กรองกระแส / ประเทศกูมี ปฏิทิน แนวรบวัฒนธรรม ความคิด กระหน่ำเข้าที่ ‘ใจ’

กรองกระแส

 

ประเทศกูมี ปฏิทิน

แนวรบวัฒนธรรม ความคิด

กระหน่ำเข้าที่ ‘ใจ’

 

อาจเป็นเพราะ “วลี” อันมาพร้อมกับคัมภีร์ในทางศาสนา หรือคัมภีร์ในทางพิชัยสงครามของสังคมไทยมักได้อิทธิพลมาจากจีน

ไม่ว่า “บวชที่ใจ” ซึ่งอยู่ในคำสอนของ “เหล่าจื่อ”

ไม่ว่า “กระบี่อยู่ที่ใจ” ซึ่งกิมย้งและโกวเล้งเก็บรับมาจากตำรา “ขบวนศึก” ของซุนปินอันสืบทอดมาจากซุนวู

รวมถึงกลยุทธ์ “เอาชนะที่ใจ” กระทั่งเบ้งเฮกยอมศิโรราบ

จึงคิดว่ากลยุทธ์ “กระหน่ำใจ” น่าจะเป็นความจัดเจนโดยเฉพาะของจีน เป็นภูมิปัญญาในฝ่ายตะวันออกมากกว่าจะเป็นภูมิปัญญาในทางตะวันตก

ต่อเมื่อได้อ่านหนังสือ “เคลาเซวิตซ์ ศาสดาแห่งสงคราม” จึงได้รู้อีกด้าน

เป็นเรื่องราวอันเกี่ยวกับเคลา ฟอน เคลาเซวิตซ์ จากการสังเคราะห์ของมิเชล โฮเวิร์ด แปลโดย น.อ. ณ ณรงค์ ทวีวัฒน์ เป็นด้านที่ไม่เพียงแต่เน้นว่า สงครามคือการลดความเข้มแข็งของข้าศึกที่ค่อนข้างมากกว่าของเราเอง

แต่ก็เน้นด้วยว่า การทำลายที่สำคัญไม่ใช่ทางกายภาพ แต่เป็นทางจิตใจ นั่นก็คือ “การฆ่าความกล้าหาญของข้าศึกมากกว่าคนของเขา”

ความหมายก็คือ กระหน่ำเข้าที่ “ใจ”

 

รบ โจมตี ทางใจ

บทสรุป “ม้าเจ๊ก”

 

กล่าวสำหรับความคิดทางด้านจีน หลี่ปิงเอี้ยน ซุนจิ้ง ได้ยกกรณีการปราบเบ้งเฮกโดยทัพจกมาเป็นตัวอย่างผ่านหนังสือ “กลศึกษาสามก๊ก” ซึ่งบุญศักดิ์ แสงระวี แปลออกมาอย่างยอดเยี่ยม

ผู้คนตื่นเต้นและมักยกตัวอย่างที่ขงเบ้งจับเบ้งเฮกแล้วปล่อย เพื่อมาเป็นรูปธรรมว่า นี่คือแบบอย่างการรบที่ดีเลิศ

และคิดว่าเป็นกลยุทธ์จากสมองก้อนโตของขงเบ้ง

ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วเป็นของม้าเจ๊ก ซึ่งเป็นผู้เสนอบนพื้นฐานความคิดที่ว่า “ชนเผ่าหมานทางใต้ถือดีว่าอยู่ห่างไกลในภูดอย แข็งข้อต่อเรามาช้านาน แม้จะตีพ่ายไปในวันนี้ พรุ่งนี้ ก็จะแข็งข้ออีก ท่านยกทัพไปตีพวกเขาก็สยบ ครั้นเมื่อถอนทัพกลับยกไปตีโจผี พวกหมานรู้ว่าเมืองเราอ่อนแอไร้ทหารก็จะยิ่งเร่งแข็งข้อขึ้นอีก”

จากนี้จึงสรุป “อันการทำศึกนั้นควรถือการโจมตีทางใจเป็นเอก ถือการโจมตีเมืองเป็นรอง รบทางใจเป็นเอก รบทางทหารเป็นรอง”

นั่นคือ “กงซินเหวยซ่าง กงเฉินเหวยเซี่ย ซินจ้านเหวยซ่าง ปิงจ้านเหวยเซี่ย”

นั่นก็คือ การสยบอย่างสิ้นเชิง การรบทางทหารอาจเป็นกระบวนการหนึ่ง แต่การรบทางใจ เอาชนะทางใจถือเป็นชัยชนะในขั้นที่สุด

 

การโจมตี ทางใจ

อนุศาสน์ ของซุนวู

 

คล้ายกับแนวคิด การโจมตีทางใจเป็นเอก การโจมตีเมืองเป็นรอง รบทางใจเป็นเอก รบทางทหารเป็นรอง จะมาจากสมองก้อนโตของม้าเจ๊กส่งผ่านไปยังขงเบ้ง

แต่หลี่ปิงเอี้ยน ซุนจิ้ง สังเคราะห์ออกมาว่า

การโจมตีทางใจเป็นเอกเป็นการสืบทอดความคิด “การบัญชาทัพชั้นเอกคือ ชนะด้วยอุบาย” แห่งกลวิธีรุกในตำราพิชัยสงครามซุนวู

นั่นก็คือ การขยายอนุศาสน์ในบทประเมินศึกที่ว่า

อันสงครามนั้นคือ การใช้เล่ห์เพทุบาย ฉะนั้น รบได้ให้แสดงว่ารบไม่ได้ จะรุกให้แสดงว่าไม่รุก ใกล้ให้แสดงว่าไกล ไกลให้แสดงว่าใกล้

ให้ล่อด้วยประโยชน์ ให้ชิงเมื่อระส่ำระสาย

ข้าศึกแน่นให้เตรียมรับ ข้าศึกแข็งให้หลีกเลี่ยง ข้าศึกโกรธง่ายให้ก่อกวน ข้าศึกยโสให้เหิมเกริม ข้าศึกสบายให้เหนื่อยล้า ข้าศึกกลมเกลียวให้แยกสลาย

ให้จู่โจมเมื่อไม่ระวัง ให้รุกรบเมื่อไม่คาดคิด

กระนั้น ภายในกลวิธีรุกของซุนวู เป้าหมายคือ “รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ยังหาใช่ความยอดเยี่ยมไม่ มิต้องรบแต่สยบข้าศึกได้จึงจะเป็นความยอดเยี่ยมในความยอดเยี่ยม”

นั่นก็คือ สยบที่ใจ กำชัยที่ใจ

จากแนวคิดของเคลาเซวิตซ์ จากแนวคิดของซุนวู จากรูปธรรมของม้าเจ๊กประสานเข้ากับการลงมือปฏิบัติของขงเบ้ง จะเห็นได้ว่า การเอาชนะในการศึกอาจเป็นความยอดเยี่ยม แต่การเอาชนะโดยไม่ต้องรบก็เป็นความยอดเยี่ยมอย่างที่สุด

นั่นก็คือ การโจมตีที่ใจ นั่นก็คือ แปรจิตเป็นพลัง

 

แนวรบ วัฒนธรรม

แนวรบ จิตสำนึก

 

ไม่ว่าการปรากฏขึ้นของบทเพลง “ประเทศกูมี” ไม่ว่าการปรากฏขึ้นอย่างเงียบเชียบของ “ปฏิทิน” เหล่านี้ล้วนอยู่ในปริมณฑลทางความคิด

เป็นเรื่องของวัฒนธรรมจิตสำนึก เป็นเรื่องของวาระแห่งเทศกาล

ฝ่ายหนึ่งเปิดแนวรบทางวัฒนธรรม เปิดแนวรบทางความคิด อีกฝ่ายหนึ่งใช้แนวทางทางทหาร ใช้การกำจัดกวาดล้าง

   ชัยชนะจะเป็นของฝ่ายใด ความพ่ายแพ้จะเป็นของฝ่ายใด ย่อมเห็นได้เด่นชัด