เพ็ญสุภา สุขคตะ : “จารึกเวียงเถาะ” – “หริภุญไชย”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

วาระซ่อนเร้นหน้าคำว่า “ภุญไชย”
แน่ใจหรือว่าแค่ “หริ”?

มีข้อน่าสังเกตว่า ศิลาจารึกอักษรมอญโบราณหลายหลักในลำพูนที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชยนั้น แผ่นหินมักถูกสกัดตรงบริเวณที่ควรจะเป็นตัวอักขระด้านหน้าคำว่า “ภุญไชย” ทิ้งไปหมดทุกหลักเสมอ ทำให้เหลือแค่ชื่อเมือง “ปุญฺเชยฺย” หรือเมือง “ภุญไชย” เฉยๆ เท่านั้น

ตัวอย่างของจารึกกลุ่มนี้มีให้เห็นถึง 4 หลักได้แก่

1. “จารึกอาณาจักรปุนไชย” เลขทะเบียนวัตถุ ลพ.5 พบที่วัดจามเทวี ปรากฏชื่อของอาณาจักรตั้งแต่บรรทัดแรก เขียนว่า ตชุตรลราส์ ปุนเชญํ น(คร) อ่านแบบภาษามอญว่า ตะจุ๊ (เตชุ) ตะระเลีย เรียย (ตรลราส์) ปุนะเจญงเนียะเกียเรียะ (ปุนเชญนคร) แปลว่า พ่อปู่ผู้ครองอาณาจักรปุนเชยยังนคร (ปุนไชยนคร) หรือพระมหาบพิตรเจ้าแห่งอาณาจักรปุนเชญนคร

เห็นได้ว่าจารึกหลักนี้ไม่ปรากฏคำว่า “หริ” นำหน้าคำว่า “ปุนเชญํ”

2. “จารึกตะจุ๊มหาเถร” ลพ.7 พบที่วัดแสนข้าวห่อ ปัจจุบันคือที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ปรากฏชื่อของอาณาจักรอยู่ในด้านที่ 1 บรรทัดที่ 2 เขียนว่า

เอยฺย ยเมา ตชุมหา(เถร) …(ปุ)ญฺเชยฺย มฺหานคร์ กาล์เอยฺย อ่านแบบภาษามอญว่า อัว เยียะโม่ว ตะจุ๊ เมียะฮาเทระ …ปุญเจ้ยยะ เมียะฮาเนียเกียเรียะ แปลว่า ข้าพเจ้าชื่อตชุ (พ่อปู่) มหาเถระ แห่งมหานครปุญไชย เมื่อข้าพเจ้า…

3. “จารึกวัดดอนแก้ว” ลพ.4 ตัวอักษรลบเลือนมาก พบคำว่า ภุญเชยฺย

4. “จารึกวัดบ้านหลวย” ลพ.6 ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 2 เขียนว่า

…แห่งนคร “ภุญเชยฺย” 

 

ศิลาจารึกอักษรมอญโบราณทั้ง 4 หลักนี้ มีแต่คำว่า “ภุญไชย” ต่อท้ายพื้นที่ว่างที่ถูกตอกทิ้งไป ประหนึ่งว่าเป็นความจงใจที่ต้องการ “สกัดทิ้งอักขระ” บางตัวที่อยู่ด้านหน้าหรือไฉน ซึ่งเดิมเราเคยคิดว่า อักษรตัวนั้นคือ “หริ” ตามที่เราทราบกันดีว่าชื่อเดิมของลำพูนคือ “หริภุญไชย”

แต่จากการปริวรรตอักขระศิลาจารึกเวียงเถาะ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศ์เกษม สนธิไทย อย่างยาวนานหลายปีนั้น ทำให้เราต้องหยุดยั้งความเชื่อเรื่อง “หริ” เพียงมิติเดียวไว้ก่อน เพราะต้องเผื่อใจไว้ด้วยอีกช่องทางหนึ่งด้วยว่า

ตัวอักขระนำหน้าภุญไชยที่ถูกตอกทิ้งไปนั้น บางทีอาจเป็นคำว่า “หระ” คือกลายเป็น “หระภุญไชย” ก็เป็นได้ หมายความว่าชื่อของเมืองนี้ที่ยืนพื้นจริงๆ คงมีแค่ “นครภุญไชย” และช่วงใดก็ตามที่ชนชั้นปกครองในขณะนั้นนับถือลัทธิไศวนิกายเป็นใหญ่ เมืองนั้นจะถูกเรียกขานว่า “หระภุญไชย” ในขณะที่ช่วงใดที่กษัตริย์ให้การสนับสนุนลัทธิไวษณพนิกายอย่างแรงกล้า เมืองนั้นก็จะเรียกว่า “หริภุญไชย”?

หรือบางมิติบางเวลาที่ไม่อาจแบ่งแยกว่าลัทธิใดโดดเด่นเหนือกว่าอีกลัทธิหนึ่ง ก็จำเป็นต้องเรียกแบบรวมๆ ว่า “หริหระภุญไชย”

ดังเช่นหลักฐานที่ปรากฏในจารึกเวียงเถาะ พบคำว่า หฺฤภุญไชย หรือ หฺรภุญ ตัวจุดข้างล่างใต้ ห. หีบนี้ หลักไวยากรณ์ในภาษามอญมีความหมายได้ทั้งสระอะและสระอุ ถอดเป็นภาษาไทยได้ว่า หะริหะระภุญไชย

ไม่ต่างไปจากชื่อเมือง “หริหราลัย” (เมืองล่อหล่วย) ในกัมพูชา อดีตราชธานีขอมโบราณยุคก่อนสร้างเมืองพระนคร (Angkor) ก็เป็นเมืองที่บูชาวิษณุเทพสูงส่งทัดเทียมกับศิวมหาเทพในคราวเดียวกัน ทำให้เกิดเทวปฏิมาแบบผสมผสานอย่างละครึ่งชื่อ

“พระหริหระ”

หลายท่านอาจจะเถียงว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะปฐมวงศ์ของอาณาจักรหริภุญไชยคือตัวพระนางจามเทวีเองนั้น ตามตำนานระบุว่าทรงเป็นพุทธมามกะ ให้การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาด้านต่างๆ เช่นนี้แล้วรัชทายาทผู้ครองเมืององค์สืบๆ ต่อกันมาจะเบนเข็มไปนับถือศาสนาฮินดูได้อย่างไรกัน

เออ! ถ้าแค่ ผู้สร้างเมืองลำพูนคือ ฤๅษีวาสุเทพ ที่เราสันนิษฐานกันว่านามนี้แผลงมาจาก “กฤษณะวาสุเทพ” อวตารหนึ่งของพระนารายณ์ จึงสร้างผังเมืองลำพูนแบบหอยสังข์ (หนึ่งในอาวุธของพระนารายณ์) ก็ว่าไปอย่าง ฉะนั้น แนวโน้มที่ฤๅษีตนนี้จะตั้งชื่อเมืองลำพูนว่า “หริ” ตามนิกายที่ตนนับถือก็พอจะเข้าเค้าอยู่บ้าง

แต่ “หระ” คำที่หมายถึงนิกายไศวนิกายนั้นเล่า จะอธิบายอย่างไร มาจากไหน ฤๅษีตนใด หรือกษัตริย์พระองค์ไหนที่เคยเลื่อมใสไศวนิกายอย่างแรงกล้า มีด้วยหรือ?

 

ประเด็นเรื่องไศวนิกายในลำพูน

เท่าที่ดิฉันแกะรอยหรือตั้งข้อสังเกตได้ขณะนี้

มีความเชื่อมโยงอยู่หลายประเด็น

อาทิ

1.นามของฤๅษีสุกทันตะ (บ้างเขียน สุกกทันตะ) แห่งสำนักเขาสมอคอน ละโว้ ผู้เป็นสหายกับฤๅษีวาสุเทพ และเป็นพระอาจารย์สอน “ศาสตร์-ศิลป์” ให้แก่พระนางจามเทวีในช่วงวัยดรุณ

ฤๅษีตนนี้เป็นผู้แนะนำฤๅษีวาสุเทพว่าควรทูลเชิญพระนางจามเทวีมาครองเมืองลำพูนที่กำลังจะสร้างใหม่

อีกทั้งตลอดระยะการเดินทางทางชลมารคที่พระนางจามเทวีต้องคุมไพร่พลขึ้นมาเมืองเหนือมากกว่า 7,500 ชีวิตนั้น ฤๅษีสุกทันตะก็ร่วมขบวนเสด็จมาอารักขาพระนางด้วย

ดิฉันกำลังสงสัยว่า คำว่า “สุกทันตะ” จะเป็นคำที่แผลงมาจาก Skanda สกันทา สกันท์ หรือขันทกุมาร ผู้เป็นโอรสของพระศิวะใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ฤๅษีตนนี้ก็น่าจะเป็นผู้เลื่อมใสในลัทธิไศวนิกาย (ตามนามที่พยายามสื่อ) แม้สหายของเขาคือวาสุเทพจะเลื่อมใสในไวษณพนิกายก็ตาม

หากเป็นตามข้อสันนิษฐานนี้ ก็แสดงว่าช่วงแรกสร้างเมือง “ภุญไชย” นั้น สองฤๅษีผู้มีบทบาทสำคัญอาจตกลงกันให้ใช้ชื่อเมืองนี้ว่า “หริหระภุญไชย” เพื่อแสดงความเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกันก็เป็นได้ ในฐานะที่วาสุเทพเป็นเจ้าถิ่น ให้ใช้ หริ นำหน้า แต่วาสุเทพก็ขาดสุกทันตะไม่ได้ เพราะสหายผู้นี้อยู่ละโว้เป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ที่จามเทวีนับถือ

หากไม่มีสุกทันตะคอยช่วยเหลือ เมืองภุญไชยที่วาสุเทพสร้างเสร็จก็คงไม่มีจอมนางจามเทวีจากละโว้ขึ้นมาปกครอง

 

2.หลักฐานด้านศิลปกรรม ไม่ว่าการค้นพบประติมากรรมศิวลึงค์ที่ดอยติ ดินเผารูปพระคเนศวร์ (โอรสพระศิวะ) การทำสถูปกู่ช้างเป็นแท่งศิวลึงค์ หรือการนำรูปราหู (ศัพท์โบราณคดีนิยมเรียก “หน้ากาล” อีกหนึ่งโอรสของพระศิวะ) มาประดับตามศาสนสถาน ซึ่งพบมากในเวียงโบราณหริภุญไชย

การพยายามปรองดองกันระหว่างไวษณพกับไศวนิกายเห็นได้จาก การผสมผสานจัดวางองค์ประกอบของตัว “หน้ากาล” (กำเนิดในไศวนิกาย) เข้ารวมกับรูปครุฑ (พาหนะของวิษณุ กำเนิดในไวษณพนิกาย) มกร (ช้างผสมจระเข้ ของไวษณพเช่นเดียวกัน) + กลุ่มกินนร กินรี สิกขี มุรา มยุรีทั้งหลาย (สัตว์ปีกในป่าหิมพานต์) ตามซุ้มสถูปต่างๆ

 

3.ตำนานที่เขียนถึงกษัตริย์ในราชวงศ์จามเทวี มีหลายพระองค์ที่ระบุว่า “เป็นผู้ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีการทำลายรูปเคารพ และหันไปนับถือลัทธินอกศาสนา”

ในที่นี้ควรอธิบายได้ว่าหมายถึง ศาสนาฮินดูนิกายใดนิกายหนึ่งได้หรือไม่

แต่คงไม่ได้ย้อนกลับไปเป็น Animism ลัทธิบูชาภูตผีปีศาจเป็นแน่แท้

และอาจเป็นไปได้ว่า แม้ศาสนาหลักๆ ในอาณาจักรภุญไชยนี้คือศาสนาพุทธ (นิกายมหายานผสมเถรวาท ตามที่นิยมในยุคนั้น ไม่ใช่เถรวาทบริสุทธิ์หรือมหายานเพียว)

แต่กษัตริย์ในราชวงศ์จามเทวีก็ยังมีความเชื่อเรื่องลัทธิการบูชา “ฤๅษี” และเคารพเรื่องเทวาลัยต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ดังเห็นได้จากความเชื่อที่ตกค้างมาจนปัจจุบันในเรื่องของศาลเทวาลัยที่สร้างอุทิศให้ “ช้าง” (กู่ช้าง-แทนสัญลักษณ์ของพระคเนศวร์) หรือ “ไก่” (กู่ไก่แก้ว-แทนสัญลักษณ์ของขันทกุมาร-สกันทา ผู้มีพาหนะเป็นไก่ขาว-นกยูง)

และเมื่อสองนิกายนี้ต่อสู้ช่วงชิงอำนาจผลัดเปลี่ยนกันไปมา ผ่านการประกาศความยิ่งใหญ่ในศิลาจารึกของนิกายตนข่มอีกนิกายหนึ่ง ทำให้บางยุคบางสมัยก็ตอกสกัดคำว่าหริ ทิ้งไป ใส่คำว่า หระ แทน บางยุคตอก หระ ทิ้งไป

ดังนั้น จารึกเวียงเถาะก็ดี จารึก ลพ.4-7 ก็ดี ล้วนแต่เป็นเครื่องสะท้อนถึงการต่อสู้ช่วงชิงความได้เปรียบกันระหว่างศาสนาฮินดูทั้งสองนิกาย แต่ในที่สุดต่างก็พ่ายแพ้ให้แก่พระพุทธศาสนา

โชคดีที่ยังเหลือร่องรอยของจารึกเวียงเถาะเพียงหลักเดียวที่ให้เราคลำทางได้ว่า ในอดีตเมืองภุญไชยนี้ เคยมีชื่อทั้งหริและหระมาก่อน

 

บังเอิญ จงใจ รู้เท่าไม่ถึงการณ์
ทำลาย ปกปิด เจาะเพื่อ?

ถามว่าเคยมีศิลาจารึกหลักอื่นใดอีกหรือไม่ที่มีการเจาะรูบนพื้นผิวด้วยเช่นกัน

คำตอบคือมี เคยพบในศิลาจารึกวัดดอนแก้ว (ลพ.4) มีการเจาะรูลึกในช่วงตอนบน รูปลักษณ์ของรูค่อนข้างยาวๆ รีๆ

บางส่วนของรูทับตัวอักษรสำคัญพอดี ทำให้อ่านข้อความไม่ต่อเนื่อง

เดิมภัณฑารักษ์และอดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย หลายคนที่เคยดูแลจารึกหลักนี้เชื่อสืบๆ กันมาว่า การเจาะรูเป็นไปเพื่อความสะดวกในการชักลาก ซึ่งจำเป็นต้องใส่เดือยยึด เพราะจารึกมีน้ำหนักมาก ในอดีตเวลาขนย้ายไม่มีปั้นจั่นเครื่องทุ่นแรง และคงเป็นการเจาะรูแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในช่วงที่กรมศิลปากรยังไม่ได้ค้นพบจารึกหลักดังกล่าว ทำให้จารึกได้รับความเสียหาย

นี่คือความเชื่อในยุคหนึ่ง

ครั้นมาพินิจพิจารณา รู 2 รู กลมดิก ขนาดเท่ากันของจารึกเวียงเถาะ ตั้งอยู่ตรงกึ่งกลาง (ซ้าย-ขวา) พอดีเป๊ะของแผ่นจารึก แถมยังจงใจสกัดให้เป็นวงกลมสวยงาม ไม่ใช่สักแต่ว่าถากให้ลึก (ซึ่งก็ควรมีรูปทรงบิดเบี้ยว) เพียงเพื่อใส่เดือยสำหรับชักลากในการขนย้าย

ทำให้เราต้องหันมาทบทวนทฤษฎีเดิมๆ ที่เคยเชื่อว่า “เจาะรูเพื่อใส่เดือย” กันใหม่อีกรอบ

จากเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “ถอดรหัสอักขระโบราณศิลาจารึกเวียงเถาะ” ซึ่งจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 นั้น นักวิชาการหลายท่านได้ถกเถียงกันถึงมูลเหตุต่างๆ ว่าที่ทำให้เกิดการเจาะรูจารึกหลักนี้ในลักษณะ “สวยงาม-สมดุล-กลมกลึง-มีจังหวะ” จนได้ข้อสรุปค่อนข้างเห็นพ้องต้องตรงกันว่า

ในยุคสมัยหนึ่ง (ไม่ทราบว่ายุคไหน หริภุญไชย ล้านนา หรือนีโอล้านนา?) เมื่อเจ้าของพื้นที่ไม่เห็นคุณค่าของเนื้อหาในจารึกเวียงเถาะชิ้นนี้แล้ว ก็คงตีค่าเป็นแค่ “แผ่นหิน” มีประโยชน์เพียงนำไปใช้ทำแท่นฐานสำหรับรองรับพระพุทธรูปได้เท่านั้นกระมัง?

เหตุที่เชื่อเช่นนี้ ก็เพราะจากการที่ ดร.ฮันส์ เพนธ์ ได้สัมภาษณ์ผู้ขุดพบจารึกเวียงเถาะเมื่อปี 2515 เขาได้เล่าสภาพของจารึกให้อาจารย์เพนธ์ฟังว่า วางทับอยู่บนพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ซึ่งฐานพระพุทธรูปนั้นก็มีเดือยยื่นออกมา 2 เดือยเช่นเดียวกัน

แต่น่าเสียดายว่า พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวถูกมือดีอีกรายหนึ่งมาแย่งยื้อแยกไปอยู่คนละทิศละทาง กับตัวจารึก

จึงทำให้ไม่อาจทราบได้ว่า พระพุทธรูปองค์นั้นมีพุทธศิลป์ยุคไหน

หากเป็นพระพุทธรูปยุคล้านนาหรือยุคนีโอล้านนาก็ไม่น่าแปลกใจเท่าใดนัก เพราะมีการเปลี่ยนค่านิยมความเชื่อในเรื่องการนับถือศาสนามาเป็นพุทธเถรวาทแบบลังกาวงศ์แล้ว อีกทั้งคนในยุคหลังไม่ได้ใช้อักษรมอญโบราณแต่อย่างใด

แต่สมมติว่าพระพุทธรูปที่เชื่อมเดือยกับจารึกเวียงเถาะนี้เกิดเป็นพุทธศิลป์สมัยหริภุญไชยขึ้นมา ก็ชวนให้ตีความไปได้ว่า หรืออาจมีการ “จงใจกดข่มนิกาย” กันขึ้น

เนื่องจากข้อความในจารึกนี้มีการกล่าวถึง หริ-หระ (ทั้งไวษณพ-ไศวนิกาย) อาจทำให้กษัตริย์ยุคหริภุญไชยบางพระองค์ที่เคร่งครัดในพุทธศาสนาไม่พอพระทัย จำเป็นต้อง “ข่ม” ลัทธิเดิม ด้วยการเอาจารึกดังกล่าวมาทำเป็นแท่นฐานรองพระพุทธรูปก็เป็นได้

เดชะบุญที่ไม่ถึงกับทุบทำลายลงเสีย

ข้อสันนิษฐานนี้มีความเป็นไปได้สูง เพราะพบว่า แผ่นจารึกด้านหลังผ่านรอยกระแทกสึกกร่อนรอนรานเหมือนเคยรองรับน้ำหนักสิ่งของขนาดใหญ่มาอย่างยาวนาน

อีกทั้งรูก็จงใจกลึงเท่ากันเพื่อให้เกิดความพอดีในการเสียบปักเดือยอีกด้วย

รูที่เจาะของจารึกเวียงเถาะ จะเกี่ยวข้องอะไรหรือไม่กับการเปลี่ยนศาสนานิกายใหม่ทับที่นิกายเดิม ในประวัติศาสตร์ยุคหริภุญไชย ไม่ว่าพุทธมหายานผสมเถรวาทที่เข้ามาเสียบแทนที่ไวษณพนิกาย หรือไวษณพนิกายแทนที่ไศวนิกาย ฯลฯ

เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ต่อการรับรู้ของวงการประวัติศาสตร์โบราณคดีไทย คงต้องค่อยๆ ช่วยกันสืบค้นเสาะหาหลักฐานในทุกๆ ด้านมายืนยันกันต่อไป