สมรภูมิ เลือกตั้ง หินลองทอง ประชาธิปไตย ต่อ ทหารแห่ง คสช.

ทันทีที่เข้าสู่กระบวนการของ “การเลือกตั้ง” ตามโรดแม็ปอัน คสช. กำหนดไว้ว่าภายในประมาณปลายปี 2560 สังคมไทยจะต้องเผชิญกับลักษณะ “ย้อนแย้ง” อย่างแหลมคมยิ่งในทางการเมือง

เป็นความย้อนแย้งจากประเด็นของ “รัฐประหาร”

ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ล้วนแต่จะถูกกวาดเข้ามาสู่การถกเถียง

เห็นด้วย โต้แย้ง

พรรคเพื่อไทยในฐานะที่ตกเป็น “เหยื่อ” ของการรัฐประหาร ในห้วงที่ชื่อพรรคไทยรักไทย หรือแม้แต่ได้รับผลสะเทือนและต่อเนื่องในห้วงที่ใช้ชื่อว่าพรรคพลังประชาชน ย่อมต้องนำเอาประเด็นว่าด้วยการรัฐประหารขึ้นมาเป็นหัวข้อใหญ่

1 เพื่อวิพากษ์ โจมตี ให้เป็นผลเสีย

ขณะเดียวกัน 1 เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองตั้งแต่ยังเป็นพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และกระทั่งพรรคเพื่อไทย

คำถามก็คือ พรรคการเมืองอื่นจะมีท่าทีอย่างไร

พรรคการเมืองอื่นในที่นี้หมายรวมตั้งแต่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล เป็นต้น และรวมถึงพรรคการเมืองที่จดทะเบียนขึ้นใหม่

คำถามก็คือ “คสช.” จะกำหนดท่าทีของตนอย่างไร


รัฐประหาร 2 หน

จาก 2549-2557

ต้องยอมรับว่า รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีความสัมพันธ์และแสดงความต่อเนื่องมาจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2559

โดยมีคำว่า “เสียของ” เป็น “ตัวเชื่อม”

บทบาทก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บทบาทก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็น กปปส.

2 กลุ่มนี้เหมือนกับไม่สัมพันธ์แต่ก็มีความต่อเนื่อง

บทบาทของ กปปส. เกิดขึ้นเพราะประเมินว่า รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 บรรลุเป้าหมายระดับ 1 แต่ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 จึงมีการเน้นในเรื่อง “เสียของ”

คำว่า “เสียของ” นี้เท่ากับสรุป รวบยอด ในความล้มเหลวของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 อย่างเด่นชัด

ล้มเหลวและเสียของเพราะยังมิได้ชัยชนะต่อ “ปรปักษ์” อย่างเป็นจริง

เลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 ชัยชนะยังเป็นของพรรคพลังประชาชน เลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 ชัยชนะยังเป็นของพรรคเพื่อไทย

จึงจำเป็นต้องสร้าง “สถานการณ์” ในแบบที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคยทำ

และเมื่อผ่านสถานการณ์ “ชัตดาวน์” กรุงเทพมหานครมาถึงจังหวะและเวลาที่เหมาะสมก็เกิดรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557

เป็นรัฐประหารตามเป้าหมาย “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”


เส้นทาง รัฐประหาร

เส้นทาง ทำลายล้าง

รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป้าหมายใหญ่คือการทำลายล้าง พรรคไทยรักไทย และโดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ”

มี นายทักษิณ ชินวัตร เป็น “ปฏิมา” สำคัญ

มาถึงรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีเป้าหมายใหญ่คือการทำลายล้าง พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะการกวาดล้างต่อสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” อย่างต่อเนื่อง

สะท้อนให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ”

คราวนี้ไม่เพียงแต่ขยายแผลเดิมของ นายทักษิณ ชินวัตร หากแต่ยังพุ่งเป้าเข้าใส่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เท่ากับเป็นการฟาดกระหน่ำเข้าใส่ “หัวแถว”

แม้พรรคเพื่อไทยไม่ประสบชะตากรรมยุบพรรคเหมือนที่พรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนได้รับ แต่สถานะของพรรคเพื่อไทยก็แทบไม่เป็นกระบวน

หากเมื่อใดที่เข้าสู่กระบวนการของ “การเลือกตั้ง” จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะต้องหยิบเอาประเด็นว่าด้วยการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ขึ้นมาสู่เวทีสาธารณะ

ตรงนี้เองที่ “คสช.” จะต้องตกเป็น “เป้าหมาย” ตรงนี้เองที่บรรดา “พันธมิตร” ในแนวร่วมของ “คสช.” จะต้องตกเป็น “เป้าหมาย” ในการขุดคุ้ย โจมตี

จำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจ จำเป็นต้องมีการทำความกระจ่าง

บรรยากาศทางการเมืองในห้วงแห่ง “การเลือกตั้ง” ย่อมมีเสรีภาพในการเคลื่อนไหวและแสดงออกในระดับที่แน่นอนหนึ่ง

ฝุ่นอันเป็นผลสะเทือนจาก “รัฐประหาร” ย่อมคลุ้งตระหลบ

คำถามอยู่ที่ว่า “คสช.” จะกำหนดท่าทีของตนอย่างไร ดำรงอยู่ในสถานะ “คนกลาง” ดำรงอยู่ในสถานะ “กรรมการ”

หรือว่าจะกระโดดขึ้น “เวที” แปรตนเองเป็น “คู่” แห่งความขัดแย้งไปด้วย


ปลายปี 2560

สงครามอีกรอบ

ไม่ว่า “คสช.” จะปรารถนา ไม่ว่า “คสช.” จะไม่ปรารถนา แต่ตามกำหนดแห่งโรดแม็ปที่ประกาศย้ำแล้วย้ำอีก การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นไม่เกินปลายปี 2560

นั่นหมายถึง การเปิด “เวที” อันกว้างขวางยิ่งในทางการเมือง

เหมือนกับบรรยากาศที่เคยมีในการเลือกตั้งแต่กาลอดีต ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

บรรยากาศ “การเลือกตั้ง” ย่อมต่างไปจาก “ประชามติ”

การเลือกตั้งจึงเท่ากับเป็นสนามในการทดสอบความอดทน ความอดกลั้นในทางการเมืองสำหรับ “คสช.” ครั้งสำคัญ