วงค์ ตาวัน : โดนขับไล่ในปี “56 แต่แรงในเลือกตั้ง “62

วงค์ ตาวัน

การชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ของ กปปส.เมื่อปี 2556 จนนำมาสู่การรัฐประหาร 2557 ซึ่งทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์โดนโค่นล้มสำเร็จ และส่งผลให้ประชาธิปไตยก็โดนล้มกระดานไปด้วยนั้น มีคำถามที่น่าสนใจว่า ถ้าหากม็อบมวลมหาประชาชน อันเป็นถ้อยคำที่แกนนำ กปปส.นำมาใช้นั้น เป็นมวลมหาประชาชนส่วนใหญ่จริงๆ

ทำไมสถานการณ์การเมืองในวันนี้ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งในต้นปี 2562 จึงดูไม่เหมือนกับที่พูดกันในปี 2556

“เหตุใดพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลซึ่งถูกขับไล่ในปี 2562 นั้น จึงยังเป็นพรรคการเมืองที่มีแนวโน้มจะได้รับความสำเร็จในการเลือกตั้งต้นปี 2562”

ผ่านการสำรวจของโพลหลายสำนัก ไปจนถึงการสัมผัสได้ด้วยตัวเองของเราทุกคน ผ่านการพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ

รวมทั้งเห็นได้จากอากัปกิริยาของฝ่ายผู้มีอำนาจ ที่ต้องตระเตรียมแผนการสกัดกั้นพรรคการเมืองดังกล่าวทุกวิถีทาง

ด้วยรู้ดีว่ายังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในสนามเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

จึงเกิดคำถามว่า แล้วในการชุมนุมเมื่อปลายปี 2556 ที่ว่ากันว่าเป็นประชาชนคนส่วนใหญ่ไม่เอาแล้วรัฐบาลทุนสามานย์ แถมแกนนำนกหวีดถึงกับเรียกว่ารัฐบาลทรราช

“ทำไมพรรคการเมืองในรัฐบาลดังกล่าว จึงยังมีคะแนนนิยมจากประชาชนไม่ลดระดับในสนามเลือกตั้ง 2562!”

อีกทั้งการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว ที่รัฐบาล คสช.ปกครองบ้านเมือง ทำให้พรรคการเมืองดังกล่าวไม่สามารถทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวอะไรได้เลย

แต่พอถึงจุดที่จะต้องคืนประชาธิปไตย ต้องเปิดให้มีการเลือกตั้ง

“พรรคทุนสามานย์ พรรคทรราช ตามคำคิดของแกนนำ กปปส. ก็ยังมีคะแนนนิยมจากประชาชนมากมายดังเดิม!?”

จะบอกว่า ยังมีเสียงสนับสนุนมากมาย เป็นเพราะมีการใช้เงินซื้อก็คงไม่ได้ เพราะตอนนี้ยังไม่มีประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจน ยังไม่มีการวางตัวผู้สมัครเป็นเรื่องเป็นราว คสช.ก็ยังไม่ปลดล็อกอะไร

จะมีใครออกหว่านเงินเพื่อซื้อคะแนนเสียงล่วงหน้าได้ในเวลานี้

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในวันนี้ จึงเป็นคำถามที่ต้องย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้นของการชุมนุมประท้วงของ กปปส.เมื่อปลายปี 2556

“ว่านั่นคือภาพสะท้อนกระแสของประชาชนคนส่วนใหญ่ดุจมวลมหาประชาชนจริงหรือ!?!”

ในทางกลับกัน พรรคการเมืองเช่นประชาธิปัตย์ ซึ่งแกนนำจำนวนไม่น้อยโดดเข้าร่วมเป่านกหวีดกันสุดเสียง สภาพคะแนนนิยมในวันนี้เป็นเช่นไร แนวโน้มจะได้รับเสียง ส.ส.ในการเลือกตั้ง 2562 สดใสน่าเกรงขามจริงหรือ!?

สำคัญสุดคือพรรคการเมืองที่เปิดใหม่ โดยหัวหน้าใหญ่ กปปส.เอง

ถามว่ามีมวลมหาประชาชนแห่กันมาสนับสนุนจนเป็นพรรคที่ได้รับการจัดอันดับเป็นตัวเต็งลำดับต้นๆ หรือเปล่า!???

ความจริงชนวนความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในกรณีนิรโทษกรรมเหมาเข่ง ถือว่าจุดติดจริง และทำให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ สามารถขยายผลการชุมนุมขับไล่ออกได้กว้างขวาง และยังสามารถชุมนุมยืดเยื้อ ก่อปฏิบัติการชัตดาวน์ เพื่อทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตกอยู่ในอาการรัฐบาลที่หมดสภาพ ทำอะไรก็ไม่ได้

ถึงจุดนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์คงรู้ตัวดีว่าเดินต่อไปไม่ได้แล้ว จึงยอมถอยด้วยการประกาศยุบสภา คืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนตัดสินใจทางการเมือง

แต่เมื่อนายสุเทพประกาศไม่ยอมรับแนวทางนี้

งัดถ้อยคำดูดีที่ว่า ต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ผู้ร่วมชุมนุมก็คล้อยตาม

“ทั้งที่มันแปลว่า จะยังไม่ให้มีเลือกตั้ง แล้วจะมีผลอย่างไร ถ้าไม่เดินตามข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ก็มีทางเดียวคือฉีกรัฐธรรมนูญ!!”

ขณะนั้นมีการสร้างบรรยากาศหลายอย่างให้ดูราวกับเป็นการชุมนุมประชาชนเพื่อขับไล่รัฐบาลทรราช ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516

แต่เนื้อแท้ของการต่อสู้ กลับตรงกันข้าม

“ขณะที่ 14 ตุลาฯ คือการเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่ของประชาชนเพื่อไล่รัฐบาลทหาร เรียกหาประชาธิปไตย ให้มีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย แต่ม็อบ กปปส. ปฏิเสธหนทางประชาธิปไตยที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศเป็นทางออก”

อีกทั้งการชุมนุมของ กปปส. ก็ยังไม่สามารถมีผลในการขับไล่ยิ่งลักษณ์ได้แบบ 14 ตุลาฯ

อีกทั้งลงเอย ที่ทำให้ทุกอย่างเข้าสู่ทางตัน ก็เท่ากับเปิดทางให้ทหารต้องก่อรัฐประหาร ซึ่งก็ยิ่งตรงกันข้ามกับ 14 ตุลาฯอีก

“ในที่สุดการชุมนุมเมื่อปลายปี 2556 ก็นำไปสู่รัฐประหาร 2557”

ลงเอยก็ไม่ต่างจากการชุมนุมของม็อบมีสีเมื่อปี 2548 ลงเอยนำไปสู่รัฐประหาร 2549 โค่นล้มรัฐบาลทักษิณ

แต่การเลือกตั้งหลังจากนั้น พรรคการเมืองฝ่ายทักษิณก็ชนะเลือกตั้ง ด้วยเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งพิสูจน์ได้เป็นวิทยาศาสตร์ ชัดเจน นับตัวเลขได้ว่าคือเสียงคนส่วนใหญ่จริงๆ

ดังนั้น การชุมนุมในปี 2556 ที่ทำทุกอย่างเพื่อไปสู่ 22 พฤษภาคม 2557

“กำลังจะได้รับการพิสูจน์ว่า จะส่งผลต่อการเลือกตั้งในปี 2562 อย่างไร!?”

เพียงแต่ทุกฝ่ายประเมินได้อย่างชัดเจนในขณะนี้ว่า คะแนนนิยมของประชาชนต่อพรรคการเมืองที่เรียกว่าทุนสามานย์ เรียกว่ารัฐบาลทรราช ยังคงมาแรงไม่มีตก

คะแนนนิยมนั้นก็คือเสียงของประชาชนจริงๆ

การรัฐประหารนั้น ในทฤษฎีการเมืองอธิบายว่า คือการโค่นล้มช่วงชิงอำนาจ โดยใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างฉับไว ซึ่งต่างจากคำว่าปฏิวัติ โดยการปฏิวัติต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมหน้าสังคม ด้วยการเคลื่อนไหวของประชาชนคนส่วนใหญ่

ในสังคมไทยเรา ใช้คำว่ารัฐประหารกับปฏิวัติปะปนกันอยู่ แต่เอาเข้าจริงๆ โดยส่วนใหญ่ ที่มักมีเหตุการณ์ทหารออกมายึดอำนาจนั้น ก็คือการรัฐประหาร

“รัฐประหารจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงการเมืองอย่างฉับไว แต่เป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจ ไม่เกี่ยวกับประชาชนคนส่วนใหญ่”

ประเด็นนี้เอง ทำให้การชุมนุมของ กปปส. เมื่อลงเอยคือการรัฐประหาร เท่ากับว่าในขั้นตอนของการชิงอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น ไม่ได้เป็นสิ่งสะท้อนการเคลื่อนไหวของประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมกับกปปส.แต่อย่างใด

จนมีหลายคนอดตีความไม่ได้ว่า การชุมนุมคือการปูกระแสให้สถานการณ์ไปสู่จุดอับ เปิดทางให้เกิดรัฐประหารนั่นเอง

ที่แน่ๆ เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์โดนล้มด้วยการรัฐประหาร เท่ากับว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าว ไม่ถูกกติกา ไม่เป็นที่ยอมรับในทางสากล และไม่เป็นที่ยอมรับของคนรักประชาธิปไตยในบ้านเรา

ในเมื่อวันนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยอมยุบสภาแล้ว เหตุใดแกนนำซึ่งก็คือคนที่อยู่วงการเมืองระบอบรัฐสภาแท้ๆ ไม่ยอมเลือกหนทางนี้

“กลับไปยืนยันว่าจะต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งก็แปลว่ายังไม่มีเลือกตั้ง แล้วจะไปอย่างไรต่อไป ก็ต้องมีรัฐประหารในที่สุด!”

ถ้าหากวันนั้นแกนนำ กปปส.เลือกทางออกโดยรักษาประชาธิปไตยเอาไว้ แล้วอาศัยกระแสสูงของประชาชนที่ร่วมชุมนุม ไปร่วมกันใช้สิทธิทางการเมืองในมือทุกคนเพื่อโค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์

“ถ้าล้มยิ่งลักษณ์ด้วยวิถีประชาธิปไตย”

วันนี้ยิ่งลักษณ์กับทักษิณคงต้องหลบหนีแบบหัวซุกหัวซุนจริงๆ มีแต่จะถูกจ้องจับตัวส่งกลับมาให้ไทยโดยหลายๆ ประเทศ

รวมทั้งการเลือกตั้ง 2562 ก็จะไม่มีพรรคการเมืองของรัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ อยู่ในสายตาประชาชนอีก

แต่วันนี้ทุกอย่างไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

แล้วที่สำคัญ ภาพรวมของเหตุการณ์ปี 2556-2557 ก็คือการรัฐประหาร ซึ่งแปลตามศัพท์วิชาการว่า การช่วงชิงอำนาจในหมู่ผู้มีอำนาจ!