สมหมาย ปาริจฉัตต์ : แนวคิดกระจายการศึกษาภายใต้วัฒนธรรมระบอบราชการ

สมหมาย ปาริจฉัตต์

กก.นโยบาย-สมัชชาการศึกษาจังหวัด
คำตอบ ร.ร.เป็นอิสระ?

กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษามั่นอกมั่นใจว่า การออกแบบโมเดลปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ ตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ล่าสุด ถ้าออกมาใช้บังคับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป การศึกษาไทยจะพลิกโฉมหลุดพ้นกับดัก จ่ายงบประมาณมหาศาลแต่คุณภาพการศึกษายังต่ำเตี้ย ความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเมืองกับชนบทคงลดลง

เพราะประเด็นแรกที่กฎหมายเขียนไว้จะต้องปฏิบัติให้ได้คือ โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการศึกษา

ตามความในมาตรา 39 ให้สถานศึกษาของรัฐมีความเป็นอิสระในการบริหารและจัดการศึกษาครอบคลุมด้านการบริหารวิชาการ ด้านการบริหารงบประมาณ ด้านการบริหารบุคคล และด้านการบริหารงานทั่วไป

ย้ำด้วยมาตรา 59 ให้กระทรวงหรือหน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษาของรัฐกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาไปยังสถานศึกษา ทั้งด้านการบริหารวิชาการ ด้านการบริหารงบประมาณ ด้านการบริหารบุคคล และด้านการบริหารงานทั่วไป หลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบาย

 

สิบกว่าปีที่แล้ว กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา เพื่อรองรับความเป็นอิสระของสถานศึกษาออกมาใช้บังคับตั้งแต่ พ.ศ.2550 ขณะนี้ก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่เพราะไม่ได้เลิกไป

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 16 พฤษภาคม 2550 สาระหลัก ข้อ 1 ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาดำเนินการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา ในด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคล และด้านการบริหารทั่วไป ไปยังคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือสถานศึกษาในอำนาจหน้าที่ของตน แล้วแต่กรณี

ความเป็นจริงเป็นอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้น เสียงเรียกร้อง ข้อเสนอแนะในเรื่องนี้ก็ยังดังขรมต่อเนื่องมาถึงขณะนี้ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนฝั่งผู้รับการกระจายอำาจ แต่อยู่ที่ส่วนบน ส่วนหัว ส่วนกลาง ฝ่ายผู้ที่ต้องกระจาย กอดอำนาจเอาไว้ ไม่เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานนั่นเอง

โดยอาศัยข้ออ้างจากความวรรคท้ายของกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.2542 ข้อ 5 ที่ว่า โดยคำนึงถึงความพร้อมของแต่ละสถานศึกษาด้วย และที่สำคัญ คนกำหนดหลักเกณฑ์ ความพร้อมของโรงเรียน ก็คือ คนส่วนบน ส่วนหัว ส่วนกลาง อีกเหมือนกัน

 

ร่างกฎหมายการศึกษาใหม่ 2562 จึงปรับเปลี่ยนข้อความวรรคท้าย โดยเอามาใส่ไว้ในตัวกฎหมายแม่ แทนที่จะเป็นในกฎกระทรวง ด้วยข้อความที่ว่า “โดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบาย”

เพราะถ้าใช้ข้อความเก่า เหตุการณ์ก็คงเหมือนเดิม กลายเป็นเหตุผลของฝ่ายที่ต้องกระจาย อ้างความไม่พร้อมของสถานศึกษา เลยไม่ยอมกระจายลงไป

แนวทางแก้ จึงออกแบบให้ฝากความหวังไว้กับกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ กลไกที่จะตั้งขึ้นมาตามกฎหมายใหม่ จะทำหน้าที่กำกับ ดูแล ควบคุม แม้กระทั่งสั่งการให้ฝ่ายผู้กระจาย ปฏิบัติเสียโดยเร็ว

ส่วนฝ่ายผู้รับการกระจายก็เปลี่ยนจุดเน้นใหม่จากเขตพื้นที่การศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาเป็นสถานศึกษา โรงเรียนและห้องเรียน ซึ่งเป็นจุดแตกหักของการเปลี่ยนแปลง

กรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธานคนที่ 1 รายละเอียด โครงสร้าง องค์ประกอบ ที่มา บทบาท อำนาจ หน้าที่ในรายละเอียดเป็นอย่างไร ค่อยว่ากันต่อไป

ภายใต้สภาพปัญหาที่หมักหมมมานาน วัฒนธรรมอำนาจของระบบราชการที่ยังครอบงำการศึกษาอยู่ กรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติจะทำเรื่องนี้สำเร็จแค่ไหน รอติดตามกันต่อไป

 

พร้อมกันนั้น กฎหมายใหม่ยังกำหนดมาตรการเสริมเพื่อเป็นตัวช่วยให้เกิดการกระจายอำนาจไปที่โรงเรียน

โดยสองกลไกซึ่งเป็นความใหม่

ได้แก่ การกำหนดให้มีเขตพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา (มาตรา 60) ซึ่งร่าง พ.ร.บเขตพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้วอีกเช่นกัน

กับอีกเรื่องคือ ในแต่ละจังหวัด ให้มีสมัชชาการศึกษารระดับจังหวัด (มาตรา 61)

สองกลไกนี้จะหนุนเสริมทำให้สวรรค์เป็นจริงที่โรงเรียนจริงหรือไม่

ต้องติดตามอีกเช่นกัน

 

ครับ ขณะที่ยังไม่มีหลักประกันว่า ฝ่ายผู้กระจายอำนาจจะยอมกระจายจริง ฝ่ายผู้รับการกระจาย ตัวละครสำคัญคือ สถานศึกษา กฎหมายใหม่มอบภาระจำเป็นที่ต้องทำไว้ล่วงหน้าเป็นภาคบังคับก่อนแล้ว ในมาตรา 45 ให้สถานศึกษาจัดให้มีบริการเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษา ได้แก่ ระบบการดูแล ติดตาม และช่วยเหลือผู้เรียน ระบบความปลอดภัยในสถานศึกษาและระบบสวัสดิการในสถานศึกษา ระบบขนส่งหรือที่พักเพื่ออำนวยความสะดวก ระบบการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

ถูกคาดหวัง มอบหมาย สั่งการเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในกฎหมาย สถานศึกษาต้องทำอะไรบ้าง อย่างนั้นอย่างนี้ หากทำไม่ได้ เท่ากับผู้บริหารไร้ประสิทธิภาพ

แต่หากส่วนบนไม่ทำ ไม่ยอมกระจายอำนาจลงไป ใครจะทำอะไรได้ เมื่อกฎหมายยังไร้สภาพบังคับ ขาดบทลงโทษ

คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติและคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา กลไกที่จะเกิดขึ้นหลังจากคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาต้องยุติบทบาทลงในเดือนพฤษภาคม 2562 จะมีคำตอบเรื่องนี้อย่างไร

สถานศึกษาทุกแห่งกำลังรอชมฉากแห่งความเป็นจริง เมื่อกฎหมายการศึกษาใหม่ใช้บังคับได้จริงๆ