หนุ่มเมืองจันท์ l สู้กับ “อนาคต”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ผมเป็นมิตรรักแฟนเพจของ “พี่เตา” บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)

ชอบมุมคิดของ “พี่เตา”

แต่ละเรื่องเฉียบคมแบบคนรู้จริง

ไม่ใช่กางตำราวิจารณ์

แต่เป็นประสบการณ์จริง

วันก่อน “พี่เตา” นำบทสัมภาษณ์เก่าเกี่ยวกับเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” มาลง

เขาให้สัมภาษณ์ THE 101 WORLD ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

นานเป็นปีแต่มุมมองยังทันสมัยมาก

ผมชอบที่ “พี่เตา” บอกว่า การทำแผนระยะยาว ถ้าทำได้ก็เหมือนเรามี “คบไฟ” นำทาง

แต่ถ้าแผนนั้นผิดพลาด ทำไม่ได้

มันก็เหมือนกับ “โซ่ตรวน” ของประเทศ

ถามว่า ตอนนี้ทางแบงก์ทำแผนระยะยาวนานเท่าไร

“พี่เตา” บอกว่า 2 ปี

แต่ปรับทุก 6 เดือน

มีตอนหนึ่ง “พี่เตา” ถามว่าเคยได้ยินคำว่า VUCA ไหม

V มาจากคำว่า Volatility “ความผันผวน”

U-Uncertainty “ความไม่แน่นอน”

C-Complexity “ความซับซ้อน”

และ A-Ambiguit “ความคลุมเครือ”

VUCA คือ สภาพที่เป็นอยู่ของโลกปัจจุบันครับ

จริงๆ คำว่า VUCA เป็นคำที่กองทัพสหรัฐใช้กับสถานการณ์ช่วงที่รบในอิรักและอัฟกานิสถาน

มองเห็นอนาคตไม่ชัด

ตอนหลงมีคนนำมาใช้กับเรื่องการบริหารธุรกิจ

ครับ จากโลกที่เคย “แน่นอน”

แบบหลับตาทายได้

วันนี้ “ไม่แน่นอน” แล้ว

“พี่เตา” บอกว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกายอมรับแล้วว่ายุทธศาสตร์เดิมที่เคยใช้ตอนนี้ใช้ไม่ได้ผลแล้ว

วิธีการแก้ปัญหาของเขาไม่ใช่การแสวงหาแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวใหม่

ประเภท “ของเก่า” ใช้ไม่ได้

ก็หา “ของใหม่” แทน

แต่เขาคิดใหม่จากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น

เมื่อภาพของโลกวันนี้และพรุ่งนี้คือเต็มไปด้วยเจ้า VUCA

ทั้งผันผวน

ไม่แน่นอน

โค-ตะ-ระ ซับซ้อน

และเต็มไปด้วยหมอกควันของความคลุมเครือ

มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา

ความไม่แน่นอน คือ ความแน่นอน

ลองนึกภาพตัวเราตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้สิครับ

มองไม่ชัดว่าทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

การให้คนอายุเยอะๆ ใช้ประสบการณ์เก่ามาจินตนาการถึงโลกใหม่

แล้วบอกเด็กๆ ให้เดินไปทางซ้ายหรือขวา

ไม่น่าจะใช่เรื่องที่คนฉลาดจะทำกัน

วิธีคิดของกระทรวงกลาโหมสหรัฐเขาคิดอีกแบบหนึ่งครับ

เมื่อมอง “อนาคต” ไม่ชัด

วิธีการสู้กับ “ความไม่แน่นอน” ก็คือต้องปรับองค์กรให้ยืดหยุ่น

เขาปรับ “โครงสร้าง” กองทัพครับ

ปรับใหม่ให้ยืดหยุ่นและพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ตลอดเวลา

แทนที่จะไปนั่งทำนายว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตอันยาวไกล

ยอมรับไปเลยดีกว่าว่า “กรูไม่รู้”

แต่พร้อมจะ “เรียนรู้”

ทำองค์กรให้ยืดหยุ่นพร้อมรับความรู้ใหม่ๆ

ปรับเปลี่ยนได้เร็วตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น

อนาคตจะเป็นอย่างไร-ไม่รู้

รู้แต่เพียงว่าองค์กรของเราปรับตัวได้แน่นอน

ยุทธศาสตร์ของเขา คือ หลักพุทธศาสนา

อย่ายึดมั่นถือมั่น

ผมนึกถึง “วิธีคิด” ของ “ซิคเว่ เบรคเก้” อดีตซีอีโอของ “ดีแทค”

“ซิคเว่” เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของนอร์เวย์

เขาเคยเล่าว่า กองทัพสหรัฐอเมริกาเคยจัดการแข่งขัน WAR GAME ขึ้นมา

เอา “ทหาร” มาแข่งกับ “พนักงานดับเพลิง”

ใครชิงธงของอีกฝ่ายก่อน ฝ่ายนั้นชนะ

ใครๆ ก็คิด “ทหาร” ต้องชนะ

เพราะถูกฝึกมาทั้งการวางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี

“พนักงานดับเพลิง” ไม่เคยเรียนเรื่องการรบมาก่อน

รู้แต่เรื่องการดับเพลิงอย่างไร

และวิธีช่วยคนในกองเพลิง

แต่ถึงเวลาแข่งจริงๆ “พนักงานดับเพลิง” ชนะทุกครั้ง

มีการศึกษาว่าทำไม “ทหาร” แพ้ในเกมนี้

คำตอบก็คือ “พนักงานดับเพลิง” แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก่งกว่า

เพราะการดับเพลิง เราไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นข้างหน้า

บางทีหมอกควันก็ทำให้มองทางข้างหน้าแทบจะไม่เห็น

ต้องใช้ “สัญชาตญาณ” แก้ปัญหา

“ซิคเว่” สรุปว่า “สัญชาตญาณ” สำคัญกว่า “ยุทธศาสตร์”

“คนเก่ง” คือ คนที่ REACT ต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ได้เร็ว

และถูกต้อง

“ซิคเว่” เล่าเรื่องนี้มากว่า 10 ปีแล้ว

บางทีหลักคิดของ “นักดับเพลิง” อาจเหมาะสมกับสถานการณ์ในวันนี้

1. ต้องเรียนรู้เร็ว

เพราะลักษณะของบ้านหรืออาคารสูงแต่ละแห่งไม่เหมือนกันเลย

และแม้ทุกที่จะไฟไหม้เหมือนกัน

แต่สถานการณ์แตกต่างกัน

ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างรวดเร็วเสมอ

2. กล้าตัดสินใจ

เพราะคนที่ติดอยู่ในกองไฟอาจขาดอากาศหายใจเมื่อไรก็ได้

แต่เราเข้าไปช่วยแล้วจะกลับออกมาอย่างปลอดภัยหรือไม่

เป็นสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว

และ 3. แก้ปัญหาตลอดเวลา

คุณสมบัติเหล่านี้เหมาะกับโลกยุคใหม่

“สัญชาตญาณ” สำคัญกว่า “ความรู้”