วิรัตน์ แสงทองคำ : ซีพี-ทีซีซี ว่าด้วย ยุทธศาสตร์ภูมิภาค(2)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ซีรี่ส์ว่าด้วยธุรกิจครอบครัวไทย กับยุทธศาสตร์ภูมิภาค มองผ่านเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กับเครือไทยเจริญ (ทีซีซี)

ซีพีกับยุทธศาสตร์ธุรกิจในจีนกับไทย มีความสัมพันธ์อันซับซ้อน ตามพัฒนาการแต่ละช่วง

ถือว่าเป็นบทเรียนของผู้บุกเบิกอย่างแท้จริง

 

สัมพันธ์พิเศษ 3 เส้า

“ในฐานะที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารเชสแมนฮัตตัน (Chase Manhattan Bank) ที่ปัจจุบันคือเจพีมอร์แกนเชส (J.P. Morgan Chase) ธนาคารเชสแมนฮัตตันได้แนะนำให้เรารู้จักกับบริษัทที่ทำธุรกิจไก่เนื้อของสหรัฐอเมริกา ต่อมาด้วยการแนะนำของธนาคารอีกเช่นกัน เครือก็ได้ร่วมมือทางธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับบริษัทคอนติเนนตัล เกรน (Continental Grain) ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจค้าวัตถุดิบรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา”

เรื่องเล่าโดย ธนินท์ เจียรวนนท์ (“บันทึกความทรงจำ” หรือ My Personal History ตีพิมพ์ในเครือข่ายสื่อยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่น Nikkei) สะท้อนความสัมพันธ์ 3 เส้า (สหรัฐ-จีน-ไทย) ที่น่าสนใจ

–เป็นความต่อเนื่องของธนาคารอเมริกันในการ “จับคู่” ให้กับซีพี ในยุค ธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นผู้นำเต็มตัวแล้ว หลังจากประสบความสำเร็จครั้งใหญ่กรณีบริษัท อาร์เบอร์ เอเคอร์ส (Arbor Acres) ปี 2513

–ประเมินจากเรื่องเล่า (บันทึกความทรงจำ) พันธมิตรธุรกิจซีพีกับ Continental Grain แห่งสหรัฐ ในแผนการบุกเบิกธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปี 2521 นั้นมีลักษณะเกื้อกูลกัน ดูเหมือนเป็นความร่วมมือ สร้างพลัง ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ จนได้รับการยอมรับจากรัฐบาลจีนในช่วงสำคัญเปิดต้อนรับนักลงทุนระดับโลก สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ก่อตั้งขึ้นโดยเฉพาะที่เซินเจิ้น

ทั้งนี้ ธนินท์ เจียรวนนท์ ไม่ได้กล่าวถึงเหตุผลอย่างชัดเจน ว่าทำไมต้องร่วมมือกับ Continental Grain ทำไมซีพีเข้าไปเพียงลำพังไม่ได้ การกลับเข้าสู่ประเทศจีนของซีพี ดูย้อนแย้งอยู่บ้างกับประวัติศาสตร์ยุคก่อตั้ง (รุ่นบิดา) ในช่วง 6 ทศวรรษก่อนหน้า อ้างกันว่าความสัมพันธ์กับประเทศจีนอย่างแน่นแฟ้น อย่างไรเสีย ถือว่าเป็นจุดตั้งต้นที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

“ในปี พ.ศ.2521 จีนเริ่มดำเนินนโยบายเปิดประเทศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ตัดสินใจทันทีในการร่วมลงทุนกับบริษัทคอนติเนนตัล เกรน ทำธุรกิจอาหารสัตว์ที่จีนแผ่นดินใหญ่ หลังจากที่ผมกลับจากจีนในช่วงทศวรรษ 2490 ผมก็ไม่ได้กลับไปจีนอีกเลย เพราะในช่วงที่การปฏิวัติวัฒนธรรมแผ่ขยายไปทั่วประเทศจีน (พ.ศ.2503-2513) ชาวจีนโพ้นทะเลไม่สามารถกลับไปแผ่นดินบ้านเกิดที่จากมาได้…

เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทคอนติเนนตัล เกรน ของสหรัฐอเมริกา และรัฐบาลจีนได้ร่วมลงทุนก่อตั้งบริษัท “เจียไต๋คอนติ” (Chia Tai Conti) ซึ่งชื่อบริษัทตั้งตามชื่อร้านเจียไต๋ กิจการเมล็ดพันธุ์ที่คุณพ่อตั้งขึ้นที่กรุงเทพฯ เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ใช้ชื่อ “เครือเจียไต๋” (Chia Tai Group) ที่ประเทศจีนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา…ใบอนุญาตประกอบกิจการให้เครือเจียไต๋ได้ใบอนุญาตฯ เลขที่ 0001 ซึ่งหมายถึง เครือเป็นบริษัทต่างชาติรายแรกที่เข้าไปลงทุนที่เซินเจิ้น ในปี พ.ศ.2524 โดยเป็นการลงทุนเปิดโรงงานอาหารสัตว์ที่เซินเจิ้น และในบริเวณใกล้เคียงกันก็ได้สร้างฟาร์มเลี้ยงหมูและไก่ และเริ่มทำธุรกิจครบวงจร (integration) ตามแบบที่เมืองไทย”

(อ้างแล้ว)

 

ทางด้าน Continental Grain ให้ข้อมูลเรื่องเดียวกันไว้ด้วยเช่นกัน ระบุว่ากิจการดังกล่าวในนาม Conti Chia Tai International (CCTI) เป็นกิจการร่วมทุนกับซีพีในสัดส่วน 50/50 ปัจจุบันดำเนินกิจการโรงงานอาหารสัตว์ 5 แห่ง รวมทั้งโรงงานผลิตยาสัตว์อีกหนึ่งแห่ง ทั้งหมดตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง (Guangdong) ทางตอนใต้ของประเทศจีน (อ้างจาก http://www.contiasia.com/ccti.htm)

ที่น่าสนใจ กิจการร่วมทุนกับซีพีในนาม CCTI เป็นเพียง 1 ใน 4 หน่วยธุรกิจหลักของ ContiAsia เครือข่ายธุรกิจในจีนของ Continental Grain บุกเบิกมากว่า 3 ทศวรรษเกี่ยวข้องกิจการปศุสัตว์ครบวงจร ตั้งแต่อาหารสัตว์ เพาะเลี้ยง ผลิตและแปรรูปอาหาร มีกิจการร่วมทุนถึงมากกว่า 30 บริษัท หน่วยธุรกิจอีก 3 หน่วย ได้แก่ Continental Capital (บริษัทลงทุนในกิจการใหม่ๆ ในจีน เกี่ยวกับการเกษตรและอาหาร) ContiFeed Group (กิจการเกี่ยวกับอาหารสัตว์ มีคลังสินค้ามากกว่า 60 แห่ง ทางตอนกลางและเหนือของจีน) และ Hong Wai Foods (นำเข้าสินค้าอาหารสำเร็จรูปจากสหรัฐและทั่วโลก เข้าสู่ประเทศจีน)

อีกด้าน ContiAsia เป็นเครือข่ายธุรกิจสหรัฐดำเนินธุรกิจอย่างเอาการเอางานในประเทศจีน อาจถือเป็นคู่แข่งรายหนึ่งของซีพีก็ได้ แต่เชื่อว่าภาพความเคลื่อนไหวของเครือข่ายธุรกิจระดับโลก เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจศึกษามากกว่า

ContiAsia เป็นเครือข่ายธุรกิจนอกสหรัฐที่มีความสำคัญมากๆ ของ Continental Grain Company หรือ ContiGroup Companies (CGC) ซึ่งก่อตั้งมากว่า 200 ปี ที่ประเทศเบลเยียม

ต่อมาได้มาอยู่ในเครือข่ายธุรกิจปศุสัตว์ครบวงจรรายใหญ่ของสหรัฐ ที่น่าสนใจเมื่อประมาณทศวรรษที่เพิ่งผ่านมา ContiGroup ปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจ ตั้งหน่วยธุรกิจลงทุน (investment firm) ให้ความสำคัญลงทุนในธุรกิจเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ (supply chain) การผลิตอาหารทั่วโลก


ไทยสู่จีน : จากธุรกิจหลักสู่ธุรกิจอื่น

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายธุรกิจหลัก ContiAsia ไม่อาจเทียบเคียงกับซีพีได้ ซีพีได้สร้างเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรครบวงจร เชื่อกันว่าเป็นช่วงเวลาขยายจินตนาการธุรกิจครอบวงจรซึ่งได้ทดลองและวางพื้นฐานในเมืองไทยจนประสบความสำเร็จ ให้กลายเป็นธุรกิจหลักสำคัญที่สุดในจีน ในช่วงเริ่มต้นเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ถือว่าเป็นยุคผูกขาดเลยก็ว่าได้

“สิ้นปี 2557 ซีพีก่อตั้งโรงงานอาหารสัตว์ในจีนมากกว่า 100 แห่ง ครอบคลุม 2 มณฑล ในพื้นที่ถึง 200,000 เฮกตาร์ เป็นผู้เช่าที่ดินรายใหญ่ที่สุดในจีน” (https://www.weekinchina.com)

นี่คือภาพกว้างๆ ในปัจจุบัน เกี่ยวกับธุรกิจหลักของซีพี

หากเทียบเคียงกับช่วงที่ว่า “ปี 2528 ก่อตั้งบริษัทดำเนินกิจการเกี่ยวกับสัตว์ปีก” (http://www.cpgroup.cn/) ถือว่ายุทธศาสตร์จีนของซีพีเป็นทั้งโอกาสใหม่ที่เปิดกว้าง และเป็นทางออกสำคัญ สัมพันธ์กับช่วงเวลานั้นในสังคมไทย กำลังเผชิญปัญหากับวงกว้างบางระดับ ว่าด้วยแนวทางธุรกิจครบวงจร

ในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 ซีพีต้องปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจในไทยครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการลดบทบาทธุรกิจใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งมายังไม่ถึงทศวรรษ ที่สำคัญคือธุรกิจค้าปลีกโมเดล Hypermarket โดยขายหุ้นส่วนใหญ่ออกไป ไม่ว่ากรณี Makro ให้กับหุ้นส่วนหลัก แห่งเนเธอร์แลนด์ และขายหุ้นส่วนใหญ่ของโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ให้กับ Tesco แห่งสหรัฐอาณาจักร ขณะที่เริ่มต้นธุรกิจดังกล่าวในจีน

“ปี 2540 สร้างเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกครั้งแรกในจีน ก่อตั้ง โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เซี่ยงไฮ้…และปี 2545 เปิดบริการ Super Brand Mall ซึ่งลงทุนถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ” (http://www.cpgroupglobal.com/)


โมเดลใหม่ : จากจีนสู่ไทย

ที่จีนแผ่นดินใหญ่ ไม่เพียงเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับธุรกิจหลักของซีพี ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาก่อนหน้านั้นถึง 6 ทศวรรษเท่านั้น หากยังเป็นที่ทดลองโมเดลธุรกิจใหม่ กับโอกาสใหม่ๆ

ใน “บันทึกความทรงจำ” (โดย ธนินท์ เจียรวนนท์) บทที่ 19 เรื่อง ธุรกิจมอเตอร์ไซค์ ความสำเร็จครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นจาก “การคิดต่าง” ได้กล่าวถึงการก่อตั้งบริษัท Shanghai Ek-Chor Motorcycle Corp ช่วงต้นทศวรรษ 2520 โดยร่วมทุนฝ่ายละครึ่งหนึ่งกับ Shanghai Automotive Industry Corp (SAIC) ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจรถยนต์ในประเทศจีน ผลิตรถมอเตอร์ไซค์แบรนด์ Xingfu

รวมทั้งกล่าวถึงการได้สิทธิ์ผลิตมอเตอร์ไซค์แบรนด์ฮอนด้า (Honda) แห่งญี่ปุ่น

“ในปี พ.ศ.2528 รถมอเตอร์ไซค์ฮอนด้าของบริษัท Shanghai Ek-Chor Motorcycle ก็ดังเป็นพลุแตก” ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าว (อ้างแล้ว) จนมาถึงบทสรุป

“ไม่มีใครคิดมาก่อนว่ามอเตอร์ไซค์ยี่ห้อซิ่งฝู ซึ่งไม่มีใครสนใจมาก่อนเมื่อปรับวิธีการขายแล้ว กลับกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เครือเจียไต๋จึงเข้าสู่ธุรกิจผลิตรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ในประเทศจีน ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของเครือ”

ต่อมาในปี 2533 ได้ก่อตั้ง Luoyang Northern Ek-Chor Motorcycle Corp ในมณฑลเหอหนาน (Henan) ผลิตรถมอเตอร์ไซค์แบรนด์ต้าหยาง (Dayang) เป็นการร่วมลงทุน ซีพีถือหุ้น 55% และ Louyang Northern Enterprise Group ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนถือหุ้นในส่วนที่เหลืออีก 45%

เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซีพีตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท Shanghai Ek-Chor Motorcycle Corp ออกไป (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Shanghai Xingfu Motorcycle) เหลือไว้เฉพาะ Luoyang Northern Ek-Chor Motorcycle Corp

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์กับ Shanghai Automotive Industry Corp (SAIC) ใน Shanghai Ek-Chor Motorcycle (เดิม) ยังคงเดินหน้าไปสู่แผนการใหม่ในประเทศไทยที่เริ่มต้นขึ้นไม่นานมานี้ “ในปี 2557 ซีพีร่วมมือกับ Shanghai Automotive Industry Corp (SAIC) ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ MG ในประเทศไทย” (http://www.cpgroup.cn/) ว่ากันว่าประสบความสำเร็จพอสมควร ฐานะผู้ผลิตและประกอบรถยนต์รายใหม่รายล่าสุดในไทย

เรื่องราวซีพีในประเทศจีน ยังมีบางแง่มุมยังไม่ได้กล่าวถึง เป็นเรื่องราวซับซ้อนทีเดียว ถือเป็นช่วงเวลาเดียวกับกลุ่มทีซีซีเพิ่งเข้าสู่ประเทศจีนครั้งแรก “เมื่อปี 2552 บริษัทไทยเบฟเวอเรจ เข้าลงทุนใน Yunnan Yulinquan Liquor Co., Ltd. ซึ่งมีกิจการโรงงานผลิตสุราขาว”

โปรดติดตามต่อไป