นงนุช สิงหเดชะ / เที่ยวบิน (เจ้าปัญหา) TG 971

นงนุช สิงหเดชะ

 

เที่ยวบิน (เจ้าปัญหา) TG 971

 

เรื่องราวสุดฮอตที่อยู่ในความสนใจของคนไทยจำนวนไม่น้อยเมื่อสัปดาห์ก่อน จนโลกโซเชียลเดือดพล่าน ก็คือกรณีเที่ยวบินของการบินไทย TG 971 วันที่ 11 ตุลาคม ซึ่งเป็นเที่ยวบินขากลับจากเมืองซูริกของสวิตเซอร์แลนด์สู่กรุงเทพฯ

ดังที่ปรากฏรายละเอียดในข่าวไปแล้ว มีผู้โดยสารชั้นธุรกิจรายหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นอดีตรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ทำหนังสือร้องเรียนไปยังการบินไทยว่าได้ซื้อตั๋วขากลับจากซูริกเป็นชั้นธุรกิจ แต่ได้รับการอัพเกรดให้ไปนั่งชั้นหนึ่งหรือเฟิร์สต์คลาส โดยผู้โดยสารที่ได้รับการอัพเกรดในเที่ยวบินนั้นมีประมาณ 10 คน

ผู้โดยสารรายดังกล่าวและภรรยาเช็กอินและได้รับบัตรขึ้นเครื่อง (บอร์ดดิ้ง พาส) ในชั้นเฟิร์สต์คลาสเรียบร้อยแล้ว แต่ระหว่างรอขึ้นเครื่อง เกิดการล่าช้ากว่ากำหนดไปมากโดยที่พนักงานไม่ได้แจ้งสาเหตุ

ต่อมามีพนักงานมาคุยกับผู้โดยสารท่านนี้ว่าขอให้ย้ายกลับไปนั่งชั้นธุรกิจเช่นเดิม เพราะนักบินการบินไทย 4 คนที่เรียกว่า deadhead pilots (นักบินที่ไม่ได้ทำหน้าที่ในเที่ยวนั้น แต่เป็นเสมือนผู้โดยสารปกติ) ต้องการนั่งเฟิร์สต์คลาส

ตามรายละเอียดที่ผู้โดยสารท่านนี้ให้ไว้บอกว่า พนักงานแจ้งว่าได้ขอร้องผู้โดยสารรายอื่นแล้ว ไม่มีใครยอม หากไม่มีใครยอม ทางนักบินผู้มีอำนาจ (pilot in command) ซึ่งก็คือกัปตันของเที่ยวบินนั้นได้แจ้งว่าหากนักบิน deadhead ไม่ได้ที่นั่งตามต้องการ ก็จะไม่นำเครื่องขึ้นบิน ต้องเลือกเอาว่าจะไปจัดการย้ายผู้โดยสารหรือยกเลิกเที่ยวบินแล้วเปิดโรงแรมให้ผู้โดยสารทั้ง 300 กว่าคนนั้น

ผู้โดยสารรายดังกล่าวเห็นว่า หากไม่ยอมก็จะทำให้ผู้โดยสารทั้งลำเดือดร้อน ตนและภรรยาจึงเสียสละย้ายกลับไปนั่งชั้นธุรกิจเช่นเดิม ซึ่งสรุปแล้วในวันนั้นทำให้เที่ยวบินต้องล่าช้า (ดีเลย์) ไปถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง

จุดประสงค์หลักที่ทำให้ผู้โดยสารรายนี้ร้องเรียนมา ก็เพราะเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวทำให้ภาพลักษณ์ของการบินไทยเสียหาย และจับผู้โดยสารเป็นตัวประกัน

 

หลังจากข่าวนี้แพร่กระจายออกไป แน่นอนว่านักบินกลุ่มดังกล่าวถูกตำหนิ อย่างไรก็ตาม มีคนในแวดวงการบินด้วยกันจำนวนหนึ่งออกมาแก้ต่างให้ อ้างว่านักบินไม่ได้แย่งที่นั่งผู้โดยสาร แต่เป็นสิทธิ์ของนักบินที่จะได้ การโจมตีนักบินจึงไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากข้อมูลที่ทยอยออกมาพบว่าเป็นปัญหางัดข้อกันระหว่างผู้จัดการสถานีที่ซูริก (ของการบินไทย) กับกัปตันผู้มีอำนาจในวันนั้น

ปัญหาดังกล่าวเกิดจากฝ่ายที่ทำหน้าที่เรื่องตั๋วโดยสารได้อัพเกรดผู้โดยสารไปอยู่ชั้นหนึ่ง เหตุที่อัพเกรดเพราะเที่ยวบินขากลับมีการเปลี่ยนแบบเครื่องบินเป็นโบอิ้ง 747 (ซึ่งมีเฟิร์สต์คลาส) เนื่องจากโบอิ้ง 777 (ไม่มีเฟิร์สต์คลาส มีเพียงชั้นธุรกิจ) ซึ่งเป็นเที่ยวบินขาไปนั้นเสีย ต้องจอดซ่อมที่ซูริก

ฝ่ายที่เข้าข้างนักบินอ้างว่าผู้จัดการสถานีซูริกทำผิดข้อตกลงที่ว่า หากเป็นเครื่องบินที่มีชั้นเฟิร์สต์คลาส นักบินต้องได้รับสิทธิ์เป็นอันดับแรก

ปัญหาที่เกิด เป็นเพราะมีการเปลี่ยนแบบเครื่องบินในเที่ยวขากลับ แต่ตามข้อมูลที่มีการเปิดเผยออกมา หากเครื่องบินไม่เสีย ก็เท่ากับว่าขากลับก็ต้องบินกลับด้วยโบอิ้ง 777 ซึ่งไม่มีเฟิร์สต์คลาส และนักบิน deadhead ก็จะถูกจัดให้นั่งชั้นธุรกิจอยู่ดี

ฝ่ายที่เข้าข้างนักบินออกมาโจมตีผู้โดยสารที่ร้องเรียน โดยอ้างว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้โดยสารที่ได้รับการอัพเกรดจะถูกขอให้ย้ายกลับมาในชั้นที่ตัวเองซื้อไว้ (คือชั้นธุรกิจ) เมื่อมีเหตุจำเป็น

แต่กรณีนี้ จะมากล่าวโทษผู้โดยสารไม่ได้ เพราะผู้โดยสารไม่รู้เรื่องอะไรด้วย อีกทั้งผู้โดยสารท่านนี้ไม่ได้ไปเบ่งนั่ง ส่วนรายละเอียดหยุมหยิมอื่นที่ว่าทำไมนักบินต้องนั่งเฟิร์สต์คลาสนั้น ผู้โดยสารเขาก็ไม่ได้รู้เรื่องด้วยเช่นกัน

 

หัวใจของเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้โดยสารต้องเป็นฝ่ายยอมนักบินหรือไม่ แต่ปัญหาร้ายแรงอยู่ตรงที่ทำให้ผู้โดยสารเดือดร้อนทั้งลำเพียงเพราะการบริหารจัดการภายในมีปัญหา

กรณีนี้ไม่ว่าฝ่ายนักบินจะโต้แย้งอย่างไรก็ฟังไม่ขึ้น เพราะเครื่องบินการบินไทยไม่ได้มีเฟิร์สต์คลาสทุกลำ โดยตามข้อมูลของนายบรรยง พงษ์พานิช อดีตคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือซูเปอร์บอร์ด ระบุว่าในบรรดาเครื่อง 100 กว่าลำของการบินไทย มีเพียง 16 ลำที่มีชั้นเฟิร์สต์คลาส ดังนั้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง นักบิน deadhead ก็ต้องนั่งชั้นธุรกิจอยู่ดี

นอกจากนี้ หากดูจากเว็บไซต์ของการบินไทยเกี่ยวกับชั้นธุรกิจ (Royal Silk Class) ระบุว่า “ในขณะที่เบาะที่นั่งของเครื่องบินรุ่นอื่นๆ สามารถปรับได้เพียง 160-170 องศาเท่านั้น แต่สำหรับ Airbus A380, Boeing 777 และ Boeing 787 รุ่นใหม่ของการบินไทย ท่านสามารถปรับเก้าอี้เป็นเตียงนอนได้ถึง 180 องศา พร้อมปรับที่วางขาออกไปได้ตามความต้องการ”

จากข้อมูลนี้เท่ากับว่า หากบินในชั้นธุรกิจด้วยเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 โบอิ้ง 777 และโบอิ้ง 787 ที่นั่งสามารถปรับเอนราบได้ 180 องศา (เสมือนนอนบนเตียงที่บ้าน) แต่หากบินด้วยรุ่นอื่น ที่นั่งชั้นธุรกิจสามารถปรับเอนได้ 160-170 องศา

ในรายของเที่ยวบิน TG 971 ซึ่งบินจากซูริกด้วยโบอิ้ง 747  ก็น่าจะอนุมานได้ว่า ชั้นธุรกิจสามารถปรับเอนนอนได้อย่างต่ำ 160-170 องศา ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับการนอนพักผ่อนให้สบายพอสมควร

ในวันนั้น หากต้องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะไม่สามารถเจรจาให้ผู้โดยสารย้ายออกไปได้หลังจากกินเวลาไปมากแล้ว นักบินก็ควรยอมนั่งชั้นธุรกิจไปก่อน เมื่อถึงเมืองไทยแล้วก็ค่อยมาเคลียร์กับฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่นักบินต้องการ

เหตุผลความจำเป็นที่นักบินต้องนั่งเฟิร์สต์คลาสนั้นก็รับฟังได้ เพราะเกี่ยวกับกฎระเบียบความปลอดภัยการบินที่จำกัดชั่วโมงการทำงานของนักบิน และนักบินต้องได้รับการพักผ่อนเพียงพอ สถานที่จัดให้นอนพักผ่อนต้องสะดวกสบาย

ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากความบกพร่องของทั้งฝ่ายที่จัดการเรื่องตั๋วและการล็อกที่นั่งให้นักบิน และเกิดจากทิฐิมานะของฝ่ายนักบินที่สุดโต่งเกินไป ไม่นึกถึงความเดือดร้อนของผู้โดยสาร ยึดเอาเรื่องสิทธิ์ของตนมาก่อนหน้าที่ที่พึงทำ

 

แทนที่จะไปโจมตีผู้โดยสารที่นำเรื่องมาร้องเรียน ก็ควรจะขอบคุณมากกว่า เพราะหากปัญหานี้ยังเกิดขึ้นต่อไป ไม่มีใครรับประกันว่าการดีเลย์จะไม่เกิดขึ้นอีก

การที่ผู้โดยสารร้องเรียน จึงไม่ใช่เรื่องดราม่าอย่างที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแลบริษัทการบินไทยพูด ที่บอกว่าผู้โดยสารไม่ได้เสียสิทธิ์อะไร เพราะผู้โดยสารที่ร้องเรียนเขาพูดชัดว่าไม่ได้ติดใจเรื่องถูกย้ายที่นั่ง แต่ติดใจที่ปล่อยให้เรื่องเล็กน้อยมาทำให้ผู้โดยสารทั้งลำเดือดร้อนและเสียภาพลักษณ์องค์กรซึ่งเป็นถึงสายการบินแห่งชาติ ดังนั้น ควรจับประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ให้ถูกต้อง

ฝ่ายที่เข้าข้างนักบิน ก็ต้องจับประเด็นสำคัญของการร้องเรียนครั้งนี้ให้ดีเช่นกัน ไม่เช่นนั้นก็แก้ปัญหาไม่ถูกทาง

จากเหตุการณ์นี้ อดคิดไม่ได้ว่า คราวต่อไปหากเป็นเที่ยวบินระยะไกล แล้วเครื่องบินการบินไทยดีเลย์เกินหนึ่งชั่วโมงและไม่มีการชี้แจงสาเหตุ ก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่าเกิดจากนักบิน deadhead ไม่ได้นั่งเฟิร์สต์คลาสตามที่ต้องการ

การที่มีเรื่องร้องเรียนเกิดขึ้นก็ดีแล้ว ผู้บริหารจะได้แก้ปัญหาเรื่องที่นั่งของนักบินให้ชัดเจน ไม่เกิดการงัดข้อระหว่างฝ่ายที่มีหน้าที่จัดหาที่นั่งให้นักบินกับนักบิน

  ขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ ผลสอบสวนอย่างเป็นทางการยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งยังไม่รู้ว่าเรื่องราวจะจบอย่างไร แต่ไม่ว่าจะจบลงอย่างไรก็สะท้อนว่าปัญหาเรื้อรังหลายอย่างยังหมักหมม รอเพียงวันผุดขึ้นมาเป็นระยะ