียงรายที่มีถวัลย์ ดัชนี เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ แต่ผู้บริหารท้องถิ่นมีความเข้าใจและให้ความสำคัญกับศิลปะ โดยมีศูนย์เรียนรู้ฯ และหอศิลป์กระบี่ที่เข้มแข็งและมีชีวิตชีวาเป็นประจักษ์พยาน แม้แต่เชียงรายก็ไม่มีเหมือน

ความงามของกระบี่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดงานศิลปะบนผืนผ้าที่งดงามอย่างผ้าบาติกที่แสดงอยู่ที่หอศิลป์ตอนนี้อีกด้วย (จำได้ว่าครั้งหนึ่ง คุณสมชาย เผ่าทอง ดีไซเนอร์เบอร์หนึ่งของประเทศบอกว่า เพราะเขามีพื้นเพเป็นคนที่อยู่กับทะเลภาคใต้ ธรรมชาติคือแรงบันดาลใจในการสร้างงานบนผ้าอาภรณ์ของเขา)

กระบี่ได้รับโอกาสดี ได้มีคนรู้จักมากขึ้น นอกเหนือจากท้องทะเลที่สวยงาม ยังมีงานศิลปะมาสร้างความเป็นเมืองที่มีมิติใหม่ๆ นอกจากงานใหญ่แบบเบียนนาเล่และการมีหอศิลป์และศูนย์เรียนรู้แล้ว ยังมีโอเอซิสกวีเล็กๆ ของวินัย อุกฤษณ์ อยู่ที่ “สวนกวี” ในตัวเมือง ที่เป็นจุดรวมของผู้รักวรรณศิลป์

เป็นอีกหนึ่งในความเป็นกระบี่ หากจะแวะไปเยี่ยมเยือนก็ย่อมจะได้พบกับการต้อนรับที่อบอุ่นแน่นอน