ในประเทศ : “จาตุรนต์-ณัฐวุฒิ” มาแล้ว ตามด้วย “พล.อ.ยศนันท์” เสริมทัพ ไทยรักษาชาติ ตัวแปรสูตร 300 เสียง?

ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคไทยรักษาชาติ

ไม่ว่าเรียกยุทธวิธี “แตกแบงก์พัน” หรือ “แยกกันเดิน รวมกันตี” คือความชัดเจน บนความไม่แน่นอนของโรดแม็ปเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562

เป็นความชัดเจนที่เริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่การประชุมใหญ่วิสามัญพรรคครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ในการลงมติเลือก ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช เป็นหัวหน้าพรรค นายมิตติ ติยะไพรัช เป็นเลขาธิการพรรค รวมถึงคณะกรรมการบริหารพรรคซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่

จำนวนหนึ่งคือลูกหลานตระกูล “ชินวัตร” “ทายาท” นักการเมืองคนดัง อดีต ส.ส.-รัฐมนตรีและบุคคลที่เคยทำงานใกล้ชิดกับ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์”

กระทั่งเข้าสู่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 อันเป็น “เส้นตาย” 90 วันที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ประสงค์จะลงเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ต้องเข้าสังกัดพรรคการเมือง

นอกเหนือจากการมาของ “บิ๊กยอร์ช” พล.อ.ยศนันท์ หร่ายเจริญ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมกับจุดยืนที่ว่า

“วันนี้อยากเรียกร้องทหารทุกคนยืนเคียงข้างประชาชน หมดยุคการใช้อำนาจเผด็จการมาปกครองประเทศแล้ว บทเรียนการยึดอำนาจตลอด 4 ปีกว่าที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่าประเทศชาติไม่เจริญก้าวหน้า ประชาชนเดือดร้อน เศรษฐกิจไม่เจริญเติบโต ถึงเวลาแล้วที่วันนี้ทหารทุกคนต้องหันมาหาประชาชน”

ทำเอา “บิ๊ก คสช.” บางคนถึงกับหลุดปากทวงถามถึง “ข้าวแดงแกงร้อน” สำทับด้วย “จิ้งจกเปลี่ยนสี”

การเข้ามาเสริมทัพของนายจาตุรนต์ ฉายแสง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และกลุ่มแกนนำ นปช. ยังทำให้พรรค “ไทยรักษาชาติ” หรือ “ทษช.” เป็นพรรคที่มีอะไรอื่นอีก

มากไปกว่า การเป็นแหล่งชุมนุม “คนรุ่นใหม่” ที่เป็น “จุดขาย” ของอีกหลายพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้

ไม่ว่าจุดขายของพรรคอนาคตใหม่ พรรคพลังประชารัฐ กลุ่ม “นิวเด็ม” พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม “นิวบลัด” พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น

 

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง นางฐิติมา ฉายแสง อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย

พร้อมด้วยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นพ.เหวง โตจิราการ นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช.

น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการ รฟม. นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เดินทางมาสมัครสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ

นับตั้งแต่มีการเปิดชื่อพรรคไทยรักษาชาติเข้าสู่สารบบการเมือง ในฐานะพรรคแยกกันเดินรวมกันตีกับพรรคเพื่อไทย ก็มีการวิเคราะห์ตามมาว่า

นอกจากจะเป็นกุญแจไขสู่ทางออกจากกลไกกับดักรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ถูกกำหนดให้เป็น “พื้นที่ใหม่” ไว้เก็บเกี่ยวคะแนน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์

ยังเป็นการแก้ปัญหาขัดแย้ง”ภายใน”พรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวปฏิเสธไม่ได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทยเพราะมีความขัดแย้งกับแกนนำพรรคหรือใครในพรรค ไม่มีปัญหาความแตกต่างทางอุดมการณ์หรือนโยบาย

เหตุผลในการย้าย ได้รับการอธิบายจากเจ้าตัวว่า

เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างฝ่ายเผด็จการที่ต้องการสืบทอดอำนาจต่อไป กับฝ่ายประชาธิปไตย

โจทย์ของฝ่ายประชาธิปไตยคือ จะหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจได้อย่างไร เพราะหากหยุดยั้งไม่ได้ ประเทศไทยอาจตกอยู่ภายใต้ คสช.อีก 10-20 ปี

นายจาตุรนต์ยังระบุถึงหมากกลที่ซุกซ่อนไว้อย่างเปิดเผยในกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ว่าเป็นการวางกติกาลดทอนอำนาจประชาชน สกัดพรรคการเมืองใหญ่ไม่ให้มีเสียงข้างมาก จนมีนักการเมืองบางคนถึงกับประกาศว่า รัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเขา

การ “ดีไซน์” รัฐธรรมนูญเช่นนี้จึงเป็น “ประตูกล” กับดักเล่นงานพรรคการเมืองใหญ่

ทำให้เกิดผลเสียต่อฝ่ายประชาธิปไตย

 

“เมื่อเรารู้เท่าทันในรัฐธรรมนูญและหมากกล เราเชื่อว่าสามารถทำให้พรรคการเมืองพ้นฝ่าจากกับดักนี้ไปได้ เป็นการเพิ่มโอกาสฝ่ายประชาธิปไตย ลดโอกาสที่เขาจะสืบทอดอำนาจ” นายจาตุรนต์ ฉายแสง ระบุ

สำหรับเหตุผลการตัดสินใจย้ายมาร่วมงานกับพรรคไทยรักษาชาติ นอกจากเป็นพรรคที่รวมผู้สนใจการเมือง มีวิสัยทัศน์ ยังเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยตรงกัน

นายจาตุรนต์ยืนยัน การมาไม่ใช่เพราะหนีกับดักส่วนตัว

แต่ต้องการพัฒนาบ้านเมืองด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ให้พรรคไทยรักษาชาติเป็นยานพาหนะทำให้นักการเมืองพรรคฝ่ายประชาธิปไตยหลีกเลี่ยงกับดักที่ออกแบบไว้ เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางที่จะพัฒนาประเทศชาติร่วมกัน

“ตั้งเป้าจะนำพาพรรคฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้ 251 เสียง”

และว่า

เราต้องคิดว่าทำอย่างไรให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงมากที่สุด โจทย์คือไม่ให้กลไกลรัฐธรรมนูญทำให้เราอ่อนแอ ซึ่งเป็นเกมเลือกตั้งที่ต้องรู้ทันและแก้เกม

หลักใหญ่การสกัดการสืบทอดอำนาจคือ ต้องอธิบายกับประชาชนว่าเหตุใดควรสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้เสียงมากที่สุด หากไม่เป็นเช่นนั้นจะเกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองอย่างไร

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สมาชิกใหม่พรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า ได้พูดคุยกับหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ ต่างมองไปในทางเดียวกันในการต่อสู้ตามแนวทางประชาธิปไตย

โดยหวังว่าประชาชนจะให้โอกาส ถึงจะเป็นพรรคใหม่แต่จิตวิญญาณคงเดิม เป็นพรรคศูนย์รวมคนมีความคิดทันสมัย บนรากฐานประชาธิปไตย

นายณัฐวุฒิยังตอบคำถามเกี่ยวกับ นปช.คนเสื้อแดงที่แยกกันไปอยู่ทั้งกับพรรคไทยรักษาชาติและพรรคเพื่อชาติ ที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. เป็นกองเชียร์สนับสนุน ว่า ไม่ถือเป็นความขัดแย้ง

เนื่องจาก นปช.หารือกันแล้วว่าจะไม่ตั้งพรรคในนาม นปช. ดังนั้น สมาชิกจะไปร่วมงานกับพรรคใดถือเป็นสิทธิเสรีภาพ ตราบใดยังยืนยันตามหลักการประชาธิปไตยก็ถือเป็นแนวร่วม

แต่ถ้าใครไปร่วมกับฝ่ายเผด็จการถือว่าขาดกัน

 

วิธีฝ่ากับดักประตูกลเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายพรรคฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้งเกิน 250 เสียง ตามแนวทางที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวถึง

สอดรับรายงานข่าวที่มีมาตลอดว่า การแตกตัวจากพรรคเพื่อไทย มาก่อรูปใหม่เป็นพรรคไทยรักษาชาตินั้น

เพื่อแก้เกมเลือกตั้งภายใต้กติการูปแบบใหม่ที่เขียนขึ้นโดยฝ่ายผู้มีอำนาจ ซึ่งจะทำให้พรรคใหญ่อย่างเพื่อไทย ถึงจะได้ ส.ส.ระบบเขตจำนวนมาก แต่ในส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะได้ลดน้อยลงไป อาจถึงขั้นไม่ได้เลย

พรรคไทยรักษาชาติจึงถูกตั้งขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เก็บเกี่ยวสะสมคะแนนจากระบบเขต เพื่อนำมาคำนวณรวมกันเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยตั้งเป้าส่วนนี้ไว้ 30-40 ที่นั่ง

ด้วยจำนวนตัวเลขที่ตั้งไว้ เมื่อนำไปบวกกับตัวเลข ส.ส.ระบบเขต ที่พรรคเพื่อไทยคาดว่าจะได้ในระดับ 180-190 ที่นั่ง เมื่อสองพรรคถึงคราว “รวมกันตี” ตัวเลขจึงอยู่ระหว่าง 210-230 ที่นั่ง

เมื่อรวมกับ ส.ส.พรรคแนวร่วมเครือข่ายฝ่ายประชาธิปไตยอื่นๆ อาทิ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคอนาคตใหม่ จึงเป็นคำตอบได้ว่า

ตัวเลข 300 ที่นั่งตามที่นายทักษิณ ชินวัตร เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อเอ็นเอชเคของญี่ปุ่น ได้มาอย่างไร

แต่ประเด็นจริงๆ อยู่ตรงที่ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยสามารถครองเก้าอี้ได้ 300 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง อีกฝ่ายถึงจะได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ก็จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย

ภายใต้การตรวจสอบงบประมาณและการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาไม่สามารถมีส่วนร่วมได้ รัฐบาลจึงอาจล้มคว่ำได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

ดังนั้น หากมองผ่านสูตรคณิตศาสตร์การเมืองดังกล่าว ในการสกัดกั้นการสืบทอดอำนาจ ฉุดประเทศกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ก็จะพบว่า พรรคไทยรักษาชาติมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ไม่น้อยไปกว่าพรรคเพื่อไทย หรือพรรคการเมืองอื่นๆ ในฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน