อภิญญา ตะวันออก : เนียงวิทูสนทนา-หมูบิน! จ้าวเวหา

มันเป็นความจำนนต่ออดีตที่มีต่อลาวตอนล่างอย่างอัตตะปือของฉัน อย่างที่ครั้งหนึ่ง ฉันเคยใช้เวลาตอนต้นของวัยไปกับความลุ่มหลงบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะแอ่งปลาข่าแห่งแม่น้ำโขงเหนือคอนพะเพ็ง

ทั้งมวล การหวนไห้สมัยที่คืนวันอันลำบาก ตั้งแต่ที่ประเทศนั้นยังไม่มีสะพานข้ามลำโขงสักแห่ง และจนบัดนี้ เมื่อหันไปมองอีกครั้ง จำนวนสะพาน เขื่อนหลักแขนงแห่งลุ่มแม่โขงและอื่นๆ ได้หนุนนำไปแล้วสำหรับคำนิยามที่เรียกว่าพัฒนา

โดยหลักการแบบพื้นบ้านกับความทรงจำแบบนั้น ดูจะโน้มนำไปในอดีตที่เหินห่างกับปัจจุบัน โดยเฉพาะชีวิตประจำวันที่ท่วมบ่าด้วยข่าวสาร จนแทบจะไม่มีเวลาจะถวิลหาอดีต

แม้ลาวใต้อย่างอัตตะปือ และหุบผาป่าสูงแห่งโบลาเวน ที่สมบูรณ์ด้วยธรรมชาติในระบบนิเวศที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นจินตภาพของการสำรวจพื้นที่ของฉันอย่างใกล้เคียงกันกับกัมพูชา

แต่ภาพที่น้ำขุ่นคลั่กหลั่งทะลักจากเขื่อนแตกในอัตตะปือนั่น ทำให้ฉันอดไม่ได้ที่จะรำลึกต่อการอ่านงานเขียน 2 เล่ม

จากมุมมองเหมือนนกเหยี่ยว ในมุมสูงของอากาศของลาวยุคปี “70 หนึ่งคือ “สูญไปในลาวฯ” (Lost Over Laos : A True Story of Tragedy, Mystery and Frendship โดยริชาร์ด ไพล์กับฮอร์สท์ ฟาส และ “หมูบิน!” (Cochon Vole!) โดยกีย์ วาลเลต์ ที่น่าประทับใจ

หนังสือทั้ง 2 เล่มมีความโดดเด่นและต่างกันในเชิงเนื้อหา ภาษาและการเล่าเรื่อง โดยมีสมรภูมิสงครามของเขมร-ลาวเป็นฉากเล่าเรื่องอยู่เบื้องหลังอันขัดแย้งในผู้คน วิกฤต และมิตรภาพของชาวต่างประเทศกลุ่มเล็กๆ ระหว่างอาชีพนักบินและผู้สื่อ (ภาพ) ข่าวสงคราม

เป็นมุมมองต่อลาว เขมรและบางส่วนของไซ่ง่อนที่คนท้องถิ่นทั่วไปไม่มีโอกาสจะสัมผัส โดยเฉพาะในแง่อาชีพ “การบิน” ที่มีทั้งเครื่องบินพาณิชย์และเฮลิคอปเตอร์ในสงคราม

เปิดมุมมองต่อวิถีเหนือ “มวล” อากาศ (ยาน) ต่อฉันที่เต็มไปด้วยจินตนาการ

ในยามที่มองลงสู่พื้นเบื้องล่าง ณ หุบเหวแห่งความจริงบางด้าน ที่พลัดหลงอยู่ในสองประเทศนั้น

 

“สูญไปในลาวฯ” นั้น บอกเล่ากรณีเฮลิคอปเตอร์ตกผาในแขวงอัตตะปือที่คร่าชีวิตช่างภาพ นักข่าวจากอังกฤษ อเมริกัน ญี่ปุน และลูกครึ่งฝรั่งเศส-เวียดนาม นับเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ร้ายแรงครั้งหนึ่งของสำนักข่าวโลกหัวแถวอย่างเอพี เอเอฟพี และสื่อญี่ปุ่นขณะนั้น

แต่ความสัมพันธ์ของผู้ดับสูญเหล่านี้กลับตราตรึงอยู่ในความรู้สึกของฉัน โดยเฉพาะวิทยาการสื่อสารที่ก้าวหน้าของยุคนั้น ทั้งเจ้าเครื่องโทรสารเทเลกราฟ

สมัยหนึ่งที่เพิ่งรู้จักกับงานด้านนี้ ฉันชอบไปยืนฟังเสียงเจ้าเครื่องนี่ โดยเฉพาะตอนเช้าตรู่ ที่การไหลลื่นของข้อมูลผ่านเครื่องกำลังเป็นไปอย่างพรั่งพรูผ่านเสียงตีรัวที่คล้ายกับรูเข็มกำลังเจาะพรุนปรุกระดาษ

ผ่านมายุคสหัสวรรษ ตอนนี้เรามีเจ้านกฟ้า-“ทวิตเตอร์” ที่คอยต็อก ต็อก ต็อก ส่งข่าวสารนับหมื่นแสนครั้งต่อนาทีอย่างคลาสสิคและลื่นไหลเหนือจินตนาการกว่าเคเบิลและโทรสารที่ทรงพลังในยุคนั้น โดยเฉพาะในกรณีข่าวอุบัติร้ายแรงอย่าง ฮ.ตกในพื้นที่เสี่ยงภัยและยากต่อการติดตาม

โชคดีที่การสำรวจพื้นที่เพื่อติดตามผู้สูญหายด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้าผ่านโครงการหนึ่งของสหรัฐ ทำให้เรื่องราวของกล้องไลก้าและกระดูกผู้ไม่เหลือรอดชีวิตบางคนถูกนำมากล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้

พลัน เขตโฮจิมินห์เทร็ลในอดีตของฉันที่เคยได้ชื่อว่าคร่าชีวิตผู้คนไปมากทั้งจากสงครามกองโจรและไข้ป่า และกรณีเครื่องบินและ ฮ.ตก (ทั้งจากถูกสอยโดยเวียดกงและสภาพพื้นที่อันสุดวิสัย) นั้น

ได้กลายมาเป็นเรื่องราวแห่งวันวารของลาวและเขมรกัมพูชา รวมทั้งนักรบอีกกลุ่มหนึ่ง อันที่จริงพวกเขาคือนักบินพลเรือนที่เกิดมาในยุคสมรภูมิสงครามแห่งภูมิภาคอินโดจีน

และผู้ที่ไม่เคยมีสารบบชีวิตอย่างผู้คนทั่วไป

 

สารภาพว่า กว่าสิบปีก่อน บนถนนสุขุมวิท แหล่งที่ฉันได้ยินเรื่องเล่าของพวกนักบินเดนตายในเขมรจากปากอดีตนักบินพาณิชย์ถิ่นเถื่อนที่ว่า

ความจริงแล้วพวกเขาต่างถังแตกและตกงาน บ้างก็อยู่กับการรอคอยข่าวสารและมักใช้เวลาที่แสนเปล่าเปลืองไปกับการนั่งดื่มและถุนบุหรี่อย่างดีดัก

แต่ความไม่เข้าใจในภูมิทัศน์สมรภูมิชีวิตทางสงครามของชีวิตที่น่าสนใจและไม่ธรรมดาของเหล่าหมูบินที่จำต้องอยู่รอด (และตาย) จากภารกิจอันสุดพิเศษ

ในความประหลาดของชีวิตพวกเขา ที่จะเป็นนักรบก็ไม่ใช่ สายลับสอดแนมก็ไม่เชิง

แต่ในสายตาของฉัน พวกเขายังเป็นนักสำรวจชาติพันธุ์ทางมานุษยวิทยาในถิ่นลาวอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังมีความลุ่มหลงของฉันที่เอาไปจินตนาการใน “บิน กัปตันโฮจิมินห์เทร็ลบินห์” เมื่อหลายปีก่อนของคอลัมน์นี้

และหลายปีที่ผ่านมา ที่ฉันหลงตามหานายกัปตันโฮจิมินห์เทร็ลบินห์คนนั้น โดยไม่รู้เลยว่า โชคชะตาจะบันดาลให้ได้พบกับหนังสือเก่าๆ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของ “หมูบิน!”

พลันความจริงอีกด้านของกัปตันโฮจิมินห์เทร็ลบินห์! ก็กลับมาปรากฏในนามของหมูบิน! ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของนักบินพลเรือนจอมบ้าต่อโชคชะตาชีวิต

โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งการถ่ายเปลี่ยนของระบอบเสรีนิยม ไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ในลาวและเขมร ส่วนที่เวียดนามนั้น คือฐานแรกที่พวกหมูบินต่างเผชิญหน้า!

อีกครั้งหนึ่ง ที่จิตสำนึกของฉันถูกทำให้ (บิน) หายไปพร้อมกับการผจญภัยจากความฝัน-กัปตันโฮจิมินห์เทร็ลบินห์คนเก่า สู่ความจริงนายกัปตันหมูบินคนใหม่

และจากท้องฟ้าเหนือลาวสู่โปเชนตง-กัมพูชา

 

คือแม้ว่า กีย์ วาลเลต์ จะจั่วหัวด้วยหัวเรื่องจากเขมรซึ่งมันเป็นช่วงเวลาที่เขาประสบเคราะห์กรรม

คือ “เมษายน 1975” ตอนที่กัปตันหมูบินและเพื่อน อาสานำเครื่องบินลำใหม่-DC7 จากไมอามีในสหรัฐเพื่อรับการตรวจเช็ก จากนั้นก็บินไปรอข่าวสัญญาณตอบรับจากไซ่ง่อนอยู่ที่มะนิลา

การรอคอยที่ไม่ต่างจากความปั่นป่วนในทุกนาทีที่ผ่านไป โดยไม่รู้ว่าขณะนั้นไซ่ง่อนกำลังประสบชะตากรรมเช่นใด?

แต่ช้าก่อน! ความจริงแล้ว ก่อนจะมาถึงวันนั้น พวกเขาต่างมีห้วงวันและคืนอันสวยงามให้จดจำอยู่บ้างในลาวเวียงจันทน์และยามบินไปยังหัวเมืองต่างๆ

เมืองลาวล้านซ้างชื่อนามที่เขาเรียกขาน และถือเป็นจุดกำเนิดของพลเมืองตกค้างนอกมาตุภูมิ ของชีวิตสารบบในชนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมิใช่ใครอื่น แต่เป็นอดีตกองกำลังประจำการภาคพื้นที่อินโดจีนของฝรั่งเศส

การปรากฏตัวในบรรดานักบินพาณิชย์นอกสารบบกลุ่มนี้และการประสบพบพานผองเพื่อนบารังที่กลายเป็นชนกลุ่มน้อยในต่างเมือง

พวกเขาต่างคือผู้ที่พยายามนำพาชีวิตตนและครอบครัวให้เหลือรอดจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงแบบช็อตต่อช็อต และสำหรับประเทศลาวที่มาจากระบอบการปกครองจากลาวเสรีไปลาวคอมมิวนิสต์!

โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่ไม่น่าพบพาน อย่างกรณีของหมูบิน!

หลายต่อหลายครั้งที่มาจากหอควบคุมการบิน ทั้งเวียงจันทน์อันเฉื่อยเนือยแต่ตรึงตรา ไซ่ง่อนที่อ่อนล้าและชวนให้สันหลังวาบ

แต่หมูบินก็ผ่านมาได้ในทุกครั้งที่เขาต้องเล่นกับเกมเสี่ยงตาย

เช่นที่สนามโปเชนตงที่น่าสยดสยองของกัมพูชา ในวันที่หอการบินแห่งนั้นถูกควบคุมโดยกลุ่มแดง!

 

สําหรับฉัน หมูบิน! ในพื้นที่ลาว เขาคืออีกภาคหนึ่งของนักมานุษยวิทยา ผู้กล้าสำรวจความเป็นไปในผืนลาวเบื้องล่าง และบอกเล่าถึงเชิดชูต่อชนเผ่าชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เขาพบพานในถิ่นนั้น

โดยเฉพาะในวันที่อากาศดี ไร้เมฆหมอก ที่กล่าวกันว่า ภาพเวิ้งว้างแห่งหุบเขาเสียดฟ้า หุบเหว และถ้ำผาแห่งแผ่นดินและผืนน้ำอันต่ำลึก เขียวขจีที่เหลื่อมซ้อนกันเป็นเฉดเงาประหนึ่งภาพเขียนของศิลปินแห่งธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่เกินคำอธิบาย

ลาวประเทศที่สวยสง่ากว่าทุกๆ แห่งที่หมูบินเคยพบพาน

มันสามารถสะกดให้เขาหรือใครก็ตาม เข้าสู่ภวังค์แห่งสมาธิที่ 3 หรือ 4 แห่งจิตภาวนา ตามมโนของฉัน

แต่ในวันแห่งอากาศแจ่มและหมูบินนึกระห่ำ อย่างตั้งใจเขาจะบินเฉียดไป ให้ตัวเองร่อนออกนอกเส้นทาง จนหลุดเข้าไปในเขตประเทศไทย!

ฮา ฮา ฮา หมูบินกับเพื่อนรู้สึกสะใจทุกครั้ง เมื่อพบว่าเรดาร์ของไทยแม่งจับสัญญาณไม่ทันและทำอะไรเขาไม่ได้

ครั้งที่หนึ่งและสอง และการถูกไล่ล่าที่ทำให้หมูบินบินหนีรอดเข้าลาวไปได้

อย่างย่ามจิตและเบิกบาน ทุกครั้งที่กลับไปได้ มันทำให้เขาอยากจะกลับมาเล่นบทหมูบินจ้าวเวหากับไทยอีก

แต่แล้ว การท้าทายนี้ก็มาถึง เมื่อหมูบินกลายเป็นผู้ถูกล่า

และถูกจับเครื่องบินเป็นตัวประกันที่สนามบินลับจังหวัดอุดรธานี!