บทวิเคราะห์ : ทิศทาง-แนวโน้ม การต่างประเทศไทยกับสหรัฐในปี 62

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

เราควรเตรียมความรู้ มีสิ่งที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเกิดขึ้นรอบด้านทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลก เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ต่างๆ ของไทยในอนาคต

ก่อนอื่นควรเรียบเรียงลำดับความเปลี่ยนแปลงอันนั้นก่อน

บทความนี้จะมองไทยไปที่สหรัฐอเมริกา

การเปลี่ยนแปลงนโยบายของทั้งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และยุทธศาสตร์อินโดจีน-แปซิฟิก

ส่วนภายในของไทยจะกล่าวถึงการเลือกตั้งที่จะมีในช่วงปีหน้า ผู้นำทางนโยบายของไทย

และสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ

 

โดนัลด์ ทรัมป์ และความสัมพันธ์กับไทย

แม้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมาจากการรัฐประหาร 2014 และแม้โดยหลักการแล้วรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

แต่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ฟันฝ่าอุปสรรคด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาได้ดี

ทั้งนี้ อดีตเอกอัครราชทูต กลิน ที. เดวิส์ ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งในไทยและกำลังจะย้ายไปตำแหน่งอื่นคงมีบทบาทไม่น้อย อย่างน้อยไม่ได้ประท้วงการรัฐประหารโดยตรงและอดทนเก็บ “หลักการ” ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเอาไว้ในลิ้นชักชั่วคราว

ทั้งยังได้สานต่อความสัมพันธ์ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลรัฐประหารประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในช่วงต่อมาซึ่งสำคัญคือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกองทัพทั้งไทยและสหรัฐอเมริกาค่อนข้างดี

มีการแลกเปลี่ยนการเดินทางพบปะกัน

เมษายน 2018 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม นำผู้แทนเหล่าทัพเดินทางไปทำพิธีวางพวงมาลาเพื่อแสดงความระลึกถึงทหารที่เสียชีวิตจากสงคราม ณ สุสานแห่งชาติ (Arlington National Cemetry) ที่กรุงวอชิงตัน1

ความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลและกองทัพไทย-สหรัฐอเมริกาถูกมองว่ามั่นคงในความร่วมมือไทย-สหรัฐอเมริกา เพื่อคงเสถียรภาพและเสริมสร้างขีดความสามารถในการปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ของสหรัฐอเมริกาที่เปิดกว้าง เสรีและตอกย้ำความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐอเมริกา

หลังจากทั้งสองประเทศได้ออกแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา 2012 (2012 Joint Vision Statement for Thai-US Defense Alliance)

มีการฝึก Cobra Gold ร่วมกันต่อไป มีรายงานข่าวว่ากุมภาพันธ์ 2016 พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบกในสมัยนั้นและดำรงตำแหน่งเลขานุการ คสช. ได้เยือนฮาวายอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกองทัพบกสหรัฐประจำการภาคพื้นแปซิฟิก (USARPAC) เพื่อหารือด้านความมั่นคง

มีข้อมูลว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เคยเรียนหลักสูตรจู่โจม-แรงเยอร์ของสหรัฐอเมริกาและเรียนจบปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจจาก Southern University กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ในปี 2017 กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาได้เชิญ พล.อ.อภิรัชต์ในฐานะแม่ทัพภาคที่ 1 ในสมัยนั้นไปเยือนกรุงวอชิงตันเพื่อเข้าอบรมหลักสูตร War College สำหรับผู้นำทหารเรื่องภัยคุกคามหลายรูปแบบในโลกสมัยใหม่ พร้อมทั้งเชิญ พล.อ.อภิรัชต์เยี่ยมชมหน่วยงานต่างๆ นานเกือบ 2 สัปดาห์2

นั่นหมายความว่า ความร่วมมืออันดีทั้งทางการเมือง การต่างประเทศ และระหว่างผู้นำกองทัพของไทยและสหรัฐอเมริกาอาจเป็นพื้นฐานสำคัญรองรับบทบาทสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดยมีไทยยังคงเป็นประเทศสำคัญเช่นเดิม

 

ข้อสังเกต

ประการที่ 1 เป็นความจริงที่ผู้นำรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำฝ่ายความมั่นคงได้รักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันกับสหรัฐอเมริกา ทั้งการพบปะ ดำเนินการแถลงการณ์ร่วมด้านการป้องกันประเทศ การสานต่อผู้นำเหล่าสูงของกองทัพของทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ โดยคาดการณ์ว่าผู้นำไทยทั้งฝ่ายการเมืองและกองทัพจะยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้

แต่ทว่าหากมองในอีกมิติหนึ่ง เราคงปฏิเสธการก้าวเข้ามาของจีนทั้งในภูมิภาคและในไทยไม่ได้อีกต่อไป อันมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาด้วย

ประการแรก บทบาทของสาธารณรัฐประชาชนจีนในภูมิภาค รวมทั้งไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก สาธารณรัฐประชาชนจีนมีความร่วมมือทั้งในระดับรัฐบาล ระดับนักธุรกิจ

มี soft power ซึ่งหมายถึง การก่อตั้งสถาบันขงจื้อหลายแห่งในประเทศไทย

การเกิดขึ้นของโรงเรียนสอนภาษาจีนทั่วไทย

อีกทั้งการเข้ามาลงทุนในมหาวิทยาลัยของไทยเพื่อรองรับนักศึกษาจีน

และการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมการศึกษาของไทย

หากมองในแง่นี้แล้ว ความคิดว่าจีนเป็นภัยคุกคามของไทยและภูมิภาคอันน่าจะเกิดจากผู้นำทางด้านการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงเกือบจะเป็นตรงกันข้าม

ในเมื่อฝ่ายความมั่นคงไทยมีความร่วมมือทางการทหาร การพบปะระหว่างผู้นำระดับสูงของกองทัพอย่างสม่ำเสมอ

การส่งนายทหารไปเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารจีนซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 1996 อย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งการตัดสินใจซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากสาธารณรัฐประชาชนจีนจากกองทัพไทยอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งการตัดสินใจการซื้อเรือดำน้ำจากจีนมูลค่า 3 หมื่นล้านบาทย่อมช่วยให้เห็นความสำคัญของจีนต่อนโยบายความมั่นคงของไทยเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาแล้วเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

เราแทบไม่ได้รับทราบทัศนะเชิงอันตรายหรือภัยคุกคามจากทางฝ่ายกองทัพของไทยมานานแล้ว สิ่งนี้ไม่แปลก แต่ได้สะท้อนทัศนะของไทยต่อจีนและสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก

ประการที่ 2 โครงการรถไฟไทย-จีน

เราสามารถมองได้หลายด้านพร้อมๆ กัน โครงการรถไฟไทย-จีนซึ่งได้รับการผลักดันอย่างมากจากรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นทั้งความพยายามแสดงผลงานของรัฐบาลทั้งในแง่ Mega project และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย

ซึ่งอาจไม่ใช่แค่แสดงถึงความทันสมัยที่ตั้งเป้า Thailand 4.0 อย่างที่เราคิด

แต่เป็นการแสดงความเชื่อมั่นของประชาชนไทยและนักธุรกิจไทยซึ่งย่อมมีผลต่อการเลือกตั้งในต้นปี 2019 ของไทยเพื่อให้ได้ทั้งคะแนนนิยมและสนับสนุนรัฐบาลมาจากรัฐประหารที่แปลงร่างเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

สิ่งนี้จึงบอกถึงการต่างประเทศไทยต่อสหรัฐอเมริกาและจีนว่าประเทศมหาอำนาจทั้งสอง ประเทศใดมีแต้มต่อต่อรัฐบาลสมัยหน้าที่มาจากการเลือกตั้งด้วย

——————————————————————————————————————
(1) ปรัชญา นงนุช “อนาคตไทย-สหรัฐภายใต้ยุทธศาสตร์ อินโด-แปซิฟิก” มติชนสุดสัปดาห์ 28 กันยายน-4 ตุลาคม 2561.
(2) เพิ่งอ้าง