คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ลงย่ำท้องถนน ชม “นาฏกรรม” ความเชื่อในงานแห่วัดแขกสีลม

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

บนท้องถนนย่านสีลมซึ่งถูกปิดการจราจรไปซีกหนึ่งนั้น “คนทรง” ของวัดแขกทั้งสามกำลังสำแดง “นาฏลีลา” อันศักดิ์สิทธิ์ อาการร่ายรำในขณะที่ตกภวังค์ดูลึกลับอย่างยิ่ง

เสียงดนตรีปี่กลองจากอินเดียภาคใต้ดังสนั่น พร้อมทั้งควันธูปที่บรรดาซุ้มต่างๆ โหมจุดในขณะที่ขบวนคนทรงกำลังเคลื่อนผ่าน

เสียงตะโกน “โอม ศักติ!” ที่มาจากตรงนั้นตรงนี้เพื่อเรียกให้คนทรงเข้าไปใกล้แล้วโปรยปรายผงศักดิ์สิทธิ์เป็นพรก้องไปทั้งถนน

ทำให้บรรยากาศวันนั้นดูแปลกประหลาดอย่างบอกไม่ถูก

ผมเดินฝ่าผู้คนพร้อมกล้องเล็กๆ ขณะที่พยายามสังเกตอะไรเท่าที่ตาจะมองเห็น หูจะได้ยิน

ข้อสังเกตของผมจึงไม่ใช่ข้อสังเกตทางวิชาการอะไรมากไปกว่ามุมมองหนึ่ง

 

แค่รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีช่องนนทรีเปิดประตู เราก็จะได้กลิ่นธูปลอยมาแล้ว การไปลุยถนนในงานวัดแขกจึงท้าทายความอดทนของโสตประสาทต่างๆ พอสมควร

สำหรับผม งานแห่วัดแขกสีลมในเทศกาลนวราตรี (คืนที่แห่คือวัน วิชัยทัศมี หรือทัศหรา ได้แก่คืนที่สิบ) เป็นงาน “ชุมนุมทางศาสนา” โดยไม่เกี่ยวอะไรกับการจัดการของรัฐหรือการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ

มันจึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเสมอสำหรับการทำความเข้าใจความเชื่อและศาสนาในเมืองหลวง

ในงานวัดแขกสีลม หน่วยงานของรัฐทำหน้าที่เพียงการอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยในด้านต่างๆ เท่านั้น

แต่การจัดการเป็นเรื่องของเอกชนล้วนๆ และไม่ใช่เอกชนเพียงรายเดียว แต่มากมายหลายหลาก

ปีนี้ผมสังเกตเอาเองคร่าวๆ ว่ามีคนไปร่วมงานมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ มิตรสหายหลายคนสรุปเอาง่ายๆ ว่า เป็นเพราะในปีนี้งานตรงกับวันศุกร์พอดี

แต่ผมเห็นว่าจำนวนคนในงานนี้เพิ่มขึ้นทุกปี วัดจากขนาดของ “ซุ้ม” ต่างๆ หรือจำนวนคนบนท้องถนนก็ได้

 

ซุ้มที่มาตั้งในงานวัดแขกนั้นมีความอลังการเพิ่มขึ้นทุกปี

แต่ละซุ้มขนเอาเทวรูปในบ้านหรือ “สำนัก” ของตัวมาไว้ พร้อมการตกแต่งอย่างอลังการ

บางซุ้ม ผู้คนถึงกับแซวว่า นี่งานเวดดิ้งหรืออย่างไร

บางซุ้มไม่ได้มีเพียงการสักการะ แต่ยังมีวงดนตรี ทั้งแบบอินเดีย อินเดียประยุกต์ ลูกทุ่งหรือพิณแคนบรรเลงด้วย บางซุ้มก็มีการแสดง การเต้นรำ หรือกิจกรรมอื่นๆ

ผมสังเกตคร่าวๆ ว่า ซุ้มเหล่านี้มีเจ้าของหลากหลาย

ประเภทแรกคือ ตำหนักทรงเจ้าและสำนัก หรือ “เทวาลัยเอกชน” ต่างๆ ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีจำนวนมากที่สุด

ประเภทที่สองคือห้างร้าน ทั้งที่อยู่ในย่านสีลมและที่อื่น

ประเภทที่สามคือธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และซุ้มของกลุ่มคนที่หลากหลาย เช่น ชมรม หรือกลุ่มเพื่อนๆ ที่นัดกันมา

คงต้องบอกด้วยว่า แต่เดิม “ซุ้ม” เหล่านี้ เป็นเพียงการตั้งโต๊ะเพื่อสักการะขบวนแห่ตามประเพณีเท่านั้น คล้ายกับที่คนไทยเชื้อสายจีนในภาคใต้ตั้งโต๊ะ “รับเจ้า” นั่นเอง

ตามหลักการบูชา ซุ้มเหล่านี้คงมีเพียงเครื่องบูชาต่างๆ แต่ในภายหลังก็ได้เพิ่มเอาเทวรูปของตัวมาด้วย อาจเพื่อขอรับพรหรือที่บางคนเรียก “ชาร์จแบต” จากคนทรงนั่นเอง

แต่เท่าที่ผมสังเกต ในทุกวันนี้แทบจะไม่มี “โต๊ะสักการะ” ซึ่งมีเพียงเครื่องบูชาเล็กๆ น้อยๆ อีกแล้ว หน้าที่ของซุ้มสักการะจึงเปลี่ยนไป เพราะไม่ได้มีเพื่อสักการะขบวนแห่เป็นหลัก แต่มีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์สำนักหรือกลุ่มความเชื่อต่างๆ

เพราะก่อนขบวนแห่จะมาถึง

ซุ้มเหล่านี้ยินดีเชิญชวนให้คนผ่านไปมาสักการะเทวรูปของตน แจกเครื่องรางของขลัง หรือเข้าทรงเพื่อรับศิษย์ใหม่ๆ

 

ความอลังการของซุ้มจึงอาจเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับความ “ภักดี” ต่อองค์เจ้าแม่ก็ได้ ในแง่หนึ่ง งานนี้จึงเป็นการประกวดประชันขันแข่ง หรือ “อวด” กันอยู่ในที

ซึ่งผมคิดว่าต่างจากทัศนคติแบบโบราณพอสมควรครับ ในทัศนะแบบโบราณ เทวรูปเป็นสมบัติหวงห้ามของเจ้าของ ซึ่งมักไม่ค่อยเปิดเผยแก่ใคร เพราะเทวรูปของตนอาจต้องมลทินโทษจากสายตาร้ายๆ ของคนขี้อิจฉาหรือคนโลภ ซ้ำยังต้องเก็บรักษาไว้ยังที่สักการะโดยไม่พยายามที่จะเคลื่อนย้าย

มีเพียงเทวรูปในเทวสถานที่ต้องนำออกแห่ให้สาธุชนได้ยลเสมอๆ แต่พราหมณ์ก็ต้องพยายามจัดการมลทินโทษเหล่านั้น เช่น การอารตี หรือสรงสนานหลังเสร็จพิธีแห่

กระนั้น การ “อวด” เทวรูปได้แสดงทั้งสถานะทางความรู้ (มีปางแปลกๆ หายาก) หรือสถานะความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าสำนักเอง รวมทั้งบารมีในการจัดการตกแต่งให้ซุ้มอลังการได้

การอวดดังกล่าวจึงกลายเป็นลักษณะสำคัญในงานไปโดยเจ้าของจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

นอกจากนี้ ซุ้มในงานยังเป็นสิ่งที่สามารถแสดงอัตลักษณ์อื่นๆ เช่น อัตลักษณ์ทางเพศสภาวะ ที่อาจไม่สามารถแสดงในพื้นที่ศาสนาอื่นๆ ได้ ผมพบว่ามีบางซุ้มที่ประดับธงสายรุ้ง หรือผ้าแถบสีสายรุ้ง อันเป็นสัญลักษณ์ของ LGBT อย่างเปิดเผย

และอาจกล่าวด้วยว่า คนในงานครึ่งต่อครึ่งคือกลุ่ม LGBT ซึ่งชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้ซึ่งสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังได้อธิบายเรื่องนี้ไว้แล้ว ผมคงไม่อธิบายอะไรเพิ่มเติม

 

งานวัดแขกสีลมจึงเต็มไปด้วยการ “แสดง” สารพัด ซึ่งวัดไม่ได้เกี่ยวอะไร เพราะเขาก็แห่ไปตามประเพณีท้องถิ่น แต่ผู้ร่วมงานได้แสดงนาฏกรรมไปตามความประสงค์ของตนในหลากหลายมิติ ในแง่หนึ่งได้สะท้อนความพยายาม “ใกล้ชิด” ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือใกล้ชิด “ความแท้” อะไรบางอย่าง เช่น เทวรูปแบบอินเดียใต้แท้ๆ ในซุ้ม การประดับแบบอินเดีย พิธีกรรมแบบอินเดีย การนุ่งเสื้อผ้าแบบอินเดีย ฯลฯ

ความพยายามที่จะใกล้ชิดความแท้นี้ ในทางหนึ่งคือการแสดงความ “เหนือกว่า” ด้วยเช่นกัน

ผมจึงเดาว่า ซุ้มต่างๆ จะมีขนาดใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ และจะคล้ายอินเดียเข้าไปเรื่อยๆ ในอนาคต

ฟังน้ำเสียงผมดูเหมือนอยากวิพากษ์หรือแอบจิกกัด ที่จริงแล้วผมต้องบอกว่า ผมออกจะชอบงานแห่ของวัดสีลมมากนะครับ

ทั้งเป็นโอกาสที่จะได้ชมพิธีกรรมของทางอินเดียใต้ การได้เดินเล่นดูอะไรสนุกๆ แปลกๆ มากมาย

ที่สำคัญ ผมชอบการที่รัฐไม่เข้ามายุ่งกิจกรรมทางศาสนาสักเรื่องหนึ่ง และไม่มีหน่วยงานทางการท่องเที่ยวเข้ามาเกี่ยวข้อง

“การแสดง” ในงาน คือ “ความจริง” ที่สะท้อนสังคมไทย โดยไม่ต้องมีใครมากำหนดการแสดงสวมทับไปอีกชั้น จนหาความจริงอะไรไม่เจอ

 

น้องท่านหนึ่งถามผมว่า ทำไมงานวัดแขกสีลมจึงมีคนมากมายขนาดนี้ ผมคิดว่า เพราะงานวัดแขกสีลมคือพื้นที่ทางศาสนา ที่ “โลกิยะ” ที่สุดและใหญ่ที่สุดเท่าที่เรามีในเวลานี้

คำว่าโลกิยะในที่นี้เป็นความหมายที่ดีนะครับ หมายถึง แต่เดิมศาสนาต้องตอบสนองความต้องการทั้งด้าน “โลกุตระ” (อยากพ้นทุกข์ อยากใจสงบ ฯลฯ) และ “โลกิยะ” (อยากรวย อยากมีคู่ครอง ฯลฯ) เดิมมีศาสนาผีทำหน้าที่ ในทางโลกิยะ และพุทธศาสนาบางส่วนก็ช่วยผีทำหน้าที่นี้

ภายหลังพุทธศาสนาปฏิรูปตนเองและเน้นโลกุตระ ผีเองก็ไปซ่อนอยู่หลังฉาก พื้นที่ศาสนาในการสนองความต้องการทางโลกก็ลดลง แต่เจ้าแม่และงานวัดแขกสีลมยังคงสามารถตอบสนองต่อความต้องการทางโลกิยะได้เต็มที่

ที่จริงต้องบอกด้วยครับว่า ศาสนาฮินดูนั้น สามารถตอบสนองความต้องการทั้งทางโลกิยะ และโลกุตระได้อย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง แต่เมื่อเข้ามาสู่สังคมไทย พุทธศาสนาได้ทำหน้าที่ในทางโลกุตระไปเต็มที่เสียแล้ว ศาสนาฮินดูในสังคมไทยจึงถูกดึงเอาส่วนที่ตอบสนองด้านโลกิยะมาเป็นหลัก ซึ่งชดเชยส่วนที่พุทธศาสนาลดบทบาทลงไปแล้ว

งานแห่วัดแขกสีลมจึงเต็มไปด้วยสีสัน และมีกิจกรรมที่ดู “ไม่ศาสนา” เต็มไปหมด

ซึ่งกิจกรรมที่ดูเหมือนไม่ศาสนาเหล่านี้ คือส่วนหนึ่งของศาสนานั่นแหละ