ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 พฤศจิกายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | หน้าพระลาน |
เผยแพร่ |
ความจริงเราเรียกพระเศียรของพระมหากษัตริย์ว่า พระเจ้า
พระเกศาของพระมหากษัตริย์ต้องเรียกเส้นพระเจ้า
เพราะองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระเจ้า ใช้ศัพท์อื่นไม่ได้
องค์พระมหากษัตริย์เรียกพระเจ้า เส้นพระเจ้า สระผมเรียกว่าจำเริญเส้นพระเจ้า โกนพระเศียรทรงผนวชต้องเรียกว่า เปลื้องเส้นพระเจ้า
นี่เป็นราชาศัพท์ที่ถูกต้อง ห้ามจับต้องโดยเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนของพระองค์
ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะพระมหากษัตริย์ทรงถือพระองค์ แต่คนโบราณถือว่า เทพเจ้านั้นเป็นของร้อนเหมือนกับดวงอาทิตย์ ใครถูกแล้วไหม้ นั่นเป็นหลักสำคัญในความเชื่อถือ
คนโบราณมองที่พระอาทิตย์ก่อนเพราะนึกถึงเทพเจ้า ต่อมาก็ให้ความร้อนของพระอาทิตย์ไปแก่เทพเจ้าทุกองค์
ด้วยเหตุที่องค์พระมหากษัตริย์เป็นเทพเจ้าแตะต้องไม่ได้จะเกิดภัยพิบัติอาจไหม้ไปก็ได้
และโดยเหตุนี้ถึงมีราชประเพณีต่อมาอีกมาก แตะต้ององค์ไม่ได้ อย่างเรือพระที่นั่งตามกฎจะต้องพร้อมคู่ 2 คู่ผูกติดไว้ ถ้าเรือล่มต้องโยนมะพร้าวถวายพระมหากษัตริย์ ไปช่วยไม่ได้ คอขาด–อย่างนี้เขาถือกันไปขนาดนั้น
ตลอดมานี้ก็เกิดปัญหา คือการแตะต้องพระองค์จำเป็นต้องมีขึ้นจนได้ อย่างทรงเครื่องใหญ่ จำเริญเส้นพระเจ้าซึ่งจะต้องทำเป็นครั้งคราว–ทำยังไง ก็เกิดมีกรมภูษามาลาขึ้น
กรมนี้สืบตระกูลกันไม่ได้แต่งตั้ง แปลว่าการเสี่ยงตายให้คนตระกูลนี้เพียงตระกูลเดียวเรียกว่า ภูษามาลา มีหน้าที่มีสิทธิ์แตะต้องพระมหากษัตริย์ได้ก็แต่พวกภูษามาลานี้เท่านั้น จะเป็นเครื่องแต่งพระองค์ เครื่องต้น เครื่องทรง ตลอดจนถึงปฏิบัติพระองค์ เวลาสรง ทรงเครื่องใหญ่ไปจนถึงสวรรคตแล้ว ก็มีสิทธิ์ทำหน้าที่ต้องมัดพระบรมศพเข้าพระโกศ ข้าราชการอื่นแตะต้องไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ในการทรงเครื่องใหญ่ ปัญหาเกิดขึ้นมาก เห็นได้ชัดว่าคนโบราณเชื่อว่าทุกชิ้นส่วนขององค์พระมหากษัตริย์นั้นมีแต่ความร้อนเป็นพิษ ถ้าตกถึงแผ่นดินแล้วแผ่นดินจะร้อนเป็นผลเสียหายแก่การเกษตรอย่างยิ่ง ราษฎรจะอดอยาก ยากจน
ในการจำเริญเส้นพระเกศา ขั้นต้นพระราชอาสน์ที่ประทับจะต้องปูใบตองที่พื้นก่อน–Fire Proof ต่อมาปูหนังราชสีห์ซึ่งเป็นสัตว์ร้อน เอาร้อนดับร้อนเข้าไปแล้วจึงปูผ้าขาวในการจำเริญพระเกศาก็ต้องระมัดระวัง ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทุกครั้ง
เป็นต้นว่า จะใช้กรรไกรก็ต้องกราบถวายบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตใช้พระแสงกรรบิด พระแสงกรรบิดนั้น ก็ไม่ใช่พระแสงธรรมดา เป็นกรรไกรโบราณ อย่างน้อยก็ต้องลงสักหนสองหนเป็นพระราชประเพณี ต่อไปจึงใช้กรรไกรธรรมดา
จะใช้มีดโกนก็ต้องลงถวายบังคมอีก ขอพระบรมราชานุญาตใช้พระแสงขูด เป็นการล่าช้าเหลือเกิน แต่ก็รู้สึกว่า ภูษามาลา ที่ผมเคยเห็นเขาเชื่อจริงๆ ระมัดระวังอย่างยิ่ง จำเริญเส้นพระเจ้าทีหนึ่งก็เอามือรับแล้วนำมาใส่ภาชนะมีใบตองรองภาชนะ
เคยถามว่าเสร็จแล้วเอาไปไหน เขาบอกว่ารวมๆ ได้มากก็ใส่ผอบ แล้วไปลอยกลางพระมหาสมุทร ปล่อยลงดินไม่ได้ ชาติบ้านเมืองจะร้อนเป็นไฟ ข้าวกล้านาดำไม่ขึ้นอีกแล้ว ของเหล่านี้เป็นของร้อนทั้งสิ้น
ก็ราชประเพณีผมเคยเห็นมาจนถึงรัชกาลที่ 9 ก็ต้องยอมรับว่าน่าเบื่อหน่าย ล่าช้าวุ่นวายเหลือเกิน ไม่ทราบว่าปัจจุบันยังทำอยู่อีกหรือเปล่า แต่คิดว่าไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว
สงสัยภูษามาลาจะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยแล้วเพื่อความสะดวกรวดเร็ว
นอกจากนั้น มีห้ามมององค์พระมหากษัตริย์ มองไม่ได้
มองแล้วตาบอดเหมือนกับมองพระอาทิตย์ เวลาเสด็จพระราชดำเนินไปไหนต้องปิดประตูบ้านหมด ปิดประตูทั้งล่างและบน เห็นใครมองมีทหารคอยยิง เพิ่งมาเลิกเมื่อสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อเสด็จฯ สมุทรสงคราม ได้ยินเสียงผู้หญิงร้องด้วยความเจ็บปวดจึงทรงให้หยุดเรือพระที่นั่ง ได้ความว่าผู้หญิงมาคอยดูขบวนเสด็จฯ ทหารในเรือพระที่นั่งเอาปืนยิงเอาจริงๆ ลูกตาเสียไปข้างหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมาก็ออกประกาศห้ามยิงราษฎร ให้คอยแต่ห้ามปราม ประเพณีมาเลิกในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีประกาศพระบรมราชโองการห้ามปิดประตูหน้าต่างเวลาเสด็จฯ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าของบ้านออกมาคอยเฝ้าฯ และทรงมีพระราชดำรัสทักทาย
เรื่องนี้เป็นเรื่องของการผสมกันระหว่างคติสองอย่าง ที่ผมจะได้กล่าวถึงต่อไป
ต่อไปคือห้ามพระบาทแตะต้องพื้นแผ่นดิน ร้อนอีกแล้ว แตะไปข้าวไม่ขึ้น พระเจ้าอยู่หัวนี่–เพราะฉะนั้น จะเสด็จฯ ไหนต้องปูลาดพระบาทตลอดหมด ห้ามพระบาทแตะพื้นเป็นอันขาด เวลาทรงพระประชวรห้ามถามพระอาการ แต่ก่อนถือมาก จะประกาศเมื่อตอนสวรรคต
และคำว่า สวรรคต ไม่ได้แปลว่า ตาย แปลว่า “เสด็จสู่สวรรค์” เช่นเดียวกับเทพเจ้า
อีกอย่างถือว่าเป็นของร้อน คือพระโลหิตตกถึงแผ่นดินไม่ได้
อันนี้ไม่ได้คลุมเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ เจ้านายในพระราชวงศ์นั้นพระโลหิตตกถึงดินไม่ได้
คือจะทำให้เกิดความแห้งแล้งเพราะเหตุความร้อนตามที่ผมได้เรียนมาแล้ว
ด้วยเหตุนี้ถ้าสำเร็จโทษพระมหากษัตริย์พระองค์ใด ก็ต้องเอาพระองค์ท่านเข้าถุงสีแดงเอาท่อนจันทน์ทุบ
ท่อนจันทน์ที่ทุบไม่ใช่ท่อนใหญ่ๆ ท่อนเล็กๆ เราตีกะคะเนให้ตรงคอต่อ คอต่อหักแล้วก็ตายทันทีไม่เจ็บปวดทรมาน แล้วถ้าจะตกพระโลหิตที่พระโอษฐ์ หรือที่พระนาสิกก็อยู่ในถุงแดง นี่เป็นคติของคนโบราณ
–เคยมีเรื่องเล่าว่าพระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีโทษถึงต้องสำเร็จโทษในรัชกาลที่ 3 ด้วยวิธีเอาท่อนจันทน์ทุบ
ท่านทรงเคยบัญชาการอยู่ในกระทรวงวังเป็นหัวหน้าเพชฌฆาตทั้งหลายเมื่อถึงเวรพระองค์ต้องเข้าถุง พวกเพชฌฆาตที่จะต้องใช้ท่อนจันทน์ทุบพระองค์ก็กลัว จึงตีผิดตีถูกแทนที่จะเล็งคอต่อ ก็ตีเอาพระกรบ้าง–อะไรบ้างก็ตะโกนด่าออกมาจากถุงว่าไอ้พวกนี้สอนไม่รู้จักจำ– “เขาต้องตีคอต่อซิโว้ย”
–ก็เลยโผงเดียวสิ้นพระชนม์ ไม่ต้องทรงทรมาน
ทีนี้ความเป็นพระผู้เป็นเจ้านั้นมีอยู่มากมาย เช่น ออกพระนามไม่ได้ พระนามว่าอย่างไรเมื่อขึ้นราชาภิเษกแล้ว ก็เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่ง ถวายพระปรมาภิไธยใหม่ เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่ง พระนามจริงออกไม่ได้ หรือถึงจะมีเป็นต้นว่าสร้างสิ่งที่เป็นอนุสาวรีย์ใช้พระนามก็ใช้ไม่ได้
อย่างเช่นสมัยรัชกาลที่ 4 สร้างวัดมงกุฎกษัตริย์ ขึ้น เจ้าฟ้ามงกุฎเป็นพระนาม เมื่อตอนเสวยราชย์ราชาภิเษกแล้วสร้างวัดมงกุฎกษัตริย์ ชาวบ้านไม่ยอมเรียก–เรียกว่า “วัดพระนามบัญญัติ” ถนนนามบัญญัติ ซอยนามบัญญัติ มีอยู่จนทุกวันนี้ สิ้นรัชกาลแล้วจึงเรียก วัดมงกุฎกษัตริย์ หรือ วัดมกุฏกษัตริย์
แต่ประเพณีเดี๋ยวนี้เราไม่ถือเสียแล้ว–เรามีเขื่อน “ภูมิพล” มีโรงพยาบาล “จุฬาลงกรณ์” และอื่นๆ ซึ่งเรียกว่าเราได้เปลี่ยนไป
ทีนี้ พระมหากษัตริย์ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยนั้นมีหน้าที่อย่างไร ยังมีพระราชภารกิจอย่างไรอยู่ที่พระนามที่เราถวายไป ซึ่งมีหลายอย่าง คนไทยเรียกพระมหากษัตริย์หลายอย่าง–หลายอย่างเหลือเกิน
ขึ้นต้นเรียก– “พระเจ้าอยู่หัว” พระเจ้าก็ยอมรับว่าเป็นเทพเจ้า อันนี้ไม่มีปัญหา อยู่หัวแปลว่าผู้นำ หรือ ประมุข อยู่หัวแถวก็ได้–บนหัวก็ใช่ นี่ก็เป็นเรื่องภาษาต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ อะไรเป็นหัวหน้า–อะไรเป็น–ก็เรียกหัวทั้งนั้น
อย่างภาษามลายูทุกวันนี้ ผู้กำกับตำรวจเรียกว่า “กบาลโปลิศ” แปลว่า Chief of Police–หัว Head of Police นี่เป็นเรื่องของการยอมรับในความเป็นประมุขขององค์พระมหากษัตริย์ และในความเป็นเทพเจ้าด้วย เป็นพระเจ้าของเรา เป็นผู้นำของเรา สังคมไทยมีพระเป็นเจ้าเป็นผู้นำ–มีพระเจ้าอยู่หัว
ศัพท์ที่ 2 เรียก “พระเจ้าแผ่นดิน” มีความหมายว่าทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินทั้งประเทศ แล้วพระราชทานสิ่งที่ครอบครองทำมาหากินให้แก่ประชาชนทั่วไปตามพระราชอำนาจ
ข้อความเช่นนี้ยังปรากฏอยู่ในหน้าโฉนดที่ดิน เพิ่งมาเปลี่ยนในสมัยปัจจุบันนี้เอง
โฉนดที่ดินแต่ก่อน ถ้าดูข้อความแล้วเราจะเห็นว่าเป็นการพระราชทานสิทธิ์ครอบครองให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง แล้วเรามีสิทธิ์ที่จะขายสิทธิ์นั้นต่อไปได้ โอนให้กันได้
แต่ศัพท์ที่ว่าเวนคืนที่ดินก็เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้รัฐบาลต้องการที่ดินคืนจากเอกชนด้วยการกำหนดราคาซื้อเอาเองเรียกว่า “เวนคืน” ซึ่งเป็นศัพท์แต่โบราณ เพราะที่ดินเป็นของพระมหากษัตริย์ ต้องการเอาที่ดินของใครมาใช้ในราชการก็เท่ากับการเวนคืนให้แก่เจ้าของเดิม คือ องค์พระมหากษัตริย์
นี่เป็นสิทธิ์ เป็นฐานะคือการทรงมีอำนาจเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด แต่เมื่อพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ทรงถือว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นต้องทรงมีความรับผิดชอบในความอุดมสมบูรณ์ของที่ดินอีกด้วย
ถ้าเกิดน้ำท่วมฝนแล้งแล้วทำการกสิกรรมไม่ได้ผลบริบูรณ์ ราษฎรสมัยก่อนก็โทษพระเจ้าแผ่นดิน ว่ากล่าวกันไปต่างๆ นานา
ด้วยเหตุนี้จึงมีพระราชพิธีต่างๆ มากมายเหลือเกิน ซึ่งเดี๋ยวนี้เลิกไปเกือบหมดแล้ว เพื่อประโยชน์ของการทำให้แผ่นดินอุดมสมบูรณ์
พระราชพิธีไล่น้ำ–ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อให้น้ำแห้ง ราษฎรจะได้เกี่ยวข้าวได้ กลายเป็นพิธีพิรุณศาสตร์ต่างๆ
พิธีขอฝน–พิธีแรกนา แม้แต่พิธีโล้ชิงช้า เป็นพระราชพิธีที่กระทำไปเพื่อจะทำให้แผ่นดินไทยอุดมสมบูรณ์ทั้งนั้น ในฐานะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน–ยิ่งกว่านั้นแล้วสิ่งต่างๆ ป่าไม้ สิงสาราสัตว์ในแผ่นดินก็ถือว่าเป็นของพระมหากษัตริย์
ผมอยากจะเรียนว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น การอนุรักษ์ป่าไม้ก็ดี ทำกันอย่างเข้มงวดมาก ถือว่าเป็นของพระมหากษัตริย์