ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ กระบี่ 2018 เทศกาลศิลปะกลางแจ้ง ที่หลอมรวมเข้ากับสภาพแวดล้อม อย่างกลมกลืน (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

เรามีโอกาสไปเยี่ยมชมเทศกาลศิลปะอีกเทศกาลหนึ่ง

ซึ่งเป็นเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยโดยหน่วยงานรัฐของบ้านเรา

อย่างสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ที่คัดเลือกเมืองและสถานที่ต่างๆ ในประเทศไทยมาใช้เป็นสถานที่จัดเทศกาลแบบเบียนนาเล่ ที่จะจัดขึ้นในทุกๆ สองปี

โดยในครั้งแรกนี้เป็นการจัดขึ้นที่จังหวัดกระบี่ ในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ธรรมชาติกลางแจ้งเป็นหลัก เทศกาลศิลปะที่ว่านี้มีชื่อว่า

เทศกาลศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ กระบี่ (Thailand Biennale Krabi 2018)

เทศกาลศิลปะ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ ครั้งนี้มีศิลปินเข้าร่วมกว่า 70 คน จาก 33 ประเทศทั่วโลก ทั้งเอเชีย ยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงศิลปินไทยและศิลปินท้องถิ่นในจังหวัดกระบี่ ร่วมกันแสดงผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, สื่อผสม

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site-Specific Installation) ที่หลอมรวมตัวอย่างกลมกลืนไปกับธรรมชาติ, สภาพแวดล้อม และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกระบี่ ภายใต้แนวคิด Edge of the Wonderland (สุดขอบฟ้าแห่งดินแดนมหัศจรรย์)

โดยมีเจียง เจฮง (Jiang Jiehong) หรือโจชัว (Joshua) ศาสตราจารย์ด้านศิลปะจีนแห่งสถาบันศิลปะและดีไซน์เบอร์มิ่งแฮม มหาวิทยาลัยเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์หลักของเทศกาลในครั้งนี้

“เมื่อสองปีก่อน ผมได้รับเชิญให้ยื่นโครงการนำเสนอสำหรับเทศกาลศิลปะไทยแลนด์ เบียนนาเล่ ซึ่งผมมองว่า นี่คือประเทศไทย เราจะทำยังไงให้มันแตกต่างจากเบียนนาเล่ในประเทศอื่นๆ ผมจึงเสนอว่ามันควรจะเป็นการแสดงงานในพื้นที่กลางแจ้ง แต่ผมไม่รู้ว่าจะทำที่ไหน เพราะผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศไทยนัก”

“ทางกระทรวงวัฒนธรรมก็เสนอมาว่าน่าจะเป็นที่จังหวัดกระบี่ ผมก็เลยลงไปเยี่ยมชมพื้นที่ในจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น่าทึ่งมากๆ หลังจากนั้นผมเริ่มเชิญศิลปินจากทั่วโลกให้เข้ามานำเสนอผลงานเพื่อแสดงในเทศกาลนี้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของเรา”

“ด้วยความที่งานนี้เป็นครั้งแรกของผมที่ทำเทศกาลศิลปะเบียนนาเล่ และทีมภัณฑารักษ์ของเราก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยทำเทศกาลศิลปะแบบนี้มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเทศกาลศิลปะกลางแจ้ง ซึ่งเป็นอะไรที่ใหม่และท้าทายสำหรับพวกเราอย่างมาก”

“เดิมทีรายชื่อเริ่มต้นของศิลปินที่นำเสนอผลงานในเทศกาลนี้มีจำนวนเกือบร้อยคนจากทั่วโลก โดยพวกเขาเสนอผลงานสำหรับเทศกาลศิลปะนี้ โดยอ้างอิงจากภาพและข้อมูลที่พวกเขาได้รับจากเราเบื้องต้น”

“ต่อมาเราจึงเชิญศิลปินที่เราคัดเลือกมากว่า 70 คน ให้ไปเยี่ยมชมพื้นที่ในจังหวัดกระบี่”

“หลังจากพวกเขาได้เห็นและทำความเข้าใจพื้นที่เหล่านั้นแล้ว น่าสนใจว่าศิลปินหลายคนตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบของแบบร่างผลงานที่จะนำเสนอสำหรับแสดงในเทศกาลไปอย่างสิ้นเชิง”

“หลังจากนั้นเราก็ส่งแบบร่างและการนำเสนอผลงานให้กับหน่วยงานราชการเพื่อให้พวกเขาอนุมัติให้จัดแสดงในเทศกาลนี้”

“นับเป็นความท้าทายสำหรับพวกเราทุกคนที่ทำงานนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้จัดงานที่เป็นหน่วยงานราชการของไทย ที่ไม่เคยทำเทศกาลศิลปะแบบเบียนนาเล่มาก่อน”

“อันที่จริงผมพูดได้เลยว่า ในตอนเริ่มต้น พวกเขาไม่รู้ว่าจะเจอกับอะไร”

“พวกเขาคิดแค่ว่าผมจะเอาประติมากรรมหินไปวางบนหาดทราย ซึ่งเป็นอะไรที่ง่ายมาก”

“แต่เราไม่ทำแบบนั้น เพราะเราต้องการทำงานศิลปะบนพื้นที่กลางแจ้งในสภาพแวดล้อมของกระบี่จริงๆ” โจชัว ภัณฑารักษ์ของเทศกาลกล่าว

ในฐานะผู้ชม เทศกาลศิลปะ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ ที่กระบี่คราวนี้มีอะไรสนุกสนานน่าสนใจกว่าที่คาดคิดไว้ (แม้งานหลายชิ้นจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์นัก)

โดยเฉพาะงานศิลปะกลางแจ้งบนพื้นที่สาธารณะและบนพื้นที่ธรรมชาติ ที่ทำออกมาได้อย่างน่าทึ่ง

แต่ด้วยความที่ผลงานถูกจัดแสดงกระจัดกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วจังหวัดกระบี่ จึงเป็นเรื่องยากที่เราจะตามดูได้ครบทุกชิ้น

เอาเป็นว่าเราจะขอพูดถึงเฉพาะผลงานบางชิ้นที่ได้ดู และโดนใจเราเป็นพิเศษก็แล้วกัน

เริ่มจากผลงานชิ้นแรกที่โดดเด่นโดนใจเราที่สุดชิ้นหนึ่งอย่าง Rumors from the Sea (เสียงร่ำลือจากท้องทะเล) ของศิลปินชาวฝรั่งเศส ฟีลิกซ์ บลูม (Felix Blume)

ศิลปะจัดวางในรูปของกลุ่มเสาไม้ไผ่ ที่ติดตั้งบริเวณสะพานลอยน้ำ หาดคลองม่วง ที่ได้แรงบันดาลใจจากเขื่อนไม้ไผ่กันคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น

โครงสร้างเสาสร้างขึ้นโดยสตูดิโอสถาปนิกท้องถิ่นในจังหวัดกระบี่อย่าง Bambugu

บนปลายเสาติดขลุ่ยไม้ไผ่ ที่ส่งเสียงบทเพลงแห่งท้องทะเล แปรเปลี่ยนท่วงทำนองไปตามความผันแปรของสายน้ำ ด้วยกลไกจากแรงดันอากาศภายในไม้ไผ่ที่เกิดจากความเคลื่อนไหวของคลื่นในน้ำ

ขลุ่ยไม้ไผ่เหล่านี้เป็นผลงานของเด็กๆ จากโรงเรียนบ้านคลองม่วงในจังหวัดกระบี่ ที่เข้ามาทำเวิร์กช็อปร่วมกับศิลปิน

“บทเพลงเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณแห่งท้องทะเล เป็นจินตนาการร่วมกันของผมและชุมชนท้องถิ่น ถึงสิ่งมีชีวิตที่มาจากท้องทะเลที่จะช่วยเหลือเราต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในรูปของเสียงขับขานบทเพลง บางครั้งมันก็เป็นเสียงเรียก หรือบางครั้งก็เป็นเสียงกรีดร้อง สิ่งที่เราต้องทำ ก็แค่เงี่ยหูฟังมัน”

“หลังจากติดตั้งงานเสร็จ ผมใช้เวลาสองคืนในการบันทึกเสียงเพลงจากขลุ่ยไม้ไผ่เหล่านี้เอาไว้ มันเป็นอะไรที่งดงามมาก หลังจากนั้นผมก็เอามันแชร์ลงในเว็บเพจของผม เพื่อให้คนสามารถเข้าไปฟังหรือแม้แต่ดาวน์โหลดกันได้ นอกจากนี้ ผมยังลงรูปและวิดีโอเบื้องหลังการถ่ายทำให้คนเข้าไปดูกันอีกด้วย”

“ผมคิดว่ากระบวนในการทำงานศิลปะมีความสำคัญ อย่างน้อยที่สุดก็สำคัญพอๆ กับผลลัพธ์ที่ออกมา ทีมงานที่ทำงานครั้งนี้ ไม่เคยมีใครทำอะไรแบบนี้มาก่อน ทั้งคนสร้างเขื่อนไม้ไผ่ ทั้งเด็กๆ ดังนั้น มันจึงเป็นประสบการณ์ที่ท้าทายสำหรับเราทุกคนอย่างมาก ที่ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน มันน่าสนใจและสนุกมากๆ”

“ผลงานครั้งนี้จะสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าไม่มีการร่วมมือของชุมชนในท้องถิ่น ผมรักการทำงานกับพวกเขามาก และอยากจะใช้เวลากับพวกเขามากกว่านี้ เวลาที่เด็กๆ มาดูผลงานที่พวกเขาทำขึ้นมาด้วยตัวเอง ได้เห็นปฏิกิริยาของผู้คนที่ได้ดูและได้ฟังผลงานชิ้นนี้ เป็นอะไรที่วิเศษมากๆ”

“ผมคิดว่าเด็กๆ และคนในชุมชนนี้เป็นเจ้าของผลงานศิลปะจัดวางชิ้นนี้ เมื่อผมกลับไปแล้ว พวกเขาก็จะเป็นคนดูแลมันต่อไป ผมหวังว่าพวกเขาจะถ่ายภาพและวิดีโอส่งให้ผมดูว่าในวันข้างหน้ามันจะเป็นอย่างไรบ้าง”

“ผมยังทำหนังสั้นที่เป็นเรื่องราวเด็กๆ ร่วมกันเป่าขลุ่ยไม้ไผ่บนริมฝั่งเพื่อเรียกสิ่งมีชีวิตจากท้องทะเล (เสาไม้ไผ่) เหล่านี้ให้ค่อยๆ ปรากฏตัวขึ้นมา” บลูม ศิลปินเจ้าของผลงานกล่าว

เข้าไปชมและฟังผลงานของเขาได้ที่เว็บไซต์ https://bit.ly/2z9gONk

ผลงานที่น่าสนใจอีกชิ้นก็คือ About the Hiding of the Giant Jellyfish ของศิลปินเวียดนาม ตรัน เลือง (Tran Luong) ศิลปะจัดวางที่อยู่บนพื้นทางเท้าบริเวณอ่าวนางในรูปของพื้นอิฐบล๊อกที่ซ่อนกลไกที่ทำให้พื้นยวบหยุ่นเวลาเหยียบ จนทำให้รู้สึกเหมือนเราบังเอิญเดินเหยียบแมงกะพรุนตามชายหาด แถมมีเสียงคล้ายสัตว์ประหลาดคำรามดังประกอบ

ผลงานชิ้นนี้เป็นงานศิลปะที่แทรกตัวเข้ากับพื้นที่สาธารณะในเมืองกระบี่ได้อย่างแนบเนียนที่สุดชิ้นหนึ่งในเทศกาล

และเป็นงานที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและสนุกกับงานได้โดยไม่ต้องปีนกระได (ก็มันเป็นพื้นน่ะนะ) บางคนบอกว่า ถ้ามีน้ำกระฉอกออกมาเปียกขาด้วยจะกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเมืองแบบไทยๆ ได้แนบเนียนกว่านี้ #ประเทศกูมี

ดูวิดีโอผลงานได้ที่นี่ https://bit.ly/2OFwRHU

ในตอนหน้าเราจะเล่าถึงผลงานชิ้นอื่นๆ ที่เราได้ดูและโดนใจในเทศกาลนี้กันต่อก็แล้วกัน

อนึ่ง เทศกาลศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ กระบี่ จัดขึ้นในจังหวัดกระบี่ ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2018 – 28 กุมภาพันธ์ 2019

เข้าไปดูรายละเอียดของสถานที่ติดตั้งงาน ข้อมูลศิลปิน, ตารางกิจกรรม หรือดาวน์โหลดไกด์บุ๊กของงานได้ที่ http://thailandbiennale.org/th/ กันได้ตามอัธยาศัย

ขอบคุณภาพจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย/ศิลปิน ฟีลิกซ์ บลูม