วิรัตน์ แสงทองคำ : ไอคอนสยาม-แม่น้ำเจ้าพระยา

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

การเปิดตัวไอคอนสยามเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่เพิ่งผ่านมา เป็นเรื่องที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เสียแล้ว

“ไอคอนสยาม…เป็นโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 54,000 ล้านบาท ด้วยความร่วมมือของกลุ่มพันธมิตรภาคเอกชนไทยที่มีชื่อเสียง… ประกอบไปด้วยสยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหาร mixed-used development…อาทิ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ร่วมกับ แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยและโครงการมิกซ์ยูสระดับลักชัวรี่ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทชั้นนำของไทย…” ควรเริ่มต้นด้วยข้อมูลพื้นฐาน อ้างและตัดตอน (ที่เชื่อว่าเป็นสาระสำคัญ) มาจากต้นแหล่ง–https://www.iconsiam.com

ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เมื่อดีลสำคัญเกิดขึ้น แผนการโครงการใหญ่ มูลค่าโครงการ (ในเวลานั้น) ไว้ 35,000 ล้านบาท ขณะสะท้อนแนวคิดและแผนการที่ชัดเจนไว้แล้วตั้งแต่ต้น

“เพื่อถ่ายทอดความงดงามของแม่น้ำเจ้าพระยาแหล่งรวมอารยธรรมไทยสู่ใจชาวไทยและชาวโล กพร้อมปั้นกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรเป็นแดนสวรรค์ระดับโลกที่คนทุกชาติอยากมาเยี่ยมยลที่สุด”

สาระตอนสำคัญของข่าวอันตื่นเต้นและภาคภูมิโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี พร้อมภาพประกอบ (มีนาคม 2555)

 

ภาพผู้ร่วมงานในงานแถลงข่าวสะท้อนงานใหญ่ ประกอบด้วยบุคคลสำคัญ

ธนินท์ เจียรวนนท์ (ขณะนั้นประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี)

พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น

และ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ประธานกรรมการบริษัทสยามพิวรรธน์

ยังปรากฏภาพอีกบางคนที่น่าสนใจ พนัส สิมะเสถียร (ประธานกรรมการบริหาร สยามพิวรรธน์)

บันเทิง ตันติวิท (ประธานกลุ่มเอ็มบีเค ผู้ถือหุ้นใหญ่ สยามพิวรรธน์) และ ศุภชัย เจียรวนนท์ (ขณะนั้นเป็นประธานกรรมการบริหาร ทรูคอร์เปอเรชั่น ปัจจุบันคือประธานกรรมการบริหารเครือซีพี) มาร่วมงานด้วย

เรื่องราวความร่วมมือทางธุรกิจครั้งใหญ่ ผมให้ความสนใจมายังสยามพิวรรธน์ กับแผนการขยายเครือข่ายธุรกิจศูนย์การค้าในเมืองหลวงอย่างต่อเนื่อง เมื่อโครงการใหญ่ดังกล่าวเกิดขึ้น จะกลายเป็นเครือข่ายธุรกิจศูนย์การค้ารายใหญ่ที่สุด

เป็นภาพพัฒนาการธุรกิจต่อเนื่องจากฐานเดิม จากศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ในช่วง 40 ปีก่อนหน้านั้น เมื่อปรับโครงสร้างทางธุรกิจครั้งใหญ่ราวทศวรรษที่แล้ว ได้แสดงยุทธศาสตร์เชิงรุก เปิดศูนย์การค้าสยามพารากอน (2548) และเข้าซื้อกิจการเสรีเซ็นเตอร์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพาราไดซ์พาร์ค (2553)

ส่วนซีพีเข้ามาเป็นแรงหนุนสำคัญ เชื่อว่ามีความตั้งใจเป็นพิเศษเพื่อผลักดันให้แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น ก้าวไปอีกขั้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเครือซีพี หากเกี่ยวข้องในฐานะเป็นธุรกิจครอบครัวธนินท์ เจียรวนนท์

ซึ่งผู้บริหารคนสำคัญคือบุตรีคนหนึ่งของเขา

“ความร่วมมือทางธุรกิจ มีแรงบันดาลทางสังคมพอสมควร ความพยายามสร้างตำแหน่ง (Positioning) ของกรุงเทพฯ ให้โดดเด่นมากขึ้น ในฐานะเมืองหลวงที่มีบุคลิกเชื่อมโยงกับแม่น้ำ เป็นบุคลิกเมืองสำคัญระดับภูมิภาคที่มีวัฒนธรรม แรงบันดาลใจของความร่วมมือครั้งใหญ่ อาจเทียบเคียงกับความพยายามสร้างหรือปรับโฉมเมืองใหม่ หรือ City regeneration ในยุคปัจจุบัน เป็นไปได้ว่าอาจอ้างอิงกับกรณีสิงคโปร์ ในความพยายามปรับโฉมหน้าเมืองใหม่-กรณี Marina bay เพื่อสร้างแรงดึงดูดระดับภูมิภาค เมื่อระบบเศรษฐกิจอาเซียนหลอมรวมกันในปี 2558”

ผมเองเคยกล่าวไว้ในตอนนั้น

(หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ)

ข้อมูลเกี่ยวกับ “ความเป็นมา” ไอคอนสยาม นำเสนอโดยไอคอนสยามเอง (https://www.iconsiam.com อ้างแล้ว) สะท้อนแนวทางธุรกิจอย่างที่ว่าไว้ โดยมีรายละเอียดน่าสนใจเพิ่มขึ้น

“ไอคอนสยามมีความมุ่งมั่นที่จะเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทยในการเนรมิตโครงการระดับโลกที่ยิ่งใหญ่เพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ และตื่นตาตื่นใจที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา”

เชื่อว่าเป็น “ข้อความ” ให้ความสำคัญอย่างตั้งใจที่กล่าวถึงเป็นกรณีพิเศษ ถือว่าเป็นแผนธุรกิจยุคใหม่ อ้างอิงแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างสำคัญ อย่างจริงจัง

จากนั้นให้ข้อมูลถึงแผนการใหญ่ทางธุรกิจ สะท้อนความแตกต่าง โดยเน้นว่า “ได้ร่วมคิดและวางแผนงานกับภาคประชาสังคม ภาคเอกชนและภาครัฐมาตลอด 5 ปี” ทั้งนี้ ให้ความสำคัญ เน้นย้ำ อ้างอิง แม่น้ำเจ้าพระยาไว้หลายครั้งหลายตอน

“–ไอคอนสยามลงทุนสร้างระบบคมนาคม ที่จะเชื่อมต่อระบบรถ-ราง-เรือที่สมบูรณ์แบบเป็นแห่งแรกเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การสัญจรโดยรอบ และเป็นตัวอย่างของการวางแผนพัฒนาเมืองที่มีประสิทธิภาพ

–ร่วมกันกำหนดแผนแม่บทที่จะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็น New Global Destination …ทุกสถานที่ตลอดสายแม่น้ำนี้สามารถนำเสนอทุกมิติที่แตกต่างแต่สะท้อนความเป็นไทย

–ไอคอนสยามจะเป็นจุดเชื่อมต่อสถานที่ต่างๆ บนแม่น้ำสายนี้ ร่วมมือกันจุดประกายให้คนทั้งโลกหันกลับมาเห็นความสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา ในฐานะจุดศูนย์กลางของกรุงเทพมหานครที่มีศักยภาพ…ให้เป็นมากกว่ามหานครที่คนทั่วโลกอยากมาเยี่ยมชม…สู่การเป็นมหานครที่รองรับการลงทุน…การเข้ามาอยู่อาศัยและทำธุรกิจอีกด้วย”

นับเป็นโครงการใหญ่ที่มีความแตกต่างจากที่เป็นมาอย่างมากทีเดียว ที่สำคัญ สะท้อนภาพใหม่ธุรกิจใหญ่อันทรงอิทธิพลในสังคมไทย

มีความเชื่อมโยงกับแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างจริงจัง

มีความเชื่อมโยงไปยังอีกยุคหนึ่ง เป็นภาพซ้อนทับบางระดับกับธุรกิจอิทธิพลยุคอาณานิคมเมื่อกว่าศตวรรษที่แล้ว

พัฒนาการทางธุรกิจยุคใหม่อ้างอิงแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดขึ้นมาตลอดช่วงไม่น้อยกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม หรือคอนโดมิเนียม ทั้งนี้ บางกรณีที่น่าสนใจเป็นพิเศษ มีความเฉพาะเจาะจง อ้างอิงกับแม่น้ำเจ้าพระยา สะท้อนร่องรอย ความสัมพันธ์ และความสำคัญใหม่

“สายธุรกิจศูนย์การค้า ทีซีซี แลนด์ รีเทล เป็นผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้าท่องเที่ยวไลฟ์สไตล์ครบวงจรที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ อาทิ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ ฟรอนท์ ศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก” (http://www.tcc.co.th/) คำแนะนำ “ธุรกิจศูนย์การค้า”

หนึ่งในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทีซีซี เครือข่ายธุรกิจใหญ่อันทรงอิทธิพลอีกรายของไทยได้กล่าวอย่างเจาะจงถึงโครงการสำคัญ

“เปิดตำนานของท่าเรือระหว่างประเทศที่แรกของสยาม…ย้อนกลับไปในช่วงปี 1884 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประเทศในเอเชียอยู่ภายใต้การคุกคามของการรุกรานจากมหาอำนาจยุโรป ด้วยการมองการณ์ไกลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีความคิดริเริ่มที่จะยกระดับสยามให้ไปถึงประเทศชั้นนำของโลกและตัดสินใจที่จะสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเดนมาร์ก รวมถึงในขั้นตอนนี้คือการก่อสร้างของท่าเรือที่เป็นของบริษัทอีสต์เอเชียติ๊ก ซึ่งทำธุรกิจที่ทุ่มเทให้กับการส่งออกไม้สัก โดยมี Mr.Hans Nille Anderson, สัญชาติเดนมาร์ก เป็นเจ้าของบริษัท

ปัจจุบัน พื้นที่เดียวกันนี้ที่ท่าเรืออีสต์เอเชียติ๊กครอบครองกำลังคืนไปสู่ความรุ่งโรจน์เดิมภายใต้ชื่อ “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ ฟรอนท์” ด้วยครั้งแรกและเป็นวิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ตั้งอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยา” (http://www.asiatiquethailand.com/)

 

เรื่องราวข้างต้น มีที่มา มีความสัมพันธ์ กับช่วงเวลาเมื่อครั้ง เจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้นำกลุ่มทีซีซีเข้าสู่ธุรกิจสุราอย่างจริงจังช่วงปี 2530 เป็นเวลาเดียวกันกับอีสต์เอเชียติ๊ก ผู้นำการค้ายุคอาณานิคมกำลังเสื่อมถอย เจริญได้ซื้อที่ดินและสิ่งก่อสร้างเก่าแก่นั้นไว้ เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 2 ทศวรรษ จึงกลายเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจ-ศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเล็กๆ ของเครือทีซีซี ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดียวกันและมีความหมายทำนองเดียวกัน นั่นคือ โอพี เพลส และ โอพี การ์เด้น ถือว่ามีความเชื่อมโยงกับ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ ฟรอนท์ โดยตรง ด้วยมีตำนานอยู่ในยุคเดียวกัน ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณไม่ห่างกันนักตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับอาคารประวัติศาสตร์ในยุคเดียวกันและเชื่อมโยงกัน

โดยเฉพาะโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล และอยู่ใกล้กับไปรษณีย์กลาง บางรัก ซึ่งมีอาคารเก่าแก่ในยุคต่อมา ก่อสร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ถือเป็นอาคารที่สูงที่สุดในเวลานั้น

โอพี เพลส เป็นอาคารเก่า สร้างขึ้นยุคอาณานิคม ในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยเป็นห้างขายสินค้ายุโรปให้ชนชั้นสูง ภายใต้ชื่อ Falck & Beidek Store หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อห้างสิงโต ตัวอาคารสะท้อนสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างศิลปะนีโอคลาสสิคแบบตะวันตกกับศิลปะไทย ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี จนได้รับการยกย่องให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ (ปี 2525)

ส่วนโอพี การ์เด้น โครงสร้างเป็นหมู่อาคารเล็กๆ 5 หลัง มีพื้นที่ว่างตรงกลางทำเป็นสวนหย่อม ด้วยสถาปัตยกรรมยุคเดียวกัน ตามประวัติกลุ่มอาคารได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้สอยบ้าง ในปี 2479 กลายเป็นคลินิก “สหการแพทย์” ของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักอนุรักษ์ชื่อดังของไทย ว่ากันว่าเป็นโมเดลโพลีคลินิกแห่งแรกของประเทศ

บางทีอาจต้องย้อนกลับไปมองบริบทในมิติที่กว้างขึ้น ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับสังคมไทยยุคต่างๆ โดยเฉพาะว่าด้วยพัฒนาการกรุงเทพมหานคร