สุจิตต์ วงษ์เทศ : เสียงช้างร้อง ที่เมืองมโนรมย์ ชัยนาท

ทัวร์ “ชัยนาท-สรรค์บุรี” เมืองโบราณลุ่มน้ำเจ้าพระยา จ. ชัยนาท ไปไหว้หลวงพ่อธรรมจักร วัดธรรมามูล อยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ร.5 เคยเสด็จ

ถัดไปทางเหนือตามแม่น้ำเจ้าพระยาจากวัดธรรมามูล (อ. เมืองฯ) สมัยโบราณเรียก เมืองมโนรมย์ (อ. มโนรมย์ จ. ชัยนาท) เป็นเขตคล้องช้างป่า

เพราะเจ้าเมืองมโนรมย์มีนามในกฎมณเฑียรบาลว่า “ออกพระศรีสิทธิกัน” เป็นนามแนวเดียวกับขุนนางในกรมพระคชบาลว่า “ขุนสิทธิกัน อนันตพระคชสาตร ครูช้างขวา นา 600” และ “หมื่นราชสิทธิกัน ปลัดกรมเชือกซ้าย นา 400”

นอกจากนั้นยังมีคำบอกเล่าของชาวบ้านเป็นนิทานกำเนิดเมืองมโนรมย์ จะสรุปง่ายๆ สั้นๆ ดังนี้

 

กำเนิดเมืองมโนรมย์

ราว พ.ศ. 2201 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (2199-2231) มีผู้นำความขึ้นกราบบังคมทูลว่าพบช้างเผือกพัง (ตัวเมีย) บริเวณป่าแขวงเมืองศรีสวัสดิ์ (กาญจนบุรี)

ทรงเรียกขุนศรีสิทธิกรรม์ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดโขลงช้าง สังกัดกรมช้าง แห่งกรุงศรีอยุธยา มอบหมายให้ไปคล้องช้างเผือก

เมื่อขุนศรีสิทธิกรรม์ยกคณะไปยังป่าแขวงเมืองศรีสวัสดิ์ คล้องช้างเผือกสำเร็จ ทรงบำเหน็จรางวัลให้ขุนศรีสิทธิกรรม์เป็นฝ่ายทูลขอได้ ขุนศรีสิทธิกรรม์จึงกราบบังคมทูลว่าอยากเป็นเจ้าเมือง พระองค์ทรงพระราชทานให้ตามที่ขอ

ด้วยเหตุที่ขุนศรีสิทธิกรรม์มีถิ่นกำเนิดที่บ้านท่าฉนวน แขวงเมืองชัยนาท จึงเรียกเจ้าแขวงเมืองชัยนาทมาเพื่อแบ่งพื้นที่บริเวณบ้านเกิดของขุนศรีสิทธิกรรม์ให้ “เท่าที่เสียงช้างร้อง” คือให้ช้างร้องที่บ้านของขุนศรีสิทธิกรรม์ แล้วถ้าบ้านใดได้ยินเสียงช้างร้องก็ให้ถือเป็นอาณาเขตเมืองของขุนศรีสิทธิกรรม์ จึงเป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือเมืองชัยนาทขึ้นไป แล้วพระราชทานชื่อว่า เมืองมโนรมย์

ขุนศรีสิทธิกรรม์ทำนาทำไร่โดยใช้ช้างไถนาแทนวัวควายเพราะมีช้างป่าที่คล้องได้นำมาควบคุมที่บ้านไผ่พักช้าง แล้วมีโรงฝึกช้างเพื่อใช้เป็นพาหนะบรรทุกสินค้า และใช้ไถนา

เมื่อขุนศรีสิทธิกรรม์สิ้นชีพแล้วให้พัฒนาจวนเป็นวัด ต่อมาเรียกวัดศรีสิทธิกรรม์ (วัดจวน) ส่วนที่บ้านไผ่พักช้างก็สร้างวัด ชื่อวัดไผ่พักช้าง

โรงฝึกช้างกลายสภาพเป็นวัดโรงช้าง ต. ท่าฉนวน อ. มโนรมย์ จ. ชัยนาท