ตำนาน และ เรื่องเล่า “เวียงกาหลง”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เวียงก๋าหลง”

เวียงกาหลง เป็นชื่อของเมืองเก่า ปัจจุบันตั้งอยู่ในบริเวณเขาดอยหลวง ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

คำว่า “เวียง” ในภาษาล้านนาหมายถึง เมือง หรือ city ในภาษาอังกฤษ

เป็นแหล่งชุมนุมของผู้คนมารวมตัวกันอยู่อาศัย

เวียงกาหลงตามการสันนิษฐานของนักโบราณคดีกล่าวว่า สร้างขึ้นช่วง พ.ศ.1500-1600 ในช่วงที่พระเจ้าอโนรธามังช่อ กษัตริย์แห่งอาณาจักรพุกามยกทัพไปกัมพูชา เพื่อทวงถามขอพระบรมสารีริกธาตุ พระไตรปิฎก และพระแก้วมรกตคืน

พระเจ้าอโนรธามังช่อหยุดพักทัพบริเวณเวียงกาหลงในปัจจุบัน ระหว่างนั้นพระองค์ทอดพระเนตรเห็นลำแสงจากยอดดอย ซึ่งโหรทำนายว่าเป็นนิมิตที่ดี

จึงทรงให้ทหารสำรวจพื้นที่ แล้วก่อสร้างเจดีย์ขึ้น

ปัจจุบันพระธาตุเจดีย์ดังกล่าวอยู่ในตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

เนื่องจากการก่อสร้างต้องใช้เวลานาน พระองค์จึงให้ขุดคูล้อมรอบ สร้างป้อมปราการ เพื่อป้องกันข้าศึกศัตรูและสัตว์ร้ายต่างๆ

ผังเมืองไม่เป็นรูปทรงเรขาคณิตเช่นเดียวกับเมืองโบราณส่วนใหญ่ในภาคเหนือ คูเมืองและกำแพงดินขุดเป็นรูปคล้ายตัววี หรือปีกกา ทอดยาวตามแนวเหนือ-ใต้ กว้าง 18 เมตร ลึก 8.80 เมตร ยาว 3,350 เมตร กำแพงเป็นคันดินจากการขุดคูเมืองมาถมทั้งสองข้าง โดยชั้นในสูงกว่าชั้นนอก ไม่มีการใช้วัสดุอื่นเสริมความแข็งแรงของกำแพงแต่อย่างใด

ในเมืองมีพื้นที่ประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร ดังนั้น ผู้ไม่ชำนาญเส้นทางจึงหลงทางได้ง่าย และเป็นที่มาของชื่อ “เวียงกาหลง”

จากการสำรวจในเมืองและบริเวณโดยรอบ ไม่ปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยและร่องรอยสิ่งก่อสร้างต่างๆ จึงสันนิษฐานว่าวัตถุประสงค์การสร้างเมืองไว้ดังนี้ เพื่อเป็นที่ตั้งค่ายทำสงคราม เนื่องจากมีกำแพงและคูเมืองที่ลึกและกว้างมาก ทิศตะวันออกเป็นภูเขาสูงชัน ซึ่งยากต่อการโจมตี หรือเพื่อเป็นเมืองสำรองสำหรับการอพยพหนีภัยน้ำท่วมของชุมชนต่างๆ ในบริเวณนั้น

ที่เวียงกาหลงยังมีเตาเผาเครื่องเคลือบกว่า 200 เตา สำหรับเครื่องปั้นของเวียงกาหลงจากการขุดพบมีโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น เศษภาชนะดินเผา เศษกระเบื้องดินเผา อิฐ เบี้ยดินเผา ดินเผาไฟ เครื่องมือเหล็ก หินลับมีด เป็นต้น

ลักษณะการเขียนลายใช้สีดำ ลวดลายเป็นเช่นเดียวกับเครื่องถ้วยชิงไห่ของจีน

สันนิษฐานว่า เครื่องปั้นเวียงกาหลงคงเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางมานานในแถบนี้ มีการค้าขายเครื่องถ้วยมาก่อน แต่จากการสำรวจเตาเผาปรากฏว่าน่าจะมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19-21 ซึ่งไม่ตรงกับข้อสันนิษฐานของเมือง

ปัจจุบันเมืองโบราณเวียงกาหลงคือแหล่งท่องเที่ยว มีวัดเวียงกาหลง และกลายเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

แต่คูลึกล้อมรอบยอดดอยยังคงมีปรากฏให้เห็น