บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ/’วิวาทะ’ ว่าด้วยแร็พ ‘ประเทศกูมี’

บทความพิเศษ /  นงนุช สิงหเดชะ

 

‘วิวาทะ’ ว่าด้วยแร็พ ‘ประเทศกูมี’

 

หลังจากมีกลุ่มนักร้องเพลงแร็พ ที่อ้างว่าเป็นแร็พต้านเผด็จการ ได้ปล่อยเพลงชื่อ “ประเทศกูมี” ผ่านทางยูทูบซึ่งเนื้อหาเน้นโจมตีรัฐบาล คสช.ว่าเป็นเผด็จการ ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพ สิ่งที่เห็นชัดคือกลุ่มคนที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล คสช. กระโดดเข้าโหนกระแสอย่างอึกทึกโครมครามมากกว่าใคร

เป็นการกระโดดเข้าโหนในลักษณะดีใจ สะใจ เพราะ “เข้าทาง” เป็นประโยชน์กับตัวเอง

เพลงนี้ถูกปล่อยออกมาในช่วงใกล้เลือกตั้ง ดังนั้น ย่อมถูกมองว่าต้องการโน้มน้าวคนรุ่นใหม่ ที่ประเมินว่าการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้คนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกจะมีมากถึง 7 ล้านคน ซึ่งหากแปลงออกมาเป็นเก้าอี้ ส.ส. แล้วก็ได้มากโข

ดังนั้น คนกลุ่มนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อผลการเลือกตั้งครั้งหน้าพอสมควร

เพลงนี้ยาวมาก เนื้อหาส่วนใหญ่ก็ไม่มีปัญหา ติดอยู่เพียงใช้คำหยาบมากเกินไป และมีบางประโยคที่หมิ่นเหม่ว่าจงใจหมายถึงอะไร เช่น “ประเทศที่คนดีๆ มีสดุดีเป็น idol” ซึ่งเกิดคำถามว่า สดุดี หมายถึงใคร

หรือท่อนที่ว่า “การแบ่งแยกประชาชนเป็นฝักเป็นฝ่ายคือไม้ตายของอำนาจรัฐฝักใฝ่เผด็จการ” อันนี้ดูเหมือนว่าจะด่าผิดรัฐบาล เพราะภาพการแยกประชาชนเป็นฝักเป็นฝ่าย น่าจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มโนว่าเป็นประชาธิปไตย เช่น ยุคของคุณทักษิณมากกว่า

จากประโยคเด็ด “จังหวัดไหนไม่เลือกพรรคไทยรักไทยก็รองบประมาณทีหลัง ได้รับการดูแลทีหลัง”

 

โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายคุณทักษิณ ได้ทีออกมาแซะรัฐบาลโดยเปรียบเทียบว่า ยอดคนดูเพลง “ประเทศกูมี” มากถึง 12 ล้านวิว สูงกว่าเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ของ คสช.ซึ่งมีเพียง 2.5 ล้านวิว

พร้อมกันนี้ก็ระบุว่า เหตุที่เพลงนี้ดังเพราะคนในรัฐบาลและตำรวจออกมาช่วยโปรโมต ทั้งที่ควรจะยอมรับความเห็นต่างเพื่อเป็นแบบอย่างให้เยาวชน

แต่คำกล่าวอ้างของโอ๊คเรื่องให้ใจกว้างยอมรับความเห็นต่าง ก็ดูเหมือนจะถูกย้อนเกล็ดจาก นที เอกวิจิตร หรืออุ๋ย-บุดดาเบลส นักร้องแนวฮิปฮอป ที่แฉว่าลูกชายอดีตนายกฯ เคยใช้มีดกรีดหน้านักร้องแร็พที่วิจารณ์ตัวเองมาแล้ว แต่ไม่มีใครกล้าเอาเรื่อง

เพราะกลัวอิทธิพล

 

ประเด็นเรื่องโอ๊คเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความเห็นอุ๋ยทางเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเพลง “ประเทศกูมี” หลังจากมีผู้ขอให้เขาแสดงความเห็น ซึ่งอุ๋ยตอบว่า “ถ้าไม่ผิดกฎหมายก็เป็นสิทธิของเค้า (ที่จะร้อง)…อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่ที่แกล้งโง่ไม่เห็นว่าเผด็จการในคราบประชาธิปไตยเป็นยังไง น้องคงโตไม่ทันยุครัฐบาลประชาธิปไตย คุมสื่อหนักกว่านี้ พูดไปไม่ฟังหรอกครับ บางเรื่องต้องใช้เวลากว่าจะเข้าใจ ถึงมีคำว่าวัยวุฒิ”

ต่อมามีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Patchara เข้ามาโต้ตอบว่า “ด่ารัฐบาลปูกันทั้งประเทศตอนนั้นไม่เห็นโดนจับกัน พอมารัฐบาลนี้ มันตรงกับเนื้อเพลงจริงๆ โดนเรียกซะงั้น”

อุ๋ยตอบว่า ไม่โดนจับแต่โดน (ระเบิด) M79

เจ้าของคอมเมนต์บอกว่าเป็นเหตุผลคนละกรณีกัน แต่อุ๋ยแย้งว่า “กรณีเดียวกันเลยครับ วิจารณ์รัฐบาล เอกยุทธ อัญชันบุตร ชิปปิ้งหมู ตอนพี่เด๋อ (ดอกสะเดา) จะสร้างหนังเรื่องนายโอ๊คอ๊าค สันติบาลไปบุกบ้าน คุณคงไม่รู้ว่าลูกชายอดีตนายกฯ เอามีดกรีดหน้า Rapper ที่วิจารณ์เค้ามาแล้ว แต่เค้ากลัวอิทธิพลไงครับ เลยไม่กล้าเอาเรื่อง”

ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้โต้แย้งอุ๋ยอีกว่า หากเป็นรัฐบาลปกติจะสามารถชุมนุมได้ แต่รัฐบาลไม่ปกติชุมนุมไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้ โดนจับปรับทัศนคติ

อุ๋ยตอบว่า “ออกมาได้แต่โดนฆ่าไงครับ รัฐบาลนี้ (คสช.) ก็เห็นโดนทำการ์ตูนล้อเลียน ด่าหยาบคายกันเต็มเฟซบุ๊ก รัฐบาลประชาธิปไตยใช้กองกำลังมาฆ่าคนเห็นต่าง โดนจับติดคุกกันไปแล้ว ก็เห็นๆ อยู่”

ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายเดิมตอบว่า อันนี้เป็นเรื่องประชาชนฝั่งตรงข้ามรบกันเพื่อให้นักการเมืองมีอำนาจ แต่ปัจจุบันเป็นเรื่องของประชาชนกับรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม เป็นคนละกรณีกัน

อุ๋ยตอบว่า ไม่ใช่ประชาชนรบกัน ตอนนั้นพันธมิตรฯ (เสื้อเหลือง) โดนระเบิดแขนขาด เสียชีวิตไปตั้งเท่าไหร่

 

ประเด็นของชิปปิ้งหมู และเอกยุทธ อัญชันบุตร ที่อุ๋ยกล่าวถึงนั้นถูกฆ่าอย่างลึกลับ ในรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์ตามลำดับ โดยกรณีชิปปิ้งหมู หรือนายกรเทพ วิริยะ เขาคือผู้ให้ข้อมูลสำคัญแก่ฝ่ายค้านเรื่องการเลี่ยงภาษีการนำเข้าอุปกรณ์สื่อสารของบริษัทชิน แซทเทิลไลท์

หลังจากนั้น นายกรเทพได้หลบหนีไปกบดานที่ จ.เชียงราย แต่สุดท้ายถูกยิงตายเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2546 สุดท้ายตำรวจอ้างว่าเป็นเพราะนายกรเทพพัวพันกับยาเสพติดจึงอาจถูกฆ่าโดยคนในขบวนการ

ส่วนกรณีของนายเอกยุทธ เจ้าของเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ ซึ่งเป็นเว็บแนวเปิดโปงเรื่องลับๆ นั้นถือเป็นคู่กรณีของคุณยิ่งลักษณ์ เนื่องจากนายเอกยุทธออกมาพูดแย้มๆ ว่ามีคลิปลับเกี่ยวกับคุณยิ่งลักษณ์

ต่อมาก่อนเสียชีวิต นายเอกยุทธอ้างว่าถูกบอดี้การ์ดของคุณยิ่งลักษณ์ (ซึ่งนายเอกยุทธอ้างว่าเป็นคนใกล้ชิดคุณทักษิณ) เข้ามาทำร้ายร่างกายภายในร้านกาแฟของโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ หลังจากเขาเจอคุณยิ่งลักษณ์ที่โรงแรมแห่งนี้ แต่เนื่องจากบอดี้การ์ดของเขามาช่วยไว้ทัน จึงรอดพ้นจากการถูกทำร้าย

คดีนี้จบลงด้วยการที่สรุปว่านายเอกยุทธถูกฆ่าชิงทรัพย์ธรรมดา แต่ก็ดูเหมือนเป็นการจบคดีที่คาใจอยู่หลายประเด็น

 

เพลงประเทศกูมี ถือว่าโด่งดังได้รับความสนใจและเกิดวิวาทะอย่างกว้างขวางในท่ามกลางการเมืองที่ยังคุกรุ่น และแน่นอนฝ่ายที่อ้างตัวว่าอยู่ซีกประชาธิปไตย อาจถือว่าเป็นความได้เปรียบ เพลงนี้ถูกส่งมาอย่างถูกที่ถูกเวลา

อย่างไรก็ตาม เพลงนี้ก็เปิดโอกาสให้ขั้วตรงข้ามสวนหมัดออกไป และเปิดแผลของรัฐบาลที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยได้พอๆ กัน กลายเป็นว่า เรื่องราวด้านลบของอดีตผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งบางคน ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาให้มีภาพแจ่มชัดอีก เพราะมีหลายคนแต่งเพลงแร็พออกมาตอบโต้ “ประเทศกูมี”

วิวาทะอันสืบเนื่องจากเพลงนี้ ยังกระตุกให้ฉุกคิดว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง

บางทีก็น่าตั้งคำถามว่า สมมุติเพลงนี้นำมาร้องในรัฐบาลเลือกตั้งบางรัฐบาล คนร้องจะยังมีสวัสดิภาพที่ดี จะสามารถเดินถนนโดยไม่ถูกทำร้ายร่างกาย หรือโดนใครก็ไม่รู้เอาปืนไปยิงถล่มบ้านหรือเปล่า

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบางรัฐบาล ประชาชนมีเสรีภาพในการชุมนุมจริง ไม่โดนจับไปปรับทัศนคติ ไม่โดนจับเข้าคุก แต่กองกำลังเถื่อนนอกกฎหมายจะเป็นฝ่ายลงมือในนามประชาชนที่รักผู้นำรัฐบาล

มีให้เห็นกันมาแล้ว เช่น ฝ่ายเสื้อเหลืองที่ไปประท้วงคุณทักษิณที่เซ็นทรัลเวิลด์ หลายคน (ที่เป็นคนแก่) ถูกทำร้ายร่างกายจนสาหัส โดยมีตำรวจบางคนอำนวยความสะดวก ซึ่งยุคนั้นถูกขนานนามว่ารัฐตำรวจ

คนเสื้อเหลืองชุมนุมที่อุดรธานีภายในสวนสาธารณะ ถูกฝ่ายเสื้อแดงนำโดยนายขวัญชัย ไพรพนา ยกพวกเอาไม้และอาวุธนานาชนิดไล่ทำร้ายร่างกายสาหัสหลายคน

ยุคประชาธิปไตยจอมปลอม อาจมีเสรีภาพจริง แต่อาจไม่มีชีวิตรอด

บางทีการโหนกระแสเพลงด่า คสช.ในครั้งนี้ของซีกที่มโนตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย โดยหวังว่าเพลงนี้จะทำให้ชนะเลือกตั้ง หากออกนอกหน้า ดี๊ด๊ามากเกินไป อาจจะเกิดกระแสตีกลับก็ได้

เพราะคนยังไม่ลืมภาพเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตยจอมปลอม