ฉัตรสุมาลย์ : เจ้าหญิงพลาเลิศลักษณาวไล

ท่านผู้อ่านวัย 50 ขึ้น อาจจะจำได้ นี่เป็นนวนิยายที่ลงเป็นตอนๆ ในไทยใหม่วันจันทร์ในสมัยประมาณ พ.ศ.2495-2496 เขียนโดยวรมัย กบิลสิงห์ ก็มารดาของผู้เขียนนั่นแหละ

หลายคนเกิดไม่ทันนะ

ช่วงนั้น ไทยใหม่วันจันทร์ ดังมากก็เพราะผู้อ่านติดนวนิยายเรื่องนี้กันงอมแงม ผู้เขียนน่าจะอายุ 9 ขวบ เรียนอยู่ชั้น ป.3 โรงเรียนราชินีบน สมัยนั้น ยังมีนักเรียนผู้ชายเรียนด้วยถึง ป.4 ในชั้นของผู้เขียนก็มี อำนาจ มารุต และอีก 2 คน ชื่อเล่น ชื่อกบ เลยต้องเรียกว่า กบเล็ก กบใหญ่ กบใหญ่เป็นคนที่อ่านเจ้าหญิงพลาเลิศฯ แล้วเอามาแซวในชั้นเรียนค่ะ ก็เลยรู้ว่า แม้กระทั่งเด็กผู้ชายวัย 9 ขวบก็อ่านนวนิยายเรื่องนี้

นี่มันตั้ง 65 ปี (อย่างน้อย) ผ่านไปแล้ว ผู้เขียนมีปัจจัยอะไรกระตุ้นให้เอามาเขียนอีก

มีเรื่องค่ะ

ดร.รส จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านไปบรรพชาสามเณรีชั่วคราวเมื่อ 2 ปีก่อน ท่านทำหน้าที่ช่วยดูแลห้องสมุด เลยได้โอกาสเห็นต้นฉบับของนวนิยายเรื่องนี้ที่อยู่ในห้องสมุด อ่านแล้วเกิดอาการวางไม่ลง

หากท่านผู้อ่านได้อ่านก็อาจจะเกิดอาการเดียวกัน

นักศึกษาของท่านก็จับเอามาศึกษาทำวิจัย เรื่อง “การสร้างสรรค์บทและดนตรีละครร้องเรื่องเจ้าหญิงพลาเลิศลักษณาวไล” จุดประสงค์เพื่อศึกษาและนำเสนอคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศสภาพ”

ผู้ทำการวิจัยคือคุณสัณห์ไชญ์ เอื้อศิลป์ กำลังทำปริญญาเอก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จะมีการแสดงละครร้องวันที่ 3 ธันวาคมนี้ ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้เขียนก็เลยเกิดอาการงานเข้า จำเป็นต้องแจ้งข่าวให้ท่านผู้อ่านที่สนใจติดตามจะได้ไปร่วมด้วยได้

 

นวนิยายเรื่องนี้ มีจุดเด่นล้ำยุคค่ะ ต้องถือว่าเป็นนวนิยายไทยเรื่องแรกที่นำเสนอตัวละครที่สมัยนี้เขาเรียกว่า LGBT แล้วยังมีต่ออีก จำไม่ได้แล้ว คือ เลสเบี้ยน หญิงที่อยากเป็นชาย หรือที่บางทีเรียกหญิงรักหญิง ตอนนี้ดูจะมีมากขึ้น จนได้รับการยอมรับจากสังคมไปแล้ว เกย์ก็เป็นชายที่อยากเป็นหญิง การยอมรับของสังคมอาจจะน้อยกว่ากลุ่มเลสเบี้ยน B bisexual พวกนี้เป็นได้ทั้งสองเพศ และ T transgender คือข้ามเพศ อาจจะหมายถึงที่ทำศัลยกรรมแล้ว จากชายเป็นหญิง หรือจากหญิงเป็นชาย

นางเอกในเรื่องนี้คือ เจ้าหญิงพลาเลิศฯ โดยชื่อก็บอกว่าเธอต้องเป็นผู้หญิงเก่ง ใช่ค่ะ เก่งแบบชาย เก่งในทางการรบ ในรูปหน้าปกเดิมจะเห็นว่า เธอเป็นนักรบอยู่บนหลังม้า เจ้าชายอีกองค์หนึ่งที่แอบหลงรักเธอ คือเจ้าชายทศพล ขี่ม้าเคียงข้างกัน

เดิมเธอเป็นหญิงที่งดงาม มีความสามารถอย่างที่กุลสตรีพึงมี เย็บปักถักร้อย แกะสลัก ทำดอกไม้

ตรงนี้ ผู้เขียนคือ วรมัย กบิลสิงห์ เขียนได้อย่างดี เอาความรู้ของตัวเองมาสอดใส่ร้อยไว้ในเรื่อง เป็นคุณสมบัติของตัวเอก

ความรู้ในเรื่องเพชรนิลจินดา ที่เธอก็เป็นคนแรกอีกเหมือนกันที่เขียนตำราเพชรนิลจินดาเล่มแรกในไทย โดยลงในนิตยสารแม่บ้านการเรือน ต่อเนื่องกันเป็นปี

ความรู้เรื่องเพชรนิลจินดานี้ ผู้เขียนก็ได้เอามาประมวลให้เป็นความรู้ของตัวละครเอก เนื่องจากตัวเอกเป็นเจ้าหญิง การบรรยายการแต่งตัวของเจ้าหญิงจึงสมจริงตามความรู้เดิมของผู้เขียน

แม้ในผู้ชนะสิบทิศ บทสุดท้าย ยาขอบก็ขอเข้ามาพบวรมัย กบิลสิงห์ เพื่อขอความรู้สำหรับเขียนบทสุดท้ายของผู้ชนะสิบทิศ ตอนที่ครองราชย์ จำเป็นต้องอธิบายถึงรายละเอียดเครื่องทรงที่เป็นเครื่องประดับของกษัตริย์

 

ความสามารถของวรมัย กบิลสิงห์ เอง ดูเหมือนกับเป็นความสามารถที่ไม่ลงตัวกัน เพราะอีกส่วนหนึ่งท่านเป็นนักพละหญิงคนแรกในวงการ ท่านมีความสามารถเรื่องหมัด มวย ดาบ และยูญิตสู (สมัยนี้เรียกยูโด) ท่านประดาบฝรั่งได้สวยมาก ครูท่านชมว่าอย่างนั้น

ความสามารถเหล่านี้ ท่านก็เอามาใส่ให้ตัวเอกคือ เจ้าหญิงพลาเลิศฯ ด้วย

เจ้าหญิงพลาเลิศฯ ที่ตอนแรกเป็นหญิงเต็มตัว มีแฟนเป็นเจ้าชายที่เข้ามาดูแลเอาอกเอาใจทุกอย่าง ก็ดูจะแฮปปี้เอ็นดิ้งได้แล้วนะ

ปรากฏว่า ท่านไปต่างเมืองไปหลงรักเจ้าหญิงบุษบามินตรา เป็นแขก ความลับอยู่ที่พี่เลี้ยงสองคนที่เลี้ยงดูเจ้าหญิงมานั่นเอง เมื่อตอนที่เจ้าหญิงพลาเลิศฯ ที่ปลอมตัวเป็นชาย แล้วไปจีบสาวแขกนัยน์ตาคม คือเจ้าหญิงบุษบามินตรานั้น เมื่อเจ้าหญิงทำท่าจะเอาจริง ไม่ยอมกลับบ้านกลับเมือง

พี่เลี้ยงสองคนปรึกษากันด้วยความกลุ้มใจ แล้วอุทานว่า “หรือจะกลายแล้ว”

ทำให้เราเข้าใจว่า พี่เลี้ยงทั้งสองที่ดูแลเจ้าหญิงมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ต้องรู้ว่าเจ้าหญิงมีความพิเศษที่ต่างไปจากคนอื่น ที่อุทานว่า “หรือจะกลายแล้ว” แสดงว่า มีศักยภาพที่จะเป็นชายอยู่ แต่ในตอนแรกความเป็นหญิงนำมาโดยตลอด และความเป็นชาย และอวัยวะของความเป็นชายที่น่าจะมีมาตั้งแต่ต้น มาพัฒนาทีหลังความเป็นหญิง และมาสมบูรณ์ในตอนที่ไปหลงรักเจ้าหญิงบุษบามินตรานี่เอง

พอถึงตอนไปสู่ขอ ทางฝ่ายแขกเขาก็จะจับเจ้าหญิงพลาเลิศฯ ซึ่งปลอมตัวเป็นชายเข้าพิธีสุหนัต เจ้าหญิงพลาเลิศฯ ต้องปิดบังความลับของตน ก็ต้องไปโอ้โลมให้เจ้าชายทศพลที่หลงรักตนอยู่นั้น มาเข้าพิธีสุหนัตแทน

ตื่นเต้นเร้าใจ

เจ้าชายทศพลยอมทำตามคำขอของเจ้าหญิงพลาเลิศฯ ผู้ที่ตนหลงรักไหม

ยอมค่ะ

เขาทำอย่างไร อันนี้ต้องอ่านเองละค่ะ

เจ้าชายทศพลต้องยอมให้ขริบปลายอวัยวะเพศตามแบบมุสลิม เพื่อคนรักของตัวเองแท้ๆ

ส่วนเจ้าหญิงพลาเลิศฯ ที่ปลอมเป็นชาย ก็ชื่นชมสมปรารถนากับเจ้าหญิงบุษบามินตรา เรื่องที่พลิกผันเกินความคาดหมาย

เจ้าหญิงพลาเลิศฯ ไม่ได้ปลอมเป็นชาย แต่เป็นชายค่ะ ถ้าสมัยใหม่ก็ต้องบอกว่า เป็น bisexual เป็นได้ทั้งหญิงและชาย ไม่เข้าใจว่า bisexual เขาพูดถึงแค่ความรู้สึกที่เป็นได้ทั้งหญิงหรือชายเท่านั้นหรือเปล่า แต่เจ้าหญิงพลาเลิศฯ เป็นทั้งหญิงและชาย โดยสภาพร่างกายและจิตใจ

เอ๊ะ มันจะเป็นจริงตามหลักสรีรวิทยาได้ไหม

เคยถามท่าน ท่านว่าท่านเคยเห็น หรืออย่างน้อยที่สุดเคยรู้เรื่องคนที่มีอวัยวะทั้งสองเพศ

ทั้งนี้ อย่าเอาเป็นเรื่องคอขาดบาดตายนะคะ เรากำลังอ่านนวนิยายค่ะ และตอนนี้ นวนิยายเรื่องนี้ก็กลายเป็นเนื้อหาให้ศึกษา ถึงขั้นทำวิจัยระดับปริญญาเอก

น่าสนใจติดตาม

 

อย่าลืมไปฟังและชมละครร้องจากนวนิยายเรื่องนี้นะคะ วันที่ 3 ธันวาคม 2561 ไม่ทราบว่า บทความนี้จะได้พิมพ์ออกวางตลาดทันการไหม

เอ่อ ทีนี้ หันมาถามท่านธัมมนันทาว่า หากเจ้าหญิงพลาเลิศฯ มีตัวจริงแล้วมาขอบวชภิกษุณี จะบวชได้ไหม

น่าจะบวชไม่ได้ทั้งภิกษุและภิกษุณี คือถ้าจะบวชภิกษุ ก็ไม่ได้เพราะมีอาวุธที่จะเป็นอุปสรรคต่อภิกษุอื่น เช่นเดียวกัน บวชภิกษุณีก็ไม่ได้ เพราะมีอาวุธที่จะเป็นอุปสรรคต่อภิกษุณีอื่นเช่นกัน

ทำไมมันซับซ้อนเช่นนี้