ขอแสดงความนับถือ ฉบับวันที่ 11 พ.ย. – 17 พ.ย. 2559

ยังมีจดหมายและโทรสาร “ต่อเนื่อง” อยู่อีก 2 ฉบับ

โปรดพิจารณา

สืบเนื่องจาก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1884 วันที่ 23-29 กันยายน 2559

เรื่อง “หมาใน-หมาไน”

จึงขอร่วมวงอภิปราย ถกเถียง ตามคำเชิญของ บ.ก. โดยพลัน (แฮ่ม ขออนุญาตใช้สำนวนตามมติชนสุดสัปดาห์ด้วยครับ)

ปัญหา หมา-หมา เพราะมี 2 คำ คือ หมาใน-หมาไน เกิดขึ้นมาร่วมสิบปีแล้ว (หรืออาจจะมากกว่าก็เป็นได้)

มีทั้งฝ่ายเห็นว่าควรใช้ไม้ม้วน และไม้มลาย

ประเด็นที่ก่อให้เกิดปัญหานี้ขึ้น ก็มาจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พ.ศ.2525) ซึ่งให้ความหมายดังนี้

หมาใน น. ชื่อหมาชนิดหนึ่ง Cuon alpinus ในวงศ์สุนัข (Canidae) สีค่อนข้างแดง หางสีคล้ำยาวเป็นพวง อาศัยในป่าทึบ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยฯ ไม่ได้รวมหมาในป่าชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในป่า เช่น ชนิด Canis vulpes ชนิด Fenecus Zerda หมาป่า หมาจิ้งจอก ฯลฯ

เมื่อย้อนกลับมาดูศัพท์ ใน (ไม้ม้วน) ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

ให้ความหมายดังนี้

ใน น. หมายถึง ตรงข้ามกับนอก เช่น ในบ้าน, ในเมือง, แห่ง, ของ

ซึ่งจะเห็นได้ว่า “ใน” ไม่ได้บ่งบอกถึงชนิด หรือประเภท ไว้เลย

ด้วยเหตุนี้ หมาใน ควรจะต้องมีความหมายดังนี้

หมาใน น. หมาที่อาศัยและหากินในป่า และมีอยู่หลายชนิด เช่น Fox, Jackal

ความหมายของ หมาใน ดังที่กล่าวมานั้น ผมก็เลียนแบบความหมายของ “นางใน” จากพจนานุกรมฉบับราชฯ ซึ่งให้ความหมายไว้ว่า

นางใน น. นางพนักงานฝ่ายใน

ความหมายนี้ เราก็ไม่ทราบว่า นางใน อยู่ในตำแหน่งหน้าที่อย่างไร

และจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยฯ พนักงานฝ่ายในพระราชวัง จะมี นางพระกำนัล นางสนองพระโอษฐ์ และนางพระสนม เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าต้องการ ระบุชื่อ หมาชนิด Cuon alpinus ก็ควรใช้ว่า หมาไน (ไม้มลาย)

เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับ หมาใน (ไม้ม้วน) ซึ่งตามรูปศัพท์ หมายถึง หมาข้างใน (ป่า) จึงไม่ถูกต้อง ถ้ายกให้หมาชนิดหนึ่งชนิดใด เป็นหมาใน (ป่า)

ด้วยความนับถือ

วรพันธุ์ (แฟนมติชนคนหนึ่ง)

ป.ล. ปัญหาเกี่ยวกับ ไม้ม้วน และไม้มลาย ยังมีอีก

หลับใหล-หลับไหล

ใหลตาย-ไหลตาย

เหล็กใน-เหล็กไน

หนองใน-หนองไน

คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี จากสุนทรภู่ ถึง ชาลี แชปลิน โดยเพ็ญสุภา ฉบับที่ 1886 ประจำวันที่ 7-13 ตุลาคม 2559

1) ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็นความคลาดเคลื่อน ระหว่าง พ.ศ. ที่สุนทรภู่ได้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นระดับโลกด้านวรรณศิลป์ จากยูเนสโก

คุณเพ็ญสุภา สุขคตะ เขียนว่า สุนทรภู่ ได้รับการเสนอรายชื่อ จากยูเนสโก เมื่อ 20 ปีก่อน ในปี ค.ศ.1996

แต่ที่ผมจำได้ คือปี ค.ศ.1986 (ตรงกับ พ.ศ.2529) คือ 30 ปีก่อน

ในปีนั้น สุนทรภู่ครบ 200 ปี ชาตกาล

2) ส่วน ชาลี แชปลิน ศิลปินแห่งศตวรรษระดับโลก ก็ไม่น่าจะใช่นักแสดงละครตลกใบ้หน้าขาว

แต่เป็นนักแสดงตลกหนังเงียบ

เพราะเจ้าพ่อละครใบ้ผู้โด่งดังของโลกคือ มาร์เซล มาร์โซ ปรมาจารย์นักแสดงละครใบ้ชาวฝรั่งเศส เสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2550 ด้วยวัย 83 ปี (ชาลี เสียชีวิต วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม 2520 ด้วยวัย 88 ปี)

3) ขอร่วมรำลึกถึงวาระ ในฐานะ นักศึกษาเพาะช่าง ที่อยู่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มีภาพยนตร์เรื่องไซอิ๋ว ตอนเห้งเจียปราบปีศาจ ฉายที่อุบลภาพยนตร์ บ้านเกิดผม

ก่อนหนังจะฉาย มีนักพากย์หนัง ชื่อ “นันทวัน” ได้ลำนำบทกวี

ผมเห็นว่าเนื้อหาอยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บ้านเรา

ท่านลำนำไว้ดังนี้

อัคคีพลุพุ่งสูงส่องฟ้าแสงเพลิงจ้า

แดงฉานปานเลือดไหล

ทั่วแดนดินพินาศสิ้นด้วยแสงไฟ

เสียงโหยไห้ดังระงมโหมธรณี

แม้เทวัญมิอาจกลั้นความอาดูร

ทุกคนสูญทิ้งไร่นาพากันหนี

ด้วยฤทธิ์เดชผีร้ายนางกาลี

เอาพัดวีให้เกิดไฟบรรลัยกัลป์

ด้วยอำนาจพัดพิเศษเกิดเหตุร้าย

ภูเขาไฟเกิดปะทุดังสนั่น

ประชาชนอพยพหลบหนีพลัน

นันทวันให้เสียงพากย์ฝากลวดลาย

พากย์ไซอิ๋วตอนเห้งเจียปราบปีศาจ

หนังตลาดหนังจีนดูง่ายๆ

ไม่สับสน วกวน จนวุ่นวาย

ไม่ขาดหายหนังอยู่ครบจบสมบูรณ์

ผมเล่าร่ายเป็นกลอนก่อนผมพากย์

ขอฝังฝากชื่อพากย์ไว้ก่อนสิ้นสูญ

ทุกวันนี้ที่อยู่ได้เพราะคุณๆ

ยังเกื้อกูลนักพากษ์เก่าแก่เฒ่าลง

ในโลกกว้างศิลปินย่อมสิ้นดับ

ต้องลาลับยามแก่เฒ่าเมื่อลืมหลง

ไม่ยอมให้ท่านขับไล่บอกตรง-ตรง

ขอเข้าดงเข้าป่าไปตามดวง

ดูเพื่อนๆ พี่ๆ ที่หนีหลบ

บ้างเป็นศพเมื่อถึงวัยอันลุล่วง

ทุกชีวิตศิลปินอยู่ที่ดวง

ดังยังไงก็ต้องร่วงเหมือนดวงดาว

นันทวันขอคาระก่อนจบร่าย

สาธยายให้ท่านฟังเพียงคร่าวๆ

ผมนั่งคิดนั่งเขียนและนั่งเกลา

มนุษย์เราที่แน่ๆ ต้องแก่ตาย

ดูถนอม ดูณรงค์ ดูประภาส

ใครจะคาดว่าจะเกมเอาง่ายๆ

ขนสมบัติอพยพหลบหนีได้

ผู้ยิ่งใหญ่ยังแพ้พ่ายชะตากรรม

ขอแสดงความนับถือ

นายรำลึก ลำน้ำมูล

(ชาวอุบลคนตุลา)

จํา “ลำนำ” ได้เช่นนี้ แสดงว่าประทับใจ “นันทวัน” เป็นพิเศษ

แล้ว “โกญจนาท” อีกหนึ่งนักพากษ์อีสาน มักบ่?

ขอบคุณ ที่มาช่วยเติมเต็มข้อมูล สุนทรภู่ และ ชาลี แชปลิน ในบทความ “ร่วมงานประชุมกวีอาเซียนที่มาเลเซีย กับประเด็นหัวข้อ Poetry for the Individual or Society?” ของ ดร.เพ็ญ

ว่าที่จริง ในบทความดังกล่าว “มติชนสุดสัปดาห์” มีเรื่องต้องขออภัย ดร.เพ็ญ อยู่เช่นกัน

ด้วยเธอติติงมาอย่างเกรงใจว่า

“ฉบับ 1887 ภาพประกอบของกวีชาย 2 ท่านสลับกันน่ะค่ะ ระหว่างมาเลย์กับอินโด ควรจะมีการล้อมกรอบอธิบายสั้นๆ อะไรสักหน่อยไหมคะ”

ช้าไปนิด แต่โปรดรับทราบ ตามที่เธอแจ้งมา

ส่วนกรณี หมาไน หรือ หมาใน ความเห็นของ วรพันธุ์ นั้น ก็น่าฟัง

แต่อย่าเพิ่งสรุป ฟังไปเรื่อยๆ