วรศักดิ์ มหัทธโนบล : การเมืองในสุสานหมิง (ตอน3)

the scenery at the Ming Dynasty Tombs in Changping District, on the outskirt of Beijing. AFP PHOTO / STR

เมื่อถูกกล่าวหาเช่นนี้แล้ว มิไยที่จ้าวจะอธิบายแก้ต่างให้ตนเองอย่างไรก็ไม่มีผล เขาจึงจำต้องรับการลงโทษด้วยการถูกส่งไปใช้แรงงานในคอมมูนแห่งหนึ่ง

ที่เจ็บปวดที่สุดก็คือ เขาขอเวลาในการเตรียมตัวก่อนเดินทาง 2-3 วัน แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ฝ่ายนำที่ลงโทษเขาแจ้งว่าเขาจะต้องเดินทางไปในทันที

ผลคือ จ้าวจำต้องออกเดินทางในคืนวันนั้น

เขาจึงไม่มีโอกาสได้อยู่ในทันเปิดพิพิธภัณฑ์สุสานหมิงที่เขาสู้อุตส่าห์ขุดค้นมาเป็นเวลาแรมปี

อนึ่ง คอมมูนที่จ้าวฉีชางจะต้องไปใช้แรงงานเพื่อไถ่โทษนั้น เป็นนโยบายที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานในขณะนั้น นโยบายนี้เข้ามาแทนที่นโยบายสหกรณ์ที่ใช้มาก่อนหน้านี้ 4-5 ปี และมีชื่อเต็มว่า “คอมมูนประชาชน” (People”s Commune)

ในทางปฏิบัติของนโยบายนี้ก็คือ การรวบรวมครัวเรือนชาวนาให้ได้ประมาณ 100-200 ครัวเรือนขึ้นไปเท่ากับ 1 คอมมูน นั่นหมายความว่า ที่ดินที่แต่ละครัวเรือนถือเอกสารสิทธิ์อยู่จะถูกนำมารวมอยู่ในคอมมูน แล้วทุกครัวเรือนก็ทำการผลิตบนที่ดินรวมนั้นด้วยกัน

นอกจากนี้ คอมมูนต่างๆ ยังสามารถบุกเบิกที่ดินทำกินใหม่ได้อีกด้วย ผลผลิตที่ได้จากที่ดินรวมกับที่ดินที่บุกเบิกใหม่จะแบ่งกันระหว่างคอมมูนกับรัฐ ซึ่งรัฐจะได้ส่วนแบ่งที่มากกว่า ในขณะที่สมาชิกแต่ละครัวเรือนของคอมมูนจะได้รับส่วนแบ่งผลผลิตและสวัสดิการต่างๆ จากคอมมูนตอบแทน

ที่ควรกล่าวด้วยก็คือว่า นอกจากนโยบายคอมมูนประชาชนแล้ว อีกนโยบายหนึ่งที่เกิดพร้อมกันก็คือ ก้าวกระโดดไกล (Great Leap Forward) นโยบายนี้มุ่งให้ภาคการผลิตต่างๆทำการผลิตให้สูงเกินกว่าเป้าที่ตั้งเอาไว้ในแผนพัฒนา และจะทำเช่นนั้นได้ก็มีแต่ที่ภาคการผลิตต่างๆ จักต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจให้มากกว่าที่เป็นอยู่เท่านั้น ซึ่งวิธีหนึ่งที่รัฐใช้ก็คือนโยบายคอมมูนประชาชน

ทั้งนี้เพราะการรวบรวมสมาชิกครัวเรือนในแต่ละคอมมูนให้ได้นับร้อยครัวเรือนนั้น จะทำให้พลังการผลิตเป็นเอกภาพและที่ความคล่องตัวในการบริหารจัดการ จนสามารถสร้างผลผลิตได้เกินเป้าตามที่นโยบายก้าวกระโดดไกลได้ตั้งความคาดหวังเอาไว้

ในแง่นี้นโยบายคอมมูนประชาชนกับนโยบายก้าวกระโดดไกลจึงแยกกันไม่ออก

ส่วนจ้าวฉีชางซึ่งไม่เคยทำนามาก่อนและต้องไปใช้แรงงานในคอมมูนเพื่อไถ่โทษนั้น ดูเผินๆ แล้วก็ไม่น่าหนักหนาอะไรเมื่อเปรียบเทียบกับการติดคุก แต่ถ้าคิดถึงการใช้แรงงานแบบทุ่มกายเทใจสำหรับคนที่ไม่เคยแล้ว โทษครั้งนี้ของจ้าวฉีชางย่อมนับว่าไม่เบาเลย ซ้ำโทษนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวเขาจะมีอิสรภาพเช่นกัน ซึ่งดูไปแล้วบางทีการติดคุกแล้วน่าจะดีกว่าเป็นไหนๆ

แต่ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า จ้าวฉีชางเดินทางไปใช้แรงงานแบบปัจจุบันทันด่วน ไม่มีเวลาแม้แต่จะเตรียมตัวหรือร่ำลาใคร ภายหลังจากนั้นเขาจึงไม่รู้อีกเลยว่า ช่วงที่เขาไม่อยู่นั้นได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมาอยู่ 2 เหตุการณ์เป็นอย่างน้อย

เหตุการณ์แรก ในช่วงที่รัฐบาลกำลังใช้นโยบายก้าวกระโดดไกลนั้น ทางด้านการเกษตรได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันขุดอ่างเก็บน้ำสำหรับไว้ใช้ในการเกษตร นอกกรุงปักกิ่งออกไปที่มีการทำการเกษตรก็มีการขุดอ่างเก็บน้ำเช่นกัน และ 1 ในอ่างที่มีการขุดก็คือ อ่างเก็บน้ำสุสานหมิง

ตอนนั้นข่าวคราวเกี่ยวกับสุสานหมิงได้สร้างความตื่นเต้นยินดีให้แก่ชาวจีน การใช้ชื่อสุสานมาเป็นชื่ออ่างเก็บน้ำจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ อย่างน้อยมันก็อยู่ในอาณาบริเวณนั้นอยู่แล้ว จะตั้งชื่อเป็นอื่นก็ใช่ที่

วันที่เปิดพิธีขุดอ่างเก็บน้ำสุสานหมิงนั้น เหมาเจ๋อตง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับเผิงเจิน เลขาธิการพรรคประจำปักกิ่งได้มาทำพิธีเปิดด้วยกัน

กิจกรรมหนึ่งที่ทั้งสองทำร่วมกันในพิธีนี้ก็คือ การถือจอบขุดดินเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย

ภาพของทั้งสองจึงถูกถ่ายเอาไว้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรายงานข่าว แต่ที่ทั้งสองไม่รู้ก็คือ ต่อไปภาพนี้จะกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์

แต่ดังที่ได้เกริ่นไปแต่ต้นแล้วว่า เผิงเจินไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขุดค้นสุสานหมิงโดยตรง หากเขาจะเกี่ยวข้องก็เกี่ยวข้องในฐานะเลขาธิการพรรคประจำปักกิ่งเท่านั้น ที่ต้องรับรู้หรือมีส่วนในบางขั้นตอนของการอนุมัติให้มีการขุดค้นสุสานหมิง ดังนั้น พิธีขุดอ่างเก็บน้ำครั้งนั้นจึงไม่มีอะไรมากไปกว่ากิจกรรมหนึ่งของผู้นำ ที่ให้บังเอิญว่าอ่างเก็บน้ำใช้สุสานหมิงมาเป็นชื่อเท่านั้น

หลังจากนั้นอ่างเก็บน้ำสุสานหมิงก็แล้วเสร็จ เรื่องราวตอนนี้หากไม่นับชะตากรรมของจ้าวฉีชางแล้ว ทั้งสุสานและอ่างเก็บน้ำก็ไม่มีประเด็นอะไรให้ต้องคิด ทุกอย่างดูราบรื่นในแบบวันชื่นคืนสุข โดยมีภาพที่เผิงเจินถ่ายคู่กับเหมาเจ๋อตงเป็นสักขีพยาน

แต่กับอีกเหตุการณ์หนึ่งแล้วกลับไม่ราบรื่นดังเหตุการณ์แรก เหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับสุสานโดยตรง กล่าวคือ หลังจากจ้าวฉีชางหายไปใช้แรงงานในช่วงก่อนการเปิดพิพิธภัณฑ์สุสานหมิงไม่กี่วันนั้น ปรากฏว่า การเก็บงานภายในตัวสุสานยังไม่เรียบร้อย เพราะการแสดงนิทรรศการสุสานหมิงภายในพระราชวังต้องห้าม กับการเปิดสุสานหมิงให้ผู้คนได้เข้าชมจะต้องแล้วเสร็จพร้อมกัน

งานหนึ่งที่เก็บไม่เรียบร้อยก็คือ โลงพระศพของจักรพรรดิว่านลี่กับมเหสีอีกสองพระองค์ ที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าจะจัดการอย่างไรดี เพราะจะนำมาตั้งแสดงในขณะที่ยังศึกษาตัวโลงไม่แล้วเสร็จนั้นไม่ใช่วิธีทางโบราณคดีที่ดี

ที่แน่ๆ คือ ตัวโลงทั้งสามได้ถูกนำออกจากที่ตั้งเดิมแล้ว จากนั้นก็ให้ช่างมาทำโลงจำลองขึ้นมาใหม่โดยให้ตั้งอยู่ในที่เดิม

ในขณะที่ช่างทำโลงจำลองถูกเร่งรัดให้เสร็จก่อนวันงานจะมาถึงนั้น คนงานอีกส่วนหนึ่งก็เฝ้ารอคำสั่งว่าจะให้จัดการกับโลงจริงอย่างไร เพราะถึงอย่างไรโลงทั้งสามจะต้องขนออกจากสุสานก่อนวันงานจะมาถึงเช่นกัน จะทิ้งเอาไว้ไม่เป็นที่เป็นทางในสุสานไม่ได้เป็นอันขาด

จากเหตุนี้ งานสร้างโลงจำลองจึงไม่สู้จะกดดันเท่างานจัดการโลงพระศพองค์จริง

และแล้วคำสั่งจากหัวหน้าฝ่ายบริหารในสุสานก็มีว่า ให้คนงานขนโลงทั้งสามนั้นไปทิ้ง ทางการที่เกี่ยวข้องไม่ต้องการเก็บเอาไว้ คำสั่งนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับนักโบราณคดีอย่างแน่นอน พวกเขาไม่ยอมให้ทิ้ง และต้องการให้ทางการเก็บไว้ศึกษาในฐานะที่เป็นโลงที่ทำจากไม้หนานมู่ที่มีค่า

ไม่เพียงนักโบราณคดีเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย แม้แต่คนงานบางคนในสุสานก็คัดค้านเช่นกัน พวกเขาแม้การศึกษาไม่สูงก็จริง แต่จากห้วง 2 ปีที่ขลุกอยู่กับงานในสุสานได้ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ถึงคุณค่าทางโบราณคดีมากมาย โดยมีเซี่ยไน่และจ้าวฉีชางเป็นผู้ให้การศึกษาที่สำคัญ

แต่ผลปรากฏว่า ฝ่ายที่คัดค้านต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ โดยตอนหนึ่งของการถกเถียงกันนั้น ฝ่ายบริหารได้พูดประชดว่า ถ้าไม่อยากให้ทิ้งโลงไปก็ให้เก็บ “ไว้ใช้” เองก็แล้วกัน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การที่ฝ่ายคัดค้านทานแรงของฝ่ายบริหารไม่ได้ไม่ใช่เพราะเหตุผลไม่ดี แต่เพราะระบบการปกครองที่เป็นอยู่นี้ฝ่ายบริหารจะเสียงดังกว่าฝ่ายปฏิบัติ

จากเหตุดังกล่าว โลงพระศพทั้งสามองค์จึงถูกขนออกจากสุสานเพื่อนำไปทิ้ง

ตอนที่โลงถูกขนขึ้นมานอกสุสานแล้วนั้น คนงานที่รับผิดชอบหาที่ทิ้งไม่ได้และต้องให้หัวหน้างานตัดสินใจ ส่วนหัวหน้างานก็จนปัญญาโดยให้คนงานตัดสินใจเอาเอง ในที่สุดคนงานทั้งหมดก็ตัดสินใจแบกโลงทั้งสามโยนทิ้งจากด้านหลังของเนินสุสานลงไปยังด้านล่าง โลงพระศพทั้งสามองค์จึงถูกปฏิบัติดัง “ของเก่า” ที่ไร้ราคาค่างวด

และเมื่อเสร็จภารกิจแล้ว ทุกคนก็แยกย้ายกันไปทำอย่างอื่นต่อไป ไม่มีใครใส่ใจกับโลงพระศพทั้งสามองค์นั้นอีกเลย

แต่ใครเลยจะรู้ว่า ด้านล่างเนินสุสานที่โลงถูกทิ้งลงไปนั้น เป็นทางผ่านของชาวนาที่สัญจรไปมาในชีวิตประจำวัน ครั้นอยู่มาวันหนึ่งทางที่ตนสัญจรเกิดมีวัตถุประหลาดถูกทิ้งเอาไว้เช่นนี้ ย่อมหนีไม่พ้นสายตาของชาวนาเป็นธรรมดา ชาวนาหลายคนที่เดินผ่านไปมาต่างก็เห็นโลงพระศพนี้ แต่ไม่มีใครสนใจที่จะทำอะไร

จนกระทั่งหัวหน้าครอบครัวชาวนาครอบครัวหนึ่งเดินผ่านมาเห็นเข้าก็เกิดสนใจขึ้นมา เขาเห็นว่าเนื้อไม้หลายส่วนของโลงยังมีสภาพดีอยู่น่าที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ เขาจึงค่อยๆ ขนกองโลงดังกล่าวกลับบ้านของตน

เพื่อนชาวนาที่รู้เห็นต่างก็ทักท้วงเขาว่า นี่เป็นโลงศพของมนุษย์ การขนเข้าบ้านจะทำให้เกิดอัปมงคลขึ้นได้ พร้อมแนะนำให้เขานำกลับไปทิ้งในที่เดิม แต่เขาไม่ฟังคำทักท้วงนั้น หลังจากนั้นไม่นานเขาก็นำโลงทั้งสามมาแยกเอาเนื้อไม้ที่ดีออกจากที่ไม่ดี ความคิดและความตั้งใจของเขาในตอนนั้นมีมาก่อนอยู่แล้วว่าจะนำไม้จากโลงนี้มาทำอะไร

จากนั้นอีกหลายวัน โลงพระศพทั้งสามองค์ในบ้านชาวนาจนครอบครัวหนึ่งก็หายไป สิ่งที่มาแทนที่คือ หีบไม้ขนาดใหญ่ ชาวนาผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวมองดูหีบไม้ที่แปรรูปจากโลงศพด้วยความชื่นชม ด้วยมันเป็นไม้หนานมู่เนื้อดีที่มีค่าและหายาก

สำหรับชาวนาจนๆ ครอบครัวหนึ่งจึงย่อมไม่มีสิ่งใดน่ายินดีไปกว่านี้อีกแล้ว