วิรัตน์ แสงทองคำ : “กรุงเทพ” การเปลี่ยนโฉมที่ดินสู่ย่านเศรษฐกิจสำคัญ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ที่ผ่านมา การปรับโฉมกรุงเทพฯ สะท้อนยุคสมัยต่างๆ ดูจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

บางเรื่องราว บางสถานที่ และบางกรณี ควรยกขึ้นมาเป็นภาพ “ตัวแทน” ประหนึ่ง เป็น “จิ๊กซอว์” พอให้เห็นภาพความเคลื่อนไหว

อย่างที่ควรเป็นไป

 

ย่านวังบูรพา

การเกิดขึ้นย่านวังบูรพา ให้ภาพการเปลี่ยนแปลงหัวเลี้ยวหัวต่อยุคสมัยกรุงเทพฯ เชื่อมโยงกันถึง 2 ช่วง

วังบูรพาภิรมย์ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ สร้างขึ้น (ปี 2418) พระราชทานให้พระราชโอรส (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช-ต้นสกุลภาณุพันธุ์) ในยุคอาณานิคม กรุงเทพฯ กำลังปรับโฉมหน้าด้วยสถาปัตยกรรมอิทธิพลในยุคนั้น (Colonial architecture) อย่างที่อ้างไว้ในตอนที่แล้ว Westernization of Siam กับแผนการปรับโฉมหน้ากรุงเทพฯ

กระบวนการดังกล่าวดำเนินอย่างต่อเนื่อง ให้ภาพช่วงเวลาสำคัญกรุงเทพฯ ช่วงต่อรัชกาลที่ 5 และ 6 “In 1910, at the time of King RamaV”s death, Thailand had become a modern nation recognized by the Western world,” (Thailand : Archipelago Guides 1994 หนังสือที่ผมมักอ้างอิง หนังสือคู่มือการท่องเที่ยว เสนอภาพสังคมไทยได้อย่างน่าทึ่ง) ดังมุมมองโลกตะวันตกที่ว่านั้น

กรณีวังบูรพากรณีตัวอย่าง ว่าด้วยความผันแปรของกรุงเทพฯ อ้างอิงกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปด้วย

ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่อเนื่องกับสงครามโลกครั้งที่สอง ทายาทราชสกุลภาณุพันธุ์ได้ตัดสินใจขายวังบูรพาให้กับโอสถ โกศิน นักกฎหมายและนักธุรกิจยุคนั้น จากนั้นได้รื้อวัง ถือเป็นกรณีแรกๆ ซึ่งได้รับความสนใจมากทีเดียวในเวลานั้น โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนจากที่พำนักราชสกุล ไปสู่วงจรเชิงพาณิชย์ เป็นศูนย์การค้า และโรงภาพยนตร์

ช่วงเปลี่ยนผ่านจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ย่านวังบูรพาโครงการใหญ่ได้เชื่อมโยงกับย่านใกล้เคียง-ศาลาเฉลิมกรุง อันที่จริงโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เป็นแผนการในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

แต่ว่าจะสร้างเสร็จกินเวลานานมาก กว่าจะเปิดฉายภาพยนตร์เรื่องแรก (2496) ได้ล่วงเลยสู่ยุคการเปลี่ยนการปกครองไปนานทีเดียว

ย่านวังบูรพาค่อยๆ กลายเป็นย่านสำคัญมีพลังอย่างเหลือเชื่อในสังคมและวิถีชีวิตในกรุงเทพฯ สมัยนั้นต่อเนื่องมานานในช่วงสงครามเกาหลี ก่อนจะเข้าสู่ช่วงต้นๆ ยุคสงครามเวียดนาม ศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์สามแห่ง คือโรงภาพยนตร์คิงส์ โรงภาพยนตร์ควีนส์ และโรงภาพยนตร์แกรนด์เปิดตัวขึ้น ผนวกกัน มีแรงดึงดูดอย่างมากในเวลานั้น

 

ดุสิตธานี-ย่านสีลม

จาก “บ้านศาลาแดง” ถึง “ดุสิตธานี” เป็นภาพสะท้อนกระแสการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นในอีกยุคหนึ่งถัดมา

“ท่านเสนาบดีจึงเดินลงบันไดไม้สักมาที่เฉลียงหินอ่อน หน้าตึก “บ้านศาลาแดง” รถยนต์ยี่ห้อ Essex จอดติดเครื่องรออยู่แล้ว Essex เป็นรถยนต์สร้างในอังกฤษ เจ้าพระยายมราชได้สั่งเข้ามาลองใช้เป็นรถยนต์ส่วนตัวในประเทศไทยรุ่นแรกๆ”

“…ถนนในสมัยนั้นก็ยังเป็นดินโรยด้วยหิน ระหว่างทางทั้งสองข้างเป็นป่าไผ่หนาทึบเป็นหย่อมๆ ไปตลอดทาง…กรุงเทพมหานครสมัยนั้นยังคงเป็นเมืองเล็กที่กำลังเริ่มขยายตัว และเริ่มจะเจริญขึ้น ถนนหนทางยังมีไม่มากนัก ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาและริมคลองใหญ่ การค้าขายจำกัดอยู่ในวงชาวจีนที่ตั้งร้านค้าขนาดเล็กเป็นห้องแถวอยู่ริมถนน และมีห้างฝรั่งอยู่เพียง 2-3 แห่ง” ภาพกรุงเทพฯ เมื่อกว่าศตวรรษที่แล้ว (อ้างจากหนังสือ “ยมราช ถึง สุขุมวิท เหตุการณ์ใน 4 รัชกาล” โดยประสงค์ สุขุม (ทายาทรุ่นที่สามของเจ้าพระยายมราช)

เรื่องราวเจ้าพระยมราช ข้าราชการคนสำคัญยุคต่อเนื่องจากรัชกาลที่ 5 และ 6 ด้วยบทบาทสำคัญในยุค Westernization of Siam ว่าด้วยบทบาทสำคัญในการปรับโฉมหน้าใหม่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม รวมไปถึงการสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของเมืองสมัยใหม่ ตั้งแต่โรงไฟฟ้า ระบบประปา และเป็นผู้ก่อตั้งโรงงานซีเมนต์แห่งแรกของไทยด้วย

ส่วนบ้านศาลาแดง “มีตึกที่สร้างแบบตะวันตกหลังใหญ่อยู่หลังหนึ่ง… บ้านไม้ภายในบริเวณอีกหลายหลัง” (อ้างแล้ว) มีเรื่องราวมาก่อนหน้าแต่ไม่นานนัก เจ้าของคนแรกเป็นฝรั่ง ก่อนจะมาเป็นของพระคลังข้างที่

จากนั้นเป็นที่พำนักของเจ้าพระยายมราชและครอบครัว ซึ่งเป็นเจ้าของและอาศัยอยู่ยาวนานประมาณ 5-6 ทศวรรษ จนมาถึงช่วงประวัติศาสตร์การก่อกำเนิดโรงแรมดุสิตธานี

ว่ากันว่า “โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ” ตั้งอยู่บนถนนสีลม ถือเป็น “สัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ยุคสมัยใหม่แห่งแรก” สร้างขึ้นเมื่อปี 2513 ตั้งตระหง่านเป็นอาคารที่สูงโดดเด่นใจกลางกรุงเทพฯ ตํานานโรงแรมดุสิตธานี โรงแรมชั้นหนึ่งรายแรกๆ ของไทย ท่ามกลางโอกาสที่เปิดขึ้นอย่างกว้างขวางสำหรับธุรกิจไทย ยุคสงครามเวียดนาม เป็นระลอกคลื่นการลงทุนจากธุรกิจอเมริกัน และตามมาด้วยญี่ปุ่น

อีกราวครึ่งศตวรรษถัดมา โรงแรมดุสิตธานีกำลังมีการปรับโฉมหน้าใหม่อีกครั้ง

 

“เซ็นทรัลเวิลด์”-ย่านใหม่

จาก “วังเพชรบูรณ์” จนถึง “เซ็นทรัลเวิลด์”-ภาพสะท้อนกระแสการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ในยุคต่อมา เป็นไปตามกระแสที่น่าสนใจ

นั่นคือการกำเนิดอย่างค่อยเป็นค่อยไปของย่านใหม่ โดยเฉพาะจากสยามเซ็นเตอร์ (เปิดบริการปี 2516) และสยามดิสคัฟเวอรี่ (เปิดบริการปี 2540) ในทำเลสำคัญ ซึ่งเชื่อมโยงเข้ากับศูนย์กลางระบบขนส่งมวลชนใหม่ ได้ปรับโฉมศูนย์การค้าเก่า ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ ผนึกรวมสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ เข้ากับสยามพารากอน (ปี 2546)

ความจริงแล้ว จาก “วังเพชรบูรณ์” ก่อนจะถึง “เซ็นทรัลเวิลด์”-มีคั่นจังหวะด้วย “เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์” (เปิดในปี 2532) ในช่วงเวลาเศรษฐกิจกรุงเทพฯ เฟื่องฟูที่สุดยุคหนึ่ง

“ที่ดินผืนใหญ่ย่านราชประสงค์เนื้อที่ประมาณ 65 ไร่ เดิมเป็นวังของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑานุชธวาดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย พระน้องยาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีชื่อว่า “วังเพชรบูรณ์” เมื่อสิ้นพระชนม์ วังเพชรบูรณ์ตกทอดถึงทายาท ต่อมาที่ดินแปลงนี้ถูกนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ธนาคารศรีนคร เพื่อดำเนินธุรกิจสายการบินพาณิชย์แอร์สยาม แต่แล้วก็ประสบปัญหาอย่างหนักจนต้องปิดกิจการ ธนาคารศรีนครจึงยึดที่ดินแปลงนี้ไป สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ตัดสินใจซื้อที่ดินผืนนี้เป็นกรณีพิเศษ ในปี 2526 บริษัท วังเพชรบูรณ์ จำกัด ของตระกูลเตชะไพบูลย์ (เจ้าของธนาคารศรีนครนั่นเอง) เป็นผู้เช่าเพื่อสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ กว่าจะเปิดตัวต้องเจออุปสรรคและความขัดแย้งมากมาย เป็นตำนานหน้าหนึ่งที่ระทึกใจ”

ผมเคยสรุปเรื่องราวอีกกรณีหนึ่งไว้ ว่าด้วยการปรับเปลี่ยน รื้ออาคารประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคม เพื่อตอบสนองความเป็นไปในยุคใหม่ยุคใกล้เข้าไปอีก

ในที่สุด ปี 2545 กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้ามารับช่วงบริหารกิจการ ตามมาด้วยด้วยแผนการปรับปรุงครั้งใหญ่ พัฒนาเป็นศูนย์การค้าใหญ่ พร้อมด้วยสำนักงานและโรงแรม พร้อมสร้างทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน จึงกลายเป็น “เซ็นทรัลเวิลด์” (เปิดในปี 2549)

เรื่องราวยุคอาณานิคม กับยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับกระบวนการปรับเปลี่ยน เมื่อมองความเป็นไปเชิงสัญลักษณ์กรุงเทพฯ ที่จับต้องได้ ได้เดินหน้าต่อเนื่องไปในทิศทางที่ว่าไว้ข้างต้น จวบจนปัจจุบันก็ว่าได้ อย่างอีกกรณีหนึ่งที่ควรอ้างอิง- “เอเชียทีคฯ”

จากท่าเรือ และตึกสำนักงานบริษัทอีสต์เอเชียติ๊ก บริษัทเดินเรือสัญชาติเดนมาร์ก เปิดกิจการในยุคอาณานิคมอย่างที่ว่าไว้ข้างต้น เป็นทั้งโกดัง โรงเลื่อย ในยุคสัมปทานป่าไม้ตกอยู่ในกำมือเจ้าอาณานิคม ต่อมามีการปรับเปลี่ยนบทบาทช่วงสั้นๆ ในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นใช้เป็นฐานและคลังแสง

และแล้วเรื่องราวข้างต้น มาเชื่อมโยงกับธุรกิจไทย กลุ่มธุรกิจซึ่งเติบโตมาจากสัมปทานผูกขาดธุรกิจสุรา ราวๆ ปี 2530 เป็นเวลาเดียวกันกับอีสต์เอเชียติ๊ก ผู้นำการค้ายุคอาณานิคมกำลังเสื่อมถอย ท่ามกลางกรุงเทพฯ ยุคใหม่ดำเนินไป ที่ดินและสิ่งก่อสร้างเก่าแก่นั้นถูกเปลี่ยนมือ ในที่สุดกลายเป็นศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตามแนวทางธุรกิจสมัยใหม่ ซึ่งปรับเปลี่ยนแนวทางไปจากเดิมบ้าง จากกรณีวังบูรพา ดุสิตธานีและเซ็นทรัลเวิลด์ “ฟื้นฟูสถาปัตยกรรมเดิมในช่วง 2450-2490 และสร้างใหม่ในบางส่วนให้กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมยุคอาณานิคม”

ที่ว่าไว้แต่แรก “ที่ผ่านมา การปรับโฉมกรุงเทพฯ สะท้อนยุคสมัยต่างๆ ดูจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน” นั้น แต่จากนี้อาจไม่เป็นเช่นนั้น

เมื่อปะติดปะต่อกับภาพการเปลี่ยนบทบาทพื้นที่สำคัญๆ หลายแห่งในช่วงใกล้ ดูเหมือนว่ากรุงเทพฯ ได้ขยับปรับทิศบ้าง ให้มีบุคลิกเก่า-ใหม่ ย้อนยุค-สมัยใหม่ เป็นไปอย่างผสมผสานมากขึ้น

 

สวนสาธารณะสำคัญในกรุงเทพมหานคร

2468
สวนลุมพินี หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า สวนลุม สวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย เปิดขึ้น ในปัจจุบันถือว่าอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ที่ดินเดิมเนื้อที่ 360 ไร่ ณ ทุ่งศาลาแดง

2523
สวนจตุจักร เป็นสวนสาธารณะตอนเหนือของกรุงเทพฯ ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออกจรดถนนพหลโยธิน ทิศเหนือจรดถนนวิภาวดีรังสิต ทิศตะวันตกและทิศใต้จรดถนนกำแพงเพชร 3

2530
สวนหลวง ร.9 สวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ อยู่ทางตะวันออกของกรุงเทพมหานคร

2535
สวนเบญจกิติ ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่โรงงานยาสูบเดิม ข้างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ สวนสาธารณะแห่งหนึ่งในเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชร 2 อยู่ติดกับสวนจตุจักรและสวนวชิรเบญจทัศ

2539
สวนเสรีไทย หรือชื่อเดิมว่า สวนน้ำบึงกุ่ม สวนสาธารณะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกกรุงเทพฯ ในเขตบึงกุ่ม มีพื้นที่ประมาณ 350 ไร่

2545

สวนวชิรเบญจทัศ หรือที่นิยมเรียกว่า สวนรถไฟ เป็นสวนสาธารณะเนื้อที่กว่า 375 ไร่ มีเนื้อที่ติดกับสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และสวนจตุจักร อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร และการรถไฟแห่งประเทศไทย