จัตวา กลิ่นสุนทร : สถาบันพระมหากษัตริย์ (3)

ในประการแรก มีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นกฎบังคับไว้ว่า พระมหากษัตริย์จะต้องประทับอยู่ในที่สูงเหนือผู้อื่นใดทั้งสิ้น

การตั้งที่ประทับขององค์พระมหากษัตริย์จะต้องอยู่เหนือผู้อื่น และจะอยู่ต่ำหรืออยู่เสมอกันไม่ได้

นี่ก็เป็นธรรมดา เมื่อเป็นพระเป็นเจ้าก็ต้องอยู่เหนือคนอื่น

พราหมณ์เข้าใจอย่างนี้แล้วก็กลายมาเป็นมารยาทในราชสำนัก หรือเป็นประเพณีบังคับ ก็เหล่านี้เริ่มเป็นประเพณี เป็นความเชื่อถือบังคับให้คนทั่วไปในประเทศไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย ข้าราชการ ตลอดจนคนธรรมดาสามัญเขาต้องลดตัวเองลงให้ต่ำกว่าพระมหากษัตริย์ ไม่ยอมให้ศีรษะอยู่เหนือพระมหากษัตริย์

เพราะฉะนั้น เมื่อประทับอยู่ที่สูงเหนือศีรษะขึ้นไปมาก ก็อาจจะยืนเฝ้าฯ ได้

แต่ถ้าลงประทับกับพื้นต้องย่อตัวลงนั่ง หรือหมอบ

ถ้าประทับต่ำลงมาอีก ประทับราบกับพื้นแล้ว ที่คนเข้าเฝ้าฯ อยู่ต้องหมอบทันที ไม่มีใครนั่งเสมอได้

นี้คือ นอกจากจะเป็นประเพณีแล้วยังกลายเป็นสัญชาตญาณของคนไทยที่ถืออย่างนั้น

คนไทยที่มีความเป็นไทย มีมารยาทไทย หรือความรู้สึกเป็นไทยอย่างแท้จริงแล้ว จะไม่ยอมให้ตัวเขาเองอยู่เหนือองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

มันเป็นความรู้สึกตามธรรมชาติที่เราฝืนไม่ได้


ประการที่สอง องค์พระมหากษัตริย์นั้นจะต้องแยกไว้ต่างหาก

เมื่อทรงดำรงอยู่ในฐานะเทพเจ้าแล้ว จะมาเกลือกกลั้วกับคนธรรมดาสามัญไม่ได้

แตกต่างกับคติของสุโขทัย องค์พระมหากษัตริย์สุโขทัยนั้นท่านออกมาหาชาวบ้านได้ ท่านจะมาพบปะพูดจากันได้เพราะกระดิ่งใบเดียวที่แขวน

ผมคิดว่าพระเจ้ารามคำแหง คงจะไม่ทรงมีเวลาที่จะทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอื่นใดมากนัก คนจะมาเคาะกระดิ่งวันยังค่ำ เพราะคนไทยเราชอบร้องทุกข์เหลือเกิน ไม่เชื่อถามท่านนายกฯ (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) ดูก็ได้—ก็อย่างนี้แหละครับ

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าพระเจ้ารามคำแหงตามศิลาจารึกที่เป็นพระดำรัสมีอยู่สอง Paragraph เท่านั้น–พ่อกูชื่อนั่น ชื่อนี่ พอ Paragraph ที่สามต่อมากลายเป็นคนอื่นเขียน ผมเดาเอาเพราะจะพระราชนิพนธ์ทีไรกระดิ่งดังทุกที ก็ทรงวิ่งเข้าวิ่งออก

แต่พอมาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระมหากษัตริย์จะปรากฏพระองค์ก็เหมือนกับเทพเจ้าปรากฏ อย่างเช่น จะปรากฏพระองค์ต่อประชาชน ประชาชนจะมองเห็นพระองค์ได้จากที่ไกล คือการเสด็จออกบนมุขเด็จของพระมหากษัตริย์ ไม่ให้เข้าใกล้ชิด

หรือแม้แต่จะเสด็จออกให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการเข้าเฝ้าฯ ก็ต้องเสด็จออกในฐานะเช่นนั้น คือ อย่างพระราชพิธีมหาสมาคม หลายท่านก็คงเคยได้เฝ้าฯ มาแล้ว ประทับหลังพระวิสูตรออก

พอถึงเวลามหาดเล็กรัวกรับประโคมรูดพระวิสูตรและเห็นพระองค์ประทับอยู่บนพระที่นั่งพุดตานฯ สูง ทรงเครื่อง มองเห็นแล้วเหมือนพระองค์เป็นเทพเจ้า

เรื่องนี้ทูตต่างประเทศที่เคยไปในงานเปิดสภาสมัยแรก เวลาเสด็จออกหลังพระวิสูตร เคยบอกกับผมหลายหนแล้วว่า พอเห็นเข้าแล้วเคลิบเคลิ้มนึกว่าพระมหากษัตริย์ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเทพยดา

มีความกลัวเกรงประหม่าเป็นอันมาก

 

นี่เป็นเรื่องที่ทำให้เห็นว่า องค์พระมหากษัตริย์นั้นเป็นเทพเจ้า การที่เสด็จออกแบบนี้ได้กลายเป็นศัพท์ใช้มาจนถึงในทุกวันนี้

คนที่เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัว เรียกว่าเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ก็แปลว่าเข้าไปรับฝุ่นจากพระบาทของในหลวงเอาไว้บนศีรษะ

การเสด็จออกอย่างนี้ภาษาเขมรเรียกว่า “เบิกละออง” เพราะจะต้องกระทำด้วยการรูดพระวิสูตรทุกที การเสด็จออกก็ไม่ใช่ว่าบ่อยครั้ง เมื่อเปิดพระวิสูตรแล้วฝุ่นก็ต้องตกอยู่ที่พระวิสูตร เปิดทีก็ฝุ่นคลุ้งที ข้าราชการหมอบกราบถวายบังคม ฝุ่นหน้าพระวิสูตรก็ตกมาถูกเป็นธรรมดา

คำนี้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติและกลายมาเป็นศัพท์ “เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท”

และแม้แต่ในการเสด็จพระราชดำเนินอย่างในกรณีพระบรมราชาภิเษก เลียบพระนครให้คนทั้งปวงได้แลเห็น ก็ต้องทำแบบนี้ คือเสด็จออกมหาสมาคมนั่นเอง

ใครเคยเข้าเฝ้าฯ ที่พระที่นั่งอมรินทร์ในโอกาสเฉลิมฯ ขอได้โปรดนึกภาพ ก็แปลว่าทำอย่างนั้น พระที่นั่งพุดตานฯ ก็มีห่วงสำหรับสอดคาน พอถึงเวลาจะเสด็จออกมา เจ้าพนักงานสอดคานก็หามพระราชยานออกมา

พระที่นั่งกลายเป็นพระราชยานเครื่องสูงก็ออกมาด้วย มีพระมหาเศวตฉัตร อยู่ข้างพระองค์ ก็แค่นั้น เป็นการแสดงพระองค์ปรากฏแก่มหาชน โดยเฉพาะเวลาพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ซึ่งจำเป็น

 

นอกจากนั้นแล้วที่ประทับของพระมหากษัตริย์ คือ พระราชวัง จงใจเจตนาทำให้มีกฎเกณฑ์และพิธีการต่างๆ เหมือนกับพระเทวสถานของพราหมณ์

คนสมัยใหม่อาจจะไม่ทราบศัพท์คำว่า พระที่นั่ง และ พระตำหนัก เพราะเหตุว่าใช้ปนๆ กันไป

ความจริงความหมายแตกต่างกันมาก

อาคารใดจะเป็นพระที่นั่ง อาคารใดจะเป็นพระตำหนัก ขึ้นกับพิธีพราหมณ์ที่กระทำในการก่อสร้าง

ถ้าเป็นพระที่นั่งต้องอาถรรพณ์หรือลงยันต์เชิญเทวดาลงมา พราหมณ์นั้นมีอำนาจมาก เรียกเทวดามาเมื่อไรก็ได้ เมื่อมาถึงแล้วก็บังคับให้อยู่ที่ไหนก็ได้ เขียนยันต์แล้วปะไว้เทวดาก็ต้องอยู่ สร้างพระที่นั่ง พราหมณ์ก็เชิญเทวดามาอยู่ตรงนั้นตรงนี้ นั่นเป็นพระที่นั่ง

ถ้าเผื่อสร้างที่ประทับขึ้นมาเฉยๆ โดยไม่มีพิธีพราหมณ์อย่างอื่นเรียกว่า พระตำหนัก

อย่างในพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งดุสิต พระที่นั่งจักรี พระที่นั่งอมรินทร์ พระที่นั่งจักรพรรดิ พระที่นั่งอนันต์ เมื่อสร้างได้ทำพิธีพราหมณ์มีการลงยันต์

ส่วนพระตำหนักจิตรลดาเป็นแค่พระตำหนัก และสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ไม่มีพระราชประสงค์ที่จะใช้เป็นพระที่นั่ง

และเหตุนี้ พระราชวังของพระมหากษัตริย์ไทยจึงมีฐานะเป็นเทวสถานที่ทุกคนต้องเคารพ

แล้วในเทวสถานนั้นเป็นธรรมดาของเทวสถานที่จะต้องมีพราหมณ์คอยปฏิบัติ ราชสำนักของพระมหากษัตริย์ไทยมีพราหมณ์อยู่ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

พราหมณ์ที่อยู่แถวเสาชิงช้า เวลานี้แกอวดอ้างว่า แกเป็นศาสนาอีกศาสนาหนึ่ง

—ไม่ใช่ ศาสนาพราหมณ์ไม่มี มีแต่ศาสนาฮินดู พราหมณ์พวกนี้เป็นพราหมณ์ซึ่งประจำพระราชสำนัก เป็นข้าราชการสำนักพระราชวัง โบราณนั้นมีมาก มีพราหมณ์พระราชครู ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ เพราะพราหมณ์รู้กฎหมายอินเดียดี ไทยเราใช้กฎหมายจากฮินดู

พราหมณ์เป็นผู้รู้กฎหมาย เป็นที่ปรึกษา และดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาด้วย

 

สมัยก่อนเมืองไทยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตำแหน่งผู้พิพากษาสูงๆ มักจะตั้งเป็นพระราชครู พระราชครูนั่น นี่ ตำแหน่งพราหมณ์ทั้งนั้น

ส่วนพราหมณ์กลุ่มที่สองเป็นพราหมณ์พิธี มีหน้าที่บูชาองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นเทวราชของพราหมณ์ โดยมีการปฏิบัติพิธีต่างๆ เช่น เวลาเสด็จออก พราหมณ์จะต้องเป่าสังข์ประโคมไกวบัณเฑาะว์ นี่เป็นธรรมดา เพื่อแสดงให้เห็นถึงฐานะขององค์พระมหากษัตริย์

นอกจากนั้นแล้วในพระราชวังยังมีพราหมณ์ประจำทุกแห่งเหมือนกับในเทวสถาน แบบนี้อาจจะเอามาจากพระนครธมก็ได้ เพราะพราหมณ์รุ่นแรกคงจะเป็นพราหมณ์เขมรเข้ามาปฏิบัติบูชาองค์ไศเลนทร์ ซึ่งมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา

ที่สำคัญก็คือว่าเทพเจ้าของพราหมณ์นั้นจะต้องมีการก่อไฟบูชาอยู่เสมอๆ ก็เรียกว่า กองกูณฑ์ การใส่เชื้อเพลิงเข้าไปในไฟเรียกว่า โหมกูณฑ์ ทำให้ไฟสว่างและคงอยู่เรื่อยๆ บูชาพระเป็นเจ้า จะบูชาสิ่งใดไม่ว่า จะเป็นเครื่องหอม เครื่องอะไร—ก็ใส่ไฟให้มาก

โดยมากถ้าเป็นแขกก็ใช้เนยพรมเข้าไปเยอะ—เครื่องเทพเหล่านี้

 

เมื่อมาถึงกรุงศรีอยุธยา การบูชาไฟต่อพระมหากษัตริย์ยังคงมีอยู่

ที่พระนครหลวงของเขมรนั้นมีห้องพิเศษสำหรับบูชาไฟในฐานะที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทพเจ้าต้องเรียกว่า กลาโหม

กลาแปลว่าห้อง โหมก็คือโหมกูณฑ์—จุดไฟ–กลาโหม–เมื่อมาถึงกรุงศรีอยุธยา ห้องนั้นก็คงต้องเข้ามาอยู่ในพระราชวัง และคงอยู่ใกล้พระองค์ และพราหมณ์นั้นก็คงเป็นพราหมณ์เขมร พอถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงรับการปกครองระบบนั้นอย่างแน่นอน คือทรงจารึกลงไปเป็นตัวบทกฎหมายมีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า–โปรดฯ ให้เอาทหารเป็นกลา

ทำไมถึงไปเอาทหารมาจุดไฟ ก็เพราะท่านไม่ไว้ใจพราหมณ์ พราหมณ์เป็นพราหมณ์เขมร อาจจะไม่ซื่อตรงจงรักภักดี อาจจะทำร้ายพระองค์ก็ได้

แต่พระองค์ทรงไว้ใจทหารของพระองค์ก็เอาทหารมาทำหน้าที่โหมกูณฑ์อยู่ใกล้พระองค์เพื่อรักษาลัทธิเทวราชนี้ไว้

ตั้งแต่นั้นศัพท์ว่า “กลาโหม” ก็ผูกพันกับราชการทหารมาจนถึงปัจจุบันนี้ มี กระทรวงกลาโหม ซึ่งก็ไม่ได้โหมฟืนโหมไฟแล้ว

หรือยังโหมอยู่ผมก็ไม่รู้นะ–แต่ว่ามามีหน้าที่เป็นอย่างอื่นไปหมดแล้ว

 

นอกจากนี้ก็ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่ประกอบกับเทพเจ้า อย่างศัพท์ก็ต้องใช้ราชาศัพท์ ซึ่งก็ทราบกันอยู่แล้ว ทุกวันนี้เราก็มักจะหลงลืมกันไปไม่ค่อยมีใครเรียกกัน ทั้งๆ ที่จงรักภักดี

อย่างไรก็ตาม พอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ใกล้เข้ามามักจะวิ่งหนี ถามว่าทำไม บอกเพ็ดทูลราชาศัพท์ไม่ถูก

ความจริงพระองค์ไม่ทรงถืออะไรทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตาม มันเป็นความรู้สึกอยู่อย่างนั้น

นอกจากนั้น ยังมีพระราชประเพณีอีกมากที่ผมอยากจะพูดมีกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์เกิดขึ้น กฎเกณฑ์เหล่านี้ประกอบด้วยกฎหมาย หรือ กฎมณเฑียรบาล ถ้าใครทำผิดแล้วมีโทษทางอาญา

เมื่อองค์พระมหากษัตริย์เป็นเทพเจ้า จึงห้ามจับต้ององค์พระมหากษัตริย์อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะที่พระเจ้า หรือ “เส้นพระเจ้า”