จรัญ พงษ์จีน : ลับลวงเร้น “พรรคพลังประชารัฐ” ในห้วงฝนกระหน่ำ

จรัญ พงษ์จีน

“โรดแม็ปเลือกตั้ง” จากที่เคยเป็น “อจินไตย” คิดไม่ได้ มองไม่เห็นสักอย่าง กลับมาใกล้ความจริงมากขึ้น ตาม “ไทม์ไลน์” หลังเส้นตายวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่นักการเมือง “ต้องสังกัดพรรค” เพื่อเข้ากรอบครบ 90 วันก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง

ในลำดับถัดไป กรณีที่ไม่ชนปังตอใดๆ ภายในวันที่ 5 ธันวาคม ทาง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” จะประกาศเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ 350 เขต วันที่ 7 ธันวาคม “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองประชุมร่วม เพื่อประกาศปลดล็อก จากนั้น “กฎหมายลูก” ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้เต็มสูบ

ก้าวต่อไป จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง และวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เว้นวรรคให้เฉลิมฉลองปีใหม่กันพองามสักระยะ “กกต.” จะเปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ หลังจากนั้นจะเปิดพื้นที่ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.หาเสียงกันตามกรอบเวลา 45 วันศึกเลือกตั้ง จะสะเด็ดน้ำในวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562

“ประชาธิปไตย” จะได้เบ่งบานซะทีอีกครั้ง

แม้จะไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบเสียเลยทีเดียว เพราะ “ประชาชน” เลือกผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตนใน “รัฐสภา” โดยการเลือกตั้งจะคัดเอาผู้ที่มีคะแนนเสียงเหนือกว่าเป็นมาตรฐาน จำนวน 350 คน กับบัญชีรายชื่อ 150 คน ก็จริงอยู่

แต่ยังติดติ่ง ส่วนหนึ่งคือวุฒิสมาชิกยังเข้ามาจากกระบวนการ “ลากตั้ง” ตามรัฐธรรมนูญในรูปแบบผสมผสานอีก 250 คน

“ศึกเลือกตั้ง” แม้จะอ้อมกำแพง แต่ยังดีกว่าโปรแกรมเจอโรคเลื่อนซ้ำซาก เพราะกาลเวลาผ่านมาเนิ่นนาน จวนจะครบ 8 ปีบริบูรณ์เข้าให้แล้วที่ไม่ได้เลือกตั้ง หากนับถอยหลังครั้งท้ายเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2554 รูปพรรณสัณฐานประชาธิปไตยเป็นยังไง คนไทยเกือบจะไม่รู้จักกันอยู่แล้ว ว่ามั้ย

“พรรค” ที่ถูกโฟกัสมากที่สุดในการเลือกตั้งคาบนี้ คงไม่มีพรรคไหนเกินไปกว่า “พลังประชารัฐ” (พปชร.) ไม่เพียงแต่มีชื่อ 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล “บิ๊กตู่” เป็นแกนนำ หากแต่ยังมีข่าวว่า “บุคคล” ที่พรรคการเมืองนี้จะเสนอชื่อขึ้นชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เลยได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลาม ดังที่เห็นๆ

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว เมื่อรู้กันว่า พระเอกของเราชื่อ “บิ๊กตู่” จะลงชิงชัยทุกอย่างเลย “โดน” ทำให้ถนนการเมืองทุกสายหลั่งไหลไปสมทบ ต่อแถวยาวเป็นหางว่าวจากทุกพรรค

สร้างความเคืองแค้นให้กับพรรคอื่นๆ ไม่เฉพาะ “เพื่อไทย” ค่ายเดียว ยังรวมถึง “ประชาธิปัตย์” ซึ่งลูกแถวพากันกระโดดค้ำถ่อย้ายไปซบค่ายใหม่กันเป็นว่าเล่น ถึงกับมีการอุปมาอุปไมยว่า “พรรคพลังประชารัฐ” เนี่ยมิต่างอะไรกับ “เครื่องดูดฝุ่น”

มีพลังไฮเพาเวอร์ ติดเทอร์โบ มีแรงโน้มถ่วงที่ทรงพลัง “ดูด” ไม่บันยะบันยังทุกพรรค

 

มีการสำรวจแถวบรรดาลูกพรรคการเมืองต่างๆ ที่ถูก “พปชร.” ดูดเข้าสังกัดยอดทะลุถึง 150 คน “พรรคเพื่อไทย” เลือดไหลมากสุดเกือบ 40 คน มีบิ๊กเนมยกทัพไปซบกันคึกคัก ส่วนหนึ่งไปโดยสมัครใจ อีกส่วนหนึ่งโดนทั้งขู่ ทั้งปลอบ เลยจำใจต้องไป

หัวไม่วางหางไม่เว้น ขนาด “วราเทพ รัตนากร” ที่เคยเป็นรัฐมนตรีมาตลอดกาล ในสังกัดเก่ายังต้องไปกันยกจังหวัด หนีบ “ไผ่ ลิกค์” ลูก “เรืองวิทย์ ลิกค์” ไปด้วย พร้อมกับ “พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์-อนันต์ ผลอำนวย”

เพชรบูรณ์ “สันติ พร้อมพัฒน์” ยกพวงไปทั้ง “วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์-เอี่ยม ทองใจสด-จักรัตน์ พั้วช่วย-สุรศักดิ์ อนรรฆพันธุ์”

ลำปาง ยืนยงคงที่มาตั้งแต่สมัยไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย แต่คาบนี้รุ่นลูก “จรัสฤทธิ์-อิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์” แห่นาคไปสังกัด “พปชร.” อย่างเหลือเชื่อ

สรุป “ค่ายวังน้ำเย็น” แพแตกแหกด่านมะขามเตี้ยย้ายค่ายกันไม่เหลือหลอ

“พรรคประชาธิปัตย์” ก็หนักหน่วงมิใช่น้อยๆ ถูก “ดูด” ไปราว 20 ชีวิต อาทิ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์-สกลธี ภัททิยกุล-อัฏฐพล-ธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ”

จันทบรี นำโดย “ธวัชชัย อนามพงษ์-แสนคม อนามพงษ์” ฉะเชิงเทรา “พล.ต.ท.พิทักษ์ จารุสมบัติ-บุญเลิศ ไพรินทร์” ชลบุรี มือดี “สรวุฒิ เนื่องจำนงค์” ไปกันตั้งแต่ไก่โห่

ย้อนกลับไป “พรรคเพื่อไทย” สาเหตุที่ทัพภาคเหนือแตกไม่มีชิ้นดี มีข่าวว่าสาเหตุหนึ่งมาจากข่าวลือ “บุญทรง เตริยาภิรมย์” ที่ถูกจำคุกคดีขายข้าวจีทูจี ถูกทิ้งขว้าง ไม่มีใครดูดำดูดี

มีข่าวว่า “บุญทรง” ถูก “รีดพิษ” จนต้องคายความลับบางประการ จึงเป็นห้องเครื่องสำคัญนำพาไปสู่ “ข้าวจีทูจีภาค 2” มัดตราสังใครบางคนติดร่างแห เมื่อแล้วเสร็จ “บุญทรง” จึงส่งซิกให้ลูกชาย “เดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์” ย้ายไปสังกัดพรรค พปชร. เหมือนกับจงใจคอนเฟิร์ม ว่าที่ร่ำลือกันอยู่ เป็นของจริง

นอกเหนือจากนั้น จะมีดาบสองตามซ้ำว่า มีมือดีดอดไปขูดความลับ ระดับ “ปกปิดมาก” จาก “เสี่ยเปี่ยง” เจ้าพ่อค้าข้าว ได้ข้อมูลที่เป็นเส้นทางทางการเงินอีกมากมาย เตรียมจะนำไปไขปมปริศนา ก่อนศึกเลือกตั้งใหญ่จะระเบิดขึ้นในต้นปีหน้า

ส่งผลให้นักการเมืองขาเล็ก ขาใหญ่ ทั้งน้ำดี และประเภท “หลังลาย” พากันแหกค่ายเพื่อไทยเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจาก “นิด้าโพล” สำรวจกระแสนิยม บุคคลที่ท่านคิดว่าเหมาะสมจะมาดำรงตำแหน่งผู้นำหลังเลือกตั้งมากที่สุด ปรากฏว่า “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นำ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่คาดการณ์กันว่าจะเป็นบุคคลเดียวที่ “พปชร.” เสนอชื่อเข้าชิงนายกฯ

อดีตนักการเมืองกลุ่มหนึ่งเกิดอาการลังเล ยิ่งกว่านั้นมีการนำผลข้างเคียงสมัย “พรรคสหประชาไทย” ยุค “จอมพลถนอม-จอมพลประภาส” หรือ “พรรคสามัคคีธรรม” สมัย “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” มาเป็นมาตรวัด

ปรากฏว่า แม้จะอยู่ในศูนย์อำนาจ แต่ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าทั้งสองพรรคที่เป็นเครือข่ายทหารพ่ายป่าราบให้ดูชมมาแล้ว

นักการเมืองที่ทำท่าจะแปรพักตร์ เลยถอดใจ ตีกรรเชียงกลับมาตีหมอบที่ต้นสังกัดเก่าคือเพื่อไทย กันหลายมุ้ง