วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์ / They Shall Not Grow Old : ความจริงใส่สี

วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์

They Shall Not Grow Old

: ความจริงใส่สี

 

They Shall Not Grow Old เป็นหนังเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่นำเอาฟุตเทจเก่าของพิพิธภัณฑ์สงครามจักรพรรดิ (Imperial War Museum) มาบูรณะหรือใส่สี (colorization) และออกฉายเดือนพฤศจิกายนปีนี้ เพื่อร่วม Armistice Day หรืองานรำลึก 100 ปีของการสิ้นสุดของสงคราม

ที่สำคัญ ด้วยฝีมือของปีเตอร์ แจ๊กสัน ผู้กำกับฯ ชาวนิวซีแลนด์ เจ้าของรางวัลออสการ์จากหนังมหากาพย์ Lord of the Rings เขาใช้หนังขาว-ดำซึ่งรวมแล้วยาวกว่าพันชั่วโมง และเวลากว่าสี่ปี

ทำให้อดีตกลับดูเหมือนหนังที่ถ่ายเมื่อวานนี้

 

แม้จะมีสมรภูมิหลักอยู่ในยุโรป แต่ระดมเอาหลายประเทศทั่วโลกมาร่วม จึงถูกเรียกว่านี่เป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 การรบทำให้คนตายกว่า 8 ล้าน บาดเจ็บกว่า 21 ล้าน

และถือกันว่าโหดเหี้ยมยิ่งกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2

ในบรรดาเทคโนโลยี ซึ่งหมายถึงอาวุธใหม่ๆ เช่น สนามเพลาะ รถถัง ปืนใหญ่ เรือดำน้ำ เครื่องบินปีกสองชั้น รวมทั้งควันพิษและปืนฉีดไฟ สิ่งหนึ่งที่ใหม่มากในสมัยนั้นคือหนังข่าวสงคราม

ขาว-ดำเคยเป็นตัวแทนของความจริง หนังข่าวเก่าๆ ที่เราเคยดู ไม่ว่าจะเพื่อแสดงความหฤโหดของการรบหรือไลฟ์สไตล์ของคนสมัยนั้นมีมาก และบอกอยู่เสมอว่า นี่เป็นความจริงดิบๆ ที่เกิดต่อหน้าต่อตา ตรงกันข้าม การใส่สีทำให้ดูเหมือนของปลอม

เคยมีข้อถกเถียงในวงการภาพยนตร์เรื่องนี้ และสรุปว่าการใส่สีในหนังสารคดีนั้นเป็นการลดทอนเป็นความประวัติศาสตร์ลงไป หนังสารคดีชั้นดีที่เป็นขาว-ดำอยู่แล้ว จึงไม่นิยมใส่สี

แต่เคยทำกันมาหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะที่ออกมาในวาระรอบร้อยปีของการประกาศสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี ค.ศ.2014 ฝรั่งเศสทำเรื่อง Apocalypse : World War I ส่วนของอังกฤษคือ Doomsday : World War I, Long Shadow และก่อนหน้านั้นคือ World War I in Color

ทั้งหมดล้วนเพื่อเอาใจผู้ดูรุ่นใหม่ๆ เพราะสีแปลว่าร่วมสมัย และเป็นวิธีอ้อมๆ ที่จะทำให้ผู้ดูรู้สึกใกล้ชิดกับเหตุการณ์นั้นมากขึ้น

พูดอีกอย่าง สีบอกว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นกับคนอย่างเราๆ ได้

 

จากผลงานที่ผ่านมา ปีเตอร์ แจ๊กสัน พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเก่งทั้งด้านการเล่าเรื่องและเทคนิค และทำได้ทั้งสร้างความน่าเชื่อถือและดราม่า คราวนี้เขามองว่าต้องยึดความจริงของฟุตเทจเอาไว้ แต่ในขณะเดียวกัน ต้องใส่อารมณ์หรือดราม่าลงไปด้วย

They Shall Not Grow Old จึงโฟกัสที่ทหารแต่ละคน เช่น ขณะนั่งอ่านหนังสือพิมพ์หรือสูบไปป์ โดยไม่สนใจฝนหรือโคลนที่ท่วมตัว บางทีก็เป็นการต้มน้ำเพื่อชงชาด้วยกระบอกปืนกล (ซึ่งร้อนมาก)

ในฉากหนึ่ง นายทหารต้องตัดสินใจว่า จะเล่นรักบี้กับเยอรมันยามสงครามหรือต่อสู้กันดี?

อีกฉากหนึ่งเป็นการ์ตูนที่วาดโดยทหารในสนามเพลาะ บอกเราว่าคนเหล่านี้กำลังต่อสู้กับความยากลำบากด้วยอารมณ์ขัน

แจ๊กสันสนใจฉากรบใน Lord of the Rings และ Hobbit แต่ไม่เท่าในเรื่องนี้

เขามองเห็นใบหน้าของทหารแต่ละคนที่เข้ารบ ซึ่งล้วนแสดงความไร้เดียงสา (เพื่อจะได้มีสิทธิไปรบ บางคนต้องโกงอายุ)

จากใบหน้าของทหารแต่ละคนซึ่งมัวๆ หมองๆ เขา “สร้าง” เค้าโครงขึ้นมาใหม่  ต่อจากนั้นจึงวาดเป็นใบหน้าหรือท่าทางแบบอื่นอีกมาก และถ้าเราจำกันได้ นอกจากหนังเก่าจะประกอบด้วยภาพนิ่งกว่าพันแล้ว แต่ละภาพยังมีทหารหลายสิบ การวาดจึงต้องใช้เทคโนโลยีดิจิตอลมาช่วย

ในสมรภูมิ รถถังซึ่งเป็นของใหม่อาจจะเป็นตัวนำการบุก แต่ไม่ได้ช่วยมาก ทหารซึ่งวิ่งตามรถถังไปและข้ามแนวสนามเพลาะและลวดหนามได้ จะถูกปืนกลของฝ่ายตรงข้ามยิงล้มระเนระนาด การใส่สีทำให้ฉากเหล่านี้มีอารมณ์ นอกจากนั้น การใส่เสียงนกหวีดและลูกระเบิด แถมด้วยเสียงหนูและหมัดในแนวหน้าได้เพิ่มความน่ากลัวมากขึ้น

สีเสื้อผ้าของชาวบ้านและทหารสองฝ่ายแตกต่างกันชัดเจน เบื้องหลังการถ่ายทำจะแสดงให้เห็นว่า ผู้สร้างหนังศึกษาเบื้องหลังของสงครามอย่างจริงจัง และทีมผู้สร้างหนังจะมีเสื้อผ้าของทุกฝ่ายไว้เทียบสี และมีอาวุธสมัยนั้นไว้เทียบเสียง ฯลฯ

ที่ซับซ้อนคือการเคลื่อนไหวหรือ pace ของหนัง ฟิล์มเก่าถ่ายด้วยความเร็วราว 10-18 เฟรมต่อวินาที เมื่อฉายแบบตอนนี้ (คือ 24 เฟรมต่อวินาที) ภาพจึงกระตุก แจ๊กสันบอกว่า ในสนามรบ ช่างภาพต้องวิ่งตามกองทหาร (และหลบกระสุนไปด้วย) ขณะที่ต้องใช้มือหมุนฟิล์ม ความเร็วของภาพจึงไม่สม่ำเสมอ

เขาจึงปรับให้ภาพกลับมามีความเร็วเหมือนหนังปัจจุบันมากที่สุด

 

หนังของเขาอาจจะเป็นศิลปะหรือมีอารมณ์โหยหาอดีต (nostalgia) อีกแบบ แต่ไม่ได้พูดถึงความอีหลักอีเหลื่อในการรำลึกถึงสงครามนี้ เช่น ใน Long Shadow (2013) เดวิด เรย์โนลด์ส บอกว่า เมื่อแรกบอกว่าทำเพื่อยุติสงครามทั้งหลาย (The war to end all wars.) แต่สุดท้ายทำไม่สำเร็จสักอย่าง แถมยังเรียกร้องให้คนสังเวยชีวิตเพื่ออะไรไม่รู้ สำหรับตอนนี้ ถูกมองว่าเป็นสาเหตุของความรุนแรงที่ตามมา หรือเป็นสงครามที่ “มหาอำนาจยุโรปเดินละเมอเข้าไป”

อีกทั้งไม่รอบด้าน เช่น ไม่มีทัศนะของทหารจากอาณานิคมทั่วโลก และฝ่ายตรงข้ามของอังกฤษ เมื่อปีที่แล้ว ปังกัช มิสชรา (Age of Anger : A History of the Present, 2017) เขียนบทความใน The Guardian ชื่อ How colonial violence came home: the ugly truth of the first world war เขาบอกว่าสงครามนี้ระดมคนในอาณานิคมมาก เช่น อังกฤษใช้คนจากอินเดียกว่าล้าน ฝรั่งเศสใช้คนจากแอฟริกาและอินโดจีนกว่าห้าแสน และสหรัฐใช้คนดำเกือบสี่แสน

และสรุปว่า ในปัจจุบัน เมื่อความระแวงคนต่างชาติและการกดขี่ทางชาติพันธุ์กลับมาอยู่ในการเมือง สาเหตุที่ซับซ้อนของสงครามยังไม่ถูกพูดถึง อย่างน้อยก็ไม่ถูกจดจำในวัน Remembrance Day

 

อย่างไรก็ตาม แจ๊กสันทำได้ดี แม้ถ่ายหนังดราม่าขึ้นมาใหม่เลยทั้งเรื่องจะง่ายกว่า แต่เขาไม่เลือกหนทางนั้น หันมาทำงานกับฟุตเทจเก่าและใช้เทคโนโลยีดิจิตอล และทำให้ภาพที่เคยดูเหมือนเก่าแก่ห่างไกลตัวเราเสียเหลือเกินเหล่านี้กลับดูมีชีวิต เป็นปัจจุบัน และใกล้ชิด

แจ๊กสันต้องการเสนอความจริงในแง่อื่นมากขึ้น เขาบอกว่าโครงการนี้ทำเพื่อ “คืนความเป็นมนุษย์ให้แก่ผู้ที่ผ่านสงครามครั้งนั้น”

คนในหนังซึ่งอาจจะแก่หรือเสียชีวิตไปแล้ว กลับมีความน่าสนใจขึ้นมา

และนั่นเป็นหัวใจของการใส่สีในหนังของเขา