พุทธะอิสระ และ จตุพร ที่เปลี่ยนไป l มนัส สัตยารักษ์

ภาพจริง

ผมน้ำตาไหลพรากขณะชมภาพยนตร์จีนเรื่องหนึ่งมาถึงตอนใกล้จบ เสียดายที่จำชื่อเรื่อง ชื่อผู้กำกับการแสดงและดารานำไม่ได้ เชื่อว่านักดูหนังที่คร่ำหวอดระดับ อ.กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน อาจจะจำได้เพราะเป็นหนังคุณภาพที่ดังพอสมควร

เป็นเรื่องความผูกพันและความรักระหว่างนักโทษประหารกับผู้คุมหนุ่มซึ่งเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันมาก่อนตั้งแต่เริ่มเรื่อง

อยู่ๆ กันไป (ในคุก) สักพักหนึ่ง นักโทษก็สารภาพว่าผู้คุมทำให้เขานึกถึงบุตรชาย และด้วยความสำนึกผิดประกอบกับความรู้สึกของคนเป็นพ่อ ทำให้นักโทษพยายามจะไถ่บาปด้วยการทำตัวเป็นคนดีเพื่อชดใช้กรรมก่อนที่วันประหารจะมาถึง

หนังค่อยๆ เปลี่ยนภาพพฤติกรรมของนักโทษกับผู้คุมไปเรื่อยๆ อย่างไม่สะดุด

และด้วยฝีมืออันเปี่ยมด้วยศิลปะของผู้สร้าง ทั้งแสง สี และเสียง ฝีมือของการทำบท จังหวะจะโคนของการตัดต่อและเรียงลำดับเรื่อง การกำกับฯ ตลอดจนการแสดง ฯลฯ ทำให้ผู้ชมคล้อยตามไปกับความรักระหว่างพ่อกับลูก

ไคลแมกซ์ของเรื่องอยู่ตรงที่ เวลาคืบเข้าใกล้จนจวนจะถึงวันประหาร ผู้คุมตัดสินใจฝ่าฝืนกฎของคุก โดยวางแผนจะปล่อยให้นักโทษหลบหนีไปเสีย

เขาไม่สามารถทนเห็นคนที่เป็นเสมือน “พ่อ” ถูกประหารได้

ดูเหมือนว่าตัวนักโทษเองแม้จะมีจิตสำนึกที่จะเป็นคนดีแล้วก็ตาม แต่กลับกลัวความตายที่กำลังจะมาถึงเช่นกัน เขาจึงพร้อมหลบหนีไปตามแผนของผู้คุมด้วย

แต่พอถึงเวลาเข้าจริงๆ นักโทษเปลี่ยนใจกะทันหัน ปฏิเสธที่จะหนี เพราะถ้าเขาหลบหนีไปได้ ผู้คุมซึ่งเป็นเสมือน “ลูก” จะต้องรับโทษถูกประหารแทนแน่นอน

มันเป็นเรื่องที่พ่อไม่สามารถทำกับลูกได้…ผมน้ำตาไหลพรากตรงจุดนี้

ผมอาจจะเล่าผิดหรือรวบรัดไปบ้าง แต่ก็ประมาณนี้แหละครับ มันคล้ายๆ กับเรื่องอาชญากรตัวร้ายกับตัวประกันที่เกิดรักใคร่และเป็นห่วงเป็นใยซึ่งกันและกันหลังจากตกอยู่ในสภาวะที่แสนเคร่งเครียดในระยะเวลาหนึ่ง เป็นเรื่องของจิตอันละเอียดอ่อน เป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์

ผมเคยศึกษาเล่าเรียนเกี่ยวกับจิตวิทยาในประเด็นทำนองนี้ แต่ก็ลืมหมดแล้วจนไม่สามารถอธิบายอย่างที่อาจารย์ท่านอธิบายให้ฟังได้

นอกจากนั้น ในครั้งที่กรมตำรวจมีโครงการแก้ไขปัญหา “นักเรียนตีกัน” โดยให้นักเรียนหรือนักศึกษาของสถาบันที่วิวาทกัน ไปพักในสถานที่เดียวกันและประชุม เช่น “มวกเหล็ก” สระบุรี ให้พวกเขาร่วมมือกันทำกิจกรรมบางอย่าง ตำรวจเรียกการดำเนินการตามโครงการนี้ว่า “ละลายพฤติกรรม”

การอยู่ใกล้ชิดกันในคุกของนักโทษประหารกับผู้คุมในภาพยนตร์จีนก็น่าจะเข้าข่ายของการละลายพฤติกรรมเช่นกัน

ขอรับว่าผมหวนนึกถึงภาพยนตร์เรื่องข้างต้น หลังจากอ่านข่าวจตุพร พรหมพันธุ์ หรือ “ตู่” กับสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีต “พุทธะอิสระ” ซึ่งทั้งสองคนต่างมีความห่วงใยซึ่งกันและกันหลังจากได้พบและคุยกันในคุก!

บทบาทและพฤติกรรมในอดีตที่ผ่านมาของจตุพร พรหมพันธุ์ กับพุทธะอิสระนั้นก่อให้เกิดความรู้สึกทั้งบวกและลบของผู้ที่ได้สัมผัสหรือรับรู้ ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดาหรือเรื่องแปลกประหลาดมหัศจรรย์ของมนุษย์ ที่ความรู้สึกอันตรงกันข้ามกัน (บวกและลบ) ดันมีอยู่และเกิดขึ้นในตัวของคนทั้งสองสลับกันไปมาในหลายวาระ

เคยอ่านพบว่า ครั้งที่จตุพร พรหมพันธุ์ เพิ่งจบการศึกษาใหม่ๆ เขาเป็นคนหนุ่มที่เปี่ยมด้วยอุดมการณ์และเสียสละอย่างยิ่ง ตระเวนสอนหนังสือให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนที่ยากไร้ ขาดแคลนและห่างไกล ไกลไปจนถึงป่าและภูเขาย่านชายแดนทางเหนือของประเทศ

ราวกับเป็นคนละคนกับ “ไอ้ตู่” ที่แสยะปากปลุกระดมคนเสื้อแดงอยู่กลางถนน

เคยดูทีวีในช่วงเวลาที่พุทธะอิสระออกมาพูดถึงปัญหาของบ้านเมือง ท่านเป็นพระภิกษุที่น่าเคารพนับถือ มีสาวก ลูกศิษย์ลูกหามากมาย คำพูดที่อ้างพุทธวจนะก็แคล่วคล่อง ดูท่าจะเป็นพระภิกษุผู้นำทางวิญญาณแก่ประชาชนเดินไปในทางที่ถูกต้อง

ราวกับเป็นคนละคนกับ “สมีสุวิทย์” ที่ทำร้ายตำรวจอย่างโหดร้าย จนถูกจับสึกและถูกศาลพิพากษาลงโทษ

แต่เมื่อคนทั้งสองได้ “ละลายพฤติกรรม” ไปแล้ว จึงไม่มีการกระทำที่รุนแรงเกิดขึ้นอีก ผมเดาว่าคงเกิดความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ และในที่สุดก็ถึงกับเป็นห่วงเป็นใยซึ่งกันและกันตามข่าว ขอขอบคุณท่านทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยความจริงใจ

รู้สึกประทับใจพอๆ กับที่เคยรู้สึกเมื่อดูภาพนักโทษประหารกับผู้คุมในหนังจีน เพียงแต่ว่าไม่มีน้ำตาให้ไหลพรากเท่านั้น

การที่ผมกล่าวถึงข่าวของจตุพรกับอดีตพุทธะอิสระพูดคุยและห่วงใยกันนั้น ประหนึ่งว่าผมเป็นคนมีสายตาที่มอง “โลกสวย” ผมขอยืนว่าสายตาของผมไม่เบลอถึงขนาดนั้น ผมตระหนักดีว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมก็คือ ทั้งคู่ไม่ได้ลง “สนามเลือกตั้ง” ซึ่งเท่ากับได้ปล่อยวาง “ความหิวกระหาย” แล้วนั่นเอง

ในโลกแห่งความเป็นจริง นักการเมืองทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่รวมทั้งกองเชียร์ ต่างหิวกระหายในอำนาจ

ดังนั้น ภาพของพวกเขายัง “น้ำเน่า” เหมือนเดิม ไม่เพียงแต่ฟาดฟันกับพรรคฟากตรงข้ามเท่านั้น พวกเขาฟาดฟันกับทุกพรรค ไม่เว้นแม่แต่ในพรรคเดียวกัน!

มีภาพความรุนแรงเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งในสื่อหลักและสื่อโซเชียล มีกระทั่งในละครทีวีหรือในโฆษณา เช่น ภาพฆ่าหรือทำร้ายกันด้วยเหตุผลน้อยนิด เด็กสั่งผู้ใหญ่กราบเท้า ภาพตบตีกันเพียงแย่งผัวแย่งเมีย หรือภาพมารยาททรามของสาวมาสาดอาหารใส่คู่สนทนา เป็นต้น

มีความพยายามจะตั้งกลุ่ม NewDem อันประกอบด้วย “หน้าใหม่” นัยว่าเพื่อจะทำกิจกรรมอะไรหลายๆ อย่างหวังล้างพฤติกรรมน้ำเน่า แต่แล้วดูเหมือนว่าไปไม่รอด ความไม่ไว้ใจกัน ความใจแคบ ความต้องการอำนาจเป็นของตัวเอง เหล่านี้บดบังความที่ถูกที่ควรเสียสิ้น

ตำรวจทุกหน่วยควรเตรียมชุด “ควบคุมฝูงชน” ไว้ให้พร้อมเช่นเดิม ศึกษาบทเรียนจากคำพิพากษาของศาลไว้ป้องกันความผิดพลาด มิฉะนั้นเราอาจจะต้องใช้กำลังทหาร “ปราบจลาจล” เหมือนที่ผ่านมาเมื่อ 4 หรือ 5 ปีที่แล้ว