ฉัตรสุมาลย์ : กฐินที่ภิกษุณีอาราม 2561

ช่วงกฐิน คือ หนึ่งเดือนหลังจากที่พระสงฆ์ท่านออกพรรษาค่ะ ออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ปีนี้ออกพรรษาตรงกับวันที่ 24 ตุลาคม 2561

เนื่องจากการนับของเรานั้นเป็นไปตามการเคลื่อนตัวของพระจันทร์ เรียกว่า จันทรคติ จึงขยับไปในแต่ละปีไม่ตรงกัน

พอออกพรรษาแล้ว อีกหนึ่งเดือนเป็นช่วงที่พระท่านรับกฐิน แต่ละวัดก็รับได้ครั้งเดียว ดังนั้น เพื่อให้ญาติโยมได้มาร่วมงานกฐินมากที่สุด แต่ละวัดก็จะเลือกรับกฐินวันอาทิตย์ ตกลงวันอาทิตย์ช่วงหนึ่งเดือนหลังออกพรรษานี้ จะมีการทอดกฐินชนกันมาก เพราะมีแค่ 4 อาทิตย์ ทางวัดมักจะเลือกอาทิตย์ต้นเดือน เพราะคิดว่าญาติโยมจะมีเงินทำบุญคล่องมือกว่า

เงื่อนไขของการรับกฐินคือ พระสงฆ์ หมายถึงภิกษุ หรือภิกษุณี อยู่ร่วมกันตลอดพรรษาอย่างน้อยสี่รูป จึงจะรับกฐินได้ พูดอย่างนี้เดี๋ยวเกิดความเข้าใจผิด หมายถึง ภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ ไม่ใช่นับรวมกันนะคะ

มีวัดบางวัดที่มีพระภิกษุหรือภิกษุณีอยู่ไม่ครบเป็นองค์สงฆ์จะทำอย่างไร ก็รับได้อยู่ แต่เป็นผ้าบังสุกุล ไม่ใช่ผ้ากฐิน

จริงๆ แล้วก็ผ้าจีวรผืนเดียวกันนั้นแหละ แต่เวลาถวายให้กล่าวว่า “ปังสุกุลจีวรัง” ไม่ใช่ “กฐินจีวรัง” และพระผู้ได้รับผ้าจีวร จะไม่ได้อานิสงส์ของผ้ากฐินค่ะ

บางวัดยังถือประเพณีเดิม มีการผูกต้นกล้วยต้นอ้อยและมะพร้าว มะพร้าวไม่ถึงกับโค่นต้นมะพร้าวมานะคะ ยกมาเฉพาะลูกมะพร้าว กองไว้ที่โคนต้นกล้วย อ้อยที่ผูกไว้กับเสา บรรยากาศครึกครื้นทีเดียว

 

ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี ภิกษุณีอาราม อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ญาติโยมขอเป็นเจ้าภาพ ยกมาคนละหม้อ คนละถาด คนละถัง ถังคือไอศกรีมค่ะ ทุกคนตั้งใจมาทำบุญ ดูว่าจะแข่งกันทำบุญทีเดียว บริเวณฟู้ดคอร์ตเป็นจุดที่ไม่เคยว่างค่ะ เจ้าภาพเป็นคนมาตักอาหารเอง เรียกเชิญแขกอยู่ตลอดเวลา อบอุ่นๆ

พุ่มกฐินทยอยเข้ามา หลายพุ่มทีเดียว สีแดงทั้งนั้น

ทุกปีจะมีศิลปินมาเขียนเสื้อตามสั่ง ศิลปินมือไม่ว่างเลยตั้งแต่เช้า คราวนี้มีเพนต์ร่มตามสั่งอีกด้วย

ท่านธัมมนันทาเดินผ่านมา ช่วยเขียนอักษรภาษาจีน “โฝว” มีความหมายว่า พุทธะ บนกระเป๋าใบน้อย ลูกศิษย์ยืนรอสั่งกระเป๋าเอาไว้ไปแจกเพื่อนๆ ที่ไม่ได้มาร่วม บรรยากาศสนุกสนาน

หลวงพี่ภิกษุณีจากสวนปฏิบัติธรรมศีลวัตร อ.สิงหนคร และเกาะยอ จ.สงขลา มาร่วมหลายรูป ให้ความอบอุ่นกับงานมากอยู่

เสียงโฆษกประกาศเสียงเจื้อยแจ้วนาทีทอง “ทุกอย่างสิบบาท” ทั้งเสื้อผ้ามือสอง และของใช้ ที่ญาติโยมทุกคนที่มาอดไม่ได้ที่ต้องแวะชม

บางคนแบกเป็นถุง ต้องลากกันไปขึ้นรถ

 

ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี มีพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุ องค์แรกในประเทศไทย หน้าตักกว้าง 108 นิ้ว สูง 3.25 เมตร สร้างเสร็จตั้งแต่ 2548 อยู่ที่วิหารด้านหลังที่ท่านธัมมนันทาบุกเบิกที่ดินออกไป ทุกปีจะมียาต้มอธิษฐานไว้ต้อนรับ บางคนขอใส่ถุง ใส่ขวดไปเผื่อแผ่คุณย่าคุณยายที่ไม่ได้มา ที่เรียกว่า ยาอธิษฐาน เป็นอะไรก็อธิษฐานเอา ขอให้หาย ตัวยาที่ต้มเป็นยาอายุวัฒนะที่กินได้ทุกคน

พูดถึงคุณย่าคุณยาย ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีมีสถาปัตยกรรมที่เรียกว่าต้อนรับผู้สูงอายุ ที่พระอุโบสถก็ติดตั้งลิฟต์เช่นเดียวกันกับพระวิหาร 3 ชั้น เรียกว่า ผู้สูงอายุสามารถเข้าร่วมในพิธีได้เต็มที่ ไม่ต้องนั่งเฝ้ารถให้ลูกหลานอีกต่อไป

สังคมไทยจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น การสร้างอาคารต่างๆ ต้องคิดเผื่อท่าน และจริงๆ แล้วก็คิดเผื่อตัวเรานั่นแหละ พูดยังกับว่าตัวเองจะไม่แก่ยังงั้นแหละ

มีอาคารที่กำลังสร้างใหม่ก็ทันสมัยมาก มีทางเดินเชื่อมต่อถึงกัน ผู้เฒ่าไม่ต้องเดินลงจากอาคารหนึ่งเพื่อไปขึ้นอีกอาคารหนึ่งแล้ว

วัดผู้หญิงก็อย่างนี้แหละค่ะ คิดรอบคอบ (คุยเสียเว่อร์เชียว)

 

ตอนที่ทางฝ่ายการเงินจะประกาศยอดกฐิน ทุกปีก็มักจะเรี่ยๆ หลักล้าน แต่ปีนี้ ท่านธัมมนันทาของเวลาเล่าเรื่องคุณมาลี เออ แล้วมันจะเกี่ยวกับงานกฐินไหมเนี่ยะ

คุณมาลีเป็นผู้หญิงอายุประมาณ 60 ปี จริงๆ แล้วเราไม่รู้อายุเธอดอก ว่าโดยประมาณ เธอเช่าแท็กซี่มาลงที่วัตรที่อยู่นครปฐม เช่ามาจากกรุงเทพฯ รถแท็กซี่สีเขียวเหลือง พอลงรถเสร็จ เธอก็ลงมาเลยค่ะ ไม่จ่ายค่าแท็กซี่ อ้าว

โชเฟอร์ก็ลงมาตาม ราคาที่มิเตอร์ 400 กว่าบาท คุณมาลีว่าจะมาหาท่านธัมมนันทา บ้านอยู่ไหนก็ไม่รู้ ที่ตัวเธอก็ไม่มีเงินสักบาทเดียว

ท่านผู้อ่านเคยเจอแบบนี้ไหม

ส่งตำรวจดีไหม ก็เธอยังไม่รู้ว่าเธอมาจากไหน แล้วตำรวจจะเอาเธอไปไว้ที่ไหน เออ จ่ายค่าแท็กซี่ไปก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากัน

ตกลงคุณมาลีก็เลยอยู่ที่วัตรทรงธรรมฯ นั่นแหละ อยู่ที่วัตรมันน่าจะดีกว่าไปอยู่ที่โรงพัก คุณมาลีรู้เรื่องระดับหนึ่งค่ะ เดินลากเท้าแชะแชะ ทำงานกวาดลานวัดดีที่สุด

คุณมาลีก็ช่วยกวาดลานวัด เดินตามหลวงพี่ไปโน่นมานี่พอได้อยู่ แต่ใช้งานยกถู ไม่ได้ก็ไม่ว่ากัน แต่เธอลงทำวัตรเช้าเย็นนะคะ

เวลาผ่านไปสักสองเดือนกระมัง น้องสาวเธอมารับ เราจึงรู้เรื่องคุณมาลีมากขึ้น น้องสาวมีการศึกษา มีงานทำอย่างดี เธอขอบคุณท่านธัมมนันทาและบรรดาหลวงพี่ที่ดูแลคุณมาลีให้

พอถึงวันเกิดของคุณมาลี น้องสาวจะพามาทำบุญ และว่า คุณมาลีรักท่านธัมมนันทามาก มาแต่ละครั้งก็จะเข้ามายืนแอบข้างๆ ให้น้องสาวถ่ายรูปให้ ปัจจัยที่น้องสาวจัดการใส่ซองให้ก็เป็นจำนวนหลายอยู่

คราวนี้ น้องสาวโทรศัพท์เข้ามานัดหมายขอพบท่านธัมมนันทาโดยเฉพาะ มาทำบุญให้พี่สาว คุณมาลีเสียชีวิตกะทันหัน กว่าคนรับใช้จะเห็นก็หน้าเขียวแล้ว ส่งโรงพยาบาลก็ช่วยไม่ทัน

หลังจากจัดการงานศพเสร็จ จึงไปเปิดดูกล้องวงจรปิดจึงทราบว่า คุณมาลีเสียชีวิตเพราะกินน้ำมะพร้าวติดคอ

น้องสาว สมมติว่าชื่อคุณอรนะคะ เธอพิจารณาว่า ในช่วงที่คุณมาลีมีชีวิตอยู่ พี่น้องหลานๆ ก็ไม่เคยอินังขังขอบมาดูแลคุณมาลีเลย มาที่วัตรเสียอีก ทางวัตรยังช่วยดูแลให้ทั้งที่ไม่ได้รู้จักกันมาเลย ก็เลยตัดสินใจนำเงินจากส่วนกลางในส่วนของคุณมาลีมาถวายวัตร ทางวัตรก็จัดเข้าเป็นยอดสมทบกฐินคราวนี้ ด้วยประการฉะนี้

คุณมาลีคงยิ้มและเข้ามายืนแอบข้างๆ ให้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกอีกเช่นเคย

ญาติโยมที่มาในงานต่างยกมือขึ้นพนมโมทนาพร้อมกันกับกุศลของคุณมาลี

 

ปีนี้ พานพุ่มก็พัฒนาขึ้นกว่าปีก่อน แต่ท่านธัมมนันทาบ่นว่า ไม่เห็นด้วยกับการเอาธนบัตรใหม่เอี่ยมไปพับติดกับพุ่มที่ทำด้วยโฟม แล้วก็ต้องตรึงด้วยเข็มหมุด มันทำให้ธนบัติใหม่ๆ เป็นรูหมด ธนาคารแห่งชาติน่าจะออกกฎหมายห้ามไหม

ร้ายที่สุดคือ ญาติโยมของวัตรเสียเวลามากเลยค่ะที่ต้องมานั่งคลี่และนับธนบัตร และสำหรับคนถวาย ก็เสียเวลาประดิษฐ์อยู่เป็นวันเหมือนกัน

เขาว่าสวย ถ่ายรูปออกมาดีตอนเดินขบวนถวายกฐิน เหตุผลมีทั้งสองฝ่าย ท่านธัมมนันทาก็เป็นพวกเน้นภาคปฏิบัติทำให้สะดวก ไม่เสียเวลา

ท่านผู้อ่านช่วยอีกแรงหนึ่งดีไหมคะว่า เราควรจะถือปฏิบัติว่าอย่างไร

เดิมนั้น เป็นพิธีถวายผ้าจีวรให้พระได้มีจีวรเปลี่ยนเพราะฤดูฝนที่ผ่านมาก็ลำบาก หาผ้ายาก แต่ในสมัยปัจจุบัน ผ้าจีวรก็มีเยอะแยะ ไปแถวเสาชิงช้านั่นเป็นย่านเลยค่ะ ชาวพุทธต่างชาติก็นิยมมาซื้อหาของที่ใช้ในวัดที่เสาชิงช้าเหมือนกัน

งานกฐินแต่ละปีจึงไปเน้นที่หาปัจจัยมาถวายให้วัดได้มีใช้ไปตลอดปี ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ และยิ่งหากมีสิ่งก่อสร้างที่ต้องดูแล การแสวงหาปัจจัยกลายเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าเรื่องผ้ากฐิน

ฤดูกาลกฐินยาวไปตลอดเดือน จะรู้ว่าหมดฤดูกฐินก็วันลอยกระทงนั่นแหละค่ะ

จนกว่าจะถึงวันลอยกระทงนะคะ