ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 พฤศจิกายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
คุยกับทูต เคส ราเดอ สัมพันธไมตรีกว่าสี่ร้อยปีสยาม-เนเธอร์แลนด์ (2)
ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์หรือที่มักเรียกกันว่าฮอลแลนด์ อยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกติดต่อกันมาหลายปี
ตามรายงานของสหประชาชาติว่าด้วยการสำรวจความสุขโลกประจำปี ค.ศ.2018 (UN World Happiness Report 2018) จากทั้งหมด 156 ประเทศทั่วโลก เนเธอร์แลนด์ยังคงรักษาอันดับประเทศที่ประชากรมีความสุขมากเป็นอันดับ 6 ของโลก
สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ที่กรุงเทพฯ ก็ได้รับการกล่าวขานว่าสวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง มีนายเคส พิเทอร์ ราเดอ (His Excellency Mr. Kees Pieter Rade) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน
ท่ามกลางความเร่งรีบคึกคักใจกลางกรุงเทพมหานคร เราเดินทางมาถึงสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ระหว่างถนนวิทยุสายเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 และซอยต้นสนเล็กๆ อันเงียบสงบในเขตปทุมวัน ตั้งอยู่บนพื้นที่กว้างขวางร่มรื่นด้วยแมกไม้เขียวขจีน้อยใหญ่เชื่อมต่อจากพื้นที่ของทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา อีกทั้งมีบ่อน้ำเก่าแก่ดั่งโอเอซิสในเมืองหลวง
สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาเบื้องหน้าจึงเป็นความงดงามราวกับภาพวาด
“โดยทั่วไปผมชอบแนวความคิดและส่วนประกอบทั้งหมดของที่นี่ ท่ามกลางธรรมชาติอันสวยงาม มีต้นไม้ใบหญ้าสีเขียวอยู่รอบๆ ตัวเรา มีทำเนียบอันเก่าแก่ และที่ทำการสถานทูตอันทันสมัย ช่วยให้เกิดความรู้สึกสงบและผ่อนคลาย” ท่านทูตเคส ราเดอ ตอบคำถามถึงความประทับใจที่มีต่อสถานที่แห่งนี้
“นอกจากนี้ หากเดินเข้าไปในบริเวณสวนด้านในที่อยู่ลึกเข้าไปหน่อย คุณอาจจะมีโอกาสได้เห็นนกบางสายพันธุ์ที่สวยงามและหายากบินมาเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ นอกเหนือจากสัตว์เลื้อยคลาน เช่น ตัวเงินตัวทองหรือจะเรียกว่าจระเข้ตัวน้อยๆ ก็ได้ ที่นี่ยังมีกระรอก ปลา และ “ปู่เต่า” ที่อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขมาเนิ่นนาน”
“ปู่เต่า” ที่ว่านี้ อยู่ที่นี่เป็นเวลาหลายสิบปี จึงเป็นที่รู้จักมักคุ้นของผู้มาเยือน “ปู่เต่า” มีโอกาสได้พบกับนักการทูตมากมาย และมีอายุขัยมากกว่าเจ้าหน้าที่สถานทูตหลายคน นั่นคือเหตุผลที่ทุกคนเรียกว่า “ปู่เต่า”
คนสวนประจำสถานทูตมักเลี้ยง “ปู่เต่า” ด้วยกล้วย ซึ่งเป็นอาหารที่ “ปู่เต่า” โปรดปรานมากที่สุด “ปู่เต่า” มักจะไม่ค่อยปรากฏตัวในพื้นที่โล่ง
แต่บางครั้งหลายคนก็มีโอกาสได้กล่าว “สวัสดี” กับ “ปู่เต่า” เหมือนกัน
ความซาบซึ้งในคุณค่าของทำเนียบเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อเราเข้าใจถึงบุคคลและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ได้แปลงเปลี่ยนท้องทุ่งนามาเป็นบ้านพักที่ร่มรื่นในปัจจุบัน จนได้ชื่อว่าเป็นอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทย และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) เมื่อปี ค.ศ.1987
ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ.1949 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ซื้อบ้านหลังนี้เพื่อใช้เป็นทำเนียบหรือที่พำนักของเอกอัครราชทูต และเป็นที่ทำการสถานทูตเนเธอร์แลนด์แห่งแรกในประเทศไทย
ซึ่งก่อนหน้านั้นมีเพียงสถานกงสุล หลังจากนั้นได้สร้างอาคารชั้นเดียวเชื่อมกับทำเนียบเพื่อใช้เป็นสถานกงสุล
ทำเนียบเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์เป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล มีสองชั้น หลังคาจั่ว และมีส่วนหนึ่งเป็นหอคอยสูงสามชั้น ลักษณะเด่นคือหลังคาที่มีการซ้อนชั้นขึ้นไปในส่วนหอคอย และการตกแต่งด้วยไม้แกะสลักและเสาประดับที่ยอดจั่ว
ทำเนียบแห่งนี้เคยเป็นบ้านของนายแพทย์อัลฟองส์ ปัวซ์ (Dr. Alphonse Poix) แพทย์หลวงชาวฝรั่งเศสประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเดินทางเข้ามาประเทศสยามราว ค.ศ.1897
และเพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานเบื้องพระยุคลบาทมาหลายปี ตั้งแต่ครั้งรัชสมัยของพระชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์แด่นายแพทย์ปัวซ์ ขึ้นเป็น “พระยาอัศวินอำนวยเวท” (Phya Asvin Amnueyvej)
ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ผืนนี้เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ.1911 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 บริเวณนี้ยังเป็นทุ่งนา เมื่อเริ่มมีการพัฒนาพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ เมืองจึงขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้ที่ดินบริเวณนี้ราคาสูงขึ้น ชาวนาทยอยกันขายที่ดินและย้ายออกไปอยู่นอกเมือง
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และบิดาแห่งภาพยนตร์ไทย) เป็นหนึ่งในผู้ที่ซื้อที่ดินจำนวน 23 ไร่จากชาวนาที่ย้ายออกไป
ปี ค.ศ.1914 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ขายที่ดินและบ้านให้กับพระยาราชสาส์นโสภณ ซึ่งภายหลังพระยาราชสาส์นโสภณก็ขายต่อให้กับกรมพระคลังข้างที่ (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน)
เมื่อปี ค.ศ.1915 ชื่อเจ้าของที่ดินผืนนี้จึงเป็นพระมหากษัตริย์ โดยมีอธิบดีกรมพระคลังข้างที่เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทน
15 ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงชื่นชมต่อความจงรักภักดีและการอุทิศตนในหน้าที่ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช จึงพระราชทานที่ดินและอาคารให้
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหลานปู่คนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทำหน้าที่เป็นเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ปี ค.ศ.1932 พระองค์เจ้าบวรเดชขอพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ผ่านกรมพระคลังข้างที่ เพื่อขายที่ดินคืนให้กรมพระคลังข้างที่จำนวน 2 ไร่ เพราะประสงค์นำเงินไปปรับปรุงบ้าน และได้เงินมา 15,000 บาท ถือเป็นการปรับปรุงบ้านครั้งแรกและครั้งเดียว
ก่อนที่จะกลายเป็นสถานทูตเนเธอร์แลนด์ในอีก 17 ปีต่อมา
ปีค.ศ.1932 เริ่มเกิดความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทย และในวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ.1933 พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ได้นำทัพของกลุ่มซึ่งเรียกตนเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “กบฏบวรเดช” พยายามยึดอำนาจจากรัฐบาลคณะราษฎร แต่ไม่สำเร็จ
ทำให้พระองค์เจ้าบวรเดชต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่กัมพูชาและได้เปิดโรงงานทอผ้า ค้าขายถ่านที่นั่น
ระหว่างที่พระองค์เจ้าบวรเดชลี้ภัยนั้น บ้านหลังนี้ถูกปล่อยเช่าให้กับสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษเพื่อใช้เป็นสำนักงานและสโมสรช่วงปี ค.ศ.1936-1939 แต่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพญี่ปุ่นได้เข้ามาใช้ที่นี่เป็นสำนักงาน
เดือนตุลาคม ค.ศ.1946 หลังสงครามสิ้นสุดลง ที่นี่ถูกปล่อยเช่าให้กับ Salesian บาทหลวงนิกายโรมันคาทอลิก เพื่อใช้เป็นสำนักงานและโบสถ์ส่วนตัว ส่วนอาคารไม้ชั้นเดียว 2 หลังที่ทหารญี่ปุ่นสร้างไว้ ได้ใช้เป็นศูนย์ฝึกอาชีพของเด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส ต่อมาจึงได้รับการพัฒนาเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาดอนบอสโก (Don Bosco Vocational School)
หลังจากที่รัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมืองทุกคดี ปี ค.ศ.1948 พระองค์เจ้าบวรเดชจึงเสด็จกลับประเทศไทยหลังลี้ภัยในเขมร 16 ปี และทรงตั้งโรงงานทอผ้าที่อำเภอหัวหิน ทอผ้าโขมพัสตร์ขึ้นจำหน่ายได้รับความนิยมโด่งดังระดับโลก
ปี ค.ศ.1949 ทรงขายบ้านพร้อมที่ดินผืนนี้ให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ด้วยราคา 1,850,000 บาท ภายหลังรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ขายที่ดินสองแปลงส่วนที่ติดกับถนนวิทยุที่มีการพัฒนาเป็นอาคารสำนักงานในเวลาต่อมา
เมื่อเวลาผ่านไปส่วนงานต่างๆ และจำนวนเจ้าหน้าที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้อาคารสำนักงานหลังเก่ามีพื้นที่ไม่เพียงพอ ในปี ค.ศ.2001 จึงได้สร้างอาคารอีกหลังตรงส่วนติดฝั่งถนนวิทยุให้เป็นส่วนงานกงสุล
เมื่อกระทรวงต่างประเทศเนเธอร์แลนด์เห็นว่า อาคารสำนักงานหลังเก่าเล็กและไม่ได้มาตรฐานของสำนักงานที่ทันสมัย จึงได้รื้ออาคารหลังเก่า รวมถึงหลังที่สร้างติดส่วนถนนวิทยุออกไป และสร้างอาคารสำนักงานหลังใหม่บริเวณฝั่งซอยต้นสนขึ้นมาแทนเมื่อปี ค.ศ.2004 แล้วเสร็จในปี ค.ศ.2005 ซึ่งเป็นที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน
ตัวอาคารแสดงถึงความเป็นดัตช์ เน้นการออกแบบที่เปิดโล่ง โปร่ง และสวยงามอย่างสมบูรณ์แบบ เข้ากับลักษณะเมืองในเขตร้อนอย่างประเทศไทย โดยมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรมในการใช้ชีวิตทั้งภายในและภายนอกอาคาร รายรอบด้วยต้นไม้สูงใหญ่ที่ช่วยปกป้องอากาศในเขตร้อน
การเลือกสร้างอาคารสำนักงานบริเวณฝั่งซอยต้นสนก็เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดบนถนนวิทยุ รวมถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวและการรักษาความปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ทางเข้าหลักของสถานทูตจึงเปลี่ยนจากถนนวิทยุมาเป็นฝั่งซอยต้นสนตั้งแต่นั้นมา
ไม่นานหลังจากย้ายไปที่อาคารใหม่ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2005 มีการรื้ออาคารสถานทูตเก่าและเริ่มการปรับปรุงทำเนียบเอกอัครราชทูตเพื่อการตกแต่งภายในให้ทันสมัย ขณะที่มุ่งรักษาและฟื้นฟูลักษณะของสถาปัตยกรรมดั้งเดิม รวมทั้งการก่อสร้างอาคารสองชั้นเพิ่มเติมด้วย
การก่อสร้างเริ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี ค.ศ.2006 แล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2007 และในที่สุดเอกอัครราชทูตก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านพักหลังปรับปรุงใหม่ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน หลังจากที่ย้ายไปพำนักที่บ้านในซอยพระพินิจ ถนนสาทร เป็นการชั่วคราวเกือบ 2 ปี
ในเวลาเดียวกัน พื้นที่บริเวณสวนก็ได้รับการออกแบบตกแต่งใหม่เช่นกันตามแบบแปลนของสถาปนิก ต้นไม้และพุ่มไม้หลายต้นถูกตัดหรือตัดแต่งเพื่อรับแสงสว่าง ให้โปร่งโล่ง สามารถมองเห็นอาคารทำเนียบได้จากถนนวิทยุ และตามแนวคิด “สะพานและน้ำ” จึงมีการสร้างสะพานข้ามคลองที่มีอยู่เดิม รวมทั้งขยายลำคลองให้ใหญ่ขึ้นด้วย
เนเธอร์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งสหภาพยุโรป ได้จัดทำประติมากรรมฝูงวัวสหภาพยุโรป “EU Herd of Cows” ซึ่งเป็นการริเริ่มร่วมกันของเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำกรุงปรากและองค์การจัดขบวนพาเหรดวัวของกรุงปราก มีจุดประสงค์คือ สหภาพยุโรปได้ขยายสมาชิกครั้งใหญ่ที่สุดในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.2004
และเพื่อทำให้เกิดความใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ฝูงวัวหลากสีสันจึงเป็นตัวแทนของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและคณะกรรมาธิการยุโรป ทาสีสัญลักษณ์แห่งชาติ และวัวดัตช์ทาสีเป็นรูปดอกทิวลิป
ประติมากรรมฝูงวัวอียูที่ทำจากโพลิเอสเตอร์นี้ได้ไปอวดโฉมมาแล้วทั่วยุโรปและเอเชีย และยกขบวนมาตั้งแสดงที่สวนเบญจศรีในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.2008 ภายหลังจากที่เก็บไว้เป็นเวลานานจึงได้นำมาตั้งแสดงที่บริเวณสวนในสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์
ผู้ที่สัญจรไปมาบนถนนวิทยุก็มักจะแลเห็นฝูงวัวหลากสีสันเหล่านี้ตัดกับพื้นที่สีเขียวขจีของสวนสวย
“ผมชอบวัว แต่คิดว่าตอนนี้เรามีวัวมากเกินไปกว่า 20 ตัว และกำลังอยู่ระหว่างการโยกย้ายวัวส่วนหนึ่งไปตั้งแสดงที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์ในภูมิภาคเดียวกันนี้”
“มีกิจกรรมมากมายที่จัดขึ้นในบริเวณสถานเอกอัครราชทูต เนื่องจากเราต้องการใช้ประโยชน์จากสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สวยงามของเราให้มากที่สุด โดยประมาณสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงอาหารมื้อกลางวันหรือมื้อค่ำ การบรรยายสรุปสำหรับนักเรียนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ การพบปะกับชุมชนชาวดัตช์เพื่อจัดกิจกรรมทางศิลปะหรือสังคม”
เมื่อถามถึงความรู้สึกในการใช้ชีวิตที่มีสำนักงานและที่พักอาศัย อยู่ภายในอาณาบริเวณเดียวกัน ท่านทูตเคส ราเดอ ตอบว่า
“นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่มีบ้านพักอยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่ทำการสถานทูต เราทุกคนต่างก็ทราบดีถึงปัญหาด้านการจราจรที่กรุงเทพฯ กำลังเผชิญอยู่ จึงทำให้ผมไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้เลย เพราะใช้เวลาเดินทางเพียงหนึ่งนาทีเท่านั้น ก็ถึงที่ทำงาน นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้ผมออกไปทำงานได้ตรงตามเวลาที่ผมต้องการอีกด้วย”
“มีข้อเสียเปรียบเพียงอย่างเดียวคือ ผมไม่อาจมีข้ออ้างใดๆ หากมาทำงานสาย”