ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน วิจารณ์ ท่านพุทธทาสภิกขุ อนัตตา “จิตว่าง”

น่ายินดีที่ มงคล เดชนครินทร์ แปลงานเขียนภาษาอังกฤษของ ศาสตราจารย์ ดร.ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ออกมาเป็นภาษาไทยในชื่อ

“พุทธทาสภิกขุ พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท และการปฏิรูปเชิงนวสมัยนิยมในประเทศไทย”

ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2556 ผลงานนี้ได้ประมวลผลงานเพื่อรื้อฟื้น ปรับโครงสร้างทางทฤษฎีของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท โดยท่านพุทธทาสภกขุ 2 อย่างที่สำคัญ

1 พยายามทำลายความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติของชาวพุทธไทยส่วนใหญ่ ด้วยการนำบทบาทของฆราวาสที่เกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องทางโลกเข้าไปรวมไว้ในคติทางพุทธศาสนาที่ยึดหลักคำสอนเป็นสำคัญ

1 พยายามให้คุณค่าทางศาสนาที่แท้จริงแก่บทบาทของฆราวาส การเกี่ยวข้องกับงานทางโลก อีกทั้งโลกทางสังคมและวัตถุเอง

สิ่งที่ใช้เป็นจุดศูนย์รวมความพยายามที่จะปรับรื้อระบบด้วยการนำกิจกรรมทางโลกเข้ารวมไว้กับการปฏิบัติทางจิตวิญญาณ ก็คือการแปลความแนวคิดเกี่ยวกับอนัตตาหรือความไร้ตัวตนแบบพิเศษโดยใช้คำในภาษาไทยว่า

“จิตว่าง” (จิตที่ว่างจากความรู้สึกเป็นตัวตัน) ได้นิยาม “จิตว่าง” ว่าเป็นบาทฐานของนิพพาน

นิยามนี้ไม่เหมือนความหมายดั้งเดิมที่เคยยอมรับกันมาซึ่งถือว่านิพพานเป็นภาวะอันสูงสุดที่จะเข้าถึงได้ก็ต่อเมื่อคนเราตัดขาดจากเรื่องทางโลกแล้วเท่านั้น

ศาสตราจารย์ ดร.ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน เห็นว่า

 

คําว่า “จิตว่าง” เป็นคำในภาษาไทยที่ท่านพุทธทาสคิดขึ้นมาใช้แทนคำว่า “สุญญตา” ในภาษาบาลี (หรือ “ศุนยตา” ในภาษาสันสกฤต)

ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า “ความว่าง” หรือ “ความว่างเปล่า”

คำว่า “จิตว่าง” นี้ในภาษาไทยอาจมีความหมายตามตัวอักษรว่า “จิตที่ว่างเปล่า” ก็ได้

อย่างไรก็ตาม ในการแปลความหมายของคำคำนี้เราต้องระมัดระวังให้ดี เพราะแนวคิดเกี่ยวกับ “ว่าง” หรือ “สุญญะ” ในคติฝ่ายเถรวาทนั้นมีแง่มุม 2 อย่างที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก แต่ก็เกี่ยวเนื่องกัน

อย่างแรก สุญญตามีความหมายเหมือนอนัตตาหรือความไร้แก่นสารอันเป็นลักษณะเชิงปรากฏการณ์ของทุกสิ่งทุกอย่าง

คือ เป็นความว่างโดยพื้นฐานของสัตวะทั้งหลาย

สุญญตายังมีความหมายอย่างที่ 2 ซึ่งมีความสำคัญในเชิงจริยธรรม คือ หมายถึง “ความว่างจากกิเลสตัณหา ความชั่วและกรรม”

 

ในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเท่าที่ผ่านมานั้นคำว่า สุญญตา จะใช้กันมากที่สุดในความหมายของอนัตตาที่เกี่ยวกับโลกภายนอก คือ หมายถึงความคิดเกี่ยวกับความไร้แก่นสารของสิ่งต่างๆ ภายนอกร่างกายคน

ในแง่นี้สุญญตาจึงหมายถึงความว่าง หรือความว่างเปล่าของโลก

ดังที่แสดงไว้ด้วยข้อความต่อไปนี้ซึ่งมาจากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คือ “เพราะว่างจากตัวตนหรือสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับตัวตน จึงกล่าวได้ว่าโลกนี้ว่าง”

ความหมายอย่างที่ 2 ของสุญญตาก็คือ ความว่างจากกิเลสหรือความเศร้าหมองทางศีลธรรม

ซึ่งคติในพระพุทธศาสนาหมายถึงอุเบกขา หรือความสมดุลทางจิต นั่นคือ ภาวะที่จิตของคนเราไม่ถูกดึงเข้าหา หรือถูกผลักออกจากใครๆ หรือสิ่งใดๆ

แม้ว่านิกายเถรวาทแบบดั้งเดิมจะเน้นที่ความหมายอย่างแรกของสุญญตา คือ เน้นที่ความหมายเหมือนกับอนัตตา ความไร้แก่นสารของสิ่งต่างๆ ในโลก ดังที่กล่าวไว้ข้างบนนี้ก็ตาม เมื่อท่านพุทธทาสแสดงแนวคิดเรื่องจิตว่างท่านกลับเน้นมากที่สุดที่ความหมายอย่างที่ 2

คือ ความว่างจากกิเลสตัณหา

ในการแปลความหมายของอนัตตานั้นท่านพุทธทาสเน้นย้ำความสำคัญสูงสุดที่ภาวะทางจิตที่ไม่ยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรือที่ความไม่เห็นแก่ตัวนั่นเอง ท่านไม่ได้ตัดทิ้งความหมายอย่างแรกของอนัตตาออกไปจากงานเขียนของท่าน แต่ท่านไม่ค่อยจะเน้นย้ำความหมายนี้เท่าไรนัก

การที่น่าเน้นย้ำความหมายของอนัตตาหรือจิตว่างในแง่มุมทางจริยธรรมก็เนื่องจากเหตุผลในทางปฏิบัติ ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า

“การแปลความหมายคำว่าอนัตตาและอัตตาเท่าที่ผ่านมานั้นไม่ได้ก่อประโยชน์อย่างเต็มที่เลย เราจะต้องแปลความหมายของคำทั้งสองนี้เสียใหม่เพื่อให้อำนวยประโยชน์และเป็นประโยชน์แก่คนเราทุกคนที่ต้องการระงับดับทุกข์”

 

สรุปแล้ว ท่านพุทธทาสเห็นว่า ความหมายแบบดั้งเดิมของอนัตตาที่แสดงถึงความไร้แก่นสารหรือตัวตนนั้นยังไม่ได้ก่อประโยชน์สูงสุดแก่ความหมายในทางปฏิบัติของผู้ที่ต้องการบรรลุความดับทุกข์

ท่านได้แปลความหมายของ “อัตตา” เสียใหม่ว่า “ความยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง”

และแปลความหมายของ “อนัตตา” เสียใหม่ว่า แสดงถึง “ความไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง”

โดยที่ท่านเห็นว่าความหมายของคำทั้งสองนี้จะมีประโยชน์แก่การปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ได้มากกว่าความหมายแบบดั้งเดิม