ฟ้า พูลวรลักษณ์ : หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (143) : การที่คนเราจำอะไรไม่ค่อยได้นั้น

ฟ้า พูลวรลักษณ์

ฉันมีเงินสามพันล้าน

มันไม่ใช่เงินจริงๆ หรอก แต่เป็นแค่สมมุติ มันคือคุณสมบัติสามประการของฉัน

๑ กินมื้อเดียว

๒ การสามารถเดินเล่นได้ทั้งวัน

๓ การยอมรับส่วนกลับของทฤษฎี

ฉันตีค่าคุณสมบัติดังกล่าว ข้อละหนึ่งพันล้าน

ดังนั้น ฉันจึงร่ำรวยยิ่งนัก

ฉันตีค่าเป็นเงินทอง เพื่อคนอื่นจะได้เข้าใจง่าย เพราะเราอยู่ในยุคสมัย ที่ผู้คนหลงใหลในวัตถุ ในทรัพย์สมบัติเงินทอง จนสติปัญญาเลอะเลือนไปหมด

ทรัพย์สมบัติมากมายมีไปทำไม ในเมื่อเราล้วนต้องตาย

ไม่ว่าเราจะร่ำรวยแค่ไหน ยิ่งใหญ่แค่ไหน หรือโด่งดังเท่าไร เราก็หนีไม่พ้น ต้องเป็นอาหารของตัวหนอน

คุณสมบัติสองข้อแรกเข้าใจง่าย มันคือการมีชีวิตเรียบง่าย และความเรียบง่ายคือความร่ำรวย

แต่ข้อสามเข้าใจยากยิ่งนัก

เป็นเวลานานกว่าฉันจะเข้าใจมันได้

มันจึงมีคุณค่ามาก

มันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างข้างใน

เช่น ทำให้ฉันยอมรับความไม่จริงของอุดมการณ์

ความไม่จริงของอุดมคติ

ไม่ใช่มันไม่จริง เพราะมันก็จริงเท่ากับหนึ่งทฤษฎีที่จริง

แต่ในทุกทฤษฎีจะมีส่วนกลับของทฤษฎี

มันจึงไม่จริงในอีกความหมายหนึ่ง

มันทำให้ชีวิตของฉันเหมือนเป็นนกบินบนฟ้า ทำให้เห็นภาพข้างล่างเปลี่ยนมิติไปเลย มองเห็นถนนหนทาง ตรอกซอย แม่น้ำลำคลอง เปลี่ยนไปหมด

ฉันคล้ายคนเป็นอัลไซเมอร์ จำอะไรไม่ค่อยได้ ฉันไม่ได้แค่หมายถึงหนังหรือหนังสือที่อ่าน แต่หมายถึงสิ่งรอบตัวของฉัน เช่น สะพานนี้ฉันเดินข้ามไปข้ามมาไม่รู้กี่ครั้ง กระนั้น มันก็ให้ความรู้สึกเลือนราง เหมือนหนึ่งฉันไม่เคยข้าม แปลกมาก ฉันพิศวงในความรู้สึกนี้เป็นอันมาก ถามตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้น สมองของฉันผิดปกติไปหรือเปล่า

การที่คนเราจำอะไรไม่ค่อยได้นั้น มีสองสาเหตุหลัก

๑ ความเสื่อมของสมอง

๒ เป็นสาระสำคัญที่สุดของการมีชีวิต

ข้อแรก ไม่มีอะไรข้องใจ

ข้อสองนั้น คือสิ่งที่เรามองข้าม

ทำไมการลืมเป็นสาระสำคัญที่สุดของชีวิต เพราะหากเราจำได้ทุกอย่าง ชีวิตจะแห้ง หมดความหมายทันที เราต้องตาย

ถ้าฉันจำสะพานนี้ได้แม่นยำ การเดินข้ามสะพานนี้ก็น่าเบื่อยิ่งนัก

คนเราหากระลึกชาติที่แล้วได้ ทันทีที่เราลืมตาขึ้น ในวันกำเนิด เราจะเป็นคนแก่ทันที คนแบบนี้ จะหาความสดชื่นใดในการมีชีวิต เราลืมตาขึ้นแบบคนตาย

ยังไม่ต้องคิดว่า หากชาติภพมีจริง และเราเกิดดับมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และเราจำได้ทุกชาติภพ ทันทีที่เราลืมตา เราคือคนแก่คนอายุนับไม่ได้ ซึ่งก็คือความตายเต็มตัวนั่นเอง เราไม่สามารถเกิด เราลืมตาไม่ขึ้น

ใช่ ถ้าคุณมีความทรงจำของหมื่นปี แสนปี และนั่นคือความน่าเบื่อสูงสุด

หากฉันจำได้ว่าเคยให้ดอกไม้กับสาวไปแล้ว และให้ใหม่ก็คือสิ่งเดิมซ้ำซาก ฉันจะมีเรี่ยวแรงใดให้

หากฉันจำได้ว่าเคยสัมผัสมือของเธอนับครั้งไม่ถ้วน ฉันจะมีความอยากใดจะไปจูงมือเธอ

เราอาจเข้าใจผิด คิดว่าความตายเป็นปริศนา

เราอาจคิดว่า เราไม่รู้ว่าความตายคืออะไร

ตรงนี้คือการเข้าใจผิด

ที่จริงเราตายมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ดังนั้น เราจึงรู้จักความตายดี ดีเท่าตัวเอง เพียงแต่เราลืมไป

เราจำเป็นต้องลืม ไม่เช่นนั้น เราก็ไม่อาจมีชีวิต

ดังนั้น การลืมจึงเป็นสิ่งจำเป็น และมีคุณค่ายิ่งนัก

ประกอบกันข้อแรก กับความเสื่อมของสมอง เราจึงลืมเลือนอะไรไปมากมาย เหลือไว้เพียงแค่นิดหน่อย พอมีรส

ฉันจำถนนแต่ละสายได้แค่นิดหน่อย ไม่แค่เลือนราง

ฉันจำสะพานนี้ได้แค่นี้เอง ไม่ว่าฉันจะเดินข้ามมันกี่ครั้ง

และฉันจะจำอดีตตัวเองก็ได้ไม่ต่างกัน

รวมไปถึงอนาคต ฉันก็จะจำได้เพียงนิดเดียว

ทำไมใช้คำว่าจำอนาคต เพราะในส่วนกลับของทฤษฎี อนาคตก็คืออดีต มันล้วนเคยเกิดขึ้นมาหมดแล้ว แม้แต่ความตาย เราก็ผ่านมาหมดแล้ว ยังจะมีอะไรแปลกใหม่หลงเหลืออยู่อีก เพียงแค่เราจำไม่ได้

ถ้าเราเข้าใจส่วนกลับของทฤษฎี ความเข้าใจในทุกอย่างจึงเปลี่ยนไปหมด อย่างที่ฉันเปรียบเทียบไว้ ว่าฉันกลายเป็นนกบิน กรุงเทพฯ ที่เรารู้จัก อยู่มานานหลายสิบปีหรืออยู่มาทั้งชีวิต ก็คือดินแดนพิศวง ที่ไม่เคยพบเห็น ไม่เคยเห็นจริงๆ ในทุกถนน ลำคลอง หนองบึง แต่ละทุ่งนา หมู่บ้าน

ยิ่งมองยิ่งแปลกใจ

คุณค่าของส่วนกลับทฤษฎีจึงเป็นหนึ่งพันล้าน

มันยอมรับได้ยาก เพราะมันฝืนสามัญสำนึกบางอย่าง สิ่งที่เราถูกปลูกฝังมาช้านาน เช่นหากเราเรียนรู้ทฤษฎีใด เราก็จะเชื่อในทฤษฎีนั้น อย่างแน่วแน่ ไม่สั่นคลอน เราไม่ได้ถูกสอนมาให้มองส่วนกลับเสมอ ทุกครั้งที่มองสิ่งใด

ถ้ามีอุดมการณ์ เราจะไม่มองส่วนกลับของอุดมการณ์

เหมือนมีข้อต้องห้าม

มันบังคับเราไว้เหมือนแรงโน้มถ่วง ทำให้เราบินไม่ได้

คนเราจะดีหรือเลว เป็นแค่หนึ่งองค์ประกอบ ที่สำคัญไม่น้อยกว่าคืออายุของเขา ในเหตุการณ์นั้น เช่นตัวละครสองตัวที่ออกเดินทางไปด้วยกัน ในหนังเรื่อง Game of Thrones ตัวละครสองตัวนี้คนหนึ่งอายุสามสิบกว่า ส่วนอีกคนหนึ่งอายุยี่สิบกว่า แต่แม้หนังเรื่องนี้จะสร้างมาจากหนังสือ ในหนังสือ ฉันตรวจสอบพบว่าคนแรกอายุยี่สิบกว่า ที่สำคัญคือคนที่สองอายุสิบสองขวบเท่านั้น

คนอายุยี่สิบกว่า หากเอาคนอายุสามสิบกว่ามาแสดง พอไปได้ เพราะคนเราหน้าตาอาจจะแก่หรืออ่อนกว่าวัยบ้างได้ แต่เด็กอายุสิบสองขวบ ใช้นักแสดงอายุยี่สิบกว่ามาแสดงแทนนั้น ความหมายเปลี่ยนไปหมด

เราจึงใช้คำว่า ขวบ ไม่ใช่ ปี เพราะเขายังเด็กอยู่

ความสัมพันธ์ของคนสองคนนี้ ในหนังสือจึงลึกซึ้งกว่ามาก อ่อนหวาน น่ารัก ตลก แสดงความอ่อนโยน อบอุ่น และความเป็นมนุษย์ ในขณะที่ในหนัง แม้พวกเขาจะทำเรื่องราวเดียวกัน เดินทางไปด้วยกัน แต่กลับแห้งแล้ง ว่างเปล่า

ทำไมพฤติกรรมเดียวกัน เส้นทางเดียวกัน กลับต่างกันได้ปานนี้

เพราะวัยที่แตกต่าง