จรัญ มะลูลีม : ภูมิทัศน์ของอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (จบ)

จรัญ มะลูลีม

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วยประเทศสิบประเทศ ซึ่งมีอาณาบริเวณจากอินเดียทางตะวันออกไปจนถึงจีนและโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็นเขตแดนของ “แผ่นดินใหญ่” (mainland) และหมู่เกาะ (Island)

ทั้งนี้ ส่วนที่เป็นแผ่นดินใหญ่ได้แก่ เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

จะพบชาวมุสลิมได้ในประเทศที่เป็นเขตแดนของแผ่นดินใหญ่ทั้งหมด แต่ชนกลุ่มน้อยมุสลิมที่มีความสำคัญจะอยู่ในประเทศไทย เมียนมาตะวันตก (อาระกัน) สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และชาวมุสลิมจามซึ่งอยู่ตอนกลางของเวียดนามและกัมพูชา มุสลิมในกัมพูชาแม้ว่าจะมีจำนวนน้อยแต่มีบทบาทสำคัญทางสังคมและการเมือง

ชาวมุสลิมราว 300 ล้านคนอาศัยอยู่ตามหมู่เกาะที่ขยายตัวมาจากภาคใต้ของไทยผ่านมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และทางใต้ของฟิลิปปินส์ เมียนมา ภาคเหนือของไทยและกัมพูชา

 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นมาตุภูมิของประชากรมุสลิมซึ่งรวมเป็นครึ่งหนึ่งของ ASEAN โดยมีอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลกและเป็นประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดอันดับสามต่อจากอินเดียและสหรัฐ รวมกับอีกสองประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่อย่างบรูไนและมาเลเซีย

ชาวมุสลิมในดินแดนเหล่านี้ได้เข้าไปเกี่ยวข้องทางการเมือง การพัฒนาและการมีปฏิสัมพันธ์กับมุสลิมที่อยู่ในส่วนอื่นๆ ของโลกอันเนื่องมาจากการขยายตัวของศาสนาอิสลามไปยังส่วนต่างๆ ของอินเดีย ทำให้ศาสนาอิสลามขยายตัวออกไปยังหมู่เกาะต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลาต่อมา อาจกล่าวได้ว่าการเดินเรือของชาวมุสลิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 12 ได้นำเอาอิสลามมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประชากรมุสลิมในหมู่เกาะจะพูดภาษามาเลย์ (บาฮาสามาเลย์) ในขณะที่ศาสนาอิสลามแผ่ขยายเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเส้นทางการค้าของชาวอาหรับที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เอเชียกลาง และอนุทวีปอินเดีย

หลังจากนั้นไม่นานการปฏิบัติตามแนวทางรหัสยนัยอิสลาม (Sufi) ก็ได้เริ่มต้นขยายตัวเข้าไปยังใจกลางของดินแดนต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

อิสลามได้ขยายตัวแบบเดียวกันในมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม การเข้ายึดครองโดยเจ้าอาณานิคมในอาณาบริเวณนี้ ได้หยุดยั้งการขยายตัวของอิสลามเข้าไปในส่วนที่เหลือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่รากฐานของอิสลามในอินโดนีเซียและมาเลเซียมีความเข้มแข็งพอ จึงสามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้การตกเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์และอังกฤษ

หมู่เกาะหรือทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะรวมทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไนและประเทศใหม่อย่างติมอร์ตะวันออกซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติของมาเลเซียและบรูไน แม้ว่าร้อยละ 85 ของประชากรอินโดนีเซียจะเป็นชาวมุสลิมและมีประชากรมุสลิมมากกว่าประเทศใดในโลกแต่อิสลามก็ไม่ได้เป็นศาสนาประจำชาติของอินโดนีเซีย

ชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยในสิงคโปร์และทางใต้ของฟิลิปปินส์ มีการยอมรับการผสมผสานที่มีอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาเลเซียและอินโดนีเซียมาเป็นศตวรรษหรือมากกว่านั้น ด้วยการมีสำนักคิดและขบวนการต่างๆ ซึ่งเริ่มต้นจากหลายช่วงเวลาที่ต่างกัน โดยจุดมุ่งหมายของรัฐคือการยอมรับการปฏิรูปและการเพิ่มพลังให้กับศาสนา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลทั้งหลายของนักสมัยนิยม (Modernist movements) ที่ปรากฏตัวอยู่ในตะวันออกกลางมาตั้งแต่ทศวรรษ 1900 และบทบัญญัติหลักๆ ซึ่งถูกนำมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยนักศึกษาท้องถิ่นและครูซึ่งได้รับการศึกษาในอียิปต์และซาอุดีอาระเบีย

ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้ถือสำนักคิดซุนนี แม้ว่านักวิชาการส่วนใหญ่จะให้ข้อสังเกตว่าอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือการผสมกลมกลืนกันซึ่งจะดูได้จากการประนีประนอมกับความเชื่อจารีตและประเพณีที่มีมาก่อน

ทั้งนี้ ก่อนที่ประชาชนส่วนใหญ่จะหันมารับนับถือศาสนาอิสลาม พวกเขาเคยเป็นชาวฮินดู ชาวพุทธ และเป็นคนถือผีมาก่อน

 

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบัน มาเลเซียและบรูไนเป็นดินแดนที่มีชาวมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยมีอินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดของโลก และมีชนกลุ่มน้อยจากศาสนาต่างๆ รวมอยู่ด้วย

อาณาจักรโบราณของจามปา (Kingdom of Champa) ซึ่งตั้งอยู่ในกัมพูชาและเวียดนาม ได้ยุติบทบาทลงหลังศตวรรษที่ 14 แต่ประชาชนชาวจามจำนวนมากได้หันมาเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามในช่วงเดียวกัน จากนั้นจึงได้รับการซึมซับเข้าสู่ราชวงศ์ต่างๆ ที่อยู่รายรอบพวกเขา

ชาวจามเป็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมในภูมิภาคนี้ แม้ว่าการปฏิบัติตัวของพวกเขาจะได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อและประเพณีพื้นถิ่นอยู่ด้วยก็ตาม

จากการเป็นชาวมุสลิมในหมู่เกาะที่มีอยู่มากที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียได้สถาปนาองค์การมุสลิมที่มีชื่อว่า นะฮ์ดะละตุล อุลามาอ์ (Nadhalatul Ulama) และมุฮัมมะดียะฮ์ (Muhammadiyah) ขึ้นมา โดยเชื่อมโยงกับศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัจจุบันมุฮัมมะดียะฮ์ มีสมาชิกมากกว่า 20 ล้านคน ถือกำเนิดในปี 1912 ตามหลักการความเป็นนักสมัยนิยม (Modernist) ในขณะเดียวกัน นะฮ์ดะละตุลอุลามาอ์ ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 1926 ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะถ่วงดุลการขึ้นมาของกลุ่มนักสมัยนิยม และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผู้ก่อตั้งนะฮ์ดะละตุลอุลามาอ์ก็ถูกมองว่าเป็นองค์การของนักจารีตนิยม (Traditionalism)

สมาชิกของนะฮ์ดะตุลอุลามาอ์มีมากกว่า 30 ล้านคน ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่มีการคาดการณ์กันโดยทั่วไป

 

ในฟิลิปปินส์ประชากรส่วนน้อยชาวมุสลิมส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในหมู่เกาะทางใต้ของมินดาเนาและหมู่เกาะซูลู

ความสัมพันธ์ระหว่างประชากรมุสลิมและคนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวคาทอลิกในส่วนที่เหลือของประเทศประสบความยากลำบากมาเป็นทศวรรษ แม้ว่าระยะเวลาแห่งความพยายามที่จะไกล่เกลี่ยและตกลงกันจะได้รับความสำเร็จอยู่เป็นช่วงๆ ก็ตาม

ปัจจุบันหมู่เกาะของฟิลิปปินส์ รวมทั้งเขตปกครองพิเศษของชาวมุสลิมมินดาเนา (Special Autononous Region of Muslim Mindanao) มีโครงสร้างของรัฐบาล ซึ่งมุ่งที่จะสนับสนุนสิทธิในท้องถิ่น แต่ขบวนการแยกดินแดนหลายกลุ่ม รวมทั้งขบวนการก่อการร้ายอย่าง อะบู ซัยยัฟ (กลุ่มผู้ถือดาบ) ยังมีความเข้มแข็งอยู่ รัฐบาลฟิลิปปินส์ให้ความสนใจในเรื่องข้อตกลงที่จะพัฒนาไปสู่การหยุดยิงในที่สุด

ในขณะที่ในมาเลเซียซึ่งอยู่ในคาบสมุทรมาเลย์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจะพบว่ามีความแตกต่างที่คล้ายคลึงกันระหว่างกลุ่มของนักสมัยนิยม (Kaum Muda) และกลุ่มจารีตนิยม (Kaum Tua) ความแตกต่างที่มาจากการแบ่งออกเป็นสองกลุ่มนี้สามารถนำไปสู่บทสรุปที่ว่ามีใครอยู่บ้างที่มีความสนใจในแนวทางของนักสมัยนิยมและใครที่มีความสนใจในแนวทางของนักจารีตนิยม

ปัจจุบันร้อยละ 90 ของชาวอินโดนีเซียเป็นชาวมุสลิมในขณะที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของชาวมาเลเซียเป็นชาวมุสลิม ในฟิลิปปินส์ ดินแดนที่เคยถูกเข้าครองโดยสเปนและสหรัฐประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนชาวฟิลิปปินส์ให้มารับนับถือศาสนาคริสต์ ฟิลิปปินส์มีชาวมุสลิมอยู่ร้อยละ 5

 

ในแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประชากรมุสลิมกลุ่มเล็กๆ อาศัยอยู่ใกล้กับเขตแดนของเมียนมาและบังกลาเทศ ประชาชนเหล่านี้จะรู้จักกับในชื่อโรฮิงญา ซึ่งประสบความยากลำบากจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเมียนมา จนต้องอพยพออกไปอยู่ประเทศอื่นๆ และหาที่ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในบังกลาเทศและส่วนอื่นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ครั้งหนึ่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับเมียนมาก็ปฏิเสธมิให้ชาวโรฮิงญาเข้ามาลี้ภัย ในขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซียจะให้ความสะดวกแก่ชาวโรฮิงญาในระดับหนึ่ง แม้ว่าในบางช่วงจะผลักใสชาวโรฮิงญาไม่ให้เข้ามาในประเทศก็ตาม

ในประเทศไทยชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย แต่ก็เป็นคนส่วนใหญ่ในภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งมีเขตแดนติดกับมาเลเซีย ทั้งนี้ จารีตของชาวมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้จะเป็นส่วนหนึ่งของจารีตที่มาจากโลกมุสลิม

ภาคใต้ตอนล่าง (Deep South) กลายมาเป็นดินแดนของประเทศไทยในปี 1909 อันเนื่องมาจากสนธิสัญญากรุงเทพหรือสนธิสัญญาสยาม-อังกฤษลงนามโดยราชอาณาจักรสยามกับรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษซึ่งในเวลานั้นปกครองดินแดนส่วนใหญ่ของคาบสมุทรมาเลย์

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมารัฐไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธได้พยายามผสมกลมกลืนชาวมุสลิมเข้ากับสังคมไทยตามมาตรฐานของอัตลักษณ์ไทยซึ่งประสบผลสำเร็จน้อย

ปัจจุบันความแตกต่างระหว่างชาวพุทธส่วนใหญ่กับชาวมาเลย์มุสลิมส่วนน้อยในบริเวณนี้ได้กลายมาเป็นความรุนแรง ในขณะที่กระบวนการสันติภาพที่มุ่งหมายให้ภาคใต้ตอนล่างของไทยมีความสงบอย่างยั่งยืนยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางการตีความของสองฝ่ายที่มักจะไปกันคนละทางตลอดระยะเวลาการเจรจาที่ผ่านมา

การเข้ามาของศาสนาอิสลามได้ใช้เวลาของคนหลายรุ่นในการที่จะทำให้คนรู้จักและต้องผ่านการปะทะสังสรรค์ที่หลากหลาย แม้ว่าในทุกวันนี้อิสลามจะเป็นศาสนาที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตาม