อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : สาธารณรัฐเกาหลีไปเกี่ยวข้องอะไรกับแม่น้ำโขง?

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ความร่วมมือระดับภูมิภาคและกลไกด้านบูรณาการได้แสดงความสำคัญและมีบทบาทเสริมส่งในการสรรค์สร้างการบูรณาการภูมิภาคและการสรรค์สร้างชุมชนภูมิภาค เป็นเวลามากกว่า 2 ทศวรรษ

โครงการต่างๆ ด้านความร่วมมือระดับภูมิภาคซึ่งได้ริเริ่มโดยประเทศผู้ให้ (donor) ในระบบพหุภาคีและระดับทวิภาคี (multilateral and bilateral donors) ต่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อันประกอบด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและประเทศไทย

ทั้งนี้ แนวความคิดส่วนใหญ่ของการร่วมมือในระดับอนุภูมิภาค ส่วนใหญ่เน้นที่เป้าหมายทางเศรษฐกิจ (economic interest) ซึ่งได้ถูกพัฒนาและบูรณาการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระบวนการโลกาภิวัตน์ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา รวมทั้งประเด็นต่างๆ เช่น ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ (natural resource scarcity) การเคลื่อนย้ายมนุษย์ (human migration) ยังเป็นสิ่งสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาคต่อไป ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ความร่วมมือระดับภูมิภาคและการบูรณาการกำลังเคลื่อนไปข้างหน้าและภูมิภาคนี้กำลังเคลื่อนไปสู่สภาพแวดล้อมของปฏิบัติการใหม่ๆ อีกด้วย

 

สาธารณรัฐเกาหลี-แม่น้ำโขง

ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้มีการสถาปนาแพลตฟอร์ม เพื่อประเทศสมาชิกในการร่วมมือในประเด็นต่างๆ เพื่อส่งต่อเป็นโครงการต่างๆ และออกมาเป็นผลงานต่างๆ ในเวลาเดียวกัน ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงสามารถทดลองเพิ่มเติมและหลอมรวม (synergies) เข้ากับการขยายตัวของภูมิภาคนิยมแห่งเอเชีย (expanding Asian regionalism)

เมื่อกล่าวถึงความร่วมมือระดับภูมิภาคในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เราจะพบว่า ณ เวลานี้มีกรอบความร่วมมือ มีแพลตฟอร์มต่างๆ มากมาย

อาทิ กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong sub regional-GMS) ข้อริเริ่มญี่ปุ่น-แม่น้ำโขง (Japan-Mekong initiative) Ayavady-Mekong-Chaopaya-Economic Cooperation-AMCEC) Lower Mekong initiative, Lanchang Mekong initiative-LMI, Mekong-ROK

นั่นหมายความว่า ท่ามกลางความร่วมมือ (cooperation) ย่อมมีการแข่งขัน (competition) ระหว่างกันด้วย กล่าวโดยย่อคือ GMS ริเริ่มโดยและเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งยังถือว่า เป็นกรอบความร่วมมือแรกสุดหลังสิ้นสุดสงครามกัมพูชา (Post-Cambodian internal conflict) 1992 ส่วนกรอบความร่วมมืออื่นที่ริเริ่มโดยสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นเองย่อมมาทีหลัง ส่วนที่มาหลังสุด แต่เดินหน้าอย่างรวดเร็วทั้งแผนงาน ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและการทูตคือ LMI ที่นำโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่จะยังไม่วิเคราะห์ถึงความสำเร็จ ผลลัพธ์อันรวดเร็วของกรอบความร่วมมือดังกล่าว

อย่างนี้การมีกรอบความร่วมมือที่มากมายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงย่อมแสดงความสำคัญของอนุภูมิภาคนี้ในหลายด้าน

อีกทั้งเป็นที่สนใจจากหลายประเทศทั่วโลก อันนี้ยังไม่นับการให้ความช่วยเหลือและการเข้ามาของรายประเทศจากยุโรป เช่น สหพันธรัฐเยอรมนี เดนมาร์ก เป็นต้น

ย้อนกลับมาดูสาธารณรัฐเกาหลี ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง สาธารณรัฐเกาหลีจึงก่อตั้งกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคแม่น้ำโขง หรือ Mekong-ROK partnership ในปี 2011 และก่อตั้ง the Mekong-Korea Cooperation Fund (MKCF) ในปี 2013 เพื่อสนับสนุนความร่วมมือใน 6 ด้านหลักตามแนวทางใน the Han River Declaration 2011

รวมทั้งยังประกาศนโยบายด้านใต้ใหม่ (new Southern Policy) อันเป็นนโยบายขยายความร่วมมือระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีกับอาเซียน อันเน้น 3 ด้านหลักคือ ประชาชน (People) ความมั่งคั่ง (Prosperity) และสันติภาพ (Peace) เพื่อช่วยลดช่องว่างระหว่างการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยง (connectivity) ในอาเซียน โดยเพิ่มความเข้มแข็งในความร่วมมือ รวมทั้งยกระดับความร่วมมือระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีและประเทศต่างๆ ในแม่น้ำโขง

เมื่อมาดูสถิติด้านความช่วยเหลือการพัฒนาของทางการ (Official Development Assistance-ODA) ความช่วยเหลือแก่ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงแบบทวิภาคีทั้งหมดรวม 32.32 พันล้านเหรียญสหรัฐนับรวมถึงปี 2017

สาธารณรัฐเกาหลี ให้ความช่วยเหลือเป็นเงิน 396 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2017 ซึ่งนับเป็น 23% ของจำนวนเงินทั้งหมดการให้ความช่วยเหลือจากทางการแบบทวิภาคีทั้งหมดของสาธารณรัฐเกาหลี อันเป็นจำนวนเงิน 1.17 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีนั้น

นอกจากนั้น สาธารณรัฐเกาหลียังให้เงินจำนวน 4.3 ล้านเหรียญสหรัฐภายใต้กรอบความร่วมมือ Mekong-Korea Cooperation Fund-MKCF ระหว่างปี 2013-2017 อีกด้วย

ซึ่งเท่ากับว่า สาธารณรัฐเกาหลีเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเป็นตัวเงินแก่ลุ่มแม่น้ำโขงรายใหญ่ที่สุด (1)

 

แม่น้ำโขงในอนาคต

แม่น้ำโขงในอนาคตสำหรับผมนี้เป็นข้อเสนอของผมที่มีต่อทุกประเทศ มิได้หมายถึงแก่สาธารณรัฐเกาหลีเท่านั้น

ประการแรก เราไม่ควรแยกประเทศลุ่มแม่น้ำโขงออกจากอาเซียน แม้ว่าอาเซียนมีประเทศ 10 ประเทศ แต่เคยแยกเป็นอาเซียนเก่ากับอาเซียนใหม่ อาเซียนในภาคพื้นทวีปและอาเซียนในสมุทรัฐ ตรงกันข้าม ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตัดไม่ขาดจากอาเซียนตั้งแต่ต้น อีกทั้งยิ่งมีความสำคัญต่ออาเซียนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ประชากร การเมือง ภูมิรัฐศาสตร์และภูมิภาคนิยม

ประการที่สอง ความแตกต่างและความหลากหลายในด้านต่างๆ ทั้งทางศาสนา เชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษาและระบบการเมืองของอาเซียนเป็นแรงดึงดูดและสร้างความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลวต่ออาเซียนมาอย่างน้อยกว่า 50 ปี โดยที่ไม่มีองค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาคใดจะดำเนินการมาได้

ประการที่สาม แน่นอนอาเซียน “เป็นเวที” หนึ่งแต่ก็เป็นเวทีของหลายประเทศพร้อมๆ กันทั้งมหาอำนาจ ประเทศเล็กๆ ประเทศในขั้วโลกไหนก็อยากมีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนเพื่อเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งของพวกเขา ซึ่งเราควรปล่อยให้เป็นเช่นนั้นต่อไป

ประการสุดท้าย สำหรับประเทศไทย อาเซียนมีความสำคัญต่อไทยในหลายด้านและไทยควรใช้ประโยชน์จากอาเซียนในมากที่สุด อาจกล่าวได้ว่า ไทยขาดอาเซียนแล้วจะรู้สึก แต่ที่พิเศษคือ ไทยมีภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมเชื่อมต่อระหว่างลุ่มแม่น้ำโขงกับอาเซียน

แน่นอนอาเซียนและแม่น้ำโขงต้อนรับทุกประเทศ รวมทั้งสาธารณรัฐเกาหลีด้วย

กิมจิไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมสำหรับลุ่มแม่น้ำโขง

————————————————————————————————————————-

(1) “Concept note” Forum on Korea”s Role in Mekong Cooperation 29 November 2018, Radisson Blu Plaza, Bangkok, organized by the Embassy of the Republic of Korea, Thailand in cooperation with Mekong Institute.