วิกฤติประชาธิปไตย : ค่านิยม-วัฒนธรรมเชิงสู้รบของรัสเซีย กับยุทธศาสตร์ถึงปี 2030

วิกฤติประชาธิปไตย (34)

ค่านิยม-วัฒนธรรมเชิงสู้รบของรัสเซีย

ค่านิยม-วัฒนธรรมของรัสเซียมีลักษณะเด่นอย่างหนึ่งคือ เป็นเชิงสู้รบสูง เนื่องจากเพิ่งฟื้นตัวจากการล่มสลายที่เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว ค่านิยมเก่าสมัยสหภาพโซเวียตเหมือนหายไปในพริบตา จำต้องเร่งสร้างค่านิยม-วัฒนธรรมใหม่ เพื่อความเป็นเอกภาพอัตลักษณ์ทางสังคมและทางประวัติศาสตร์

ค่านิยม-วัฒนธรรมรัสเซียปัจจุบัน ก็มีด้านที่คล้ายกับค่านิยมในวัฒนธรรมอื่นทั่วไป เช่น ค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ ขยันหมั่นเพียร การมีสุขภาพดี ความรัก ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นต้น

แต่ค่านิยมเหล่านี้อธิบายในรูปเชิงสู้รบสูง ที่ว่าสู้รบ สู้รบกับอะไร ตอบได้ว่าสู้รบกับสองสามสิ่งดังนี้ คือ

ประการแรก สู้รบกับความรู้สึกดูหมิ่นตัวเอง รัสเซียมีระบอบปกครองสองระบอบใหญ่ ได้แก่ ระบอบซาร์และระบอบคอมมิวนิสต์ ทั้งสองระบอบก็ล่มสลายไปด้วยตัวเอง รัสเซียจะมีคุณูปการอะไรบนเวทีโลก ผู้นำสหรัฐก็พากันวาดภาพด้านลบว่ารัสเซียไม่ได้ผลิตอะไรสลักสำคัญ

บ้างว่ารัสเซียเป็นเพียงประเทศปั๊มน้ำมัน เผอิญว่ารัสเซียเองก็ไม่ใช่อู่อารยธรรมเหมือนจีนและอินเดีย รับอิทธิพลจากกรีก-โรมันในช่วงต้น และรับอิทธิพลจากตะวันตกในช่วงสมัยใหม่

ประการต่อมา สู้กับความสับสนว่าตนเองคือใครและจะทำอะไรในโลกได้แค่ไหน

ที่ผ่านมารัสเซียไม่ได้มีการประเมินประวัติศาสตร์ของตนอย่างจริงจัง เมื่อระบอบคอมมิวนิสต์เข้าแทนที่ระบอบซาร์ ก็โจมตีระบอบซาร์อย่างไม่มีชิ้นดี

เมื่อครุสซอฟขึ้นสู่อำนาจก็โจมตีสตาลินอย่างไม่มีชิ้นดี

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายก็มีการโจมตีลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างไม่มีชิ้นดี

และหันไปเดินทางทุนนิยมเสรีของตะวันตกเต็มตัว ประวัติศาสตร์รัสเซียเป็นอย่างไรกันแน่ หรือว่าไม่มีดีสักอย่าง

ดังนั้น จึงต้องมีการอธิบายประวัติศาสตร์รัสเซียใหม่ที่ไม่ใช่เป็นการสร้างความแตกแยก หากเป็นการสร้างความเป็นเอกภาพ ไม่ใช่การสร้างการดูหมิ่นตนเอง หากเป็นการสร้างความภูมิใจในตนเอง

ประการสุดท้าย สู้กับความทดท้อ แสดงออกในปัญหาสังคมจำนวนมาก เช่น การติดสุราและสิ่งเสพติด สภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ตกต่ำลง การหวังพึ่งความช่วยเหลือจากตะวันตกที่นอกจากไม่ได้มาถึงแล้วยังขยายอิทธิพลครอบงำเข้าประชิดพรมแดนรัสเซีย จึงถึงเวลาที่ชาวรัสเซียจะยืนขึ้นเผชิญกับการท้าทายต่างๆ การสร้างค่านิยม-วัฒนธรรมเชิงสู้รบ ต้องดำเนินไปพร้อมกับการสร้างความเป็นตัวเองทางการเมือง ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและความเกรียงไกรทางการทหาร

นักวิเคราะห์ตะวันตกบางคนชี้ว่า คะแนนนิยมต่อประธานาธิบดีขึ้นสู่ระดับสูงสุดในปี 1999 ปี 2002-2004 ปี 2008 และปี 2014 เกิดจากผลการ ปฏิบัติการทางทหารและการเผชิญหน้ากับสหรัฐและสหภาพยุโรป ในกรณีความขัดแย้งที่เซอร์เบีย อิรัก จอร์เจีย และการผนวกไครเมียจากยูเครน

(ดูบทความของ Evgenia Lezina ชื่อ The revival of ideology in Russia ใน Eurozine.com 24.03.2017)

หลักการสร้างค่านิยม-วัฒนธรรมของรัสเซีย

หลักการสร้างค่านิยมวัฒนธรรมรัสเซียใหม่มีสองประการใหญ่ได้แก่

ข้อแรก คือความต่อเนื่อง คือการถือว่า รัสเซียใหม่เป็นการต่อเนื่องจากรัสเซียในระบอบซาร์ และสหภาพโซเวียตในระบอบคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ตัดแบ่งเป็นท่อน รัสเซียในระบอบซาร์มีพลังและการสร้างสรรค์ทางค่านิยม-วัฒนธรรม เช่น การรับศาสนาคริสต์ออร์โธดอกซ์มาเป็นศาสนาประจำชาติ และได้กลายเป็นเหมือนป้อมปราการในการพิทักษ์ศาสนาคริสต์

จนมอสโกได้ชื่อว่าเป็น “กรุงโรมแห่งที่สาม” (ช่วงปี 1523-1524 โดยชี้ว่ากรุงโรม 1 และกรุงโรมที่ 2 ได้แก่ เมืองคอนสแตนติโนเบิลได้ล่มสลาย เหลือแต่กรุงโรมที่ 3 คือมอสโก และจะไม่มีกรุงโรมที่ 4 อีก) ต่อมาในสมัยพระเจ้าปีเตอร์มหาราช (ครองราชย์ 1682-1725) ได้ทำให้รัสเซียทันสมัย มีกฎหมายแพ่ง กองทัพเรือขนาดใหญ่ สร้างรัสเซียให้เป็นจักรวรรดิเป็นมหาอำนาจของยุโรป

และได้จัดระเบียบความสัมพันธ์ให้รัฐควบคุมศาสนา และศาสนาส่งเสริมอำนาจรัฐ นอกจากนี้ รัสเซียในระบอบซาร์ยังสามารถพิชิตกองทัพนโปเลียนที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์ขณะนั้น ด้วยพลรบถึง 680,000 นาย (ปี 1812)

มาถึงสมัยสหภาพโซเวียต นอกจากจะมีผู้นำที่โดดเด่นอย่างเลนินแล้ว ยังมีผู้นำที่เข้มแข็งอย่างเช่นสตาลิน ที่นำพาประเทศให้ชนะสงครามรุกรานของเยอรมนี รวมทั้งเอาชนะญี่ปุ่นในด้านตะวันออก และได้เข้าประชุมยอลต้า (1945) ร่วมกับประธานาธิบดีโรสเวลต์และนายกฯ เชอร์ชิล เป็นการประกาศว่ารัสเซียและเขาเป็นผู้ทรงอำนาจที่สุดคนหนึ่งในโลกขณะนั้น รัสเซียยังได้สร้างนักคิด นักเขียน ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์อีกจำนวนไม่น้อย นี่เป็นมรดกของรัสเซีย

ประการต่อมา คือ มีความสุขุม ระมัดระวัง และคงทน เพราะรัสเซียกำลังสู้กับตะวันตกที่มีพลังอำนาจเหนือกว่า ดังนั้น เป็นการต่อสู้ที่ยากลำบาก ยาวนาน ต้องใช้สติปัญญาให้มาก

ไม่หลงในชัยชนะที่ได้มา ยังต้องมีงานหนัก ต้องทำอีกมาก

นอกจากนี้ มันยังเป็นการต่อสู้หรือสงครามที่รัสเซียไม่อาจแพ้ได้ เมื่อรัสเซียแพ้สงครามญี่ปุ่น (1905) ระบอบซาร์ล่มสลาย เมื่อสหภาพโซเวียตแพ้สงครามในอัฟกานิสถาน (1989) โซเวียตต้องล่มสลาย

หากรัสเซียแพ้สงครามตะวันตกครั้งนี้ รัสเซียที่รู้จักก็จะไม่ดำรงอยู่อีกต่อไป

พัฒนาการของค่านิยม-วัฒนธรรมของรัสเซีย

ค่านิยม-วัฒนธรรมรัสเซียใหม่ก่อรูปชัดเจนตั้งแต่ปี 2006 เมื่อรัสเซียฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ-การเมืองอันเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกราคาสูงขึ้น และรัฐบาลใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เร่งชำระหนี้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ค่านิยมดังกล่าวมีลักษณะผสมระหว่างลัทธิแอตแลนติก หรือการเดินตามแนวทางเป็นมิตรกับตะวันตก ได้แก่ ประชาธิปไตย ตลาดเสรี การขยายบทบาทของชนชั้นผู้ประกอบการและเศรษฐี ผสมกับลักษณะชาตินิยม

เช่น การนำกิจการสำคัญ ได้แก่ พลังงาน การเงินการธนาคารเป็นของรัฐ การพัฒนาประชาธิปไตยตามความเหมาะสมของรัสเซีย มีการจำกัดบทบาทของเศรษฐีและเอ็นจีโอทางการเมือง ฟื้นความเข้มแข็งของค่านิยม-วัฒนธรรมเดิมของชาติ เสริมสร้างพลังของกองทัพ เป็นต้น

เมื่อเวลาผ่านไปด้านที่เป็นชาตินิยมมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นจนถึงขณะนี้กล่าวได้ว่า ลัทธิแอตแลนติกมีพลังน้อยมาก ทั้งในหมู่ชนชั้นนำและประชาชนรัสเซีย จุดเปลี่ยนสำคัญได้แก่ วิกฤติเปลี่ยนระบอบในยูเครน การผนวกคาบสมุทรไครเมีย และการสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนลูฮันส์-โดเนตส์ตทางตะวันออกของยูเครน จนกระทั่ง “ลัทธิรักชาติ” ได้กลายเป็น “ความคิดแบบรัสเซีย” ในปี 2016 ทางการรัสเซียประกาศใช้ยุทธศาสตร์ทางนโยบายวัฒนธรรมของรัสเซียจนถึงปี 2030

เราจะกล่าวถึงประเด็นนี้บางประการของยุทธศาสตร์นี้

ยุทธศาสตร์ทางนโยบายวัฒนธรรมรัสเซียจนถึงปี 2030

การศึกษายุทธศาสตร์นโยบายวัฒนธรรมรัสเซีย ช่วยให้เราได้เข้าใจถึงวิธีคิด การมองปัญหา การจัดระดับความสำคัญก่อนหลังของเป้าหมาย การใช้ทรัพยากรและเครื่องมือ การกำหนดขั้นตอนการทำงาน และความหวังผลทางวัฒนธรรมของรัสเซียในอนาคต ซึ่งเราจะเห็นความเอาจริงเอาจังต่องานด้านศิลปะ-วัฒนธรรมของผู้นำรัสเซีย ที่ถือว่างานนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานความมั่นคงแห่งชาติ

จากเอกสารดังกล่าว เห็นว่างานด้านศิลปะ-วัฒนธรรมของรัสเซีย มีลักษณะร่วมกับของชาติอื่นๆ เช่น วัดความก้าวหน้าทางศิลปะ-วัฒนธรรมจากการเพิ่มขึ้นและแข็งแกร่งของสถาบันวัฒนธรรม

เช่น โรงละคร พิพิธภัณฑ์ กิจกรรมทางวัฒนธรรมและผู้เข้าร่วมที่เพิ่มขึ้น เช่น การจัดคอนเสิร์ต การใช้จ่ายของรัฐบาลและภาคครัวเรือนในด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น งบประมาณแผ่นดิน การใช้จ่ายเพื่อดูภาพยนตร์ดนตรี เป็นต้น แต่ในนี้ก็มีลักษณะเฉพาะของรัสเซียดำรงอยู่ ที่ควรกล่าวถึงได้แก่

1) ชี้ว่าภัยที่สร้างวิกฤติมนุษยธรรมของรัสเซียในอนาคต ที่สำคัญได้แก่

ก) การลดลงของระดับทางปัญญาและทางวัฒนธรรมในสังคม

ข) การเสื่อมลงของค่านิยมที่ปฏิบัติอยู่ และการบิดเบือนแหล่งอ้างอิงของค่านิยมนั้น

ค) การขยายตัวของการก้าวร้าวความฉุนเฉียวขาดความอดทน และพฤติกรรมต่อต้านสังคมต่างๆ

ง) การบิดเบือนความทรงจำทางประวัติศาสตร์ การประเมินประวัติศาสตร์ช่วงต่างๆ ในแง่ลบ เผยแพร่ทัศนะที่ผิดเกี่ยวกับความล้าหลังของรัสเซีย

จ) การทำให้สังคมแยกย่อย เช่น การทำลายการสื่อสารทางสังคมในหมู่เพื่อน ครอบครัว เพื่อนบ้าน ขยายลัทธิปัจเจกชนโดยละเลยสิทธิของผู้อื่น

ฉ) การกวาดล้างค่านิยมดั้งเดิมรัสเซีย ทั้งทางศีลธรรมและจิตวิญญาณ ทำให้เอกภาพของรัสเซียที่ประกอบด้วยหลายเชื้อชาติอ่อนแอลงโดยการเผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูลทางวัฒนธรรมจากภายนอก (เช่น วัฒนธรรมมวลชนคุณภาพต่ำจากตะวันตก)

ช) ส่งเสริมความย่อหย่อนและความรุนแรง การไม่อดทนทางเชื้อชาติ ประชาชาติและทางศาสนา ลดทอนบทบาทของรัสเซียบนเวทีโลก

ซ) ก่อความเข้าใจผิดต่อประวัติศาสตร์รัสเซียและประวัติศาสตร์โลก มีการละเมิดต่อวัตถุทางวัฒนธรรมอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นการคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติด้านวัฒนธรรม

2) แนวรบด้านศิลปะ-วัฒนธรรมนี้แม้ว่ารัฐบาลจะเป็นผู้แสดงสำคัญ แต่ต้องการการมีส่วนร่วมและการลงทุนจากทุกภาคส่วนของสังคม จากทุกภูมิภาค และทุกเชื้อชาติชนชาติในรัสเซีย เป็นกระบวนการแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีการเติบโตเข้มแข็งขึ้นในศิลปะ-วัฒนธรรมด้านต่างๆ อย่างเห็นได้ในกรณีรัสเซียมีการให้ความสำคัญแก่การละครสัตว์

3) เป้าประสงค์ ภาระหน้าที่สำคัญของยุทธศาสตร์นี้ จะกล่าวถึงบางประเด็น ได้แก่

ก) สร้างการพัฒนาทางบุคลิกภาพของประชาชนรัสเซียอย่างสอดประสานกัน

ข) เสริมความเป็นเอกภาพของสังคมรัสเซียโดยการพัฒนาทางวัฒนธรรมและมนุษยธรรม สร้างอัตลักษณ์ทางประชาสังคม

ค) สร้างเงื่อนไขทางการศึกษาของพลเมืองรัสเซีย

ง) รักษามรดกทางวัฒนธรรมและทางประวัติศาสตร์ของรัสเซีย และการใช้ประโยชน์ในการศึกษา

จ) เอื้ออำนวยการส่งผ่านทางค่านิยม จารีต ประเพณี ขนบธรรมเนียมจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งในสังคมรัสเซีย

ฉ) สร้างเงื่อนไขในการพัฒนาการ สร้างสรรค์ของบุคคลอย่างเต็มที่

ช) นโยบายทางวัฒนธรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ดังนั้น ต้องประสานนโยบายทั้งสองเข้าด้วยกันในทางปฏิบัติ

4) ผลที่คาดหวัง ที่จะกล่าวถึงได้แก่

ก) การสร้างตัวแบบนโยบายทางวัฒนธรรมของรัสเซียขึ้นใหม่

ข) เพิ่มงบประมาณทางด้านวัฒนธรรมให้สูงถึงร้อยละ 1.4 ของจีดีพีในปี 2030

ค) สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนทางด้านวัฒนธรรม เช่น ผ่านโครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน

ง) การรักษาวัตถุทางวัฒนธรรมให้ดูดี ไม่ผุโทรม

จ) ให้รัสเซียติดอันดับหนึ่งในห้าของประเทศที่ได้รับขึ้นทะเบียบมรดกโลกของยูเนสโก

ฉ) สนองการใช้มรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาและการสร้างอนุชน

ช) ขยายพื้นที่การศึกษาและวัฒนธรรมของรัสเซียไปยังต่างประเทศ

(ดูเอกสารชื่อ The Order of the Russia Federation Government of 29.02.2016 N 326-p “About the adoption of Strategic of the state cultural policy for the period till 2030” ใน en.ipravo.info 29.02.2016)

จากเอกสารนี้ เข้าใจได้ว่านักวิชาการและนักการเมืองกระแสหลักของตะวันตกย่อมเห็นว่าค่านิยม-วัฒนธรรม ที่ระบอบปูตินสร้างขึ้นมานั้น ไม่มีอะไรใหม่ และเป็นการรวบอำนาจสู่ระบอบปูตินและพรรคเอกภาพรัสเซียที่เป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนี้อย่างน่าตกใจ

สำหรับนักยุทธศาสตร์และนักการเมืองรัสเซียเห็นเป็นอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ เห็นว่าค่านิยมวัฒนธรรมของตะวันตกเองตกอยู่ในภาวะผุโทรม

การเที่ยวไปชี้นิ้วต่อชาติตลาดเกิดใหม่ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย หรือเป็นเผด็จการรวบอำนาจนั้น เป็นเพียงการเสแสร้งหลอกลวง การกระทำสองมาตรฐานหรือกระทั่งสามมาตรฐาน คิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง และทำอีกอย่างหนึ่ง

ดังจะเห็นว่าทั้งในสหรัฐและสหภาพยุโรป ฝ่ายขวาทางเลือกที่มีแนวคิดคล้ายกับรัสเซียกำลังรุ่งเรือง รัสเซียขณะนี้มีโลกของตนเอง ได้แก่ “โลกรัสเซีย” ที่จะสามารถยืนเป็นหนทางที่สาม ไม่ใช่ทั้งตะวันตกและตะวันออก

ดังนั้น การต่อสู้ทางค่านิยมวัฒนธรรมระหว่างรัสเซียและตะวันตก คงจะดำเนินต่อไปอย่างดุเดือดจนถึงปี 2030 เป็นอย่างน้อย

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงประชาธิปไตยแผนใหม่ของจีน