ประเทศกูมี : ประกายไฟแห่งการเปลี่ยนประเทศสู่อนาคต / ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

“ประเทศกูมี” เป็นตำนานบทใหม่ของการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทย เพราะนอกจากยอดผู้ชมใน youtube หลังอัพโหลดหนึ่งสัปดาห์จะมหาศาลจนมีคนประเมินว่าอาจแตะ 30 ล้าน การแพร่ระบาดของเพลงยังเกิดจากความไม่พอใจอำนาจรัฐจนมีผู้เห็นว่าเพลงนี้เป็นสัญญาณตอกย้ำความเป็นรัฐบาลขาลง

แน่นอนว่ายอดวิวที่สูงขนาดนี้มาจากความอยากรู้ว่าทำไมเพลงถูกไล่ล่าโดยรัฐบาล คนที่ควรถูกเย้ยหยันว่าทำให้เพลงดังจึงไม่ได้มีแต่คุณศรีวราห์กับตำรวจ ปอท. แต่ต้องย้อนไปถึงรองเลขานายกที่ลอยหน้าลอยตาแถลงข่าวว่าเพลงทำให้ประเทศเสียหายจนขอให้ตำรวจเข้าไปดู

ด้วยการส่งสัญญาณของแกนนำม๊อบล้มเลือกตั้งที่ถูกอัพเกรดจากรองเลขาฯ เป็นโฆษกรัฐบาลว่า “ประเทศกูมี” มีเบื้องหลังจนควรตรวจสอบต้นตอทั้งหมด คุณศรีวราห์ซึ่งเป็นแถวหน้าในการสนองภารกิจรัฐบาลก็เรียกคนทำเพลงมาพบ และภายในสองชั่วโมง ปอท.ก็ประกาศว่าใครแชร์เพลงนี้มีความผิดทันที

ไม่เพียงตำรวจจะไล่ล่า “ประเทศกูมี” หลังการขยับของผู้ต้องหาคดีกบฎซึ่งนายก คสช.ตั้งให้มีตำแหน่งการเมือง พลตำรวจตรีที่สนิทกับคุณประวิตรจนถูกตั้งเป็นผู้ช่วยโฆษกรองนายกก็ร่วมขยี้ “ประเทศกูมี” โดยบอกว่าเตรียมใช้ พรบ.คอม ออกหมายจับคนทำ MV ด้วยข้อหาที่มีโทษจำคุกสูงสุด ๕ ปี

มาตรการของรัฐบาลกับลูกน้องที่เป็นตำรวจทำให้คนอยากรู้ว่า “ประเทศกูมี” พูดถึงอะไร และหลังจากใครๆ ก็แห่กันดูเพลงนี้เหมือนคนในสังคมเผด็จการอื่นๆ อยากดูสิ่งที่รัฐห้าม พลังของเพลงก็ทำงานจนยอดวิวและ engagement ในโซเชียลพุ่งขึ้นมหาศาลจนเพลงเชื่อมต่อกับการเมืองในโลกที่จับต้องได้จริงๆ

ถึงที่สุดแล้ว “ประเทศกูมี” แสดงอาการขาลงของรัฐบาลและขาขึ้นของความเบื่อหน่ายรัฐบาลพร้อมๆ กัน

ทันทีที่เห็นคนของรัฐไล่ล่า “ประเทศกูมี” คุณสุเทพซึ่งเคยล้มเลือกตั้งปี ๕๗ แล้วตั้งพรรคลงเลือกตั้งปี ๖๒ ก็ระบุว่าเพลงนี้ “ทำร้ายแผ่นดินเกิด” ส่วนคุณมัลลิกาที่ควรออกจากประชาธิปัตย์ไปอยู่พรรคสุเทพก็ระบุว่าเพลงนี้ผิดกฎหมายอาญา ม.๑๑๖ จนสนับสนุนให้ตำรวจดำเนินคดี

ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว “ประเทศกูมี” พูดถึงสภาพสังคมแบบกว้างๆ ยาวห้านาที ฝ่ายไล่ล่าซึ่งเคยล้มเลือกตั้งกับ กปปส.ตั้งแต่ผู้พิพากษาแก่, พลโทที่ขยันสร้างข่าว, นักการเมืองท้ายแถว, โฆษกช่องทหาร, แร๊ปเปอร์ล้มจำนำข้าว ฯลฯ กลับปั่นกระแสว่าเพลงทำลายชาติจนอีกนิดคงหยิบนกหวีดมาคล้องคอเป่าจริงๆ

ด้วยแรงกดดันจากรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย “ประเทศกูมี” กลายเป็นสมรภูมิใหม่ของการแบ่งขั้วทางการเมืองที่ผลักดันให้คนซึ่งเบื่อหน่ายรัฐบาลตอบโต้โดยวิธีพูดถึงเพลงนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนที่เบื่อเพราะรังเกียจเผด็จการมานานแล้ว หรือคนที่เบื่อเพราะรำคาญอำนาจรัฐที่จุ้นจ้านถึงรูหูประชาชน

ในช่วงที่การเผชิญหน้าของทุกฝ่ายเรื่องเพลงนี้พุ่งถึงขีดสุด “ประเทศกูมี” คือการชุมนุมที่มองไม่เห็นของประชาชนที่ใช้เครือข่ายโซเชียลกระทำ “อารยะขัดขืน” ต่อรัฐบาลและกองหนุนทั้งหมด ถึงแม้จะไม่มีใครเปิดหน้าชนอำนาจรัฐตรงๆ แต่การแสดงออกที่เกิดขึ้นล้วนส่งสารว่าอำนาจรัฐเป็นหัวหลักหัวตอ

เมื่อการประจันหน้าระหว่างประชาชนกับรัฐบาลในโลกออนไลน์ใกล้ถึงจุดแตกหัก ความเดือดดาลของสังคมต่ออำนาจรัฐคุกรุ่นไม่ต่างกับการชุมนุมที่อีกนิดเดียวจะระเบิดเป็นประกายไฟต้านเผด็จการ

“ประเทศกูมี” เป็นชัยชนะของประชาชนในสงครามที่มองไม่เห็นกับรัฐและเครือข่ายรัฐบาล เพราะนอกจากศึกนี้จะจบโดยโฆษกรัฐบาลจะไม่พูดเรื่องนี้อีก ตำรวจที่ขู่จับก็กินน้ำลายต่างน้ำไปเฉยๆ ส่วนนายกที่ประกาศปาวๆ ว่าเพลงนี้ทำลายชาติก็เปลี่ยนสีว่าตัวเองเป็นลุงชอบแร๊ปซึ่งไม่เคยจับใคร

คนจำนวนมากเย้ยหยันว่ารัฐบาลพลาดที่ส่งตำรวจและม๊อบไล่ล่า “ประเทศกูมี” แต่ที่จริงยุทธวิธีทำเพลงแบบ “ประเทศกูมี” ทำให้รัฐบาลเหลือทางที่จะไม่ไล่ล่าน้อยมาก เพราะองค์ประกอบทั้งหมดของ “ประเทศกูมี” ไม่ใช่แร๊ปเพื่อการแสดงออกของวัยรุ่นธรรมดาๆ แต่คือการต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐบาลทหารโดยตรง

หนึ่งในข้อถกเถียงเรื่องแร๊ปในอเมริกาคือแร๊ปเกิดมาเพื่ออะไร นักวิชาการบอกว่าแร๊ปคือบทกวีที่มีพันธะเพื่อคนไร้เสียง, นักประวัติศาสตร์ชี้ว่าแร๊ปเกิดจากปาร์ตี้แถวบรองซ์ ส่วน Dr.Dre กับ Ice Cube สร้าง N.W.A. บนแนวคิดReality Rap หรือการสะท้อนความรุนแรงและการละเมิดสิทธิของตำรวจต่อคนดำ

สังคมไทยไม่มีการถกเถียงเรื่องแร๊ปอย่างในอเมริกา แต่วิวัฒนาการของเบอร์ใหญ่ในวงการนี้คือการเดินทางจากสายปาร์ตี้ไปสู่การทำเพลงกระแสหลัก, เล่นหนังตลก, แต่งเพลงอวยทหาร, ยุให้ใช้ ม.๔๔ ปิดวัดที่ตัวเองเกลียด หรือแม้แต่คิดว่าการขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นใช้สิทธิเลือกตั้งคือการแสดงออกทางการเมือง

ทีมทำเพลง “ประเทศกูมี” ปักธงผืนใหม่ของแร๊ปและเพลงร่วมสมัยของไทย หลังจากนี้เพลงเพื่อชีวิต, แร๊ปเปอร์ หรือคนทำเพลงที่พูดเรื่องสังคมจะถูกเปรียบเทียบกับทีมนี้ จนทางออกเหลือแค่สารภาพว่าทำท่าท้าทายสังคมเพราะอยากให้ดูฉลาด ไม่อย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่าเดรดล๊อคเป็นแค่เครื่องแบบทำมาหากิน

“ประเทศกูมี” พูดถึงปัญหาประเทศโดยไม่พาดพิงชื่อนายกตรงๆ แต่ในบริบทที่ผู้นำฟัสซิสต์ทั้งโลกกล่อมประสาทมวลชนโดยห้ามพูดถึงปัจจุบันอันบัดซบ วิธีแร๊ปความเลวร้ายอย่างคดีเสือดำ, อาชญากรรมสูง, คนจนตายถ้าไร้บัตรทอง ฯลฯ คือการแฉว่ารัฐเผด็จการไร้ประสิทธิภาพจนไม่ต้องเสียปากพูดชื่อออกมา

ขณะที่ผู้นำเผด็จการอ้างว่าตัวเองมีความชอบธรรมเพราะปกครองดี สิ่งที่ทีม “แร๊ปต้านเผด็จการ” ทำคือการตีแผ่ว่าผู้นำที่ตั้งตัวเองเป็นนายกนั้นสร้างปัญหาเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง-ความไม่ปลอดภัย และอะไรต่อมิอะไรตลอดเวลา

ต่อให้ “ประเทศกูมี” ไม่พูดว่าสนับสนุนระบอบการเมืองแบบไหนตรงๆ คนฟังเพลงนี้ตั้งแต่ต้นจนจบย่อมเห็นได้ว่าผู้นำเผด็จการนั้นไม่ได้เรื่อง และการมีผู้นำที่ประชาชนควบคุมได้ผ่านการเลือกตั้งเป็นเรื่องจำเป็น

ภายใต้ประเทศที่กองหนุนเผด็จการชอบอ้างว่าผู้นำอำนาจนิยมแบบลีกวนยูก็ทำให้ประเทศเจริญ “ประเทศกูมี” เตือนว่าระบบเผด็จการจริงๆ มีพฤติกรรมจับประชาชนข้อหาโพสท์เฟซหรือลบหลู่รัฐบาล, ตั้งสภาเพื่อฟอกขาวอำนาจรัฐ, ทหารเลือกนายกให้ประชาชน และระบบตรวจสอบอำนาจรัฐทั้งหมดถูกทำลาย

แกนของ “ประเทศกูมี” คือการ De-romanticize คำพูดที่ผู้นำเผด็จการปั้นแต่งเพื่อยกย่องตัวเอง พลังของ “ประเทศกูมี” เกิดจากสมาชิกคณะ “แร๊ปต้านเผด็จการ” ระเบิดความอัดอั้นต่อความจริงที่เลวร้ายออกมาแบบแทบไม่เหลือความหวาดกลัวผู้มีอำนาจอีกแล้ว ต่อให้เป็นผู้มีอำนาจที่มี ม.๔๔ ราวรัฎฐาธิปัตย์ก็ตาม

พลังของคนรุ่นใหม่ที่พวยพุ่งใน “ประเทศกูมี” คือฝันร้ายของอำนาจรัฐในประเทศที่ประชาชนถูกปกครองด้วยความสงบราบคาบมาเกือบห้าปี เพราะทุกสายตาและความเคลื่อนไหวในเพลงนี้คือการสื่อความรู้สึกของคนซึ่งพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจตรงๆ

แก่นแท้ของระบบเผด็จการคือการปกครองโดยอำเภอใจ ประชาชนในสภาวะนี้จึงไม่พูดและไม่แสดงออกเพราะไม่รู้ว่าอะไรที่ทำแล้วจะถูกจับหรือถูกอุ้ม ส่วน “ประเทศกูมี” ขยายเส้นแห่งสำนึกในประชาชนว่า “กูทำได้” ซึ่งเป็นประตูสู่ “อิสรภาพจากความกลัว” อันเป็นพื้นฐานของการต้านเผด็จการในทุกสังคม

สำหรับผู้ฝักใฝ่เผด็จการทั้งทางตรงและทางอ้อม ภาพคนหนุ่มที่เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดเพื่อตีแผ่สภาพสังคมคืออนาคตที่น่าวิตก เพราะผู้นำที่ปิดปากคนทั้งแผ่นดินคือผู้นำซึ่งเลือกที่จะขังตัวเองในกะลาจนไม่รู้ว่าคนชิงชังแค่ไหน แต่“ประเทศกูมี” ทำให้เห็นภาพว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อทุกคนไม่ยอมสยบต่อไป

ระบบเผด็จการมักกล่อมประสาทประชาชนโดยอ้างว่าให้ความยุติธรรมกับทุกคน แต่ทีม “แร๊ปต้านเผด็จการ” เขียนเพลงจนผู้ชมรับรู้ถึงแอกแห่งความอยุติธรรมที่ครอบงำประเทศ และที่สำคัญกว่าคือวิธีสื่อสารโดยเทียบเคียงให้เห็นความย้อนแย้งและฉ้อฉลของระบบเพื่อเปิดทางสู่การตั้งคำถามกับระบบตรงๆ

ท่อนแรกของ “ประเทศกูมี” พูดถึง “ประเทศที่พล่ามแต่ศีลธรรม” แต่ “อาชญากรรมสูงกว่าไอเฟิล” ส่วนท่อนถัดไปพูดว่า “ประเทศที่ตุลาการ” มี “บ้านพักบนอุทยาน” หรือจากนั้นก็คือ “ประเทศที่เสรี” แต่ “เลือกนายกต้องให้ทหารมาเลือกให้” ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ฟังเห็นถึงความฉ้อฉลของระบบโดยตรง

ตรงข้ามกับนักวิชาการที่วิพากษ์เผด็จการด้วยหลักการประเภทสิทธิ, ความเท่าเทียม และประชาธิปไตย ทีมแร๊ปต้านเผด็จการวิพากษ์เรื่องนี้โดยตีแผ่ให้เห็นความล้มละลายของเผด็จการจนถึงระดับศีลธรรม

“ประเทศกูมี” บอกคนไทยว่าความเชื่อผู้นำเผด็จการแสนดีนั้นเป็นวาทกรรมหลอกลวง ธาตุแท้ของเผด็จการคือความฉ้อฉล, ใช้อำนาจตามอำเภอใจ และไม่มีทางสร้างความยุติธรรมให้ใครได้ ชีวิตภายใต้เผด็จการจึงถูกเหยียบย่ำความเป็นมนุษย์จากสำนึกว่ามีปลายกระบอกปืนจ่อที่ปลายกระเดือกตลอดเวลา

มีข้อถกเถียงกันมากว่าแร๊ปกำเนิดในอเมริกาเพื่อปาร์ตี้หรือเพื่อระบายความไม่พอใจในสังคม เส้นทางของแร๊ปจึงเป็นได้ทั้งสนองความบันเทิงหรือสะท้อนสภาพปัญหาบางอย่าง แร๊ปในประเทศอย่างพม่าจึงไม่พูดเรื่องการเมืองเลยก็ได้ ขณะที๋ฮิปฮอปในประเทศอย่างเซเนกัลกลายเป็นแถวหน้าของการต่อสู้ทางสังคม

Rap Against Dictatorship หรือทีมงาน “แร๊ปต้านเผด็จการ” เขียนประวัติศาสตร์ใหม่ให้วงการแร๊ปไทย เช่นเดียวกับปักหมุดให้ตัวเองบนแผนที่แร๊ปโลกไปแล้ว จากนี้คนทั้งโลกที่พูดถึง Rap กับ Dictatorship ไม่มีทางไม่พูดถึง “ประเทศกูมี” ต่อให้ผู้นำเผด็จการบางประเทศจะอยากขจัดเพลงนี้ไปแค่ไหนก็ตาม

“ประเทศกูมี” คือแสงสว่างของการผลักดันประเทศสู่ประชาธิปไตย พลังประชาชนที่โอบอุ้มบทเพลงให้รอดการไล่ล่าของอำนาจรัฐไม่ใช่เรื่องปกติ

ประกายไฟของการเปลี่ยนประเทศสู่อนาคตใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้เริ่มต้นแล้ว

หรืออย่างน้อยก็ทำให้คนเชื่อมากขึ้นว่าประเทศไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างที่เป็นมาตลอดสี่ปี