พลังประชารัฐที่ในหัวใจไร้ประชาชน l ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ความสำนึกว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศคือหัวใจของสังคมสมัยใหม่ทุกสังคม และยิ่งโลกเดินหน้าสู่ความทันสมัยเท่าใด การตระหนักว่าประชาชนมีสิทธิปกครองตัวเองยิ่งเข้มข้นขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเพราะคิดเรื่องประชาชนเป็นเจ้าของประเทศจริงๆ หรือเพราะใช้เรื่องนี้เป็นโอกาสแสวงหาอำนาจก็ตาม

ทั้งที่ประเทศไทยถูกเผด็จการรวบอำนาจครึ่งทศวรรษแล้วเขียนรัฐธรรมนูญผูกขาดอำนาจอีกยี่สิบปี ทันทีที่มีข่าวการเลือกตั้งเกิดขึ้น สำนึกเรื่องความเป็นเจ้าของประเทศก็ผลักดันให้คนหลายฝ่ายตั้งพรรคการเมืองเพื่อเสนอตัวให้ประชาชนเลือกอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับคนหน้าใหม่ๆ ที่เข้าสู่พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม

ในบรรดาพรรคใหม่ซึ่งจัดตั้งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ไทยรักษาชาติกับอนาคตใหม่คือพรรคที่มีคนจับตามากที่สุด ส่วนพลังประชารัฐเป็นพรรคใหม่ที่ไม่มีใครพูดถึงในฐานะ “พรรคใหม่” เลย มิหนำซ้ำยังเป็นพรรคที่มีข่าวฉาวต่อเนื่อง โดยเฉพาะข่าวการใช้ตำแหน่งการเมือง, แรงกดดันทางกฎหมาย และผลประโยชน์ทางการเงินเพื่อดึงดูดอดีตนักการเมือง

นับตั้งแต่วันแรกที่พลังประชารัฐถือกำเนิดขึ้นมา สามพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทย/ ประชาธิปัตย์/ ภูมิใจไทย ล้วนยืนยันว่าถูกพรรคนี้ “ดูด” อดีตส.ส.ตรงกันหมด สื่อถึงแก่แสดงความรังเกียจพฤติกรรมนี้โดยตั้งฉายาว่า “พลังดูด” จนยิ่งนานข้อมูลในสื่อยิ่งเผยว่าการดูดพัวพันกับอิทธิพลและผลประโยชน์ที่น่าตกใจ

ตามที่สื่อฉบับหนึ่งรายงาน พรรคการเมืองบางพรรคที่เพิ่งจัดตั้งเพื่อสนับสนุนผู้มีอำนาจหลังปี 2557 จ่ายให้ผู้สมัคร ส.ส.ที่ย้ายพรรคถึง 30-50 ล้านบาท ขณะที่คอลัมนิสต์ในคมชัดลึกถึงขั้นโจมตีนักการเมืองกลุ่ม “พายเรือให้โจรนั่ง” ว่าย้ายไปบางพรรคเพราะหวังการ “เป่าคดี”

จริงอยู่ว่าการจ่ายเงินให้ผู้สมัคร ส.ส.เป็นข่าวซึ่งไม่มีทางมีหลักฐานพิสูจน์ได้จริง แต่การที่ผู้เข้าพรรคนั้นมีคดีหรือเป็นสามีภรรยาของผู้ที่มีคดีใน ป.ป.ช., DSI และอัยการ เป็นข้อเท็จจริงซึ่งทำให้ให้คนเชื่อเรื่อง “เป่าคดี” ได้มาก เพราะพลังประชารัฐคือพรรคของรัฐมนตรีในรัฐบาลทหารที่ห้าปีนี้มีอำนาจและอิทธิพลเหนือองค์กรอิสระและข้าราชการจริงๆ

เท่าที่มีหลักฐานปรากฎ คุณสมศักดิ์แกนนำกลุ่มสามมิตรมีภรรยาที่ ป.ป.ช.ไต่สวนทุจริตก่อสร้างฝายมานานแล้ว, อดีต ส.ส.โคราชเพื่อไทยอย่างตุณวิรัช รัตนเศรษฐโดนคดีทุจริตสนามฟุตซอล, เจ้าของเนชั่นมีสามีซึ่งอัยการฟ้องคดีปั่นหุ้น และอดีต ส.ส.กาญจน์ฯ มีพ่อซึ่งหนีคดี แต่อยากกลับไทยแบบกำนันเป๊าะโมเดล

ถ้าคำนึงว่าคำว่าคดีครอบคลุมถึงการถูกฟ้องเรื่องกบฎและอั้งยี่ซ่องโจร รองหัวหน้าพรรคอย่างคุณณัฎฐพล ทีปสุวรรณ และโฆษกรัฐบาลอย่างคุณพุทธิพงศ์ ปุณณกันต์ ก็มีเหตุให้สงสัยว่าย้ายจากประชาธิปัตย์ด้วยเหตุเรื่อง “เป่าคดี” ด้วย เพราะทั้งคู่โดนฟ้องจากการเป็นแกนนำม๊อบ กปปส.ล้มเลือกตั้งเพื่อหนุนรัฐประหาร 2557 ด้วยเหมือนกัน

นอกจากความมัวหมองเรื่องเงินและการ “เป่าคดี” สื่อในบางพื้นที่ยังระบุถึงสภาพที่คนในเครื่องแบบทั้งทหารและตำรวจ “ข่มขู่” และ “คุกคาม” อดีต ส.ส.ให้ย้ายพรรค เช่นเดียวกับมีการพูดถึงการใช้เครื่องมือพิเศษอย่าง “ผู้นำท้องที่” และ “ผู้นำท้องถิ่น” รวมทั้งการ “จัดเขตเลือกตั้ง”เพื่อให้ผู้ย้ายพรรคตามคำขอมั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้งเข้าสภา

เฉพาะในสัปดาห์ที่ผ่านมา อดีตผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์สองรายยืนยันเรื่องการจัดเขตเลือกตั้งเพื่อช่วยพรรคที่มีอำนาจรัฐที่สุโขทัยและกาญจนบุรี ส่วนอดีตผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทยก็ระบุว่าเกิดเหตุแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อตัดฐานคะแนนแบบนี้ในมหาสารคามด้วยเช่นเดียวกัน

ตรงข้ามกับพรรคใหม่อย่างไทยรักษาชาติ/ อนาคตใหม่/ รวมพลังประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคที่มีอุดมการแบบใดแบบหนึ่งอย่างชัดเจน พลังประชารัฐมีแต่ข่าวการดูดอดีต ส.ส.และว่าที่ผู้สมัครจากพรรคอื่นด้วยเงิน, ด้วยการบีบคั้นทางคดี และด้วยการใช้อิทธิพลจนไม่มีร่องรอยของพรรคที่มีอุดมคติแม้แต่นิดเดียว

ขณะที่ไทยรักษาชาติชัดเจนเรื่องอำนาจเป็นของปวงชน , อนาคตใหม่เน้นระบบเสรีนิยมที่สวัสดิการของรัฐสำคัญขึ้น , คุณสุเทพชูธงสุดขั้วที่ด่าคนทั้งประเทศว่าไม่รักชาติเท่าพวกตัวเอง พลังประชารัฐก็คือพรรคซึ่งทำทุกอย่างเพื่อผลที่ต้องการ รวมทั้งการฉวยโอกาสทุกอย่างทางการเมือง (Pragmatic Opportunist)

จิตวิญญาณของพลังประชารัฐคือการตั้งพรรคการเมืองโดยกวาดต้อนนักการเมืองหน้าเก่าๆ ซึ่งประวัติจากอดีตจนปัจจุบันชี้ชัดว่าพร้อมจะย้ายพรรคเพียงเพื่อชนะเลือกตั้ง, แสวงหาโอกาสเป็นรัฐบาล, ลุ้นเป็นรัฐมนตรี หรือผลักดันให้เครือข่ายเป็นผู้บริหารองค์กรซึ่งสามารถใช้ตำแหน่งไปต่อยอดทำมาหากิน

วิธีที่พลังประชารัฐดูดกลุ่มทายาทกำนันเป๊าะคือตัวอย่างของการกวาดต้อนอดีต ส.ส.ที่มีเหตุให้สงสัยว่าใช้ตำแหน่งสาธารณะเป็นเครื่องมือ เพราะทันทีที่คนกลุ่มนี้เข้าพรรค คุณประยุทธ์ก็ใช้ ม.44 ตั้งคุณสนธยาเป็นนายกเมืองพัทยาซึ่งจริงๆ ต้องมาจากเลือกตั้ง ส่วนน้องคุณสนธยาก็เป็นกรรมการพลังประชารัฐทันที

เครือข่ายผู้กว้างขวางแห่งสมุทรปราการก็มีเหตุให้สังคมมองว่าเข้าพรรคหนุนพลเอกประยุทธ์ด้วยเหตุนี้ได้เช่นกัน

ขณะที่พรรคเก่าหรือพรรคใหม่อื่นๆ สร้างคะแนนนิยมโดยแสวงหาผู้สมัครที่ไม่มีข่าวฉาว พลังประชารัฐกลับดูดผู้สมัครที่มีภาพลักษณ์ของการเมืองเพื่อพวกพ้องและครอบครัวมากกว่าพรรคอื่นๆ จนภาพพรรคเป็นภาพกลุ่มนักการเมืองสีเทาที่รวมตัวกันเพื่อสนองแผนการของผู้มีอิทธิพลที่ใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือ

ยิ่งคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งย้ายพรรคทุกครั้งในการเลือกตั้งหลังปี 2544 ระบุว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” พลังประชารัฐยิ่งมีภาพพรรคซึ่งทรงอิทธิพลถึงขั้นลักลอบกำหนดกติกาประเทศล่วงหน้า และนั่นยิ่งตอกย้ำว่าพรรคนี้เป็นแค่เครือข่ายที่ผู้มีอำนาจตั้งขึ้นเพื่อบงการประเทศเหนือประชาชน

ในคำประกาศของผู้ก่อตั้งอย่างคุณสนธิรัตน์ซึ่งวิวัฒนาการจากสมาชิกสภาปฏิรูปและสภาขับเคลื่อนหลังรัฐประหาร 2557 เป็นรัฐมนตรีว่าการผู้ผลักดันการสืบทอดอำนาจหลังปี 2562 กติกาที่คุณสมศักดิ์บอกว่า “ดีไซน์เพื่อพวกเรา” จะทำให้พลังประชารัฐได้ ส.ส.350 ที่นั่ง ซึ่งก็คือการสมรู้ร่วมคิดกับผู้เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

แม้อดีตเลขาพรรคไทยรักไทยอย่างคุณสุริยะจะไม่ขี้คุยเท่าคุณสนธิรัตน์ คุณสุริยะก็ประเมินว่าพรรคพลังประชารัฐนั้นยิ่งใหญ่กว่าไทยรักไทย ซึ่งพูดตรงๆ ก็คือบอกว่าพลังประชารัฐจะได้ ส.ส.สูงกว่า 376 ที่นั่ง อย่างไทยรักไทยในการเลือกตั้ง 2548 จนเกิดรัฐบาลพรรคเดียวครั้งแรกในประเทศขึ้นมา

แม้การคุยโวของพรรคการเมืองเรื่อง ส.ส.จะเป็นเรื่องธรรมดา แต่คำประกาศของแกนนำพลังประชารัฐทั้งสามรายคือสัญญาณการเมืองที่น่าวิตก เพราะโครงสร้างการเมืองพื้นฐานของประเทศไม่มีทางที่พลังประชารัฐจะได้ ส.ส.อย่างที่โม้ ต่อให้เป็นแค่พรรคอันดับสองอย่างประชาธิปัตย์ก็ยังไกลเกินจริง

ในการสำรวจของบ้านสมเด็จโพลเรื่องความนิยมต่อพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน คนกรุงเทพผู้ต้องการเลือกประชาธิปัตย์มี 39.9% , เพื่อไทย 26.9% ถัดไปคืออนาคตใหม่/ พรรคสุเทพ/ ภูมิใจไทย ซึ่งมีผู้ต้องการเลือก 11.8%, 6.4% และ 4.1% ตามลำดับ ส่วนพลังประชารัฐมีผู้อยากเลือกมากที่สุดไม่เกิน 4%

ถ้าจะอ้างว่าคนเลือกพลังประชารัฐเพราะนิยมคณะรัฐประหารที่ตั้งตัวเองเป็นรัฐบาล ผลสำรวจนิด้าโพลเรื่องทรรศนะคติต่อ คสช.ในรอบ 4 ปี 6 เดือน ก็ชี้ว่าประชาชนนิยมรัฐบาลทหารต่ำลงกว่าครึ่งปีที่แล้ว มิหนำซ้ำหากเทียบย้อนไปในอดีตก็จะพบว่าคะแนนนิยมต่อ คสช.ทั้งคณะลดลงทุกหกเดือน

ในผลสำรวจล่าสุด ประชาชนที่ระบุว่ายุค คสช.มีความสุขลดลงเพิ่มจาก 25.46% เป็น 30.64% ส่วน 3 ใน 5 ของปัญหาที่ประชาชนไม่พอใจคือเรื่องเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่นผู้ไม่พอใจเศรษฐกิจภาพรวมจาก 30.81% เป็น 33.44% ส่วนผู้ไม่พอใจปัญหาปากท้องเกษตรกรเพิ่มจาก 15.08% เป็น 17.52% ในช่วงเดียวกัน

สำหรับความคิดเรื่องบุคคลที่ควรเป็นผู้นำประเทศ โพลทุกสำนักให้ผลตรงกันว่าพลเอกประยุทธ์มีคะแนนนิยมลดลงต่อเนื่อง นิด้าโพลชี้ว่าความนิยมคุณประยุทธ์ลดจาก 38.64% ในเดือนมีนาคมเป็น 29.66% .ในเดือนกันยายน ส่วนบ้านสมเด็จบอกว่าคุณประยุทธ์มีคะแนนนิยม 15.7% ต่ำกว่าคุณอภิสิทธิ์ซึ่งอยู่ที่ 25.5%

ต่อให้คิดถึงพลังประชารัฐแต่ในแง่คุณอุตตม, คุณสุวิทย์, คุณสนธิรัตน์ และคุณกอบศักดิ์ซึ่งใช้ภาพนักเรียนนอกลบภาพนักการเมืองสีเทา ผลงานทางเศรษฐกิจของสี่รัฐมนตรีก็แปรเป็นคะแนนนิยมได้น้อยมาก เพราะทุกคนรู้สึกว่าสี่คนนี้ทำอะไรเพื่อเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานน้อยกว่าการปรนเปรอเจ้าสัวและนายทุน

ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านความนิยมต่อพรรค, นักการเมืองสีเทา , สี่รัฐมนตรี และคุณประยุทธ์ซึ่งพรรคมุ่งให้เป็นนายกต่อไปหลังปี 2562 พลังประชารัฐไม่มีทางได้ความไว้ใจจากประชาชนจนมี ส.ส.ในสภาสูงอย่างที่คุยโวแน่ๆ เว้นเสียแต่จะใช้กลไกเลือกตั้งเพื่อบิดเบือนผลเลือกตั้งให้ตรงใจผู้มีอำนาจมากกว่าประชาชน

ไม่ว่าการเลือกตั้งปี 2562 จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์หรือถูกเตะถ่วงออกไป คำประกาศของพรรคคือหลักฐานของการเมืองที่เสียงประชาชนถูกเหยียบย่ำให้ต่ำกว่ากติกาที่เครือข่ายผู้มีอำนาจสร้างขึ้นอย่างไม่มีวันโงหัวขึ้นได้เลย

ไม่มีใครทราบว่าพรรคใหม่นี้จะบรรลุผลในการผลักดันบางคนเป็นนายกหรือไม่ แต่ไม่มีตรงไหนในเส้นทางสู่ทำเนียบสายนี้ที่ทำให้นายกตามแผนการนี้คือผู้นำที่มาจากประชาชน จะมีก็แต่การรวมพลังของกลุ่มการเมืองน้ำเน่าทั้งในและนอกกองทัพที่ใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือ

เมื่อห้วงยามอันมืดมนของประเทศผ่านไป สังคมในอนาคตจะจารึกชื่อพลังประชารัฐบนหลุมศพแห่งประวัติศาสตร์ที่พรรคสามัคคีธรรม, พรรคสหประชาไทย, พรรคเสรีมนังคศิลา และพรรคเฉพาะกิจอื่นๆ ล่วงลับไปแล้ว นั่นก็คือการเป็นพรรคสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารยิ่งกว่าพรรคซึ่งคืนอำนาจให้ปวงชน