“ทรัมป์ เอฟเฟ็กต์” ระเบิดเวลา ศก.ไทย ส่งออกสะเทือน-ค่าเงินผันผวน

พลันที่โลกได้รับรู้ว่า “นายโดนัลด์ ทรัมป์” จากพรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้ง ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 ด้วยคะแนนเสียง 289 ต่อ 218 คะแนน เบียดคู่ชิง “นางฮิลลารี คลินตัน” จากพรรคเดโมแครตไปแบบฉิวเฉียด เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

โลกก็เกิดปรากฏการณ์ “ทรัมป์ ช็อก” ทันที

เมื่อไล่เรียงสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดทุนตลาดเงิน หลังทราบผลการเลือกตั้ง จะพบว่านักลงทุนทั่วโลกลดความเสี่ยงด้วยเข้าไปถือสินทรัพย์ปลอดภัย ดันราคาทองคำในตลาดโลกไต่ระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเงินสกุลหลัก เช่น เยน และฟรังก์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงในตลาดเกิดใหม่ เช่น ตลาดหุ้นเอเชียและไทยร่วงลง โดยเย็นวันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปิดตลาดที่ 1,509.43 จุด ลดลง 0.41 จุด หรือ -0.03% เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 34.87-34.97 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

แล้วในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากตลาดหุ้นฝั่งเอเชียปิดทำการ ตลาดหุ้นฝั่งสหรัฐเปิดการซื้อขาย และนายทรัมป์ออกมากล่าวสุนทรพจน์ตอบรับชัยชนะ ดันดัชนี S&P 500 และตลาดหุ้นในนิวยอร์กก็กลับมาบวกโดดเด่น

นักลงทุนโลกคลายความกังวลหันกลับมาถือสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดเกิดใหม่ ดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยในวันรุ่งขึ้น (10 พฤศจิกายน) ปิดตลาด 1,514.26 จุด บวก 0.32%

แต่ความ “ผันผวน” ก็ยังคงอยู่กับตลาดหุ้นตลาดเงิน พร้อมกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากตลาดเกิดใหม่ในเอเชียกลับเข้าไปที่สหรัฐเพิ่มขึ้น โดยพบว่าช่วงไม่ถึง 1 สัปดาห์หลังทราบผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ (9-15 พฤศจิกายน) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยรวมๆ กว่า 70,000 ล้านบาท แยกเป็นขายสุทธิพันธบัตรราว 56,000 ล้านบาท ขายสุทธิหุ้นราว 14,000 ล้านบาท

อีกด้านค่าเงินสหรัฐก็แข็งค่าต่อเนื่อง กดดันสกุลเงินเอเชียอ่อนค่าทำสถิติ เช่น เปโซ ฟิลิปปินส์ อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 7 ปี เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 1 เดือน หยวนอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 8 ปี

ส่วนราคาทองคำ (15 พฤศจิกายน) ปรับตัวลดลงมาอยู่ในกรอบ 1,219-1,231 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ โดยทองคำแท่ง 96.5% ในประเทศไทย ขายออกอยู่ที่ 20,600 บาทต่อบาททองคำ ปรับตัวลดลงจากวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ราคาขายออกไต่ระดับขึ้นไปสูงสุดถึง 22,000 บาทต่อบาททองคำ

 

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวว่า ความผันผวนจะอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อยเกือบ 3 เดือน ก่อนที่ “ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์” จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2560

อีกทั้งเมื่อย้อนกลับไปเมื่อครั้งนายทรัมป์หาเสียง เขาก็ได้ประกาศข้อสัญญาที่ให้กับผู้ลงคะแนนเสียงให้เขาว่า ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาจะทำ 7 ข้อเพื่อปกป้องแรงงานอเมริกัน ได้แก่

หนึ่ง จะเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) ใหม่อีกครั้ง และหากไม่ได้ก็จะถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้

สอง จะถอนตัวออกจากความตกลงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี)

สาม จะสั่งการรัฐมนตรีคลังจัดการปัญหาที่เกิดจากเงินหยวนของจีนผูกขาดตลาด

สี่ จะสั่งการรัฐมนตรีพาณิชย์และผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ตรวจสอบคู่ค้าที่เอาเปรียบแรงงานอเมริกัน โดยจะใช้กฎหมายสหรัฐและกฎหมายระหว่างประเทศแก้ปัญหาดังกล่าวทันที

ห้า จะปลดล็อกข้อจำกัดการสร้างงานในอุตสาหกรรมพลังงานไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เชลล์แก๊ส รวมถึงถ่านหิน

หก จะยกเลิกข้อจำกัดในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้นในยุคประธานาธิบดีโอบามาและสร้างโครงการใหม่ที่มีความสำคัญกับสหรัฐ

และเจ็ด จะยกเลิกการจ่ายเงินสนับสนุนโครงการของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) แล้วนำเงินดังกล่าวมาแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนชาวอเมริกันแทน

 

คําสัญญาเหล่านี้ชี้ชัดว่า ทรัมป์มีนโยบายสร้างการเติบโตจากภายในประเทศ และเขาน่าจะเป็นผู้นำเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ 86 ปีที่ประกาศจะกีดกันทางการค้ากับประเทศที่เขาเห็นว่าเอาเปรียบแรงงานและคนอเมริกัน

“ทรัมป์เป็นนักธุรกิจ และมองว่าที่ผ่านมาสหรัฐขาดดุลการค้าให้จีนมากถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น เขาย่อมต้องหาวิธีสร้างกติกาการค้าที่เข้มข้นขึ้น และเขาก็คงพร้อมจะชนกับจีน ซึ่งจีนก็คงจะไม่ยอม” ดร.ศุภวุฒิ กล่าว

แม้ ณ วันนี้ นักวิเคราะห์หลายสำนักยังมีความคลางแคลงใจอยู่มากว่า สิ่งที่ทรัมป์หาเสียง กับสิ่งที่เขาจะทำเมื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจริงๆ จะเกิดขึ้นได้ทั้งหมดหรือไม่ แม้ว่าพรรครีพับลิกันจะครองที่นั่งส่วนใหญ่ทั้งในสภาสูงและสภาล่างของสหรัฐก็ตาม

อย่างไรก็ดี ในเวลานี้ตลาดเงินตลาดทุนก็ได้คาดการณ์กันไปแล้วว่า โลกอาจจะเกิดสงครามการค้า (Trade War) ได้ หากทรัมป์ทำอย่างที่หาเสียงไว้จริง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับจีนและการใช้กำแพงภาษีตอบโต้จีน

 

บทวิเคราะห์ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สหรัฐและจีนมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่แนบแน่ โดยปัจจุบันสหรัฐเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 1 ของจีน โดยสหรัฐนำเข้าสินค้าจากจีนคิดเป็นสัดส่วน 21.5% ของการนำเข้าทั้งหมด (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2558)

ขณะที่การลงทุนโดยตรง (FDI) จากสหรัฐใหญ่เป็นอันดับ 4 ในจีน และตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา (ปี 2550-2558) FDI สหรัฐที่เข้าไปในจีนก็ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 12.2%

ดังนั้น หากทรัมป์จะเพิ่มกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจีนสูงสุดถึง 45% จากอัตราภาษีนำเข้าจากจีนเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 4.3% ตามที่หาเสียงไว้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในกรณีเลวร้ายที่สุด มูลค่าการส่งออกจากจีนเข้าไปสหรัฐจะลดลง 45-50% และสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม กระเป๋าและเครื่องหนัง รวมถึงโทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์กีฬา ของเล่น รถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ

ซึ่ง 4-5 รายการหลังนี้ เพียงสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า 20% ก็จะได้รับผลกระทบรุนแรงมากแล้ว

 

อีกประเด็นที่ต้องจับตามอง คือ ประเทศไทยในฐานะเป็นซัพพลายเชนของจีน มีจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่เป็นอันดับ 1 หากการค้าโลกถูกทรัมป์เขย่าขวัญ สร้างกติกาใหม่ที่ไม่เอื้อต่อสินค้าจากภูมิภาคนี้

อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อส่งออกไทยโดยภาพรวมหดตัวต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว (ปี 2556-2558) และที่หลายฝ่ายคาดว่าสิ้นปีนี้และปีหน้าจะพ้นแดนลบเสียทีนั้น

“นพพร เทพสิทธา” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อาจต้องปรับลดคาดการณ์ส่งออกไปสหรัฐ จากที่ปีนี้ประเมินไว้ว่าจะขยายตัวเป็นบวก ก็อาจเป็น 0% หรือติดลบ ขณะที่ภาพรวมส่งออกปี 2560 ก็อาจ -1% หรือ 0% จากเดิมคาดจะขยายตัว 0-1%

เช่นเดียวกับ “อภิรดี ตันตราภรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะไทยส่งออกไปสหรัฐคิดเป็นสัดส่วน 11% ของการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าปีละ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในสถานการณ์ฝุ่นตลบอย่างนี้ ภาครัฐ ภาคธุรกิจไทยจึงต้องปรับตัวและพร้อมรับกับกติกาใหม่อย่างทันที เมื่อนักธุรกิจในคราบนักการเมืองอย่าง “ทรัมป์” ยืนยันจะสร้าง new world order (ระเบียบโลกใหม่) เกิดขึ้นให้ได้