เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ภูมิพลังแผ่นดิน

ใจความโดยย่อจากบทธรรมนิยามสูตรมีว่า

ไม่ว่าพระองค์จะทรงเกิดขึ้นมาในโลกนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ธรรมคือความจริงนั้นมีอยู่แล้ว คือความจริงที่ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา พระองค์เพียงทรงมาพบ มากำหนดรู้ มาจำแนก และมาทรงทำให้แจ้ง

ตรงนี้ขอขยายความเพื่อให้เข้าใจตรงกันคือ ความไม่เที่ยง และความเป็นทุกข์ นั้นใช้คำว่า “สิ่ง” คือ สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ส่วนคำ “อนัตตา” ใช้คำว่า “ธรรม” คือ “ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” ไม่ใช้คำว่า “สิ่งทั้งปวง” ก็เพราะเหตุคำว่า “ธรรม” นั้นมีความหมายครอบคลุมหมด ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งบางสภาวะเป็นนามธรรมที่มีความหมายพ้นไปจากสิ่งปรุงแต่งอันมีเหตุปัจจัยกำหนดอยู่ที่ ทำให้ไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทนอยู่ได้ยาก) เช่น แม้นิพพาน อันหมายถึงนามธรรม คือสภาวะสงบเย็นนั้นก็เป็น “อนัตตา” อันเป็นธรรมที่พ้นไปจาก “สิ่ง” ปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเอง

อนัตตา หมายถึง “ไม่ใช่ตน”

อนัตตา ไม่ได้หมายถึง “ไม่มีตน”

คือ มีสภาวะอันดำรงอยู่ แต่หาใช่ “ตน” ดังไปยึดมั่นถือมั่นไม่

นี้คืออนัตตา ตามความหมายที่แท้

เพราะฉะนั้น บางสภาวธรรมจึงไม่พ้นจาก “สิ่ง” โดยแท้

 

ที่ยกเอาใจความจากธรรมนิยามสูตรดังว่ามานี้ก็เพื่อจะเปรียบเทียบกับ “พลังแผ่นดิน” ที่พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจตลอดเจ็ดสิบปีมานี้ ว่า พระองค์ทรงทำให้ปรากฏขึ้น ซึ่งศักยภาพของแผ่นดินไทยว่ามีอยู่อย่างไร และควรดำเนินหรือพัฒนาอย่างไร ให้สมกับ “พลังแผ่นดิน” อันมีอยู่แล้วนี้

แทบจะกล่าวได้เลยว่า

ไม่ว่าพระองค์จะทรงเกิดมาหรือไม่ก็ตาม แต่ความจริงคือศักยภาพของแผ่นดินนี้มีอยู่แล้ว นั้นคือความจริงที่ว่า เมืองไทยนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยการเกษตร งอกงามได้ด้วยวิทยาศาสตร์ มั่งคั่งด้วยศิลปวัฒนธรรม และเติมเต็มความสุขได้ด้วยคติพอเพียง พระองค์ทรงมาพบ มาทำให้ปรากฏและอุทิศพระองค์ตลอดพระชนมายุ เพื่อทรงทำให้ประจักษ์แจ้งแก่ประชาชนบนแผ่นดินไทยและแก่โลกเป็นสากล

แม้พระนามของพระองค์คือ “ภูมิพล” ก็แปลว่า “พลังแผ่นดิน” ตรงคำและตรงความ คือ ภูมิ หมายถึง แผ่นดิน พล คือ พละ คือกำลัง

ความข้างต้นจึงเป็น “ภูมินิยามสูตร” ได้โดยปริยาย หมายถึง ภูมิพลังแผ่นดิน อันได้สำแดงให้ปรากฏแล้ว ทั้งโดยพระองค์เองและศักดานุภาพของแผ่นดินอันมีอยู่จริง


ตลอดวาระเจ็ดสิบปีที่ทรงครองราชย์โดยเริ่มด้วยปฐมวาทะว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม

พลังแผ่นดินสี่สถานนี้คือ แผ่นดินนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยการเกษตร ทรงมีพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับโครงการด้านการเกษตรโดยตลอดดังโครงการหลวงต่างๆ ทั้งข้าว ทั้งพืชไร่ รวมทั้งการชลประทาน งานเขื่อน แหล่งน้ำทั้งหลาย จนถึงการปลูกป่าเพื่อยังความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน สมเป็นถิ่นเกษตรกรรมแท้จริง

ด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ประเทศไทยเรานั้นเป็น “ภูมิเกษตร” โดยแท้ แผ่นดินเราแวดล้อมด้วยแนวปราการธรรมชาติอย่างดี ทั้งสี่ทิศ ตะวันออก เรามีเพื่อนบ้าน คือ เวียดนาม ลาว กัมพูชา เป็นปราการ เหนือ มีจีนแผ่นดินใหญ่ ตะวันตก มี พม่า อินเดีย ทางใต้มีประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นสำคัญ และเรายังมีทะเลของเราเองถึงสองฟากมหาสมุทร

ลักษณะภูมิศาสตร์อย่างนี้น่าจะเป็นเลิศในโลกได้เลย

นี้คือหนึ่งในภูมิพลังแผ่นดินที่เรามีอยู่

 

สองคือ แผ่นดินนี้งอกงามได้ด้วยวิทยาศาสตร์

ซึ่งมีโครงการหลากหลายอีกเช่นกันที่พระองค์ทรงคิดค้นเพื่อความก้าวหน้าในการพัฒนาความเจริญด้านต่างๆ

โดยเฉพาะก็เพื่อการเกษตรเป็นสำคัญ

เช่น โครงการจัดทำฝนเทียม เป็นต้น


สามคือ แผ่นดินนี้มั่งคั่งด้วยศิลปวัฒนธรรม

ดังนอกจากพระปรีชาสามารถของพระองค์เองทั้งในงานด้านคีตกรรม จิตรกรรม วรรณกรรม สถาปัตยกรรม และอื่นๆ แล้ว

ยังทรงส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวกับงานด้านศิลปวัฒนธรรมหลากหลาย สมพระสมัญญานามเทิดทูนท่านทรงเป็น “อัครศิลปิน”

ประเทศไทยเรานั้นมั่งคั่งด้วยงานศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผลผลิตของสังคมที่มีอารยะมาแต่เดิม พระองค์ทรงทำให้ปรากฏในยุคสมัยของพระองค์ให้เราได้ศึกษาและร่วมสืบสานสร้างสรรค์ให้มั่นคง

เป็นสมบัติของแผ่นดินสืบไป

 

สี่คือ แผ่นดินนี้เติมเต็มความสุขได้ด้วยคติพอเพียง

ซึ่งนี่ถือเป็นคติธรรมวิถีใหม่ของโลกยุคนี้ได้เลย ดังกษัตริย์จิกมีแห่งภูฐานทรงนำไปเป็นนโยบายของชาติ เรื่อง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” และทั่วโลกกำลังตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง

พลังแผ่นดินสี่สถานนี้เป็น “ภูมิพลังแผ่นดิน” ที่พระองค์ทรงสำแดงให้ปรากฏแล้ว

เป็นหน้าที่ของเราที่จะสนองกตเวทิตาคุณต่อพระองค์ท่าน

ด้วยการทำให้แจ้ง