หนุ่มเมืองจันท์ l คนสองโลก

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

คนสองโลก

ชีวิตของคนคนหนึ่งมีหลายมุมให้มอง

ไม่ว่าจะเป็นคนตัวเล็กๆ หรือผู้ยิ่งใหญ่ระดับไหน

“อีลอน มัสก์” ก็เช่นกัน

ผมเพิ่งอ่านหนังสือประวัติ “อีลอน มัสก์” ที่เขียนโดย “แอชลีย์ แวนซ์” จบ

มี 2 ความรู้สึกเกิดขึ้นพร้อมกัน

ความรู้สึกหนึ่ง คือ ความรู้สึกฮึกเหิม เกิดแรงบันดาลใจ

เพราะเป็นเรื่องราวของมนุษย์คนหนึ่งที่มีความฝันที่ยิ่งใหญ่

ทำในสิ่งที่ใครๆ เชื่อว่า “เป็นไปไม่ได้”

อีกความรู้สึกหนึ่ง คือ ความหดหู่ใจ

ความยิ่งใหญ่ของ “อีลอน มัสก์” นั้นเป็นเรื่องราวที่ทุกคนยอมรับ

รถยนต์เทสลา รถยนต์ไฟฟ้าที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก

หรือสเปซเอ็กซ์ บริษัทขนส่งทางอวกาศ ที่สามารถลดต้นทุนการส่งดาวเทียมด้วยการนำจรวดกลับมาใช้ซ้ำได้

แต่ทั้งหมดเป็นแค่ “ของเล่น” ของ “มัสก์”

เพราะเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของเขาคือ การสร้างอาณานิคมมนุษย์ในดาวอังคาร

เป็นภารกิจเพื่อปกป้องเผ่าพันธุ์มนุษย์

วิธีคิดของ “อีลอน มัสก์” น่าสนใจมาก

ในขณะที่คนอย่างมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ของเฟซบุ๊ก, แลร์รี่ เพจ ของกูเกิล, เจฟฟ์ เบซอส ของอเมซอน

หรือแม้แต่ “สตีฟ จ๊อบส์”

เป้าหมายของทุกคนเพียงแค่คิดสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้เทคโนโลยี่สุดล้ำเพื่อทำให้คนสะดวกสบายที่สุด

คิดแทนใจผู้บริโภค

แต่ “อีลอน มัสก์” กลับมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น

รถเทสลา หรือบริษัทด้านโซลาร์เซล คือ การใช้พลังงานสะอาดเพื่อพิทักษ์โลก

คิดเรื่องอาณานิคมที่ดาวอังคาร

ก็เพื่อมนุษยชาติ

“มัสก์” ไม่ยอมนำบริษัทสเปซเอ็กซ์เข้าระดมทุนในตลาดหุ้น

(FILES) In this file photo taken on July 19, 2017, Elon Musk, CEO of SpaceX and Tesla, speaks during the International Space Station Research and Development Conference at the Omni Shoreham Hotel in Washington, DC.
American space entrepreneur Elon Musk tweeted that he was in Thailand on Tuesday July 8, 2018, with a prototype mini-sub, at the flooded cave where five members of a youth football team remained trapped. / AFP PHOTO / Brendan Smialowski

เพราะไม่อยากให้นักลงทุนเข้ามาวุ่นวาย

เขารู้ว่าเป้าหมายการไปดาวอังคารนั้นมี “ความเสี่ยง” สูง

ใน “ระหว่างทาง” ผลประกอบการของบริษัทอาจมีปัญหา

ถ้าเข้าตลาดหุ้น เขาจะต้องเสียเวลาตอบคำถามของนักลงทุนมากมาย

สู้เอาเวลานั้นไปทำงานดีกว่า

เขาบอกกับ “แอชลีย์ แวนซ์” ว่าเรามีคนฉลาดๆ ที่มุมานะเรื่องอินเตอร์เน็ต การเงิน และกฎหมายเยอะเกินไป

“นั่นคือ หนึ่งในเหตุผลที่เราไม่ค่อยเห็นนวัตกรรมมากนัก”

ครับ “อีลอน มัสก์” เชื่อเรื่องการลงมือทำ

และกล้าลองผิดลองถูก

“อีลอน มัสก์” เป็นสุดยอดนักประดิษฐ์ของโลก

ตอนแรกที่เขาสนใจเรื่องอวกาศ

เขากำเงิน 20 ล้านเหรียญไปรัสเซีย

เจรจาซื้อจรวดขีปนาวุธข้ามทวีปเพื่อนำมาติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมใช้ในการส่งยานอวกาศ

แต่ผู้บริหารของบริษัทรัสเซียไม่สนใจ “มัสก์”

เขาถามราคาจรวด

“ลูกละ 8 ล้านเหรียญ”

“มัสก์” ต่อราคาเป็น “2 ลูก 8 ล้าน”

รัสเซียปฏิเสธ และพูดในทำนองว่า “มัสก์” ไม่มีเงิน

เขาเดินออกจากที่ประชุมด้วยความโมโห

และบอกกับเพื่อนที่ไปด้วยว่าไม่ง้อรัสเซียแล้ว

“ผมว่าเราสร้างจรวดเองได้”

นั่นคือ ที่มาของ “สเปซเอ็กซ์” ครับ

ที่น่าตกใจก็คือ ความรู้เรื่องการสร้างจรวดของ “มัสก์” ได้มาจากการอ่านหนังสือ 3 เล่ม

เขาจึงรู้ว่าราคาจรวดที่รัสเซียเสนอมานั้นแพงเกินไป

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่าทำให้ “อีลอน มัสก์” โมโห

“มัสก์” เป็นคนบ้างานมาก

ตารางชีวิตของเขามีแต่ “งาน-งาน” และ “งาน”

ไม่ใช่ซีอีโอที่นั่งห้องแอร์

แต่พร้อมจะลงไปหน้างาน ลงแรง เสื้อผ้าเปื้อนน้ำมันเครื่อง

เป็นคนที่ทำงานหนัก และเรียกร้องให้ทุกคนทำงานหนักเหมือนกับเขา

“มัสก์” เคยบอกผู้หญิงคนหนึ่งว่าถ้าทำให้การกินง่ายขึ้น ถึงขั้นฉีดอาหารเข้าร่างกาย

“ผมจะทำงานได้มากขึ้น”

“แอชลีย์ แวนซ์” ผู้เขียนบอกว่าตอนที่นัดกินอาหารเย็นกับ “อีลอน มัสก์”

“มัสก์” กินเร็วมาก

หั่นกุ้งล็อปสเตอร์ชิ้นใหญ่ๆ เข้าปาก

ไม่กี่คำก็หมดจาน

สำหรับ “อีลอน มัสก์” ทุกอย่างในโลกนี้ไม่สำคัญ

เท่ากับ “เป้าหมาย”

และ “การทำงาน”

แต่ในอีกมุมหนึ่ง “มัสก์” ก็มีมุมน่ารัก

มีความเป็นเด็กในตัว

งานวันเกิดตอนที่อายุ 30 ปี เขาเช่าปราสาทแห่งหนึ่งในอังกฤษ

เชิญเพื่อนประมาณ 20 คนมาร่วมงาน

ทำอะไรรู้ไหมครับ

เขาชวนเพื่อนเล่นเกมซ่อนหาในปราสาท

ให้คนหนึ่งไปซ่อน แล้วทุกคนที่เหลือตามหา

ตั้งแต่ตีสอง ถึงหกโมงเช้า

นั่นคือ “อีลอน มัสก์”

การแก้ปัญหาของเขาก็แตกต่างจากคนอื่น

มีพนักงานคนหนึ่งทำงานหนักมาก หามรุ่งหามค่ำ

เขาสายตาสั้นต้องใส่แว่นตา

แว่นประจำตัวของเขาหล่นไปในท่อไฟ ต้องเปลี่ยนเป็นแว่นชั่วคราวอันใหม่

ไม่นานแว่นก็มีรอยขีดข่วนในขณะที่มุดไปใต้เครื่องยนต์

คืนหนึ่ง เขาระบายเรื่องนี้ในโรงงาน

โดยไม่รู้ว่า “มัสก์” ยืนอยู่ข้างหลัง

FILE PHOTO: Tesla Chief Executive Elon Musk stands on the podium as he attends a forum on startups in Hong Kong, China January 26, 2016. REUTERS/Bobby Yip/File Photo

2 ชั่วโมงต่อมา เลขาฯ ของ “มัสก์” เดินมาหา

พร้อมใบนัดแพทย์ด้านการผ่าตัดเลสิก

ค่าใช้จ่ายทั้งหมด “มัสก์” รับผิดชอบ

นี่คือ วิธีการแก้ปัญหาของสุดยอดนักประดิษฐ์ของโลกคนนี้

เมื่อ “แว่น” เป็นปัญหาของคนทำงาน

เขาก็จัดการให้คนทำงานไม่ต้องใส่แว่น

…แค่นั้นเอง

“มัสก์” เป็นคนบ้างาน

สนใจ “เป้าหมาย” จนบางครั้งลืมนึกถึงความรู้สึกเพื่อนร่วมงาน

คล้ายๆ “สตีฟ จ๊อบส์”

เขาจะจี้งาน ใช้คำพูดที่รุนแรงกับคนทำงาน

วันหนึ่ง เขาไล่ “แมรี เบธ บราวน์” เลขานุการที่ทำงานกับเขามากว่า 10 ปี

คนทำงานทุกคนรู้ว่า “บราวน์” เหมือนแขนขาของ “มัสก์”

ทำงานหนักไม่แพ้เจ้านาย

สามารถรับอารมณ์ของ “มัสก์” ได้เป็นอย่างดี

ตอนที่ถูกไล่ออก “บราวน์” เข้าไปหาเจ้านายที่เธอทุ่มเทให้ทั้งชีวิต

ขอค่าชดเชยเท่ากับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทสเปซเอ็กซ์

“มัสก์” ยังไม่ให้คำตอบ

เขาบอกให้ “บราวน์” พักร้อน 2 สัปดาห์

“มัสก์” จะลองทำหน้าที่เธอดูว่าหนักแค่ไหน

เมื่อเธอกลับมา คำตอบที่ได้ก็คือเขาไม่ต้องการเธออีกแล้ว

ออกไปเลย

ไม่เพิ่มค่าชดเชยให้

นี่คือ “อีลอน มัสก์” ผู้มีเป้าหมายการทำงานเพื่อมนุษยชาติ

เขาสนใจชีวิตของคนทั้งโลกมาก

แต่เขาก็ลืมไปว่า “เพื่อนร่วมงาน” ก็คือ “มนุษย์” เช่นกัน

“มนุษย์” นั้นไม่ได้ต้องการเพียงแค่ “ลมหายใจ” เพื่อการมีชีวิตอยู่

“มนุษย์” ทุกคนมี “หัวใจ”

“อีลอน มัสก์” สนใจ “ลมหายใจ” มากกว่า “หัวใจ”

เขาไม่เข้าใจว่า “ลมหายใจ” อาจเป็น “เหตุผล” ที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่

แต่ “หัวใจ” ที่มีให้กันนั้น

คือ “ความรู้สึก” ที่ทำให้เราอยากมีชีวิตต่อไป